สารส่องใจ Enlightenment

งานล้างป่าช้า (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาดจ.อุดรธานี
เมื่อวันที่๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙



งานล้างป่าช้า(ตอนที่ ๑) (คลิก)



นี่เป็นจุดสำคัญ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนบรรดาสงฆ์สาวก
พระสงฆ์ที่ทูลลาพระองค์ไปเที่ยวกรรมฐาน ไปเที่ยวบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ
ท่านเหล่านี้เป็นผู้กำลังศึกษา ถ้าสำเร็จเป็นอริยบุคคล ก็ต้องอยู่ในขั้น
“เสขบุคคล”
ที่จะต้องศึกษาเพื่อธรรมขั้นสูงขั้นไป
เวลามาทูลลาพระพุทธเจ้าจะไปบำเพ็ญสมณธรรม
ท่านก็รับสั่งว่า “เธอทั้งหลายไปอยู่ในสถานที่ใด อย่าปราศจาก “ที่พึ่ง” นะ”
“การอยู่ไม่มีที่พึ่งนั้นหาความหมายไม่ได้เลย ไม่มีความหมายในตัวเอง หาคุณค่าไม่ได้
พวกเธอทั้งหลายจงหาธรรมที่มีคุณค่ามากเป็นที่พึ่ง
ธรรมที่มีคุณค่านั้นจะเกิดขึ้นได้เพราะสถานใดเหตุใด
ถ้าไม่เกิดขึ้นได้กับความมีสติ ความมีความเพียร
มีสติปัญญาอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถต่างๆ
นี้แลธรรมมีคุณค่าที่จะให้สมณธรรมเจริญรุ่งเรือง
กลายเป็นคนที่มีคุณค่าขึ้นมาภายในตน”


เราฟังพระโอวาทท่านซี น่าฟังไหม!
บรรดาพระสงฆ์ที่ได้รับพระโอวาทจากพระองค์แล้ว
ต่างองค์ต่างเสาะแสวงหา
“สมณธรรม”
บำเพ็ญธรรมอยู่ในสถานที่ใด ท่านจึงได้ไปด้วยความสงบเสงี่ยมเป็นสุขใจ
เป็นไปด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาท แล้วหาที่เด็ดๆ เดี่ยวๆ
เพื่อความเหมาะสมแก่การแก้กิเลส การฆ่ากิเลสนั่นเอง พูดง่ายๆ
เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้นแล้วเรื่องความเพียรก็มาเองแหละ
ตามปกติมีแต่ความขี้เกียจทับถมอยู่ตลอดเวลามองหาตัวจนแทบไม่เห็นไม่เจอนั่นแล
มีแต่ความเกียจคร้าน มักง่าย ความอ่อนแอ เต็มอยู่ในตัวของบุคคลทั้งคน
เหยียบย่างไปไหนโดนแต่ความขี้เกียจของตน
แต่เวลาเข้าไปสู่สถานที่เช่นนั้น ความขี้เกียจมันหมอบตัว
ความขยันหมั่นเพียรค่อยปรากฏตัวขึ้นมา
เพราะสถานที่เป็นสิ่งแวดล้อมอันสำคัญประมาทไม่ได้
เรามีความมุ่งหมายอย่างไรจึงต้องมาอยู่สถานที่นี้?


ความมุ่งหมายเดิม เจตนาเดิมเป็นอย่างไร
ก็คือมุ่งหาสมณธรรม มาหาที่สำคัญที่เด็ดๆ เดี่ยวๆ
เพื่อจะได้ตั้งสติ คิดอ่านด้วยปัญญา พยุงความเพียรอย่างเข้มแข็ง
เมื่อเป็นเช่นนั้นทั้งไปอยู่สถานที่เช่นนั้นด้วยแล้ว
“สติ” ก็มาเอง เพราะความระวังตัว
ใครจะไม่กลัวและเสียดายชีวิตล่ะ ไม่เสียดายชีวิต ไม่หึงหวงชีวิตมีเหรอ? คนทั้งคนน่ะ
แม้ว่าธรรมจะมีคุณค่ามาก แต่ในระยะที่จิตมีความหึงหวงในชีวิต
ซึ่งกลายเป็นของมีคุณค่ามากยิ่งกว่าธรรมยังมี ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสอันหนึ่ง
แต่กิเลสคือความหึงหวงชีวิต เป็นกิเลสที่จะให้เกิด “ธรรม” ได้
คือให้เกิดความขยันหมั่นเพียรในการที่จะประกอบความเพียร


เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ทีนี้มอบได้แล้ว
ตายกับธรรมอย่างเดียวไม่เกี่ยวเกาะกับอะไร มีสติสตัง อยู่ตลอดเวลา
เดินอยู่ในสถานที่ใด นั่งอยู่ในสถานที่ใด เป็นกับตายไม่ต้องเอามายุ่ง
ขอให้รู้เรื่องของจิตที่กระดิกตัวออกมาหลอกลวงตนเองว่ามันปรุงเรื่องอะไร
ปรุงเรื่องเสือ เรื่องช้าง เรื่องอันตราย เรื่องงู เรื่องอะไรก็แล้วแต่
มันปรุงขึ้นที่ตรงไหนก็แล้วกัน
มันปรุงขึ้นที่ใจ ตัวนี้เป็นตัวหลอกลวง จิตขยับเข้าไปตรงนี้ๆ
เรื่องว่าเสือว่าช้างที่เป็นอันตรายภายนอก มันเลยหายกังวล
เพราะตัวนี้เป็นตัวก่อกรรม ตัวนี้เป็นตัวหลอกลวง
สติปัญญาโหมตัวเข้ามาจับจุดที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นตัว
”โจรผู้ร้าย” ยุแหย่ก่อกวนจนได้ที่
เมื่อเห็นจุดสำคัญที่เป็นตัวก่อเหตุแล้ว จุดที่ก่อเหตุนี้ก็ระงับตัวลงได้
เพราะอำนาจของสติ อำนาจของปัญญาค้นคว้าลง

จนข้าศึกที่จะปรุงเป็นเสือเป็นช้างเป็นต้นหมอบราบลง


เรื่องความกลัวหายหมด จะไม่หายยังไง ก็ผู้ไปปรุงมันไม่ปรุงนี่
เพราะรู้ตัวของมันแล้วว่า
“นี่ตัวอันตรายอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่กับเสือกับช้างอะไรที่ไหน
ถึงความตายอยู่ที่ไหนก็ตาย คนเรามี “ป่าช้า” อยู่ทุกแห่งทุกหนทุกอิริยาบถ
แน่ะ! ไปหวั่นไปไหวอะไรกับเรื่องความเป็นความตาย
กิเลสที่มันครอบคลุมอยู่ที่หัวใจนี้เป็นภัยอันสำคัญอยู่ตลอดเวลา ทุกภพทุกชาติด้วย
จึงควรจะแก้ที่ตรงนี้
เช่น ความกลัวมันเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง
ต้องใช้สติปัญญาหันเข้ามาที่นี่ ย้อนเข้าที่นี่ จิตก็สงบตัวลงไปเท่านั้น
เมื่อจิตสงบตัวลงไป ถึงจะคิดจะปรุงได้อยู่ก็ตาม แต่ความกลัวไม่มี
เพราะจิตได้ฐานที่มั่นคงภายในใจแล้ว
นี่เราเห็นคุณค่า เราเห็นผลประโยชน์จากสถานที่นี้ด้วยความเพียรอย่างนี้
ก็ยิ่งขยันเข้าไปเรื่อยๆ เพื่อธรรมขั้นสูง
ต้องหาที่เด็ดเดี่ยวไปโดยลำดับ เพื่อธรรมขั้นสูงยิ่งกว่านี้ขึ้นไป


การประกอบความเพียรในที่คับขันเช่นนั้น เป็นผลประโยชน์ได้เร็วยิ่งกว่าที่ธรรมดา
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุนมีน้อยก็อยากจะได้กำไรมากๆ จะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม
ก็ต้องหาที่เช่นนั้นเป็นทำเลหากินและซื้อขายละซิ
เมื่อกิเลสหมอบลงแล้ว ใจรื่นเริงบันเทิงอยู่กับอรรถกับธรรม
เห็นทั้งโทษเห็นทั้งคุณภายในจิตใจผู้หลอกลวง ผู้ก่อกวน ผู้ยุแหย่ต่างๆ
ให้เกิดความสะทกสะท้านหวั่นไหว ให้เกิดความกลัวเป็นกลัวตายอะไร
มันอยู่ในจิตใจ รู้เรื่องของมันในที่นี่แล้ว กิเลสก็สงบ ธรรมก็ก้าวหน้า


เรื่องเหล่านี้สงบก็เรียกว่า “ข้าศึกสงบ” ใจก็เย็นสบาย เอ้าเดิน
เสือจะกระหึ่มๆ อยู่ ก็กระหึ่มไป เพียงเสียงอันหนึ่งเท่านั้น
เขาก็ตายนี่ เสือก็มีป่าช้าเต็มตัวของมัน
เราก็มีป่าช้าเต็มตัวของเรา กลัวอะไรกับสัตว์กับเสือ!
กิเลสกัดหัวใจอยู่ตลอดเวลาทำไมไม่กลัว นี่! เอาที่ตรงนี้!
บทเวลาจะพาเอาจริงเอาจัง ให้หมุนติ้วๆ จนเกิดความกล้าหาญชาญชัยขึ้นมาที่นี่
จิตก็จริงจังอย่างเต็มภูมิ เสือจะมีสักกี่ร้อยตัวกี่พันตัวก็มาเถอะ
เสือนั่นน่ะ! เราก็เป็นสัตว์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันเหมือนสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นหมด
ไม่เห็นมีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน จิตมันคิดไปอย่างนั้นเสีย
มันรู้ไปอย่างนั้นเสีย จิตก็เลยรื่นเริงบันเทิง สบาย
แล้วกิเลสค่อยหมดไปๆ หรือหมอบลงๆ ราวกับตัวแบนแนบติดพื้นนั่นแล
โผล่หัวขึ้นมาไม่ได้เดี๋ยวถูกสังหารเรียบไป


อ้าว ทีนี้ค้นทางด้านปัญญา เมื่อสิ่งกังวลภายนอกที่จิตไปเกี่ยวข้องระงับตัวลงไปๆ
เพราะไม่คิดไม่ยุ่ง เนื่องจากสติปัญญาตีต้อนเข้ามาแล้ว
เราค้นวงภายในที่นี้ เอ้า ค้นลงไปเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ
เอาหลักพระพุทธเจ้า เอาหลัก
“สวากขาตธรรม”
เข้าไปเป็นเครื่องพิสูจน์เป็นเครื่องยืนยัน เพราะเป็นธรรมชาติที่ให้ความเชื่อถือได้ ค้นลงไป!
ท่านว่า อนิจฺจํ อะไรเป็นอนิจฺจํ? ดูให้เห็นชัดเจนตามความจริงที่พระองค์ทรงสอนไว้
ซึ่งเป็นความจริงล้วนๆ นั้น เวลานี้จิตของเรามันปลอม
อันนี้เป็น อนิจฺจํ มันก็ว่าเป็น นิจฺจํ อันนี้เป็น ทุกฺขํ มันก็ว่า สุขํ
อันนี้เป็น อนตฺตา มันก็ว่าเป็น อตฺตา ตัวตนอยู่อย่างนั้นแหละ
อะไรๆ มันก็ไปกว้านมาเป็นตัวเป็นตนไปหมด มันฝืนธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ร่ำไป


เมื่อเข้าไปอยู่ในที่คับขันเช่นนั้นแล้วมันไม่ฝืน มันยอม!
เมื่อยอมพระพุทธเจ้าแล้วมันก็เป็นธรรมเท่านั้นเอง
(๑) อย่างน้อยก็
“สมณธรรม” คือ ความสงบเย็นใจ

(๒) ยิ่งกว่านั้น ก็คือความเฉลียวฉลาดทางด้านปัญญา
แยกธาตุแยกขันธ์เห็นอย่างประจักษ์ เวลาเห็นชัดเจนแล้วก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรนี่
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ชอบจริงๆ เปิดเผยอยู่ด้วยความจริง สอนด้วยความจริง
สิ่งที่สอนก็เป็นความเปิดเผยอยู่ตามธรรมชาติของตน ไม่มีอะไรปิดบังลี้ลับ
นอกจากความโง่ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสเท่านั้น
ปิดบังตัวเองไม่ให้รู้ความจริงที่เปิดเผยอยู่ตามหลักธรรมชาติของตนได้
เมื่อพิจารณาไม่หยุดไม่ถอย มันก็รู้เข้ามาเอง
ให้ถือธาตุขันธ์ อายตนะนี้แลเป็นสนามรบ เป็นสถานที่ทำงาน
ที่เรียกว่า
“กัมมัฏฐานๆ” น่ะ กรรมฐานก็ใช้ได้ไม่เป็นกรรมฐานปลอม
พิจารณาตรงนี้แหละ มันติดที่ตรงนี้ ไม่ติดอะไรเป็นสำคัญ แต่ติดตรงนี้
จงค้นคว้าดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ดูทุกแง่ทุกมุมแห่งอวัยวะ
เมื่อถึงกาลที่ธรรมจะซึมซาบแล้วก็เหมือนไฟได้เชื้อ
มันสืบต่อไปไหม้ลุกลามไปเรื่อย จนหมดเชื้อจึงจะหยุด


(๓) พอถึงขั้นปัญญาที่จะซึมซาบให้เห็นอวัยวะส่วนต่างๆ
ซึ่งมีความเสมอกัน มันแทงทะลุปรุโปร่งไปหมด หายสงสัย
ปล่อยวางได้ตามความจริง เบาหวิวไปเลย
แน่ะ! การพิจารณา พิจารณาอย่างนั้น นี่แหละตัวจริง!
ตำรับตำราท่านสอนไว้มากน้อยกี่คัมภีร์ สอบเข้ามาหาตัวจริงนี่แล
เช่น
“สมาธิ” อะไรเป็นสมาธิ หนังสือไม่ได้เป็นสมาธิเป็นตัวหนังสือ
กิเลส หนังสือไม่ได้เป็นกิเลส ใจของเราเป็นกิเลส
แน่ะ! ปัญญา หนังสือไม่ได้เป็นปัญญา เป็นชื่อของปัญญาต่างหาก
เป็นชื่อของกิเลส เป็นชื่อของกองทุกข์ต่างหาก
ตัวทุกข์จริงๆ คือตัวเรา ตัวกิเลสจริงๆ คือใจของเรา ตัวปัญญาจริงๆ อยู่ที่ใจของเรา
ตำราท่านสอนชี้เข้ามาที่นี่ๆ จึงว่า “ให้โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัวเรา”
ให้เห็นความจริงอยู่ในสถานที่นี้ ความมืดมิดปิดตาก็ปิดอยู่ที่นี่ เวลาสว่างก็สว่างขึ้นที่นี่!


การพิจารณาด้วยปัญญา
ก็เพื่อจะเปิดสิ่งที่ปิดกำบังอันฝืนธรรมทั้งหลายนั้นออกไปถึงขั้นความจริง
จิตใจของเราก็จะโล่งและเห็นตามความจริง
“โลกวิทู” รู้แจ้งโลก
รู้อะไร ถ้าไม่รู้แจ้งสิ่งที่ปิดบังอยู่ภายในธาตุในขันธ์ของเรานี้ก่อนอื่นไม่มีอะไรจะรู้ ต้องรู้ที่นี่ก่อน!

ทุกข์ก็ปิดบัง สมุทัยก็ปิดบัง เมื่อเกิดทุกข์ขึ้นมา ธรรมอยู่ที่ไหนก็ล้มเหลวไปหมด
แน่ะ! มันปิดบังมันทำลายธรรมของเราได้หมด วิริยธรรมก็ถูกทำลาย
สติปัญญาธรรมก็ถูกทำลาย ขันติธรรมก็ถูกทำลายด้วยอำนาจแห่งความทุกข์



ถ้าสติปัญญาไม่สามารถแก่กล้า ไม่มีความอาจหาญจริงๆ
จะเปิดความทุกข์นี้ขึ้นมาให้เห็นเป็นของจริงไม่ได้
ทั้งๆ ที่ทุกข์นั้นเป็นของจริงอันหนึ่ง แต่เราก็คว้าเอามาเป็นของปลอม
เป็นฟืนเป็นไฟเผาจิตใจของตนจนแหลกเหลวไปได้
ทำความเพียรติดต่อกันไม่ได้เลยเพราะทุกข์เข้าไปทำลาย
อะไรปิดบังจิตใจ
? ก็ทุกข์นี่เองเป็นเครื่องปิดบัง สมุทัยก็เหมือนกัน
คิดอะไรหลอกขึ้นมาตั้งแต่เรื่องปิดบังเรื่องจอมปลอมทั้งนั้น
เราก็เชื่อมันไปโดยลำดับๆ ก็ยิ่งเพิ่มทุกข์ขึ้นมามากมาย
ต้องใช้ “สติ ปัญญา” เปิดสิ่งเหล่านี้ให้เห็นตามความจริงของมัน
เมื่อสติปัญญา “จ่อ” เข้าไปถึงไหน รู้เข้าไปถึงไหน
ความรู้แจ้งเห็นจริงและการปล่อยวาง จะปรากฏขึ้นมา เด่นขึ้นมา
แล้วความปล่อยวางจะเป็นไปเอง ค่อยปล่อยวางไปเรื่อยๆ ปล่อยวางไปเรื่อยๆ
ตามความซาบซึ้งของปัญญาที่มีกำลังเป็นลำดับ จนหมดปัญหา


คำว่า “ธาตุขันธ์” พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ได้ ๒๕๐๐ กว่าปีนี้
ล้วนแต่เป็นความจริงตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ทำไมถึงเพิ่งมาทราบกันวันนี้รู้กันวันนี้ ธาตุขันธ์มีมาตั้งแต่วันเกิด
ทำไมแต่ก่อนไม่เห็นกายของเราว่าเป็น อนิจฺจํ ก็ไม่เห็น เป็น ทุกฺขํก็ไม่เห็น
เป็น อนตฺตา ก็ไม่เห็น เป็น “อสุภะอสุภัง” อะไรๆ ก็ไม่เห็น
ทั้งที่มันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้นแต่ใจก็ไม่เห็น
แล้วทำไมเพิ่งมาเห็นกันวันนี้! สิ่งเหล่านี้เพิ่งมีวันนี้เท่านั้นหรือ?
เปล่า! มีมาตั้งแต่วันเกิด! แต่เพราะความมืดมิดปิดตาบังอยู่อย่างหนาแน่น
แม้สิ่งเหล่านี้จะมีอยู่กับตัวเราก็ไม่เห็น ตัวเราอยู่กับ อนิจฺจํ ก็ไม่เห็น อนิจฺจํ
อยู่กับ “ทุกฺขํ” ก็ไม่เห็น ทุกฺขํ อยู่กับ อนตฺตา ก็ไม่เห็น อนตฺตา
แล้วจะเห็น “ธรรมหรือความจริงแท้แน่นอน” ได้ที่ไหนกัน!


เมื่อสติปัญญาหยั่งลงไปก็เปิดเผยออกมาเรื่อยๆ
ไม่ต้องบอกเรื่อง
อุปาทาน” จะขาดสะบั้นไปมากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับสติปัญญา ให้พิจารณาเต็มพลัง
ฉะนั้นจงผลิตสติปัญญาขึ้นให้มาก
อย่ากลัวจิตตาย อย่ากลัวจิตฉิบหาย อย่ากลัวจิตล่มจม
ธรรมชาตินี้ไม่ล่มจม เพราะธรรมชาตินี้เท่านั้นที่จะพิจารณาสิ่งทั้งหลาย
สิ่งเหล่านี้ก็อาศัยธรรมชาตินี้อยู่ด้วยกันไป
ถ้าเราหลงถือว่าเป็นเรา สิ่งนั้นก็เป็นภัยต่อเราได้
ถ้าเรารู้ก็ต่างอันต่างจริง อยู่ด้วยกันสะดวกสบายในที่ทั้งหลาย!


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/2IaJHjg


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP