สารส่องใจ Enlightenment

พระธรรมรักษา (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๗




พระธรรมรักษา(ตอนที่ ๑)


ทีนี้กำหนด พุทโธ เมื่อจิตได้ละเอียดเข้าไปจริงๆ
คำว่า พุทโธ กับความรู้เลยกลายเป็นอันเดียวกัน
เราจะว่า พุทโธ ก็ตาม ไม่ว่าก็ตาม
ในขณะที่จิตได้แนบสนิทกับพุทโธแล้ว ก็ปรากฏเป็นพุทโธอยู่เช่นนั้น
เพราะคำว่า พุทโธ ก็คือความรู้ จิตได้ดิ่งลงไปเป็นความรู้อันเดียว
แต่ผลที่ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติทั้งสองนี้
คือจิตเป็นหนึ่ง ไม่ได้สองกับอารมณ์ที่เคยเป็นมา



เมื่อผลได้ปรากฏอย่างนี้แล้ว
ผู้ปฏิบัติจะต้องทราบในตัวเองว่าความสุขที่เคยปรากฏมา จะปรากฏในทางใดก็ตาม
กับความสุขที่ปรากฏขึ้นในขณะที่จิตมีความสงบเช่นนี้ จะรู้สึกว่าแปลกต่างกันมากมาย
ยิ่งใจได้พินิจพิจารณาในส่วนแห่งสภาวธรรมโดยทางปัญญาด้วยแล้ว
ความสงบของจิตจะมีความละเอียดเข้าไปเป็นลำดับ
เพราะอำนาจของปัญญาเป็นเครื่องซักฟอก
และพิจารณาในสภาวะทั้งหลายที่จิตเคยสำคัญมั่นหมาย
แล้วถือเป็นภาระของตน ที่ท่านเรียกว่าอุปาทาน
เมื่อปัญญาได้พิจารณาในสภาวะมีส่วนแห่งร่างกายเป็นต้น เห็นชัดมากเท่าไร
คำว่าอุปาทานคือความถือมั่นในส่วนแห่งกายเหล่านี้
ก็ค่อยถอยตัวออกมาจากความยึดมั่นนั้นๆ เป็นลำดับๆ
เพราะฉะนั้นอุปาทานของกายจึงสิ้นสุดลงได้
ในเวลาที่พิจารณากายเห็นชัดตามเป็นจริงเต็มที่แล้ว
แล้วก็ถอนออกมาได้อย่างเต็มที่
ต่อจากลำดับนั้นไปเรื่องของกายนี้จะไม่ปรากฏในความรู้สึกขณะที่เราภาวนา



คือการภาวนาเบื้องต้น เราจะพิจารณาส่วนแห่งร่างกายส่วนใด
ก็เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง ลุ่มๆ ดอนๆ
แต่เมื่อสติและปัญญามีกำลังพอตัวในการพิจารณาด้านวัตถุนี้แล้ว
เรื่องส่วนแห่งกายทั้งหลายจะเห็นได้ด้วยปัญญาโดยรวดเร็ว
เพราะสติกับปัญญาวิ่งไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้แยกกันไปสู่ที่ต่างๆ
พอพ้นจากภาวะนี้แล้ว ใจที่เคยเห็นรูปร่างกลางตัวของตน
หรือส่วนแห่งร่างกายของตนมาเป็นลำดับ ก็จะกลายเป็นสุญญากาศไปหมด
ส่วนแห่งร่างกายแม้จะปรุงขึ้นมาเป็นภาพชั่วระยะเพียงเล็กน้อย
ก็คอยที่จะสลายไป ต่อจากนั้นก็ไม่มีอะไรเหลือ



ทั้งๆ ที่เราได้เคยพิจารณามาจนชำนาญและเห็นชัดด้วย
แต่เมื่อพ้นจากระยะนี้แล้วเรื่องของจิตจะไม่ปรากฏในส่วนแห่งร่างกายนี้เลย
แม้จะปรากฏก็เพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้น ไม่ถึงครึ่งวินาที
ต่อนี้ก็จะสูญหายไปหมดจากความรู้สึก
แม้จะมีอยู่ก็มีอยู่ตามสภาพของตน
ความรู้สึกจะไม่เกี่ยวกับความเป็นภาพในส่วนแห่งร่างกายนี้เลย
นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสุญญากาศจากส่วนแห่งร่างกาย
คำว่าอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในส่วนแห่งกายก็หมดไปในระยะนี้
ต่อจากนั้นก็จะมีส่วนแห่งนามธรรม
ที่ท่านเรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ที่เกิดขึ้นจากทางกายบ้าง เกิดขึ้นจากทางใจบ้าง
นี่เป็นส่วนละเอียดของการพิจารณา



เมื่อใจได้มีความชำนิชำนาญ สติกับปัญญามีกำลังกล้าขึ้นเป็นลำดับ
แม้ส่วนเหล่านี้ก็จะต้องถูกถอนไปจากอุปาทานอีกเช่นเดียวกันกับกาย
ความรู้ทั้งหมดที่เคยแผ่ซ่านไปสู่ที่ต่างๆ
อันเป็นเชื้อแห่งอุปาทานที่จะได้ตามเกาะ ตามยึดมั่นถือมั่นนั้นก็หดตัวเข้ามา
ทั้งด้านรูป ด้านเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และในส่วนแห่งร่างกายส่วนนี้
ตลอดถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเข้าไปสู่จุดเดียวที่เรียกว่าตัวอวิชชา
ที่พาให้ก่อกำเนิดเกิดอยู่เสมอนั้น ได้แก่ดวงใจ



เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้เพียงว่า
ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ จิตเบื้องต้นเป็นประภัสสร
ไม่ได้หมายถึงว่าจิตบริสุทธิ์ เป็นเพียงมีความผ่องใสเท่านั้น
แต่เป็นจิตที่ผ่องใสอยู่ในภาวะแห่งอวิชชาที่ครองตัวอยู่เท่านั้น
ไม่ได้เป็นจิตที่ผ่องใสเพราะอำนาจแห่งความบริสุทธิ์
ฉะนั้นจิตดวงนี้จึงควรที่จะถือกำเนิดเกิดได้ในกำเนิดและสถานที่ต่างๆ เป็นธรรมดา



แต่ถ้าจิตได้ถูกซักฟอกด้วยอำนาจของสติและปัญญา
แม้ความที่ว่าจิตผ่องใสนั้น ซึ่งติดสมมุติของอวิชชาสถิตอยู่
ก็ได้ถูกปัญญาพิจารณาจนรู้รอบไม่มีอันใดเหลือแล้ว กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้นมา
นั้นแลจึงไม่ใช่ฐานะที่จะก่อกำเนิดเกิดอีกเช่นที่เคยเป็นมา
จิตนี้เรียกว่าเป็นจิตที่บริสุทธิ์ได้จริงๆ เป็นจิตที่พ้นจากภาวะที่เคยเป็นมา



เพราะฉะนั้นในปัญหาข้อที่ว่า ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ ที่ท่านว่าไว้ในธรรมบท
จึงมีปัญหาข้องใจอยู่บ้างว่า ถ้าจิตเมื่อผ่องใสแล้วทำไมจึงเกิด
แต่ท่านว่าจิตเดิมนั้นเป็นจิตที่ผ่องใส
แต่เพราะกิเลสเป็นอาคันตุกะที่จรมา ใจจึงกลายเป็นของที่มัวหมองไปได้
จิตที่ผ่องใสนั้นแลเป็นสถานที่หรือเป็นศาลา เป็นสถานีที่พักจอดแห่งอารมณ์ทั้งหลาย
ความผ่องใสอันนั้นไม่ใช่ผ่องใสในวิมุตติ
เป็นแต่ความผ่องใสที่เป็นสถานที่ควรแก่สมมุติด้วยกันที่จะเข้าอาศัยกันได้
เพราะฉะนั้นอวิชชากับสิ่งสมมุติทั่วๆ ไปจึงประสานกันได้เป็นธรรมดา



เพราะคำผ่องใสนั้นก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง เรียกว่าสมมุติของอวิชชา
สิ่งทั้งหลายที่จะเกิดแทรกขึ้นจากอวิชชาเป็นต้นเหตุนั้น
จึงกลายเป็นสมมุติอันหนึ่งขึ้นมา
เมื่อยังไม่ได้ถูกทำลายความผ่องใสจุดนี้ด้วยปัญญาให้เต็มที่เสียเมื่อไรแล้ว
เรื่องความเกิดเราจะปฏิเสธไม่ได้วันยังค่ำคืนยังรุ่ง และไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใดด้วย
ใครจะเห็นด้วยก็ตามไม่เห็นด้วยก็ตาม เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม
ธรรมชาตินี้ต้องเป็นธรรมชาติที่จะทำตามหน้าที่ของตนอย่างนั้นตลอดกาล



ต่อเมื่อได้ทำลายสภาพนี้ลงไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ให้เต็มที่แล้ว
สภาพนี้จึงจะสูญจากความเป็นสมมุติอันเป็นสถานที่ควรเกิดนั้นเสีย
กลายเป็นวิมุตติขึ้นมาในจิตที่ได้ทำลายอวิชชานั้นให้พ้นไปจากตัว
กลายเป็นวิมุตติขึ้นมาภายในใจ



นี่มาถึงขั้นนี้เราจะเห็นได้ชัดว่า
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประทานเอาไว้เพื่อผู้ปฏิบัติให้เห็นผลนั้น
จะเห็นผลในภาคใดกาลใด ต้องเห็นประจักษ์มาเป็นลำดับ
นับตั้งแต่ขั้นต้นคือการบำเพ็ญทาน การรักษาศีล การภาวนา
มีความเยือกเย็นมาเป็นลำดับ
จนกระทั่งถึงขั้นที่เยือกเย็นเต็มที่ ได้แก่ถึงขั้นที่หลุดพ้นไปเสียจริงๆ
นี่เราอยู่ที่ไหนก็เห็นว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
ประจักษ์กับใจอยู่ตลอดเวลา รักษาใจได้เป็นอย่างดี
ไม่มีสิ่งใดจะสามารถซึมซาบเข้าภายในจิตใจได้
ทั้งๆ ที่เคยซึมซาบกันมาเป็นเวลานาน
ต่อเมื่อได้ทำกำแพงกั้นจิตใจของตนไว้โดยรอบแล้ว
ไม่มีอะไรที่จะสามารถทำอันตรายจิตใจดวงนั้นได้



เพราะฉะนั้นคำว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ จึงเปรียบเหมือนกำแพงกั้นกางศาลาไว้
ไม่ว่ากิเลสตัณหาอาสวะที่จะปรากฏขึ้นภายในความรู้สึกนั้น
ไม่ว่าภพชาติใดๆ ที่เคยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมา
จะไม่มีสิ่งใดสามารถจะแทรกซึมเข้าได้ในจิตดวงนั้นแล้วแม้แต่ขณะเดียว
นั้นท่านเรียกว่าจิตที่ตายตัว



เราจะประสบสิ่งต่างๆ ในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจเสียเองก็ตาม
สภาพทั้งหลายจะเป็นสภาพความจริงตามหน้าที่ของตน
ความรู้สึกที่รับรู้ต่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็กลายเป็นความจริงขึ้นมาอันหนึ่งเท่านั้น
เพราะรากฐานที่จะเป็นเหตุให้ทำความกำเริบให้เกิดความดีใจเสียใจ ได้ถูกทำลายลงแล้ว
รากฐานอันนั้นได้แก่อวิชชา นั่นแลเป็นผู้ที่คอยรับความดีใจเสียใจ คือรากฐานอันนั้นเอง
เมื่อได้ถูกทำลายแล้วความดีใจเสียใจจึงไม่มีทางเกิด



ขันธ์ทั้งหมดจึงกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ รูปแม้จะมีอยู่ภายในกายของตัวเอง
ก็ไม่สามารถที่จะทำจิตใจให้กำเริบเพราะรูปของตนกายของตน
เวทนาจะเกิดขึ้นในส่วนแห่งร่างกาย จะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา ก็เป็นธรรมล้วนๆ
ไม่เป็นสิ่งที่จะเสริมให้ทุกข์ภายในใจเกิดขึ้นได้เพราะเหตุแห่งเวทนาส่วนแห่งร่างกาย
สัญญาที่เคยจำมาได้หมายรู้มากน้อย กว้างแคบลึกตื้นหยาบละเอียด
สังขารความคิดความปรุงซึ่งเคยเป็นมา วิญญาณความรับรู้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีขันธ์ใดจะเป็นภัยต่อจิตใจดวงนั้น



เพราะพิษที่แท้จริงหรือภัยที่แท้จริงก็ได้แก่ใจ
แล้วได้ชำระให้รอบคอบไปหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ
ต้นเหตุที่สำคัญที่จะทำให้ขันธ์ทั้งหลายนี้
เกิดความกำเริบขึ้นมากลายเป็นกิเลสขึ้นมาภายในใจอีก ได้ถูกทำลายแล้ว
สภาพทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงกลายเป็นธรรมล้วนๆ
แม้รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ที่เราเคยเห็นว่าเป็นข้าศึกต่อตัวเอง
ก็กลายเป็นความจริงด้วยกัน
เพราะใจซึ่งเป็นรากฐานสำคัญเป็นความจริงต่อตัวเองโดยสมบูรณ์แล้ว



นี่ผลแห่งการปฏิบัติธรรม ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติให้เห็นผลประจักษ์เช่นนี้
ไม่ได้นิยมว่าเป็นหญิงเป็นชาย นักบวชและฆราวาส สำคัญที่ด้านปฏิบัติ
และการปฏิบัตินี้ผู้หญิง ผู้ชาย นักบวช ฆราวาส ปฏิบัติกันได้ทั้งนั้น
แล้วแต่ความสามารถของท่านผู้ปฏิบัติจะทำได้มากน้อย
ผลจะต้องเป็นที่ตอบแทนเสมอไป ไม่ขึ้นอยู่กับเพศ ไม่ขึ้นอยู่กับวัย
แต่ขึ้นอยู่กับข้อปฏิบัติที่จะเป็นเครื่องผลิตผลให้ปรากฏขึ้นมามากน้อย


เอาเท่านี้ก่อนเห็นว่าจะสมควร เพราะต่างท่านก็ไม่ค่อยได้พักผ่อน


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/2Ffime6


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP