จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ไม่รู้ตนเอง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



251 destination



เมื่อช่วงก่อนปีใหม่ ญาติธรรมท่านหนึ่งได้มาบ่นกับผม
ในเรื่องเพื่อนร่วมงานบางคนในที่ทำงาน ซึ่งสร้างปัญหาบางเรื่อง
ญาติธรรมท่านนี้บ่นไปด้วยสีหน้าหงิกมาก
ผมนั่งฟังเรื่องราวอยู่จนจบแล้ว
ก็แนะนำว่า เรื่องปัญหาเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานนี้
ผมเข้าใจความรู้สึกนะ แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เราแก้ไขไม่ได้
(คือเราจะแก้ไขนิสัยตัวเองยังยากมาก หรือทำไม่ได้เลย
แล้วเราจะไปแก้ไขนิสัยคนอื่นได้ยังไง)
เราน่าจะมาสนใจในส่วนที่เราทำได้คือ ส่วนของตัวเราเอง
ว่าเราจะทำอย่างไรในอนาคต แต่สำหรับในปัจจุบันแล้ว
เราไม่ควรจะมาเครียดกับเรื่องที่เราแก้ไขไม่ได้เช่นนี้


ปรากฏว่า ญาติธรรมท่านนี้บอกว่า เขาไม่ได้เครียดนะครับ
ผมถามว่า ไม่ได้เครียดจริง ๆ หรือ
เขาตอบว่า ไม่ได้เครียดจริง ๆ โดยตอนนี้ เขาก็รู้สึกปกติดี
ผมอธิบายว่า สีหน้าของเขาขณะนั้นหงิกมากเลย ไม่ปกติหรอก
หากเขาไม่เชื่อผม ก็ให้เขานำโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายหน้าตนเองดู
เขาก็ชะงักไปนะครับ แต่เขาก็ยังบอกเช่นเดิมว่า เขาไม่ได้เครียด


ในเรื่องที่เล่ามานี้ ก็เพื่อจะให้เห็นถึงความสำคัญ
ที่เราจะต้องฝึกเจริญสติ เพื่อรู้กายใจตนเอง
ถ้าหากเราไม่มีสติรู้กายใจตนเองแล้ว
ขนาดว่าเรานั่งบ่นจนหน้าหงิกมากแล้ว เราก็จะไม่รู้สึกตนเอง
หรือแม้กระทั่งมีคนมาทักแล้ว เราก็ยังไม่รู้สึกตนเอง
จิตใจที่คุ้นเคยอยู่กับความเครียดนั้น
ย่อมจะไม่ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราครับ
แต่ถ้าเรารู้ว่าตนเองกำลังเครียด
เราก็จะได้หาหนทางแก้ไขหรือปรับปรุงตนเองได้
ถ้าหากเราไม่รู้ว่าตนเองกำลังเครียดแล้ว
เราก็ย่อมจะอยู่เหมือนเดิมต่อไป โดยไม่ขวนขวายจะแก้ไขตนเอง


ในเรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกับเรื่องการดูแลสุขภาพตนเองนะครับ
คนที่ป่วยหนัก ๆ นั้น บางทีก็เริ่มจากการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน
แต่ว่าเรามองข้ามไป หรือไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังป่วย
โดยต้องรอจนขนาดเราต้องผ่าตัด หรือเป็นโรคร้ายแรงแล้ว
เราถึงจะบอกได้ว่าตนเองป่วยแล้ว
ยกตัวอย่าง ในชีวิตจริง ถ้าเราพบคนที่ทานยาคุมความดันเป็นประจำ
แล้วเราถามว่า เขาป่วยไหม หลายท่านจะไม่ได้ตอบว่าตนเองป่วยนะครับ
โดยเขาจะรู้สึกว่าการทานยาคุมความดันเป็นเรื่องปกติ ตนเองไม่ได้ป่วย
แล้วก็ทำให้ตนเองไม่มีความขวนขวายที่จะปรับเปลี่ยน
อาหารหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง เพื่อให้หายจากโรคนั้น


ผมเคยสนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งที่ป่วย
เป็นโรคความดันและโรคหัวใจ ซึ่งต้องทานยาเป็นประจำ
แต่ว่าเมื่อถามว่าเขาป่วยไหม เขาตอบว่าเขาไม่ได้ป่วยอะไร
กล่าวคือ เขารู้สึกว่าการที่ทานยาเป็นประจำ
โดยไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดอะไร หรือต้องผ่าตัดอะไร เป็นเรื่องปกติ
และเขาสามารถใช้ชีวิตเหมือนเดิมต่อไปได้ตามปกติ
รอจนเมื่อเส้นเลือดอุดตัน ต้องทำบอลลูนแล้ว จึงค่อยบอกว่าป่วย
ซึ่งหากรู้สึกเช่นนี้ และประพฤติเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แล้ว
ก็ย่อมจะไม่มีทางที่ปรับอาหารหรือพฤติกรรม เพื่อให้หายจากโรคได้
แต่ตนเองจะต้องทานยาไปเรื่อย จนกระทั่งโรคมีอาการร้ายแรงขึ้นมา


ในทางจิตก็ทำนองเดียวกันนะครับ
ถ้าเราเครียดแต่ไม่รู้ว่าเครียด แล้วให้มันครอบงำจิตไปเรื่อย ๆ
เราก็ย่อมจะไม่หาทางแก้ไขหรือดูแลให้จิตใจดีขึ้น
จิตใจก็ย่อมโดนความเครียดครอบงำไปเรื่อย ๆ แต่เราหลงเข้าใจว่าปกติ
จนถึงวันหนึ่งที่ทนไม่ไหวแล้ว ก็จะเกิดอาการร้ายแรงขึ้นมาได้เช่นกัน


ใน“อนังคณสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ท่านพระสารีบุตรได้สอนว่า บุคคล ๔ พวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลส
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลส
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลส
บุคคลในโลกนี้ ไม่มีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลส


ในบุคคล ๒ พวกที่มีกิเลสนั้น
บุคคลใดมีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลส
บุคคลนี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นบุรุษเลวทราม
บุคคลใดมีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลส
บุคคลนี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นบุรุษประเสริฐ


ในบุคคล ๒ พวกที่ไม่มีกิเลสนั้น
บุคคลใดไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลส
บุคคลนี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นบุรุษเลวทราม
บุคคลใดไม่มีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลส
บุคคลนี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นบุรุษประเสริฐ


บุคคลใดมีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลส
เขาจักไม่ยังความพอใจให้เกิด จักไม่พยายาม
จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อละกิเลสนั้นเสีย
เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลส มีจิตเศร้าหมอง ทำกาละ
เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์อันละอองและสนิมจับอยู่โดยรอบ
เจ้าของก็ไม่ใช้และไม่ขัดสีภาชนะสัมฤทธิ์นั้น ซ้ำเก็บมันไว้ในที่มีละออง
เมื่อเป็นอย่างนี้ สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้น จะพึงเป็นของเศร้าหมองสนิมจับยิ่งขึ้น


บุคคลใดมีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลส
เขาจักยังความพอใจให้เกิด จักพยายาม จักปรารภความเพียร เพื่อละกิเลสนั้นเสีย
เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมอง ทำกาละ
เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ อันละอองและสนิมจับอยู่โดยรอบ
เจ้าของใช้และขัดสีภาชนะสัมฤทธิ์นั้น และไม่เก็บมันไว้ในที่มีละออง
เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์จะเป็นของหมดจดผ่องใส


บุคคลใดไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลส
เขาจักมนสิการสุภนิมิต เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิตได้
เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลส มีจิตเศร้าหมอง ทำกาละ
เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ อันหมดจดผ่องใส
แต่เจ้าของไม่ได้ใช้ และไม่ขัดสีภาชนะสัมฤทธิ์นั้น ซ้ำเก็บมันไว้ในที่มีละออง
เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้น จะพึงเป็นของเศร้าหมองสนิมจับ


บุคคลใดไม่มีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลส
เขาจักไม่มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจึงครอบงำจิตไม่ได้
เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมอง ทำกาละ
เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ที่เป็นของหมดจด ผ่องใส
เจ้าของใช้และขัดสีภาชนะสัมฤทธิ์นั้น และไม่เก็บมันไว้ในที่มีละออง
เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยอื่น ภาชนะสัมฤทธิ์นั้น ก็พึงเป็นของหมดจดผ่องใสยิ่งขึ้น
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=752&Z=1023&pagebreak=0


โดยสรุปแล้ว การที่เราเครียด แล้วรู้ตัว ย่อมจะดีกว่าเราไม่เครียด แต่ไม่รู้ตัว
หรือการที่เราป่วย แล้วรู้ตัว ย่อมจะดีกว่าเราไม่ป่วย แต่ไม่รู้ตัวนะครับ
หากเราจะเครียด จะโกรธ หรือจะโลภก็ตาม ก็ให้รู้สึกตัวไว้
ซึ่งเมื่อเรารู้สึกตัวแล้ว เราก็ย่อมจะพยายามหรือเพียรเพื่อละสิ่งเหล่านั้นเสีย
อันย่อมจะดีกว่าเราไม่เครียด ไม่โกรธ หรือไม่โลภ แต่ไม่รู้สึกตัว
ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าเราจะป่วยอะไรตาม ก็ให้รู้ตนเองว่าป่วย
ซึ่งเมื่อเรารู้สึกตัวแล้ว เราก็ย่อมจะพยายามหรือเพียรเพื่อดูแลตนเองให้หายป่วย
อันย่อมจะดีกว่าเราไม่ป่วย แต่ว่าเราไม่รู้ตนเองครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP