จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

บัญชีเรี่ยไรภายใต้กฎหมายภาษีใหม่


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



253 destination



ในปัจจุบันนี้ เราคงทราบกันดีว่าการค้าขายออนไลน์
ได้เพิ่มจำนวนและมูลค่าสูงขึ้นมาก
แต่ว่าที่ผ่านมานั้น ทางภาครัฐยังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ
ที่จะสามารถเข้าไปจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ค้าขายออนไลน์ได้
ซึ่งเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บรายได้จากผู้ค้าขายออนไลน์
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อนุมัติกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภาษี
อันได้แก่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
โดยกำหนดให้สถาบันการเงินจัดส่งข้อมูลบัญชีธนาคารให้แก่กรมสรรพากร
สำหรับบัญชีที่มีลักษณะการฝากหรือรับโอนเงิน ดังนี้คือ
(๑) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ครั้ง หรือ
(๒) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ ๒๐๐ ครั้ง
และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ ๒ ล้านบาทขึ้นไป
https://www.marketingoops.com/news/biz-news/online-tax-law/
https://www.thaipost.net/main/detail/21260
https://thestandard.co/rdserver-new-law-e-wallet/


แม้ว่ากฎหมายภาษีฉบับใหม่นี้จะมุ่งเก็บภาษีจากผู้ค้าขายออนไลน์ก็ตาม
แต่ว่าก็ส่งผลให้ญาติธรรมหลายท่านที่เปิดบัญชีรับเรี่ยไรให้ร่วมทำบุญ

เพื่อนำเงินไปทำบุญตามวัตถุประสงค์ในเรื่องต่าง ๆ เริ่มมีความกังวล
เพราะโดยปกติแล้วกรณีก็เป็นไปได้ว่าบัญชีเรี่ยไรที่ใช้นั้น
จะมีจำนวนเงินหรือจำนวนครั้งของการฝากหรือรับโอนเข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น
ทำให้เจ้าของบัญชีเรี่ยไรเป็นกังวลว่า ตนเองจะต้องเสียภาษีจากเงินเรี่ยไร
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วตนเองไม่ได้มีเงินได้จากเงินเรี่ยไรนั้นเลย
เพราะได้รับเงินมาเท่าไร ก็นำไปทำบุญตามวัตถุประสงค์ทั้งหมด


ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนาถึงกฎหมายภาษีอากรฉบับใหม่
และวิธีการบริหารจัดการบัญชีเงินเรี่ยไรครับ
เพื่อที่จะปฏิบัติตนเองให้ถูกต้องตามกฎหมายภาษีอากร
และไม่ต้องเสียภาษีจากเงินเรี่ยไรนั้น


กฎหมายใหม่นี้ไม่ได้มุ่งจะมาเก็บภาษีเงินเรี่ยไรทำบุญ
แต่มุ่งจะมาเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีแต่เดิม
โดยกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ได้เพิ่มมาตรา ๓ สัตตรส ดังนี้
“เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ให้บุคคลดังต่อไปนี้มีหน้าที่รายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษในปีที่ล่วงมาที่อยู่ในความครอบครองให้กรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
(๑) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(๒) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(๓) ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน


ธุรกรรมลักษณะพิเศษตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ธุรกรรมที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดในปีที่ล่วงมาดังต่อไปนี้
(๑) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ครั้ง
(๒) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ ๒๐๐ ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ ๒ ล้านบาทขึ้นไป


รายการข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษที่ต้องรายงานตามวรรคหนึ่งและวิธีการรายงาน ให้เป็นไปตามที่กาหนดในกฎกระทรวง


ให้อธิบดีมีหน้าที่ในการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับตามมาตรานี้และให้เก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ได้รับข้อมูล”


นอกจากนี้ มาตรา ๘ ของกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร กำหนดว่า

“ให้ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลตามมาตรา ๓ สัตตรส ส่งรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากรครั้งแรกภายใน ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๓”


เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ผมจะขออธิบายกฎหมายใหม่ดังกล่าว
ในรูปแบบคำถาม-คำตอบ ดังนี้ครับ

๑. บัญชีในลักษณะใดบ้างที่สถาบันการเงินต้องรายงานต่อกรมสรรพากร?
ตอบ บัญชีที่มีลักษณะการฝากหรือรับโอนเงินในรอบหนึ่งปี ดังนี้คือ
(๑) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ครั้ง หรือ
(๒) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ ๒๐๐ ครั้ง
และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ ๒ ล้านบาทขึ้นไป


อนึ่ง ยอดเงินรวมตั้งแต่ ๒ ล้านบาทขึ้นไปนั้นจะใช้กับเฉพาะ
กรณีมีจำนวนฝากหรือรับโอนเงิน “ทุกบัญชีรวมกัน”
ตั้งแต่ ๒๐๐ ครั้งในรอบหนึ่งปี แต่ไม่ถึง ๓,๐๐๐ ครั้ง
โดยหากในรอบหนึ่งปีรวมกันได้ถึง ๓,๐๐๐ ครั้งแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณายอดเงินรวมครับ


๒. ถ้าเราถอนเงินจากบัญชีเพื่อจ่ายเงินซื้อของเป็นประจำ
หรือจ่ายเงินผ่าน QR Code ต่าง ๆ ทุกวัน
เช่น จ่ายเงินผ่าน QR Code วันละครั้ง เท่ากับ 365 ครั้งในหนึ่งปี
เช่นนี้แล้วก็จะทำให้บัญชีเข้าหลักเกณฑ์ได้ง่ายใช่หรือไม่?
ตอบ ไม่ใช่ครับ เพราะกฎหมายให้นับเฉพาะ
จำนวนครั้งที่ฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชีเท่านั้น

ไม่ได้นับจำนวนครั้งที่ถอนหรือโอนออกจากบัญชีด้วย
ดังนั้น แม้ว่าเราจะถอนเงิน หรือจ่ายเงินผ่าน QR Code กี่ครั้งก็ตาม
ก็ไม่ทำให้บัญชีธนาคารของเราเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว
เช่น สมมุติว่าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนได้รับโอนเงินเดือนเดือนละ ๑ ครั้ง
แต่ถอนเงิน หรือจ่ายเงินผ่าน QR Code เดือนละ ๖๐ ครั้ง
เช่นนี้ ก็นับจำนวนฝากหรือรับโอนเงินได้เท่ากับ ๑๒ ครั้งในหนึ่งปีเท่านั้น
โดยไม่นับการถอนเงิน หรือจ่ายเงินผ่าน QR Code รวม ๗๒๐ ครั้งในปีนั้น


๓. กฎหมายกำหนดว่าเงินในบัญชีธนาคารที่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว
จะต้องนำมาเสียภาษีใช่หรือไม่?
ตอบ ไม่ใช่ครับ กฎหมายภาษีอากรใหม่ไม่ได้กำหนดว่า
เงินในบัญชีธนาคารที่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องเสียภาษีทุกกรณี
กฎหมายใหม่เพียงแค่กำหนดวิธีการตรวจสอบเงินในบัญชีที่น่าสงสัยเท่านั้น
ส่วนว่าเงินในบัญชีที่เข้าหลักเกณฑ์จะต้องเสียภาษีหรือไม่
ก็ต้องกลับมาพิจารณาหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเดิมว่าต้องเสียภาษีหรือไม่
ซึ่งอาจจะต้องเสียภาษี หรือไม่ต้องเสียภาษีก็ได้


แต่เดิมนั้น เงินได้จากการค้าขายออนไลน์ก็เป็นเงินได้
ที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีตามกฎหมายภาษีอากรแต่เดิมอยู่แล้ว
ไม่ได้แตกต่างจากผู้ค้าขายของตามตลาดหรือห้างร้านทั่ว ๆ ไปครับ
แต่ปัญหาของกรมสรรพากรคือไม่สามารถตรวจสอบธุรกรรมออนไลน์ได้
ยกตัวอย่างว่า พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามตลาดหรือห้างร้านทั่ว ๆ ไป
กรมสรรพากรยังสามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหรือไปนับได้ว่า
ร้านค้านั้น ๆ ขายของได้มากน้อยแค่ไหน
ยังประเมินได้ว่าน่าจะมีเงินได้เท่าไร และจะต้องเสียภาษีเท่าไร
แต่กรมสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบการค้าขายออนไลน์ได้
เพราะไปซื้อขายกันในโซเชียลมีเดียหรือ Application ต่าง ๆ
แล้วก็ไปโอนชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคาร
ซึ่งกรมสรรพากรไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือประเมินได้
ทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีจากผู้ค้าขายออนไลน์ได้


กฎหมายภาษีนี้จึงให้เครื่องมือแก่กรมสรรพากร
ในการตรวจสอบจำนวนเงินในบัญชีธนาคารที่น่าสงสัย
เพื่อที่จะมาตรวจสอบต่อไปว่าเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่
ดังนั้น แม้ว่าบัญชีธนาคารของเราจะเข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นก็ตาม
ก็ไม่ได้แปลว่าเงินในบัญชีธนาคารนั้นจะต้องเสียภาษีในทุกกรณีนะครับ
โดยหากเงินได้ที่เราได้รับโอนเข้ามานั้น ไม่เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแล้ว
เราก็สามารถชี้แจงต่อกรมสรรพากรได้ว่าเงินได้ในบัญชีนั้นไม่ต้องเสียภาษี
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราลงทุนถือหุ้นไว้ในหลายบริษัท
และได้รับโอนเงินปันผลจากหลายบริษัทในหนึ่งปีทำให้บัญชีเข้าหลักเกณฑ์
แต่ว่าเงินปันผลดังกล่าวได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายมาก่อนแล้ว
ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีอีก เราก็ชี้แจงได้ครับว่าเงินในบัญชีนั้นได้เสียภาษีไปแล้ว


๔. เงินเรี่ยไรเพื่อนำไปทำบุญตามวัตถุประสงค์ในเรื่องต่าง ๆ
ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่?
ตอบ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญครับ
มาตรา ๔๒ (๒๙) ของประมวลรัษฎากร กำหนดว่า
เงินได้ดังต่อไปนี้เป็นเงินได้ที่ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ได้แก่
“(๒๙) เงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนา
หรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้ เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา
กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
http://www.rd.go.th/publish/5937.0.html#mata42


ในปัจจุบันนี้ ยังไม่ได้มีการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๔๐ (๒๙) นี้
จึงยังไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใด ๆ ออกมาเป็นพิเศษ

ก็ถือว่าเงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนา
หรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้ เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา
กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
ถือเป็นเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษี
แต่หากในอนาคตได้มีกฎกระทรวงออกมาแล้ว
ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในกฎกระทรวงด้วย
(ดังนั้น เราก็ควรต้องติดตามข่าวสารด้วยนะครับว่า
กรมสรรพากรได้มีการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้มาด้วยหรือไม่
ซึ่งปกติแล้ว ก็น่าจะมีการประชาสัมพันธ์ข่าวในเรื่องดังกล่าวครับ)


เงินที่ให้ไปทำบุญ กับ เงินที่ให้ใช้ส่วนตัวนี้ แตกต่างกันนะครับ
ถ้าเป็นเงินที่ให้ไปทำบุญตามวัตถุประสงค์ โดยห้ามนำไปใช้ส่วนตัวแล้ว
โดยสภาพมันก็ไม่ใช่เงินได้ของผู้รับเงินอยู่แล้ว
แต่หากให้เงินเพื่อเป็นเงินส่วนตัว โดยจะไปทำบุญหรือไม่ก็ได้
และจะนำไปใช้เองด้วยก็ได้ อย่างนี้ถือเป็นเงินได้ และไม่ยกเว้นภาษีครับ


ดังนี้ ในปัจจุบัน เงินเรี่ยไรที่ได้รับโอนเข้ามาในบัญชีเรี่ยไร
เพื่อนำเงินไปทำบุญตามวัตถุประสงค์ในเรื่องนั้น ๆ
(และต้องนำเงินไปทำบุญตามวัตถุประสงค์ในเรื่องนั้น ๆ จริงนะครับ)
ถือเป็นเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีครับ
แม้ว่าบัญชีเรี่ยไรจะมีจำนวนครั้งหรือจำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอน
เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นที่สถาบันการเงินต้องรายงานต่อกรมสรรพากรก็ตาม
แต่เราก็สามารถชี้แจงต่อกรมสรรพากรได้ว่าเป็นเงินเรี่ยไรเพื่อไปทำบุญ
ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี ไม่ใช่เงินได้จากการทำธุรกิจการค้าออนไลน์


๕. เจ้าของบัญชีเงินเรี่ยไรควรดำเนินการอย่างไรบ้าง?
ตอบ ข้อแรก เราควรใช้เวลาศึกษาหลักเกณฑ์ให้ดีเสียก่อนว่า
บัญชีธนาคารของเราเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่
โดยเราไม่ควรจะตื่นตระหนกไปเกินควรครับ
สมมุติว่าเรามีเงินได้ปีละ ๖ แสนบาท และเรามีบัญชีเรี่ยไรอีกด้วย
แต่หากคำนวณรวมทั้งปีก็ไม่ถึง ๒ ล้านบาทแล้ว ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์
เราก็ไม่ต้องกังวลอะไร และใช้ชีวิตไปตามปกติได้เหมือนเดิมครับ
หรือหากเงินโอนเข้าบัญชีของเราทุกบัญชีรวมเกิน ๒ ล้านบาท
แต่ว่าจำนวนคนร่วมทำบุญมีไม่มาก
โดยรวมจำนวนครั้งที่ฝากหรือโอนทุกบัญชีรวมกันแล้วไม่ถึง ๒๐๐ ครั้งต่อปี
เราก็ไม่ต้องกังวลอะไร และใช้ชีวิตไปตามปกติได้เหมือนเดิมเช่นกัน


ข้อสอง หากเราศึกษาหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้วพบว่า
บัญชีธนาคารของเราเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว
เราก็จำเป็นที่จะต้องทำบัญชีและเก็บหลักฐาน
เพื่อให้พร้อมตรวจสอบได้ว่าเงินได้ในบัญชีเรี่ยไรของเรานั้น
เป็นเงินเรี่ยไรซึ่งได้รับยกเว้นภาษีจริง ๆ
และเราได้ใช้เงินเรี่ยไรนั้นตามวัตถุประสงค์จริง ๆ
โดยควรจะ (๑) เก็บหลักฐานตั้งแต่ตอนเริ่มประกาศเรี่ยไร
(๒) ทำบัญชีรายรับว่าได้รับเงินมาเท่าไรในระหว่างช่วงวันที่เท่าไร
(๓) ทำบัญชีรายจ่ายว่านำเงินไปจ่ายเท่าไรในระหว่างช่วงวันที่เท่าไร
(๔) เก็บหลักฐานการใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์นั้น
หลักฐานการใช้จ่ายเงินก็ไม่จำเป็นต้องเป็นใบเสร็จรับเงินนะครับ
เช่น ถ้าเราไปทำบุญโอนเงินเข้าวัดหรือมูลนิธิ ก็สามารถขอใบเสร็จได้
แต่หากเราไปซื้อปลาที่ตลาดไปปล่อย ก็อาจจะไม่สะดวกขอใบเสร็จ
เราก็ต้องเก็บหลักฐานอื่น ๆ เช่น ถ่ายรูปเวลาไปซื้อปลา
และถ่ายรูปเวลาไปปล่อยปลา และก็ทำบัญชีไว้ด้วย เป็นต้น


ข้อสาม การเก็บหลักฐานควรจะเก็บอย่างมีระบบ
โดยสามารถค้นหาและดึงข้อมูลออกมาได้ง่าย
ซึ่งจุดอ่อนที่สำคัญที่เรามักจะพลาดคือการเก็บหลักฐานครับ
เช่น บางท่านอาจจะเห็นว่าเก็บหลักฐานไว้ครบทุกอย่างแล้ว
โดยเก็บข้อมูลการเรี่ยไรไว้ใน FB หรือใน Line
หรือเก็บรูปถ่ายไว้เป็นหลักฐานในโทรศัพท์มือถือ
แต่ว่าต่อมา หากบัญชี FB หรือ Line มีปัญหา
หรือโทรศัพท์มือถือหายก็ตาม ทำให้ข้อมูลดังกล่าวหายไป
อย่างนี้เราก็จะชี้แจงไม่ได้ และต้องเสียภาษีครับ
หรือต่อให้ข้อมูลไม่หาย แต่ว่าเก็บข้อมูลไว้เยอะมาก
จนไม่สามารถหาพบว่าเก็บข้อมูลไว้ตรงไหน
ซึ่งถ้าเราหาไม่พบ ก็ไม่ต่างจากหายหรอกนะครับ ก็ต้องเสียภาษี
ดังนั้นแล้ว เราก็จำเป็นที่จะต้องเก็บหลักฐานให้ดีครับ


ที่ผมแนะนำคือให้เรา Print ข้อมูลเก็บเป็นไฟล์ PDF ไว้ด้วย
และจัดเก็บแยกตาม Folder ตามเรื่องที่เรี่ยไรไว้เลย
สำหรับรูปถ่ายที่เกี่ยวข้องก็ให้เก็บใส่ Folder ไว้ด้วยกัน
โดยนอกจากเราจะเก็บไว้ใน Personal Computer แล้ว
เราควรจะ Back-Up เก็บไว้ใน Cloud ต่าง ๆ ด้วย
ซึ่งในปัจจุบันนี้ Cloud ต่าง ๆ ที่ให้บริการฟรีก็มีมากมายครับ


ข้อสี่ ตรงนี้ก็สำคัญนะครับว่า ในเวลาที่กรมสรรพากรตรวจสอบนั้น
ก็ย่อมจะตรวจสอบทุกบัญชีธนาคารของเราครับ
จึงไม่ใช่เฉพาะเงินเรี่ยไรเท่านั้นที่เราต้องชี้แจง

แต่เงินได้อื่น ๆ ของเราก็ต้องชี้แจงด้วยว่า เราได้เสียภาษีถูกต้องหรือไม่
ดังนั้น ถ้าเรามีเงินได้อื่น ๆ ที่ไม่ได้เสียภาษี หรือยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง
เราก็ต้องเสียภาษีให้ถูกต้องด้วยครับ


อนึ่ง บางท่านอาจเห็นว่า การรับโอนเงินทำบุญเข้าบัญชีธนาคาร
จะทำให้เกิดความยุ่งยาก อย่างนี้ก็เรี่ยไรเงินทำบุญเป็นเงินสดดีกว่า
เช่น สมมุติว่าเราจะเรี่ยไรเงินไปทำบุญผ้าป่าหรือกฐินก็ตาม
แต่กังวลในเรื่องการถูกตรวจสอบบัญชีธนาคาร
จึงให้ญาติธรรมร่วมทำบุญเป็นเงินสด แล้วเราเก็บเงินสดเอาไว้
กรณีดังกล่าว ถ้าเงินไม่เยอะมาก ก็ไม่น่ากังวลเท่าไรนะครับ
แต่หากเงินเยอะมากแล้ว เราก็จะมีความเสี่ยงที่จะทำเงินหาย
หรือถูกขโมย หรือถูกปล้นเงินไป ซึ่งก็ถือว่าอันตรายเช่นกันครับ


๖. ถ้าเราจะเลี่ยงไม่รับโอนเงินเรี่ยไรผ่านบัญชีธนาคาร
แต่ไปรับโอนเงินเรี่ยไรผ่าน Wallet ต่าง ๆ จะเลี่ยงหลักเกณฑ์ได้ไหม?
ตอบ กฎหมายใหม่ใช้ครอบคลุมรวมไปถึง
ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินด้วย
ดังนั้น แม้ว่าเราจะไปรับโอนเงินเรี่ยไรผ่าน Wallet ต่าง ๆ ก็ไม่แตกต่างกันครับ
ผู้ให้บริการ Wallet ก็มีหน้าที่ต้องรายงานต่อกรมสรรพากรอยู่ดี


๗. เราควรจะต้องเก็บข้อมูลและหลักฐานไว้นานเท่าไร?
ตอบ ระยะเวลาที่เก็บข้อมูลและหลักฐานอย่างน้อยที่สุดก็ ๒ ปี
นับจากวันที่ ๓๑ มีนาคมของปีถัดไปครับ
แต่ถ้าจะให้ดีและปลอดภัยกว่าแล้ว ผมแนะนำให้เก็บไว้ ๕ ปีครับ
และถ้าจะเก็บแบบปลอดภัยสุด ๆ จริงก็คือ ๑๐ ปี
แต่เชื่อว่าน้อยคนที่จะทำได้ และน่าจะเป็นภาระที่เกินสมควร
ดังนั้น ผมแนะนำว่าให้เก็บไว้ ๕ ปีเพื่อความปลอดภัยครับ


๘. กฎหมายใหม่จะเริ่มใช้บังคับเมื่อไร?
ตอบ กฎหมายกำหนดให้การรายงานข้อมูลของบัญชีธนาคารดังกล่าว
ให้ทำครั้งแรกภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๓
ซึ่งเท่ากับว่าจะเริ่มพิจารณาข้อมูลบัญชีของปี ๒๕๖๒ นี้เป็นต้นไป
ดังนี้ หากเรามีบัญชีเรี่ยไรแล้วล่ะก็ ต้องเริ่มดำเนินการต่าง ๆ ที่แนะนำไปข้างต้น
ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๒ นี้เลยครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP