จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๕๑ หลักของการต่อเวร



251 talk



หลักของการต่อภัย ต่อเวร
เหมือนสมการที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก


ใจร้าย + ใจร้าย = ต่อเวร
ใจร้าย + ใจดี = ลดเวร
ใจดี + ใจดี = ระงับเวร


ศูนย์กลางอันเป็นที่สุดของภัยเวร
อยู่ที่ใจ ใจเขาฝั่งหนึ่ง ใจเราอีกฝั่งหนึ่ง


กลไกของการต่อเวร
คือความเจ็บใจ ความอยากเอาคืน
ความอยากไล่ถลุงให้จนมุม
ความอยากให้ตายทรมาน
หรือความอยากเลี้ยงชีวิตไว้
เพื่อรังแกต่อให้หนำใจไปนานๆ



‘ใจร้าย’ หมายถึงใจที่ถูกอธรรมครอบงำ
พร้อมจะร้อน พร้อมจะร้ายใส่กัน
เบาสุดคือคิดด่า คิดสาปแช่ง
กลางๆคือเปิดปากด่า อ้าปากใส่ไคล้
แรงสุดคือลงมือทุบตี ลงมือฆ่าแกงกัน


ส่วน ‘ใจดี’ นั้น
ไม่ใช่ใจที่หวาดกลัว 
คิดยกธงขาวแสดงความอ่อนแอ
หรือแสดงออกด้วยการ
ก้มหน้าก้มตาหงอ ยอมให้ถลุง
เพราะหากเป็นเช่นนั้น
ก็จะไปกระตุ้นให้ใจร้ายๆของอีกฝ่าย
กระเหี้ยนกระหือรือนึกอยากไล่ถลุงให้หนำใจต่อ


‘ใจดี’ ที่แท้จริง หมายถึงใจ
ที่มีธรรมอันเย็น ปรุงแต่งใจให้เยือกเย็น
กล้าที่จะรบกับโทสะของตัวเอง
แสดงความเข้มแข็งด้วยสติอันเป็นธรรม
มีสติเห็นโทษของภัยเวร
มีสติปรารถนาความสละซึ่งภัยเวร
มีสติเผชิญหน้าใจร้ายๆด้วยความสง่างาม
ความงามสง่านั้น
จะเป็นสื่อให้ฝ่ายที่ยังมืด ยังร้อน 
สัมผัสความสว่างเย็น
ซึ่งยิ่งสว่างเย็นจริงนานขึ้นเท่าไร
ยิ่งบันดาลใจให้ความร้ายอ่อนกำลังลงเท่านั้น


ประสบการณ์ทางใจ
เห็นได้ด้วยใจก่อน
จากนั้นจะค่อยๆเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ใจดีๆ ทำให้เรื่องร้ายๆหายไปจากชีวิต
ทีละเรื่อง ทีละคน ทีละกลุ่ม!


ดังตฤณ
มกราคม ๖๒





review


พระพุทธองค์ทรงแสดงอุบายในการละความง่วง
และข้อปฏิบัติให้ถึงความสิ้นตัณหาแก่พระโมคคัลลานะ
ดังความในคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน"โมคคัลลานสูตร ว่าด้วยพระโมคคัลลานะ"(-/\-)


ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมสามารถทราบได้จากสิ่งใดบ้าง
และทำอย่างไรจิตจึงจะตั้งมั่นได้ตลอดทั้งวัน
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"จะทราบได้อย่างไรว่าการปฏิบัติของเรามาถูกทาง"


การรู้และยอมรับความจริงได้ว่าตนเองมีความเครียดจากปัญหาต่างๆ
ย่อมทำให้สามารถแก้ไขและดูแลจิตใจได้อย่างถูกต้อง
ดังเรื่องราวที่คุณงดงามบอกเล่าไว้
ในคอลัมน์"จุดหมายปลายธรรม"ตอน"ไม่รู้ตนเอง"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP