จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เน้นเปลือกหรือแก่น


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



259 destination



วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมาเป็นวันวิสาขบูชา
ซึ่งเราคงทราบกันดีว่าเป็นวันครบรอบวันประสูติ วันตรัสรู้
และวันปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยหากเราได้เคยอ่านพุทธประวัติแล้ว
เราย่อมเคยอ่านพบว่า ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูตินั้น
พระโพธิสัตว์ได้เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว
ทรงเหลียวแลดูทั่วทุกทิศ และเปล่งวาจาว่า
“เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก
ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี”


ในเรื่องพระโพธิสัตว์ทรงเดิน ๗ ก้าว และกล่าววาจาตั้งแต่แรกประสูตินี้
ผมเคยพบว่า มีบางท่านไม่เชื่อ โดยเห็นว่าไม่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่เรื่องจริง
แล้วก็เหมารวมว่าคำสอนเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่น่าเชื่อถือและไม่จริงไปด้วย


ในเรื่องนี้ หากเราจะพิจารณาตามพระไตรปิฎกแล้ว จะพบว่า
ใน “อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
กล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมา
เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
อานนท์ พระโพธิสัตว์ในบัดดลที่ประสูติ
ก็ประทับพระยุคลบาทอันเสมอบนแผ่นดิน แล้วบ่ายพระพักตร์สู่ทิศอุดร
เสด็จดำเนินไปด้วยย่างพระบาท ๗ ก้าว
เมื่อเทพบุตรกั้นเศวตฉัตรตามไป พระองค์จะทรงเหลียวดูทิศทั้งปวง
และทรงเปล่งพระวาจาอย่างผู้องอาจว่า เราเป็นผู้เลิศในโลก
เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก
ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=5090&Z=5281&pagebreak=0


ใน “มหาปทานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค) กล่าวว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ พระโพธิสัตว์ผู้ประสูติแล้วได้ครู่หนึ่ง
ประทับยืนด้วยพระบาททั้งสองอันสม่ำเสมอ ผินพระพักตร์ทางด้านทิศอุดร
เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว และเมื่อฝูงเทพดากั้นเศวตฉัตรตามเสด็จอยู่
ทรงเหลียวแลดูทั่วทุกทิศ เปล่งวาจาว่า
เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก
ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี
ดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้”
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=1&Z=1454&pagebreak=0


เมื่อเราพิจารณาตามพระไตรปิฎกแล้ว จะเห็นได้ว่า
พระโพธิสัตว์ประสูติแล้วได้เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว และได้กล่าววาจาดังกล่าว
อย่างไรก็ดี บางท่านก็อาจจะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเหลือเชื่อ
แล้วก็เหมารวมว่าคำสอนเรื่องอื่น ๆ ไม่น่าเชื่อถือไปด้วย
ในกรณีนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนกาลามสูตร (เกสปุตตสูตร) ไว้ว่า
อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา
อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้
อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง
อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ
อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว
อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล
ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน
ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์
เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=4930&Z=5092&pagebreak=0


ดังนี้ เราจึงไม่พึงเชื่อเพราะว่าถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
หรือถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา หรือถือตามตำรา
แต่พึงเชื่อเมื่อรู้ด้วยตนเองในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน กรณีก็ไม่ได้แปลว่า
ในขณะที่เรายังไม่ได้รู้ด้วยตนเองแล้ว
เราสมควรจะปฏิเสธในทันทีว่าเรื่องนั้นไม่จริง


ในเมื่อเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เราจะรู้ได้ด้วยตนเองได้ในปัจจุบันแล้ว
สิ่งสำคัญที่เราควรจะพิจารณาคือ
เรื่องนี้เป็นแก่นของคำสอนในการประพฤติปฏิบัติธรรมหรือไม่
เป็นสาระสำคัญสำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราหรือไม่
ซึ่งเชื่อว่า เราน่าจะพิจารณาได้คำตอบตรงกันว่า
เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแก่นของคำสอนในการประพฤติปฏิบัติธรรม
และไม่ได้เป็นสาระสำคัญสำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรมของเรา
ในเมื่อเรามุ่งประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งหวังแก่น
หรือมุ่งให้ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงแล้ว
เราจึงควรเน้นพิจารณาคำสอนเพื่อการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราครับ
ซึ่งว่าโดยย่อก็คือ ไตรสิกขา นั่นเอง


ทั้งนี้ ใน “จูฬสาโรปมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
กล่าวว่า บุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้
แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่
เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น
แต่ตัดกระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งหรือใบไป สำคัญว่าเป็นแก่น
บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
บุรุษผู้นี้ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด
ไม่รู้จักกิ่งและใบ เช่นนี้ กิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา
จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=6505&Z=6695&pagebreak=0



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP