สารส่องใจ Enlightenment

เนกขัม (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรม ณ วัดเจริญสมณกิจ จังหวัดภูเก็ต
     
เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ตอนค่ำ



ได้แสดงถึงเรื่องการทำทาน และอานิสงส์ของการทำทาน ตลอดถึงการรักษาศีล
และอานิสงส์ของการรักษาศีล สำรวมอินทรีย์
จนถึงหัดสมาธิภาวนาให้เกิดปัญญาวิปัสสนา เป็นลำดับมาแล้ว
การฟังเทศน์ในตอนคืนวันนี้ จะต้องฟังด้วยความสงบ
และจะได้ฟังเรื่องการทำทาน รักษาศีล ภาวนา อย่างแสดงมาแล้วนั้นด้วย
แต่ทาน ศีล ภาวนา ที่จะฟังต่อไปนี้
เป็น ทาน ศีล ภาวนา ที่มีอยู่ในภาวนาแห่งเดียวกัน



แท้จริงว่ากันโดยเฉพาะแล้ว ภาวนา คือการเสียสละ หรือที่เรียกว่า เนกขัม
คำว่า สละ หรือว่า ออก ก็ดี มิได้สละให้ใคร
แต่สละในใจ ทำทานในใจ ทานของที่มีอยู่ในใจ
ทานแบบนี้มิใช่ทานของดิบของดี เป็นทานสิ่งที่ผู้รู้ทั้งหลายเห็นน่าเกลียด
แต่เป็นสิ่งที่คนโง่ทั้งหลายปรารถนา

ฉะนั้น การทำทานแบบนี้จึงไม่จำเป็นให้เฉพาะคนนั้นคนนี้ทอดผ้าบังสุกุลเลย
เมื่อสละทอดบังสกุลของไม่ดี ศีลก็จะเกิดมีขึ้นในคนผู้ฉลาดทั้งหลาย
เพราะศีลมิใช่ของคนโง่
ส่วน สละ หรือ เนกขัม การออกก็ดี มิได้ออกไปไหน
ใครบวชก็มิได้ออกไปนอกโลกนอกฟ้า



พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายท่านออกบวช
ท่านก็บวชอยู่ในบ้านในเมือง อาศัยบิณฑบาต ฉันกับข้าวชาวบ้าน
เหมือนดังพระภิกษุที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้เอง
ที่ท่าน ออก หรือ สละ นั้น คือออกจากสิ่งที่สกปรกท่านไม่ต้องการ
อันได้แก่ กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ซึ่งเป็นเครื่องยั่วยวนชวนให้ใจติดหลงมัวเมาต่างหาก



ผู้เข้าถึงภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิได้แล้ว ไม่ว่าจะออกบวชหรือไม่ก็ตาม
ย่อมเห็นโทษในเบญจกามคุณนี้เหมือนกันทั้งนั้น เรียกว่า เนกขัมด้วยใจ
ดังมีเรื่องในพุทธกาลว่า
มีแม่บ้านคนหนึ่งเห็นพระจำนวน ๓๐ รูป เดินรุกขมูลมาจวนเข้าพรรษา
เกิดศรัทธาเข้าไปหา ไหว้แล้วถามถึงความต้องการของพระภิกษุเหล่านั้น
ก็ได้ทราบว่าท่านต้องการเสนาสนะที่อยู่จำพรรษา
แกพร้อมด้วยลูกบ้านจึงจัดเสนาสนะถวาย
เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นได้เสนาสนะแล้ว
วันเข้าพรรษาพระเถระผู้ใหญ่จึงประชุมตั้งกติกาทำความเพียรกันว่า
พวกเราไม่อยู่รวมกันถึงสองรูป หากใครมีธุระอะไรแล้ว ขอให้มาตีระฆังสัญญาณที่ศาลานี้



หลังจากเข้าพรรษาแล้วหลายวัน
ยายแก่แม่บ้านคิดถึงพระของแกจึงได้หาของถวายพระ ให้คนใช้ถือตามหลังแกไป
พอไปถึงวัดเห็นศาลาว่าง ไม่มีพระอยู่ แกตกใจว่าพระหายไปไหนหมด
พอดีเจอคนเฝ้าศาลายังอยู่ แกจึงถาม ได้รับคำตอบว่าพระยังอยู่
เมื่อยายต้องการพบท่านแล้ว ตีระฆังสัญญาณ ท่านก็จะมาเอง
แกก็ให้ตีระฆัง พอพระได้ยินเสียงระฆังต่างก็มากันคนละทิศละทาง
ทำเอายายแก่ตกตะลึงงงงันพร้อมกับอุทานในใจว่า
ตาย! พระของเราชะรอยจะทะเลาะกันเสียแล้ว เราไม่รู้เลยว่าเพราะเรื่องอะไรกัน


พอท่านมารวมกันเรียบร้อยแล้ว ยายแกคลานเข้าไปหาท่านผู้เป็นเถระ
ถามว่าท่านทะเลาะอะไรกันจึงมิได้อยู่รวมกัน
พอท่านผู้เป็นหัวหน้าอธิบายให้ฟังว่าพวกอาตมามิได้ทะเลาะอะไรกัน
แต่แยกกันอยู่ทำความเพียรภาวนา
แกจึงโล่งใจแล้วก็สนใจในคำว่า ภาวนา แกจึงซักถามท่านว่า
คำว่า ภาวนาๆ นั้น ทำอย่างไรกันเจ้าคะ เช่นตัวดิฉันนี้จะทำได้หรือไม่
ท่านก็ตอบว่า คือพิจารณาเกิดดับของอัตภาพอันนี้ โยมก็ทำได้ไม่เลือก
โชคดีพอแกไปทำเข้าก็ได้ ปรัตตวิชา คือ รู้วาระจิตของคนอื่น
พระเหล่านั้นคิดนึกอะไรแกก็รู้ได้หมด



พอออกพรรษาแล้ว พระเหล่านั้นละอายใจ เกรงว่าแกจะรู้วาระจิตของตน
เพราะเรายังเป็นพระปุถุชนอยู่ มันอาจคิดไปต่างๆ นานาก็ได้
แล้วพากันไปเพื่อเฝ้าพระศาสดา
พอพระองค์ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว จึงทรงบัญชาให้กลับไป ณ ที่นั้นอีก
ทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด



เรื่องนี้แสดงว่า เนกขัม คือการสละ หรือการออกจากกามคุณ ๕
มิใช่ทำได้แต่ผู้บวช หรือบวชแล้วจึงจะสละได้

ยายแก่แม่บ้านแกก็ยังสามารถบวชใจแกได้ก่อนพระเสียด้วยซ้ำ
บวชกายแล้ว ใจยังไม่บวชเลย
นี่แหละ เนกขัม คือ การสละ หรือออก มิได้สละไปไหน ออกไปไหน
สละแล้ว ออกแล้ว ก็อยู่ในโลกนี้กับเขาผู้ที่ยังไม่สละไม่ออกด้วยกัน
แต่มันเป็นการสละภายใน ออกภายใน
กามคุณ ๕ มิได้มีติดอยู่ที่ใจของผู้นั้นต่างหาก
ในเมื่อผู้นั้นยกเอารูปนามอันเป็นที่ตั้งของกามคุณ ๕ ขึ้นมา
พิจารณาให้เห็นเป็นของเสื่อมสูญสิ้นไปอยู่เสมอ

เหมือนกับยายแก่แม่บ้านคนที่กล่าวนั้น
เมื่อแกมีความสมัครรักใคร่สนใจในอุบายที่พระสอนให้
แกไม่ประมาท เร่งทำความเพียรปรารภความสิ้นความเสื่อมแห่งอัตภาพของตน
จนเบื่อหน่ายเห็นโทษในเบญจกามคุณ
จิตเข้าถึงภาวนาเอกัคตารมณ์ เกิดปรจิตตวิชา รู้วาระจิตของคนอื่นได้



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจากพระธรรมเทศนา “เนกขัม”
ใน “พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์
ฉบับพิมพ์เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๒.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP