จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๕๖ ทานสองชั้น



256 talk



ให้ทิปเด็กเฝ้ารถบางคน
ถ้าแค่ห้าบาท
อาจโดนมองด้วยสายตารังเกียจ
ไม่ปิดประตู ไม่ส่องไฟให้
หรือบางคนเจอหนัก
ถึงขั้นด่ากันตรงๆว่า
ให้แค่นี้อย่าให้ดีกว่า เหมือนดูถูกกัน


ให้บางคนยืมเงินก้อน
นึกสงสารเห็นเขาลำบาก
แต่นอกจากไม่ใช้คืน
ยังเอาไปด่าลับหลัง
หรือกระทั่งใส่ร้ายเพื่อให้เจ้าหนี้ดูแย่
จะได้แก้เก้อ ไม่ต้องรู้สึกผิด
ที่ไม่คิดชำระสะสางหนี้สินคนเลวๆ


ให้ความช่วยเหลือการงานกับบางคน
นอกจากไม่อ้างอิงว่าใครช่วย
ยังอวยตัวเองเป็นต้นคิด
แถมลอบแทงข้างหลัง
เพื่อไม่ให้ใครนึกว่าต้นคิดที่แท้จริงคือคนนั้น


แล้วจะอย่างไรดี
จะมีวิธีไหนรู้ว่าใครเป็นจอมเนรคุณ
ในเมื่อตอนเข้ามาขอความช่วยเหลือ
ต่างก็ตีหน้าเศร้า
เล่าความลำบากได้เหมือนกันหมด?
หรือจะไม่ต้องช่วยใครเลยดีไหม
จะได้ไม่ต้องช้ำใจในภายหลัง?


แท้จริงแล้ว
การให้ทานอันบริสุทธิ์
นอกจากตั้งเป้าแบบพุทธ
เพื่อการทำลายความตระหนี่
ยังมีเรื่องของการใช้หนี้กรรมให้หมดๆ
กล่าวคือ ถ้าให้ทานกับใครแล้วเดือดร้อน
จากการอกตัญญูของคนคนนั้น
ก็ให้ทานรอบสอง
กระหน่ำซ้ำเข้าไปอีกครั้ง
เป็นการถอนคืนความเจ็บใจ
ยิ่งน่าเจ็บใจ
แล้วถอนความเจ็บใจได้เกลี้ยงเกลาเท่าไร
ยิ่งแปลว่าภัยเวรที่ผูกมากับคนคนนั้น
หรือคนกลุ่มนั้น
ได้รับการชำระล้างหมดจดแล้วเท่านั้น


ให้ทานคนอกตัญญู
แล้วไม่ผูกใจเจ็บ
เท่ากับให้ทานสองชั้น
ชั้นแรกเป็นทรัพยทาน หรือวิทยาทาน
ชั้นสองเป็นอภัยทาน อันยากที่ใครจะให้กัน


เพียงท่องไว้
ล้างหนี้ ล้างหนี้ ล้างหนี้
แล้วคุณจะหนีศัตรูพ้น
ใจจะเป็นอิสระจากพันธนาการ
ตัวเบาเหมือนจะลอยได้
เพราะห่างไกลจากภัยเวร
อันเกิดจากบาปกรรม
ที่ครั้งหนึ่งเราก็คงเคย
เป็นคนอกตัญญูกับเขาเหมือนกัน!


ดังตฤณ
เมษายน ๖๒





review


การสละออกจากกามคุณ ๕ นั้น แม้เป็นฆราวาสก็สามารถทำได้
มิได้จำกัดแต่เพียงผู้ที่อยู่ในสมณเพศเท่านั้น

ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
เรื่อง "เนกขัม (ตอนที่ ๑)" ในคอลัมน์"สารส่องใจ" ค่ะ


หากตนเองมีความสนใจในธรรมะเป็นอย่างยิ่ง
แต่คู่ครองยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก
แล้วทำอย่างไรอีกฝ่ายจึงจะเห็นคุณค่าของธรรมะได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "คู่เวรจะพัฒนาเป็นคู่บุญได้อย่างไร"


"ศิวาดล" เรื่องราวความลึกลับในคฤหาสน์อาถรรพ์
นวนิยายจากนักเขียนมากฝีมือ "คุณชลนิล"
เนื้อหากำลังขมวดปมเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ติดตามได้ในคอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" ค่ะ (^__^)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP