จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๕๒ วิธีรักษาโรคใจร้อน



252 talk



คนโดนแดดเผามาตลอดบ่าย
จะเห็นห้องแอร์เป็นสวรรค์
คนเป็นแผลพุพองแสบร้อน
จะเห็นยารักษาเหมือนพระมาโปรด


ฉันใดก็ฉันนั้น
คนเป็นโรคทางใจ
ใจร้อน ชอบเร่งรัด ทนรอไม่ไหว
อยากได้อะไรด่วนๆเป็นประจำ
จะรู้สึกเหมือนถูกไฟคลอกอยู่ตลอดเวลา
ถ้ามีอะไรมาเยียวยารักษาได้
กลายเป็นคนรอได้ ใจสบาย หายห่วง เย็นเป็น
ย่อมรู้สึกเหมือนข้ามโลก
ไปพบกับอีกชีวิตที่แสวงหามานาน


แต่ความใจร้อนไม่เหมือนอยู่ห้องอบไอร้อน
ไม่ใช่คิดอยากออกก็เปิดประตูออกมากันง่ายๆ
เพราะจริงๆมันเป็นโรครักษายาก
ยากกว่าโรคทางกายที่จับต้องได้
รักษาได้ด้วยมือหมอ
โรคทางใจเป็นโรคที่ต้องรู้เอง เห็นเอง
เต็มใจรักษาเอง กับทั้งต้องได้วิธีที่ใช่ด้วย


ทางหนึ่งที่ง่าย
แต่อาจไม่ได้ผลจริง
หากไม่เต็มใจทำให้ต่อเนื่อง
คือ สังเกตให้ได้ ‘ทุกครั้ง’ ว่า
พอเกิดอารมณ์อยากได้ด่วนๆ
ใจร้อนใจแรงขึ้นเมื่อใด
เมื่อนั้นลมหายใจจะห้วนสั้น
เนื้อตัวจะเกร็ง หน้าจะตึงขึ้นมา


ที่ตรงนั้น ให้พิจารณาว่า
โรคกำเริบอีกแล้ว 
แผลเรื้อนๆทางใจปะทุอีกแล้ว
และยารักษาที่ใกล้ตัวที่สุด
ง่ายที่สุด ฟรีที่สุด
คือ การหายใจยาวๆ ช้าๆ นิ่มๆ ให้ได้ ๓ ครั้ง


แต่ละครั้งที่หายใจยาว
ต้องแน่ใจว่าช้าลงกว่าตอนใจร้อนครึ่งหนึ่ง
จากนั้นสังเกตด้วยว่า
ตอนระบายลมออก เป็นลมที่เย็นลง
และช่วยให้ใจนิ่งขึ้นแค่ไหน
เอาตามจริง ไม่ใช่เอาตามอยากให้มันเป็น
ในกรณีทั่วไป เพียง ๓ ลมหายใจ
ก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนแล้ว
เหมือนออกจากห้องอบไอร้อน
มาสู่อากาศเย็นสบายภายนอกแล้ว


เมื่อออกมาสูดอากาศเย็นภายนอก
บอกตัวเองว่าอย่าเผลอกลับเข้าห้องร้อนง่ายๆ
ให้ทำความพอใจอยู่กับความเย็น นิ่ง สบายนั้น
ขอเพียงทำได้แค่ครั้งเดียว
คุณจะเกิดความเชื่อใหม่ว่า
ตัวเองหายจากโรคได้
แค่ต้องไม่ลืมใช้ยาให้ต่อเนื่องเท่านั้น!


ดังตฤณ
มกราคม ๖๒





review


พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา
แก่นางสุชาดาผู้เป็นสะใภ้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เกี่ยวกับลักษณะของภรรยา ๗ ประเภท
ดังความในคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน"ภริยาสูตร ว่าด้วยภริยา ๗ จำพวก"


หากมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ
ควรปฏิบัติอย่างไรให้เวรภัยที่มีต่อกันหมดไปเร็วที่สุด
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"ถ้ามีวิบากกรรมไม่ดีในเรื่องเพื่อนร่วมงาน ควรทำอย่างไร"


การฟังธรรมนอกจากจะเป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แล้ว
ก็ยังมีอานิสงส์อื่นอีกหลายประการ 
ติดตามได้จากเรื่องราวที่คุณงดงามเรียบเรียงไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "อานิสงส์การฟังธรรม"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP