จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

กล่าวธรรมแก่คนที่เหมาะสม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



244 destination



หลายท่านที่เป็นผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมคงเคยมีประสบการณ์กันมาบ้าง
ไม่มากก็น้อย ที่ว่าเราเห็นข้อธรรมคำสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วรู้สึกว่า
ดีมาก เป็นประโยชน์มาก หรือโดนใจเรามาก
เราจึงนำไปส่งต่อให้แก่บุคคลอื่นได้ทราบ ได้อ่าน หรือได้ฟังบ้าง
ด้วยมีเจตนาเป็นกุศลที่อยากให้บุคคลอื่นนั้น
ได้รับสิ่งดีหรือประโยชน์เช่นเดียวกันกับเรา


แต่ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของเราแต่แรก
คือบุคคลอื่นนั้นอาจจะเฉย ๆ หรือถึงกับโต้แย้ง หรือโกรธไม่พอใจเราก็มี
ซึ่งบางทีก็ทำให้เราโกรธ หรือไม่พอใจไปด้วย
แล้วก็อาจจะถึงกับทะเลาะโต้เถียงกันไปเลยก็มี


ในเรื่องนี้ ขอเรียนว่าเป็นเรื่องปกติ
และไม่ใช่ความผิดของบุคคลอื่นนั้นนะครับ
แต่การที่จะส่งต่อหรือกล่าวธรรมแก่บุคคลอื่นนั้น
เราพึงต้องพิจารณาด้วยว่าคนอื่นนั้นเหมาะสมที่จะรับหรือไม่
เปรียบเสมือนกับว่าเราจะเติมน้ำในบ่อให้แก่ปลาที่เขาเลี้ยงอยู่ในบ่อ
เราก็พึงพิจารณาความเหมาะสมก่อนว่า
ปลานั้นเป็นปลาน้ำจืด หรือปลาน้ำเค็ม
ถ้าปลานั้นเป็นปลาน้ำจืด แต่เราไปเติมน้ำเค็มให้ ปลาก็เดือดร้อน
ถ้าปลานั้นเป็นปลาน้ำเค็ม แต่เราไปเติมน้ำจืดให้ ปลาก็เดือดร้อน
การที่เราจะเติมน้ำในบ่อให้แก่ปลา เราพึงต้องพิจารณาปลาก่อน ฉันใด
ฉันนั้นก็เหมือนกัน ก่อนที่เราจะส่งต่อหรือกล่าวธรรมแก่บุคคลอื่นนั้น
เราก็พึงพิจารณาบุคคลอื่นนั้นด้วยว่ามีความเหมาะสมกับธรรมนั้นไหม


ยกตัวอย่างแบบชัดเจน เช่น สมมุติว่าเราจะเอาหนังสือธรรมะ
หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าไปแจกให้แก่คนที่นับถือศาสนาอื่น
โดยที่เขาก็ไม่ได้ขอเราด้วยนะครับ มันก็อาจจะทำให้ทะเลาะกันได้ใช่ไหม
เราลองพิจารณาในทางกลับกันก็ได้ว่า
หากคนที่นับถือศาสนาอื่นนำหนังสือคำสอนในศาสนาของเขามาแจกให้เรา
แล้วเราจะเห็นว่าอย่างไร เราจะยินดีพอใจแล้วรีบรับมาปฏิบัติไหม
ในทำนองเดียวกัน หากเราส่งต่อหรือกล่าวธรรมแก่บุคคลที่ไม่สนใจ
เขาก็อาจจะไม่พอใจ หรืออาจทำให้เกิดการโต้เถียงกันได้เป็นธรรมดาครับ


ใน “ทุกถาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้นะครับ โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
ภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวกย่อมเป็นถ้อยคำชั่ว
เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล บุคคล ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ
ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ไม่มีศรัทธา ๑
ถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ทุศีล ๑
ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ เป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ได้สดับน้อย ๑
ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ตระหนี่ ๑
ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ทรามปัญญา ๑


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ไม่มีศรัทธา?
เพราะผู้ไม่มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธา ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท
กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ไม่มีศรัทธานั้น ย่อมไม่เห็นศรัทธาสัมปทาในตน
และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีศรัทธาสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศรัทธา จึงเป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ไม่มีศรัทธา


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล?
เพราะผู้ทุศีล เมื่อพูดเรื่องศีลย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท
กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ทุศีลนั้น ย่อมไม่เห็นศีลสัมปทาในตน
และย่อมไม่ได้ปีติและปราโมทย์ที่มีศีลสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศีล จึงเป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ทุศีล


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย?
เพราะผู้ได้สดับน้อย เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท
กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ได้สดับน้อยนั้น ย่อมไม่เห็นสุตสัมปทาในตน
และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทาเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ จึงเป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ได้สดับน้อย


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภจาคะจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ตระหนี่?
เพราะผู้ตระหนี่ เมื่อพูดเรื่องจาคะ ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท
กระด้าง แสดง ความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ตระหนี่นั้น ย่อมไม่เห็นจาคสัมปทาในตน
และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภจาคะ จึงเป็นถ้อยคำชั่วของผู้ตระหนี่


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา
เพราะผู้ทรามปัญญา เมื่อพูดเรื่องปัญญา ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท
กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ทรามปัญญานั้น ย่อมไม่เห็นปัญญาสัมปทาในตน
และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภปัญญา จึงเป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ทรามปัญญา


ภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวก ย่อมเป็นถ้อยคำดี
เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล บุคคล ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ
ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำดี แก่ผู้มีศรัทธา ๑
ถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำดี แก่ผู้มีศีล ๑
ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ เป็นถ้อยคำดี แก่ผู้ได้สดับมาก ๑
ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำดี แก่ผู้มีจาคะ ๑
ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำดี แก่ผู้มีปัญญา ๑


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา?
เพราะผู้มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธาย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท
ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีศรัทธานั้นย่อมเห็นศรัทธาสัมปทาในตน
และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีศรัทธาสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศีล?
เพราะผู้มีศีล เมื่อพูดเรื่องศีล ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท
ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีศีลนั้น ย่อมเห็นศีลสัมปทาในตน
และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีศีลสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศีล จึงเป็นถ้อยคำดี แก่ผู้มีศีล


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้ได้สดับมาก?
เพราะผู้ได้สดับมาก เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท
ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ได้สดับมากย่อมเห็นสุตสัมปทาในตน
และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ จึงเป็นถ้อยคำดี แก่ผู้ได้สดับมาก


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภจาคะจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีจาคะ?
เพราะผู้มีจาคะ เมื่อพูดเรื่องจาคะ ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท
ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีจาคะนั้นย่อมเห็นจาคะสัมปทาในตน
และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภจาคะ จึงเป็นถ้อยคำดี แก่ผู้มีจาคะ


เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีปัญญา?
เพราะผู้มีปัญญา เมื่อพูดเรื่องปัญญา ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท
ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีปัญญานั้น ย่อมเห็นปัญญาสัมปทาในตน
และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภปัญญา จึงเป็นถ้อยคำดี แก่ผู้มีปัญญา
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=4225&Z=4288&pagebreak=0


ฉะนั้นแล้ว ในการส่งต่อหรือกล่าวธรรมแก่บุคคลอื่นนั้น
เราพึงต้องพิจารณาความเหมาะสมของบุคคลอื่นที่จะรับธรรมนั้นด้วย
ไม่เช่นนั้นแล้ว แม้ว่าเราจะมีเจตนาดีเป็นกุศลที่จะให้ประโยชน์แก่บุคคลอื่นก็ตาม
แต่ก็อาจจะกลายเป็นว่าบุคคลอื่นนั้นมองว่า เรากล่าวคำไม่ดีกับเขาก็ได้ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP