สารส่องใจ Enlightenment

ภาวนา – สมาธิ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
อบรมพระภิกษุสามเณร ณ วัดเจริญสมณกิจ จังหวัดภูเก็ต
เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๖ ตอนค่ำ




การฟังเทศน์ในแนวภาวนาที่จะให้หายสงสัยกันเด็ดขาด
เป็นของทำได้ยาก ถ้าหากพวกเราภาวนาไม่เป็น
ผู้ภาวนาเป็นแล้ว ยึดอุบายภาวนาของตนเองให้เป็นหลักไว้ดีแล้ว
ท่านจะเทศนาอะไร ใครจะว่าที่ไหน
ใจมันไม่ได้ยึดเหนี่ยวแต่อุบายนั้นๆ จะมาเข้ากับอุบายของเรา
ทำให้เกิดความสว่างแจ่มแจ้งหายสงสัยไปเอง



สำหรับผู้ที่ยังภาวนาไม่เป็น
จิตจะต้องส่ายหาอุบายมาเป็นเครื่องอยู่ของตน แล้วก็จะลังเลใจ
พอได้รู้จากตำรา ได้ข่าวจากคนพูด
คิดนึกโดยคาดคะเนว่านั้นดีนี่ดี ที่โน้นอาจารย์มีชื่อเสียงโด่งดัง
แล้วก็วุ่นวายคาดหมายไปต่างๆ นานา จับหลักอะไรไม่ได้
ยิ่งคิดยิ่งส่งก็ยิ่งแต่จะเกิดความสงสัย ทำจิตใจให้วุ่นไปหมด



เพราะหลักธรรมที่แท้มิได้เกิดจากความคิดที่ส่งออก
แต่เกิดจากการคิดค้นตรงเข้ามาหาของจริงที่มีอยู่ในตัวนี้
เมื่อเราค้นเข้ามาหาของจริงในตัวนี้แล้ว
จิตก็เป็นสมาธิ (คือคิดค้นอยู่ในที่อันเดียว)
ต่อนั้นไปทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในรัศมีของจิต
ก็จะกลายเป็นอุบายให้เกิดเป็นธรรมไปทั้งหมด



มีตัวอย่างสมัยครั้งพุทธกาล
บัณฑิตสามเณรอายุ ๗ ขวบ ลูกศิษย์ของท่านพระมหาสารีบุตร
ได้เห็นเขาขุดเหมืองเข้านา ได้เห็นเขาถากไม้ เห็นเขาดัดลูกศร
ท่านน้อมเข้ามาอบรมจิตของท่านให้มันเป็นไปตามบังคับ
ให้เหมือนเขาบังคับของซึ่งหาวิญญาณมิได้เหล่านั้น
ให้เป็นไปตามประสงค์จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ก็สิ่งทั้งสามนั้นเป็นธรรมอะไร วัตถุของภายนอกแท้ๆ
แต่เมื่อท่านน้อมนำเข้ามาพิจารณาเป็นอุบายอบรมภายในใจของท่านเอง
เลยได้ผลอย่างสุดยอด



พุทธวจนะ คำสอนของพระองค์มีมากถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
ตามที่ท่านกำหนดไว้แต่ละหมวดละข้อหรือแต่ละขันธ์ ล้วนแต่เป็นของดี
ท่านโบราณาจารย์เคยปฏิบัติได้รับผลสำเร็จมาแล้วทั้งนั้น
จึงได้รวมตั้งไว้เป็นปริยัติเพื่อเป็นบทศึกษาแก่อนุชนสืบมา



ธรรมเป็นของดีแล้ว แต่เราปฏิบัติดียังไม่พอที่จะเป็นรากฐานให้เกิดธรรมของดีได้
มรรค ๔ ผล ๔ นิพาน ๑ เป็นของผู้ปฏิบัติที่มีสัมมาสมาธิเป็นรากฐาน
อริยสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ ๑ สมุทัย ๑ นิโรธ ๑ มรรค ๑
เป็นวิชาของสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง



ทุกข์ทั้งหลาย มีชาติทุกข์ เป็นต้น มีอยู่
แต่ผู้จะเข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงในทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นไม่มี
สมุทัย มีความทะยานอยากในความใคร่ เป็นต้น มีอยู่
แต่ผู้จะเห็นโทษในสมุทัยนั้นแล้วละเสีย ไม่มี
นิโรธ คือความเข้าไปดับซึ่งราคะธรรมเป็นต้น มีอยู่ แต่ผู้จะเข้าไปดับไม่มี
มรรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางยังผู้ดำเนินตามแล้วให้พ้นทุกข์ได้ มีอยู่
แต่ผู้จะดำเนินตามไม่มี ทางจึงเป็นทางว่างหาผู้สัญจรไม่มี
ก็เพราะขาดสัมมาสมาธิ อันเป็นรากฐานที่มั่นคง



ความจริงอริยสัจ คือทุกข์และสมุทัย มีอยู่พร้อมแล้วในตัวของเราทุกๆ คน
ทั้งทุกขสัจ มีชาติ เป็นต้น ทุกๆ คนก็มีมาแล้วทั้งนั้น
แต่คนเราไม่ทำความรู้ ปล่อยวางละเมินไปเสีย
เห็นว่ามันเป็นของไม่ดี ไม่น่าพอใจ ไม่อยากได้ ก็เลยไม่สนใจ ไม่นำมาพิจารณา
แต่หาได้รู้ไม่ว่านั่นเป็นของจริงของประเสริฐ เมื่อเกิดขึ้นในดวงใจของบุคคลใดแล้ว
ผู้นั้นถึงแม้จะเป็นปุถุชนก็จะกลายเป็นพระอริยเจ้า
ไปตามเอาแต่สุขจอมปลอมมากลบทุกข์ที่แท้จริงไว้
เวลาที่ทุกข์ที่แท้จริงประดังปรากฏออกมาจริงจังเข้า
สุขหลบหน้าหายตัวไปหมด ช่วยอะไรไม่ได้ ปล่อยให้เราเดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่แต่คนเดียว
โทษแห่งการไม่นำเอาทุกข์มาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง มันเป็นเสียอย่างนี้



ผู้ที่นำเอาทุกข์มาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงแล้ว
ทุกข์ทั้งหลายจะไม่เข้ามาเบียดเบียนเขาได้

เพราะความรู้จริงเห็นจริงเสียแต่เบื้องต้น ทุกข์เลยเป็นของธรรมดา
เป็นสภาวธรรมมีอยู่ประจำโลก ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วหนีไม่พ้น

ใครจะร้องไห้เป็นทุกข์หรือไม่ ทุกข์มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
ทางที่จะพ้นได้ มิใช่เมื่อทุกข์มาถึงเข้าแล้ว เป็นทุกข์ร้องไห้คร่ำครวญ
แต่จะต้องละตัวเหตุ คือความทะยานอยาก มีอยากใคร่ในกามเป็นต้นเสีย
ที่เรียกว่า สมุทัย คือความทะยานอยากใคร่ในกาม เป็นต้น
ซึ่งมีอยู่แล้วในใจของพวกเราทุกๆ คน
แต่พวกเราเห็นสมุทัยเป็นของหวาน ไม่เข้าใจว่าเป็นของศัสตรายาพิษ
จึงพากันรับประทานเข้าไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินมาก
แต่เมื่อมันทำพิษติดคอเข้าแล้ว
ทุกๆ คนจะพากันดิ้นด้าวระทมทุกข์ ต่างก็ช่วยอะไรกันไม่ได้



เมื่อเหตุและผลของจริงเบื้องต้นมีอยู่ในตัวของเราอย่างนี้แล้ว
แต่เราไม่เอามาพิจารณาให้รู้เห็นตามเป็นจริง
เหตุและผลอันไม่มีอยู่ในตัวของเรา (คือนิโรธและมรรค)
แต่เราจะต้องเจริญให้เกิดมีขึ้น เมื่อเราไม่เจริญก็เกิดมีไม่ได้

นี่พูดถึงเรื่องภาวนาไม่เป็น มันเป็นเสียอย่างนี้



แต่เมื่อผู้ภาวนาเป็น มีสัมมาสมาธิเป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในรัศมีของจิต
ก็จะกลายเป็นอุบายให้เกิดปัญญารู้แจ้งเป็นธรรมไปหมด
ดังแสดงมาแล้วข้างต้น

เหตุและผลอันไม่มีอยู่ในตัวเรา (คือนิโรธและมรรค)
เราไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่นมาเจริญอีกแล้ว
แต่เป็นการเจริญมรรค (คือความเห็นชอบตามเป็นจริง) อยู่แล้ว
เมื่อเจริญเกิดขึ้นแล้ว ความโง่ความเขลาในความอยากทั้งหลายมันก็หมดไปเอง



ฉะนั้น จะขอบอกให้ทราบอีกทีว่า
เมื่อจะฟังเทศน์เอาอุบายภาวนา หาความสงบจนให้เกิดสัมมาสมาธิกันจริงๆ แล้ว
ขออย่าได้ไปตื่นเต้นส่งส่ายไปหาเรื่องอุบายนั่นนี่
หรือวิธีนั้นวิธีนี้ให้มันยุ่งไปมากเลย ไม่เป็นผลดอก
การภาวนาเป็นเรื่องตัดภาระให้น้อยลงทุกๆ วิถีทางจนไม่เหลือ
แม้แต่อารมณ์ที่เรายกขึ้นพิจารณาอยู่นั้น
ก็จะต้องเปลี่ยนสภาพไป เป็นอารมณ์ของภาวนาโดยเฉพาะ
มิใช่อารมณ์อุบายยกขึ้นมาพิจารณาอย่างเบื้องต้น
แต่มันเป็นของจริงเกิดจากการภาวนาโดยเฉพาะ
ซึ่งผู้ภาวนาเท่านั้นจะรู้ได้ด้วยตนเอง



การทำภาวนามี ๒ วิธีด้วยกัน ได้เคยอธิบายให้ฟังมาแล้วหลายครั้งว่า
วิธีที่ ๑ เราปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมดไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่ที่ใจ
พร้อมๆ กับอัดลมหายใจเข้าไปแล้วปล่อยวางลมหายใจออกมา
แล้วตั้งสติกำหนดเอาแต่ผู้รู้ จะไปตั้งอยู่ตรงไหนแล้วแต่ความถนัดของตน
แบบนี้ทำได้ง่ายสบายแต่ไม่มีหลักหนักแน่น
ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ส่งส่ายไปตามอารมณ์ที่ตนชอบเสีย



วิธีที่ ๒ ให้หยิบเอาอารมณ์อันใดก็ได้
ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มันเคยทำความกระเทือนใจให้เราเกิดความสลดสังเวช
จิตของเราเคยไปจดจ่ออยู่เฉพาะในเรื่องนั้นมาแล้ว
เช่นเราเคยพิจารณาเห็นโทษทุกข์ในความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นต้น
เรายกเอาเรื่องนั้นขึ้นมาพิจารณาค้นคว้าทบทวนกลับไปกลับมา
ไม่ให้จิตแลบออกไปจากเรื่องนั้น
จนเข้าไปรู้เรื่องความเป็นอยู่ เป็นมาและเป็นไปของเรื่องนั้นละเอียดถี่ถ้วน
แล้วจะเกิดมีอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ณ ที่นั้นอย่างแปลกประหลาด
คือ ความชัดเจนแจ่มแจ้ง อันมิใช่เกิดแต่ความนึกคิดคาดคะเน
และได้สดับศึกษามาจากคนอื่น
แต่มันเป็นความรู้ที่ชัดเจนอันประกอบด้วยปีติปราโมทย์
ที่เกิดเองเป็นเอง อันใครๆ จะแต่งเอาไม่ได้ ๑



มิฉะนั้นจิตก็จะหดตัวเข้าไปนิ่งสงบเฉยอยู่
โดยไม่คิดอะไรแม้แต่ความคิดที่คิดค้นอยู่นั้นก็พักหมด ๑
บางทีสงบนิ่งเข้าไปอยู่ในที่แห่งหนึ่งเฉพาะจิตอย่างเดียว บางทีก็รู้อยู่เฉพาะตัว
แต่ความรู้อันนั้น มิใช่รู้อย่างที่เราจะพูดกันถูก
หรือบางทีก็ไม่รู้ตัวเสียเลย คล้ายๆ กับหลับที่เรียกว่าจิตเข้าภวังค์
อาการเหล่านั้นใครๆ จะทำเอาไม่ได้
แต่เมื่อภาวนาถูกต้องดังแสดงมาแล้ว มันก็จะเกิดขึ้นมาเอง ๑
อาการทั้งสามอย่างนี้มิใช่จะเกิดเหมือนกันหมดทุกๆ คน และทุกๆ อาการก็หาไม่
บางคนก็เป็นและเป็นครบ บางคนก็เป็นอย่างสองอย่าง



เรื่องของการภาวนานี้พิสดารมาก
หากจะนำมาพรรณนาไว้ ณ ที่นี้ จะเป็นหนังสือเล่มเขื่องเล่มหนึ่ง
ที่แย้มให้เห็นเพียงเล็กน้อยก็เพื่อแนะให้ทราบว่าผู้ภาวนาเป็นแล้วจะเป็นไปอย่างนั้น



แบบที่ ๒ ที่ให้หยิบเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตายขึ้นมาพิจารณานี้
เป็นการหัดสมถะและวิปัสสนาไปในตัว
ถ้าผู้ที่มีนิสัยวาสนาแล้วเป็นไปได้รวดเร็ว
ถ้านิสัยพอประมาณปานกลาง บางทีก็จะหนักไปในทางสมถะ
จิตเข้าหาความสงบ มีอาการ ๓ อย่างดังแสดงมาแล้ว
ถึงอย่างไรการพิจารณาอย่างนี้ย่อมมีคุณานิสงส์มาก
เพราะพิจารณาให้เห็นสภาวะเป็นจริง
ถึงไม่ได้ปัญญาขั้นละเอียด แต่ก็ยังรู้เท่าเข้าใจตามความเป็นจริง
แล้วค่อยๆ วางอุปาทานลงได้โดยลำดับ



การยกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณานั้น
เป็นอุบายของการภาวนาโดยแท้ อย่าได้สงสัยว่าเราไม่ได้ภาวนา
อุบายภาวนาคือการที่หยิบยกเอากัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่งขึ้นมาพิจารณา
เมื่อจิตแน่วแน่ลงสู่อารมณ์อันเดียวจนเข้าเป็นภวังค์ เรียกว่าจิตเข้าถึงภาวนาแล้ว

ฉะนั้นการที่เรายกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณา
จิตของเราจดจ่ออยู่ในเรื่องนั้นอยู่อย่างเดียว
เรียกว่าเรากำลังเจริญภาวนาอยู่แล้ว ขอให้ยินดีพอใจในจิตของตนที่เป็นอยู่นั้นเถิด
จิตก็จะได้แน่วแน่และเกิดปีติปราโมทย์จนละเอียดลงไปโดยลำดับ



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจากพระธรรมเทศนา ภาวนา - สมาธิ
ใน
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์
ฉบับพิมพ์เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๒.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP