จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๔๖ อย่ายึดความดี จนเผลอใจร้าย



246 talk



ถ้ายึดมั่นความถูกต้อง
แบบที่ตัวเองถูกอยู่คนเดียว
คนอื่นทั้งประเทศผิดหมด
แบบนั้นอาจได้เป็นคนดีที่ใจแคบ


ถ้าเผลอคิดว่าความเด็ดขาด
หมายถึงการไม่ต้องเห็นใจใคร
จะตีเส้นตรงแบ่งเขตขาวดำท่าเดียว
แบบนั้นอาจได้เป็นคนดีที่ไม่อยู่ในโลกความจริง


ถ้ารู้สึกว่าตนเหมือนศูนย์กลางจักรวาล
คนอื่นเป็นดาวที่มีหน้าที่หมุนตามตน
ไม่ยอมเห็นหัว ไม่หยุดฟังใครสักคน
แบบนั้นอาจได้เป็นคนดีที่หลงตัวอย่างร้ายแรง


ถ้ารู้ตัวว่าตนเองไม่มีทางถูกทั้งหมด
ถ้าเห็นว่ากิเลสไม่มีวันยอมให้คุณดีสมบูรณ์แบบ
ถ้ายอมเชื่อว่าหลายสายตาดีกว่าสายตาเดียว
กระทั่งใจกว้างอย่างมีจุดยืนกลางแสงสว่าง
ไม่ปิดหูปิดตาอุดอู้อยู่ในเงามืด
คุณอาจเจอความ ‘ดีจริง’
ที่มากับใจจริงดีๆ
และได้อยู่กับความดีแบบไม่เผลอใจร้าย


ถ้าใช้ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นนำหน้า
ต่อให้ต้องลงโทษประหาร
ก็จะประหารเขาด้วยวิธีให้ตายสบาย
แต่ถ้าใช้อารมณ์เอาถูกเอาผิดตามใจตนท่าเดียว
ต่อให้ปล่อยๆได้ก็ไม่ปล่อย
หรือกระทั่งลงโทษให้เขาตายทั้งเป็น
ในนามของความถูกต้อง


ความถูกต้อง หรือความดี
ชนิดที่ทำให้เผลอเห็นแก่ตัว
ด้วยการเอาแต่ทิฐิมานะของตนเข้าว่านั้น
ลากคนดีให้ตกต่ำมานักต่อนัก
ส่วนน้ำใจ
ชนิดที่ช่วยให้รู้จักเห็นใจคนอื่น
ด้วยการลดทิฐิมานะของตนลงนั้น
ฉุดคนไม่ดีให้ขึ้นที่สูงมานับไม่ถ้วน!


ดังตฤณ
พฤศจิกายน ๖๑




review

คำว่า "พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม" นั้นมีความหมายว่าอย่างไร
และวิธีใดที่จะทำให้ใจมีความสงบ 
ติดตามได้ในพระธรรมเทศนา 
โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "พระธรรมรักษา (ตอนที่ ๑)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" ค่ะ (-/\-)


หากในวัยเด็กเคยเอาแต่ใจตัวเองมากจนทำให้บุพการีเป็นทุกข์
จะมีวิธีการใดช่วยให้กรรมไม่ดีดังกล่าวเบาบางลงได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา" 
ตอน "ถ้าเคยทำให้พ่อแม่เสียใจมามาก จะพ้นวิบากไม่ดีได้ในชาตินี้ไหม"


นวนิยายเรื่อง "ศิวาดล" ผลงานของคุณชลนิล
ได้ดำเนินมาถึงตอนที่ ๗ แล้วค่ะ
เรื่องราวของพิจิกและเมษา 
กับความลึกลับของคฤหาสน์ศิวาดล จะเป็นเช่นไรต่อไป
ติดตามในคอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP