จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ลักษณะของคนดี


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



257 destination



เมื่อไม่นานมานี้ บางท่านอาจจะได้เห็นเรื่องการถกเถียงในโซเชียลมีเดีย
เกี่ยวกับลักษณะของคนดี ซึ่งฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า
เพียงแค่มีศีล ๕ ก็ถือว่าเป็นคนดีแล้ว
แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าแค่มีศีล ๕ ยังไม่ถือว่าเป็นคนดี
เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว หากมีใครที่นั่ง ๆ นอน ๆ เฉย ๆ ไม่ทำอะไร
ก็คือไม่ได้ทำผิดศีล ๕ ก็ถือว่าเป็นคนดีแล้วกระนั้นหรือ?


ในคราวนี้เราจะมาสนทนากันในเรื่องลักษณะของคนดีกันนะครับ
ซึ่งก่อนที่เราจะสนทนากันในเรื่องลักษณะของคนดีนั้น
เห็นว่าเราควรจะทำความเข้าใจในคำว่า “ศีล” เสียก่อน
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
คำว่า “ศีล” หมายถึง ความประพฤติดีทางกายและวาจา,
การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย,
ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม,
การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ,
ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น,
ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C8%D5%C5&original=1
ขอให้สังเกตว่าในความหมายของคำว่า “ศีล” นั้นก็หมายถึง
ความประพฤติดีทางกายและวาจา หรือ
ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามอยู่แล้ว


ทีนี้ ถ้าหากใครคนหนึ่งนั่ง ๆ นอน ๆ เฉย ๆ ไม่ทำอะไร
ก็จะถือว่าไม่ทำผิดศีล ๕ และถือว่ามีศีล ๕ แล้วหรือไม่?
ตอบว่าไม่ใช่นะครับ
การที่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร ไม่ได้แปลว่ามีศีลโดยอัตโนมัติแล้ว
เพราะว่าการถือศีล หรือสมาทานศีลนั้น จะต้องประกอบด้วยเจตนางดเว้น
หรือที่เรียกว่า “วิรัติ” ซึ่งแปลว่า เว้นจากทุจริต หรือเว้นจากกรรมชั่ว
โดย “วิรัติ” จะแบ่งเป็น ๓ ประเภท ซึ่งการถือศีล ถือเป็นวิรัติประเภทหนึ่ง
ที่เรียกว่า “สมาทานวิรัติ” หมายถึง เว้นด้วยการสมาทาน
กล่าวคือ ตนได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน โดยได้รับศีล
หรือ สมาทานสิกขาบทไว้แล้ว จึงงดเว้นตามที่ได้สมาทานนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=108


ในเมื่อการถือศีลจะต้องประกอบด้วยเจตนางดเว้นแล้ว
ย่อมหมายความว่า ผู้ถือศีลมีความสามารถจะทำผิดศีลได้ แต่งดเว้นไม่ทำ
ไม่ใช่ว่าไม่สามารถทำได้ แล้วก็บอกว่าตนเองงดเว้น
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่ามีนักโทษคนหนึ่งติดคุกโดยถูกขังเดี่ยวอยู่ในเรือนจำ
นักโทษคนนี้ถูกขังเดี่ยวจึงไม่ได้พบและสนทนากับใครเลย
ไม่สามารถฆ่าหรือทำร้ายใครได้ ไม่สามารถลักขโมยทรัพย์สินใครได้
ไม่สามารถประพฤติในกามกับบุตรหรือภรรยาใครได้
ไม่สามารถกล่าวเท็จกับใครได้ ไม่มีสุราดื่ม
เช่นนี้แล้ว ย่อมไม่ได้หมายความว่านักโทษคนนั้นมีศีล ๕ ครบ
เพราะโดยสภาพแล้ว เขาเองไม่สามารถประพฤติผิดศีลได้ในเวลานั้น
แต่หากเขาไม่โดนขังคุกแล้ว เขาสามารถประพฤติผิดศีลได้ เขาก็จะทำ
โดยเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะงดเว้น หรือสมาทานวิรัติแต่อย่างใด


ดังนี้ การที่ใครคนหนึ่งนั่ง ๆ นอน ๆ เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย
ไม่ได้แปลว่าคนนั้นจะมีศีล ๕ โดยอัตโนมัติแล้วนะครับ
แต่เขาคนนั้นจะต้องมีเจตนางดเว้น หรือสมาทานวิรัติอยู่ก่อน
โดยเขาสามารถประพฤติผิดศีลได้ แต่ก็ไม่ทำ เพราะเขามีเจตนางดเว้น


เมื่อเราเข้าใจในเรื่องการถือศีลแล้ว
ต่อมาเรามาพิจารณาเรื่องลักษณะของคนดีกันต่อไปครับ
ซึ่งในเรื่องนี้ ในบางพระสูตรจะไม่ได้ใช้คำว่า “คนดี”
แต่จะใช้คำว่า “สัตบุรุษ” ซึ่งแปลว่า คนสงบ, คนดี,
คนมีศีลธรรม, หรือคนที่ประกอบด้วย “สัปปุริสธรรม
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D1%B5%BA%D8%C3%D8%C9&original=1
คำว่า “สัปปุริสธรรม” หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมของคนดี,
หรือ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วย ๗ อย่าง คือ
๑. ธัมมัญญุตา คือรู้หลักหรือรู้จักเหตุ
๒. อัตถัญญุตา คือรู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล
๓. อัตตัญญุตา คือรู้จักตน
๔. มัตตัญญุตา คือรู้จักประมาณ
๕. กาลัญญุตา คือรู้จักกาล
๖. ปริสัญญุตา คือรู้จักชุมชน
๗. ปุคคลัญญุตา คือรู้จักบุคคล
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D1%BB%BB%D8%C3%D4%CA%B8%C3%C3%C1
ฉะนั้นแล้ว “สัตบุรุษ” หรือ “คนดี” คือคนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม
ดังนั้น หากใครที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ก็ถือว่าเป็นคนดี


นอกจากนี้ ใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สัปปุริสวรรคที่ ๑
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับสัตบุรุษ (คนดี) และอสัตบุรุษ (คนไม่ดี) ว่า
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท
บุคคลนี้เรียกว่า อสัปบุรุษ
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์
งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท
บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ


บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีโอตตัปปะมีสุตะน้อย
เป็นคนเกียจคร้าน มีสติหลงลืม มีปัญญาทราม บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ เป็นพหูสูต
ปรารภความเพียร มีสติ มีปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ


บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนมักฆ่าสัตว์ มักลักทรัพย์ มักประพฤติผิดในกาม
มักพูดเท็จ มักพูดคำส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักพูดคำเพ้อเจ้อ
บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน
งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากพูดเท็จ งดเว้นจากพูดส่อเสียด
งดเว้นจากพูดคำหยาบ งดเว้นจากพูดเพ้อเจ้อ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ


บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นผิด มีความดำริผิด มีวาจาผิด
มีการงานผิด มีอาชีพผิด มีความพยายามผิด ตั้งสติผิด ตั้งใจมั่นผิด
บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ
มีการงานชอบ มีอาชีพชอบ มีความพยายามชอบ ตั้งสติชอบ ตั้งใจมั่นชอบ
บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ


บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นผิด มีความดำริผิด มีวาจาผิด
มีการงานผิด มีอาชีพผิด มีความพยายามผิด ตั้งสติผิด ตั้งใจมั่นผิด
เป็นผู้มีความรู้ผิด เป็นผู้มีความพ้นผิด บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ
มีการงานชอบ มีอาชีพชอบ มีความพยายามชอบ ตั้งสติชอบ ตั้งใจมั่นชอบ
เป็นผู้มีความรู้ชอบ เป็นผู้มีความพ้นชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=5845&Z=6072&pagebreak=0


นอกจากนี้ ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สัปปุริสวรรคที่ ๑
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนถึง “อสัตบุรุษที่ยิ่งว่าอสัตบุรุษ”
และ “สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ” อีกด้วย
โดย “อสัตบุรุษที่ยิ่งว่าอสัตบุรุษ” คือ บุคคลที่ประพฤติตนเป็นอสัตบุรุษ
แล้วยังชักชวนให้บุคคลอื่นประพฤติตนเป็นอสัตบุรุษด้วย
ในขณะที่ “สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ” คือ บุคคลที่ประพฤติตนเป็นสัตบุรุษ
แล้วยังชักชวนให้บุคคลอื่นประพฤติตนเป็นสัตบุรุษด้วย


ขอให้สังเกตว่า ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สัปปุริสวรรคที่ ๑
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท
บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ ดังนี้ เราย่อมได้คำตอบแล้วนะครับว่า
บุคคลที่มีศีล ๕ ย่อมถือว่าเป็น “สัตบุรุษ” หรือ “คนดี” แล้วครับ


บางท่านอาจจะรู้สึกว่าการถือศีล ๕ นั้นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย
แต่จริง ๆ แล้ว ศีล ๕ เป็นเรื่องใหญ่มาก และมีอานิสงส์มาก
ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ได้กล่าวถึงอานิสงส์แห่งศีล ดังนี้
๑. คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมประสบกองแห่งโภคะใหญ่
ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ
๒. กิตติศัพท์ที่ดีงามของคนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมระบือไป
๓. คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เข้าไปหาบริษัทใด ๆ คือ ขัตติยบริษัท
พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท เป็นผู้แกล้วกล้าไม่เก้อเขินเข้าไปหา
๔. คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ไม่หลงทำกาละ
๕. คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=11&item=291&items=1&preline=0&pagebreak=0
อนึ่ง การถือศีล ๕ ให้สมบูรณ์ได้นั้น เป็นเรื่องไม่ง่ายครับ
โดยบุคคลที่จะถือว่ามีศีลสมบูรณ์นั้น
ก็ได้แก่พระอริยบุคคลในระดับชั้นพระโสดาบันเป็นต้นไป


ใน “จูฬปุณณมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
ได้สอนถึงธรรมของสัตบุรุษ ภักดีต่อสัตบุรุษ ความคิดอย่างสัตบุรุษ
ความรู้อย่างสัตบุรุษ ถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ การงานอย่างสัตบุรุษ
ความเห็นอย่างสัตบุรุษ และให้ทานอย่างสัตบุรุษ ดังนี้
๑. สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก
มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา
อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ
๒. สัตบุรุษในโลกนี้ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ
มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย
อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ
๓. สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ
๔. สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ
๕. สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด
งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ
อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ
๖. สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน
งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษ
๗. สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล
ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่
โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี
สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ
ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่
อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ
๘. สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน
ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน
อย่างนี้ชื่อว่าย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=2187&Z=2323&pagebreak=0



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP