จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ไม่อยากเป็นภาระ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



249 destination



เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา
บางท่านคงจะได้เห็นข่าวชายคนหนึ่ง
ใช้ปืนยิงแม่ยายตนเองตาย และใช้ปืนยิงตนเองเสียชีวิต
เนื่องด้วยเหตุที่ว่าแม่ยายเป็นโรคชราไม่สามารถเดินได้
และตนเองป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โดยมีอาการแขนและขาอ่อนแรง ซึ่งชายคนดังกล่าวเกรงว่า
แม่ยายและตนเองจะเป็นภาระให้แก่ภรรยาและคนในครอบครัว
จึงตัดสินใจเขียนจดหมายสั่งเสียเอาไว้
แล้วใช้ปืนยิงแม่ยายตาย และฆ่าตนเองตาย


การที่พ่อแม่แก่ชราทำงานไม่ได้ หรือเจ็บป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ก็ตาม
ลูก ๆ ไม่ควรจะมองว่าเป็นภาระแก่ครอบครัวนะครับ
เพราะจริง ๆ แล้ว กรณีดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นโอกาสที่
ลูก ๆ จะได้สร้างบุญกุศลและตอบแทนบุญคุณพ่อแม่แล้ว
เปรียบเทียบกับกรณีอยู่ ๆ พ่อแม่ตายไปทันทีเลย
ลูก ๆ ย่อมจะเสียโอกาสที่จะได้ดูแลตอบแทนบุญคุณพ่อแม่


ในเรื่องที่รู้สึกว่าไม่อยากให้ตนเองเป็นภาระแก่ครอบครัวนี้
เราเองก็คงจะรู้สึกเหมือนกันนะครับว่า ไม่ต้องการเป็นภาระให้แก่ครอบครัว

ซึ่งถ้าเราไม่ต้องการเป็นภาระแก่คนในครอบครัวแล้ว
เราก็ต้องไม่ประมาท และพึงต้องเตรียมความพร้อมของตนเองไว้
โดยขอแนะนำให้เตรียมความพร้อมใน ๔ เรื่องนะครับ


๑. เตรียมความพร้อมในเรื่องจิตใจ (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด)
โดยการเตรียมความพร้อมในเรื่องจิตใจที่ดีที่สุด
ก็คือการฝึกให้มีธรรมะในใจเรา
ด้วยวิธีการเจริญศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง
เพราะในชีวิตเราก็ย่อมมีสุขและมีทุกข์
มีแข็งแรงและมีเจ็บป่วย มีเจริญและมีเสื่อมเป็นธรรมดา
เมื่อถึงวันที่มีความเจ็บป่วยและความเสื่อมมาเยือนเราแล้ว
จิตใจที่ฝึกดีแล้ว หรือประกอบด้วยธรรมะ
ก็ย่อมจะรักษาใจเราไม่ให้ทุกข์ในเวลานั้นได้


๒. เตรียมความพร้อมในเรื่องการดูแลสุขภาพ
โดยในปัจจุบันนี้ค่ารักษาพยาบาลนั้นแพงมาก
แม้ว่าจะใช้บัตร ๓๐ บาทหรือมีประกันสุขภาพก็ตาม
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแพทย์จะสามารถรักษาโรคให้หายได้
หรือโรงพยาบาลจะมีเตียงว่างรับเราเข้าไปรักษาได้
(หากเราต้องไปนอนโรงพยาบาลแล้ว ก็ต้องมีคนไปดูแลอีก)
เราจึงควรต้องมีความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง
แบบที่สามารถพึ่งพาตนเองได้
โดยไม่ต้องไปเสียเงินซื้อสิ่งของหรือซื้อยาอะไรแพง ๆ


ทั้งนี้ ในเรื่องการดูแลสุขภาพนั้น ผมได้เคยเขียนบทความไว้หลายตอน
ในคอลัมน์เพื่อนธรรมจารี โดยแนะนำให้อ่านตามลิงก์ด้านล่างนี้ครับ
คุยเรื่องสุขภาพ (๑) – สายน้ำแห่งการเจ็บป่วย (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๒) – ความสำคัญที่ควรรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๓) – เหตุที่ทำให้ป่วย (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๔) – เหตุที่ทำให้สุขภาพดี (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๕) – สมดุลร้อนเย็น (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๖) – อาหาร (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๗) – เทคนิค ๙ ข้อ (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๘) – รู้พักรู้เพียรให้พอดี (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๙) – การล้างพิษ (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๑๐) – น้ำปัสสาวะ (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (๑๑) – กรรม (คลิก)
คุยเรื่องสุขภาพ (ตอนจบ) – หมอที่ดีที่สุดในโลกคือตัวคุณเอง (คลิก)


เรื่องการฝึกให้มีธรรมะในใจเรา และเรื่องความรู้การดูแลสุขภาพนั้น
เราต้องฝึกหรือเรียนรู้ตั้งแต่ในปัจจุบันที่ยังไม่ได้เจ็บป่วยนะครับ
ถ้ารอจนถึงวันที่เจ็บป่วยหนักแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยทันการณ์แล้ว
เพราะเมื่อเริ่มเจ็บป่วยแล้ว เราก็จะมักจะสนใจแต่เรื่องการรักษาให้หาย
หรือไม่ก็ทุกข์ใจในเรื่องความเจ็บป่วยของตนเอง
การจะมาสนใจเจริญศีล สมาธิ และปัญญา ก็เป็นเรื่องยากแล้ว
หรือการจะมาสนใจศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเองก็ยากแล้ว
เพราะในเวลานั้นก็จะมีคำแนะนำจากหลายแห่งมากมาย
ข้อมูลจำนวนมากไหลเข้ามาภายในเวลาอันจำกัด
ก็ยากที่จะศึกษาให้เข้าใจทั้งหมด และตัดสินใจเลือกวิธีการดูแลสุขภาพตนเองได้


๓. เตรียมความพร้อมในเรื่องนิสัยการกินง่ายอยู่ง่าย
ในส่วนนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรฝึกฝนไว้ตั้งแต่ปัจจุบัน
อย่างสมมุติว่าเราเจ็บป่วยเคลื่อนไหวไม่ได้
แต่ถ้าหากเรากินง่ายอยู่ง่าย เช่น เรากินแค่วันละมื้อเดียวได้
(ทำนองเดียวกับพระภิกษุที่ฉันมื้อเดียว)
ก็ย่อมจะเป็นการลดภาระของคนดูแลเราลงได้มากกว่าทาน ๓ มื้อ
หรือถ้าหากเราเคลื่อนไหวได้ และเรากินง่ายอยู่ง่าย
ไม่ใช้เงินสิ้นเปลือง เราก็ย่อมจะไม่เป็นภาระแก่คนอื่นมากนัก
อนึ่ง การฝึกนิสัยกินง่ายอยู่ง่ายนี้
นอกจากจะทำให้เราปรับตัวอยู่ได้ในยามเจ็บป่วยแล้ว
ยังจะมีส่วนช่วยให้เราสามารถประหยัดมัธยัสถ์
และสามารถเก็บออมเงินหรือสะสมทรัพย์เอาไว้ใช้จ่ายในยามเจ็บป่วยได้ด้วย


ทั้งนี้ กรณีไม่ได้แปลว่าจะแนะนำให้เราทานอาหารวันละมื้อเดียวทุกวันนะครับ
เพราะเราเป็นฆราวาสและใช้ชีวิตแตกต่างจากพระภิกษุ
แต่หากวันไหนที่เราสามารถถือศีลแปด หรือถืออุโบสถศีลได้
ก็ย่อมจะเป็นการฝึกลดมื้ออาหารลงไปในตัว และเป็นประโยชน์ครับ


๔. เตรียมความพร้อมในเรื่องการหารายได้
แม้ว่าเราอาจจะเป็นโรคบางอย่างที่อ่อนแรงก็ตาม
เราก็อาจจะหางานทำบางอย่างที่ทำที่บ้านได้ และไม่ใช้แรงมากก็ได้
ยกตัวอย่างแม้คนพิการเอง เขาก็มีการสอนอาชีพที่คนพิการสามารถทำได้
โดยเราเองก็ย่อมจะสามารถหาอาชีพหรืองานที่เหมาะสมกับสภาพของเราได้
ไม่ควรคิดว่าเราจะทำอะไรไม่ได้เลย และจะเป็นแค่ภาระเท่านั้น


โดยสรุปแล้ว ไม่มีใครอยากจะเป็นภาระแก่คนอื่นในครอบครัวนะครับ
วิธีการที่เราจะไม่เป็นภาระแก่คนอื่นในครอบครัวนั้น
ก็คือเราควรจะต้องเตรียมความพร้อมของตนเองไว้ล่วงหน้าครับ
เพราะหากจะมารอจนเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ก็อาจจะไม่ทันเสียแล้ว



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP