ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

นคโรปมสูตร ว่าด้วยสัทธรรมเหมือนเครื่องป้องกันนคร


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๖๔] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชา
ป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการ และหาอาหาร ๔ ประการ
ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ในกาลนั้น เรากล่าวว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกทำอันตราย
ปัจจันตนครของพระราชานั้นไม่ได้
เครื่องป้องกัน ๗ ประการเป็นไฉน คือ


ในปัจจันตนครของพระราชา
มีเสาระเนียด ขุดหลุมฝังลึกไว้อย่างดี ไม่หวั่นไหว ไม่โยกคลอน
ปัจจันตนครของพระราชา ชื่อว่าป้องกันดีด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๑ นี้
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก.


อีกประการหนึ่ง มีคูขุดลึกและกว้าง
ปัจจันตนครของพระราชา ชื่อว่าป้องกันดีด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๒ นี้
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก.


อีกประการหนึ่ง มีทางเดินตามคูได้รอบ ทั้งสูงและกว้าง
ปัจจันตนครของพระราชา ชื่อว่าป้องกันดีด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๓ นี้
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก.


อีกประการหนึ่ง มีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธมีคม
ปัจจันตนครของพระราชา ชื่อว่าป้องกันดีด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๔ นี้
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก.


อีกประการหนึ่ง ตั้งกองทัพไว้มาก คือ พลช้าง พลม้า พลรถ
พลธนู กองถือธง กองจัดกระบวนทัพ กองพลาธิการ
กองเสนาธิการ กองจู่โจมเหมือนช้างวิ่งเข้าหา กองทหารหาญ
กองทหารถือโล่ กองทหารเกราะหนัง กองทหารทาส
ปัจจันตนครของพระราชา ชื่อว่าป้องกันดีด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๕ นี้
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก.


อีกประการหนึ่ง มีทหารยามฉลาดเฉียบแหลมสามารถดี
คอยห้ามคนที่ไม่รู้จักไม่ให้เข้า อนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า
ปัจจันตนครของพระราชา ชื่อว่าป้องกันดีด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๖ นี้
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก.


อีกประการหนึ่ง มีกำแพงทั้งสูงและกว้าง พร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี
ปัจจันตนครของพระราชา ชื่อว่าป้องกันดีด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๗ นี้
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก.


ปัจจันตนครมีการป้องกันดี ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้แล.


ปัจจันตนครหาอาหาร ๔ ประการเหล่าไหน
ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก คือ
ในปัจจันตนครของพระราชาในโลกนี้ มีการสะสมหญ้า ไม้ และน้ำไว้มาก
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน
และป้องกันอันตรายภายนอก.


อีกประการหนึ่ง มีการสะสมข้าวสาลี (ข้าวเจ้า) และข้าวเหนียวไว้มาก
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน
และป้องกันอันตรายภายนอก.


อีกประการหนึ่ง มีการสะสมงา ถั่วเขียว ถั่วทอง และอปรัณณชาติไว้มาก
เพื่อความอุ่นไจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน
และป้องกันอันตรายภายนอก.


อีกประการหนึ่ง มีการสะสมเภสัช คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน
น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เกลือ ไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว
เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก.


ภิกษุทั้งหลาย ปัจจันตนครหาอาหาร ๔ ประการ ได้ตามปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก.


ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ปัจจันตนครของพระราชาป้องกันไว้ดีด้วย
เครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้ และหาอาหาร ๔ ประการ
ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก นี้เรียกว่า
ปัจจันตนครของพระราชาอันศัตรูหมู่ปัจจามิตรทำอันตรายไม่ได้.
ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
สมัยที่อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ
และเป็นผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งอันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
นี้เรียกว่า อริยสาวกอันมารผู้มีบาปทำอันตรายไม่ได้.


อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการเหล่าไหน.


ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเป็นผู้มีศรัทธา
เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตว่า
แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ
เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา
มีเสาระเนียดขุดหลุมฝังลึกไว้อย่างดี ไม่หวั่นไหว ไม่โยกคลอน
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีศรัทธาเปรียบเหมือนเสาระเนียด
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๑ นี้.


อริยสาวกเป็นผู้มีหิริ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ละอายต่อการเข้าถึงอกุศลธรรมอันชั่วช้าลามก
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีคูทั้งลึกและกว้าง
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีหิริเปรียบเหมือนคู
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๒ นี้.


อริยสาวกมีโอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
สะดุ้งกลัวต่อการเข้าถึงอกุศลธรรมอันชั่วช้าลามก
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีทางเดินตามคูได้รอบ
ทั้งสูงและกว้าง สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีโอตตัปปะ เปรียบเหมือนทางเดินตามคูได้รอบ
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๓ นี้.


อริยสาวกเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ได้สดับตรับฟังมาก
ทรงจำได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ
ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมอาวุธไว้มาก
ทั้งที่เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธมีคม
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสุตะเปรียบเหมือนอาวุธ
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๔ นี้.


อริยสาวกปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมถึงพร้อม
มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา ตั้งกองทัพไว้มาก คือ
พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู กองถือธง กองจัดกระบวนทัพ กองพลาธิการ
กองเสนาธิการ กองจู่โจมเหมือนช้างวิ่งเข้าหา กองทหารหาญ
กองทหารถือโล่ กองทหารเกราะหนัง กองทหารทาส
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกมีความเพียรเหมือนกองทัพ
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๕ นี้.


อริยสาวกเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง
ย่อมตามระลึกถึงสิ่งที่ได้ทำและคำที่ได้พูดแล้วแม้นานได้
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา
มีทหารยามฉลาดเฉียบแหลมสามารถดี
คอยห้ามคนที่ไม่รู้จักไม่ให้เข้า อนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า
สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสติเปรียบเหมือนทหารยาม
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๖ นี้.


อริยสาวกเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ
เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีกำแพงทั้งสูงทั้งกว้าง
พร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี เพื่อคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีปัญญาเปรียบเหมือนกำแพงอันพร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๗ นี้.


อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้.


อริยสาวกเป็นผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งอันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเหล่าไหน.


อริยสาวกสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตน และเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมหญ้า ไม้และน้ำไว้มาก
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน
และป้องกันอันตรายภายนอก.


อริยสาวกบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตน และเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา
มีการสะสมข้าวสาลี (ข้าวเจ้า) และข้าวเหนียวไว้มาก
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน
และป้องกันอันตรายภายนอก.


อริยสาวกมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่ เสวยสุขด้วยนามกาย
เพราะปีติคลายไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตน และเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา
มีการสะสมงา ถั่วเขียว ถั่วทอง และอปรัณณชาติไว้มาก
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน
และป้องกันอันตรายภายนอก.


อริยสาวกบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้
เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน อันสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งตน และเพื่อหยั่งลงสู่นิพพาน
เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมเภสัช
คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เกลือ ไว้มาก
เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน
และป้องกันอันตรายภายนอก.


อริยสาวกเป็นผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่งอันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน


ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้
และมีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่งอันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
นี้เรียกว่า อริยสาวกอันมารผู้มีบาปทำอันตรายไม่ได้.


นคโรปมสูตร จบ



(นคโรปมสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP