สารส่องใจ Enlightenment

กายกับใจ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดยหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
แสดงธรรม ณ วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู
เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๑




นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะฯ มเหสิโนติ


พวกเราทั้งหลายที่อยากฟังพระธรรมเทศนา อย่าสักแต่ฟัง
จงระลึกไว้ว่าเมื่อพระท่านเทศนาไป ว่าด้วยกุศลก็ดี อกุศลก็ดี
ให้พากันน้อมเข้าถึงตัวเราทุกๆ คน
บุญกุศลทั้งหลายมันไม่ได้อยู่ที่อื่นที่ไกลมันอยู่กับตัวของเราทั้งนั้น
ในวันนี้พระองค์อื่นๆ ท่านก็ได้เทศนาไปหลายกัณฑ์แล้ว
ท่านก็ได้สรุปว่าตัวของเรานี้แหละเป็นตัวพระพุทธศาสนา
ตัวธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า



คุณหมอท่านเป็นผู้นำให้พวกเราทั้งหลาย
ที่บ้านใกล้ก็มีบ้านไกลก็มี ได้มาพร้อมเพรียงกันอยู่ที่นี้
เราทั้งหลายที่ได้มานี้ก็หวังจะได้คุณงามความดีได้ความสุขความเจริญ
เราทั้งหลายจะต้องรู้ว่าความสุขความเจริญนั้นอยู่ที่ไหน
เมื่อรู้แล้วก็ให้พากันน้อมใจเข้าไป คือเข้าไปในคุณธรรม
ดังที่ท่านบอกว่า เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง
อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่แหละ



เอหิปัสสิโก จงเรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม
ก็เราจะมาดูที่ไหนเล่า
“ธรรม” ข้อนี้จะพูดให้เข้าใจกันไว้
การที่ว่าให้น้อมเข้ามาดูธรรมก็คือธรรมเหล่านี้แหละ
เราฟังเพื่อว่าเราทั้งหลายต้องการความพ้นทุกข์
ทุกข์ทั้งหลายนั้นอยู่ที่นี่คือที่เราเองมิใช่อยู่ที่อื่นไกล
เหตุนั้นให้พากันน้อมเข้ามาตรงนี้คือที่ใจของเราเอง
จงมาดูตรงนี้ ไม่ใช่ดูตรงอื่น ข้อนี้ให้พากันเข้าใจเอาไว้


ที่เราทั้งหลายว่าทำบุญนั้น บุญเป็นอย่างไร ให้พากันรู้เสียในเวลานี้
เราอย่าเอาแต่บ่นว่าเราไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา
เวลานี้เรามีโอกาสเต็มที่แล้ว หน้าที่ของการงานทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่มีแล้ว
ที่พากันมานั่งอยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้แหละ ไม่ต้องคำนึงถึงอดีตและอนาคต
ฟังแล้วก็กำหนดดูเดี๋ยวนี้แหละ เรามีบุญก็มีเดี๋ยวนี้ เรามีอกุศลก็มีเดี๋ยวนี้
เราไม่ต้องคำนึงถึงอดีตอนาคต
อนาคตนั้นเราจะไปอยู่ตรงไหน เราก็รู้ไม่ได้ อดีตนั้นล่วงมาแล้ว เราก็เลยมาแล้ว


เวลานี้เราก็ต้องดูในปัจจุบันนี้ ท่านบอกว่าอย่างนี้
ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร อนาคตก็เป็นอย่างนั้น
ที่เราทั้งหลายพากันรู้จักว่าการบุญการกุศลนั้น
มันไม่ได้อยู่ในต้นไม้ภูเขาเหล่ากอ ไม่ได้อยู่ในอากาศ
ท่านบอกไว้ว่า กามาวะจะรัง กุสะลัง จิตตัง อุปปันนัง โหติ
จิตเรานี้แหละเป็นตัวบุญตัวกุศล
ตัวบุญนั้นเป็นอย่างไร ก็ตัวของเราที่นั่งอยู่นี้แหละ
ลักษณะของบุญนั้นได้แก่ใจของเราดี ใจของเรามีความสุข
ใจของเรามีความสบาย ใจของเรามีความเยือกเย็น
ก็นี่เวลานี้ใจของเราสบายหรือยัง พากันตรวจดูซิ
ต่างคนต่างฟังเทศน์ อย่าไปฟังแต่เสียง ต้องฟังถึงรูปธรรมนามธรรมของเรา



ฟังรูปธรรม คือฟังอัตภาพร่างกายของเรานี้
ฟังเพราะเหตุใด เพราะว่ารูปธรรมนี้ เราถือเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
เป็นเรา เป็นเขา เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นพระ เป็นเณร
มันเป็นจริงไหม ลองพิจารณาดูที ในคำสั่งสอนท่านเทศนาไว้ว่า
รูปัง อนิจจัง เวทะนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง
แล้วจะมีอะไรเป็นของเราได้อย่างไรเล่า
รูปทั้งหลายก็เป็นของไม่เที่ยงทั้งหมด เวทนาก็ไม่เที่ยง สัญญาทั้งหลายก็ไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายก็ไม่เที่ยงทั้งหมด วิญญาณก็ไม่เที่ยงทั้งหมด เที่ยงเมื่อไรเล่า
วิญญาณของเรา วิญญาณคือความรู้ เวลานี้เรารู้อยู่เฉยๆ เมื่อไรเล่า
จิตใจมันห่วงบ้านห่วงช่อง ห่วงข้าวห่วงของ ห่วงโน่นห่วงนี่ มันไม่อยู่เฉยๆ
เพราะฉะนั้น เราจะรู้จักที่พึ่งที่อาศัยของเรา
เราจึงมาทำบุญทำกุศล เราต้องการที่พึ่งที่ระลึกของเรา
สังขารของเรามันไม่เที่ยง จะว่าเป็นของเราได้อย่างไร ให้พากันพิจารณาดู



นามธรรมคือดวงใจผู้คิดผู้นึก มันก็เที่ยงเมื่อไรเล่า
เราต้องเพ่งต้องเร่งพิจารณาเดี๋ยวนี้แหละ
ไม่ต้องคำนึงถึงว่าในอนาคตจะไปอยู่ชั้นใดภูมิใดภพใด
เราต้องรู้จักว่านี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านวางไว้
ถ้าเราไม่เห็นเดี๋ยวนี้ เราก็ไม่รู้จักที่อยู่ที่อาศัยของเรา
ที่อยู่ของเรานั้นเป็นอย่างไรเล่า ก็ดูเอาซิ ถ้าจิตของเราไม่สบาย เราก็ได้ที่พึ่งไม่สบาย
ให้รู้จักไว้ นี่แหละที่พึ่งของเรา จงพากันเข้าใจ
พวกเราทั้งหลายการได้ยินได้ฟังสักแต่ฟังเฉยๆ ไม่ได้ เราต้องกำหนดตรงจิตของเรา



ท่านวางศาสนาไว้เป็นข้อปฏิบัติ ท่านไม่ได้วางไว้อื่นไกล
ท่านวางไว้ที่ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นหลักพระพุทธศาสนา ท่านบอกอย่างนี้แหละ
ทีนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นอยู่ที่ไหนเล่า
ท่านว่าศีลคือความเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจาใจให้เรียบร้อย
เวลานี้กายของเราก็เรียบร้อยแล้ว วาจาของเราก็เรียบร้อย
ยังเหลือแต่ดวงใจของเรายังไม่ค่อยเรียบร้อย
เพราะฉะนั้นเราต้องฟังดวงใจของเราอีกที
ขณะนี้เราไม่ได้ทำโทษน้อยใหญ่ทั้งหลาย โทษทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่มีในตัวเรา
เราต้องพิจารณามันให้แน่นอนลงไป เชื่อมันลงไป
คือศรัทธาความเชื่อของเรา เชื่อจริงหรือไม่จริงเล่า



ที่ท่านวางศีลไว้ คือกาย วาจา ใจของเรานี้เป็นศีล
ท่านไม่ได้ให้รักษาอื่น ให้รักษาศีล คือรักษากาย วาจา ใจของเรานี้
อย่าว่าเป็นของยากของลำบากรำคาญ เราต้องการความสุขความสบายแล้ว
เราก็ต้องรักษากายของเรา รักษาวาจาของเรา รักษาดวงใจของเรา
ไม่ทำโทษน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งหมด
ข้อนี้เราทั้งหลายก็รู้อยู่แล้ว สิ่งที่เป็นโทษเป็นบาปกรรม เราไม่ทำ
เมื่อเราไม่ได้ทำบาปทำกรรมแล้ว บาปกรรมทั้งหลายก็ไม่มีในตัวเรา
ให้พิจารณาดู ถ้าเราไม่ชอบบาปกรรมเราก็เลิกทำ บาปกรรมทั้งหลายก็ไม่มีในตัวเรา
เราควรพินิจพิจารณาข้อนี้ให้แน่ใจลงไป เชื่อมั่นลงไป



ใครเป็นผู้ทำกรรมเวลานี้ พิจารณาดูซิ ก็ดวงใจของเรา
ท่านบอกไว้ว่า กัมมัสสะโกมหิ กรรมทั้งหลายเป็นของของตนเอง
ท่านบอกอย่างนี้แหละ กรรมเป็นของตนเอง ไม่ใช่เป็นของบุคคลอื่น
ก็เวลานี้เราอยู่ในกรรมอันใดเล่า กรรมดีหรือกรรมชั่ว เราต้องพิจารณาลงไป
ไม่ใช่ผู้อื่นเป็น เราเองเป็นผู้เป็น ให้พินิจพิจารณาให้แจ่มแจ้งลงไปให้มันเห็นตัวกรรม
กรรมมันไม่ได้อยู่ที่ดินฟ้าอากาศ
กรรมทั้งหลายที่เราว่าเป็นกรรมอย่างโน้นเป็นกรรมอย่างนี้
บาปอย่างโน้นบาปอย่างนี้ บาปอะไรมีที่โน้นที่นี่
ในป่าในดง ภูเขาเหล่ากอไม่ได้เป็นบาปเป็นกรรม
มันเป็นจากดวงใจของเรา ท่านจึงว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเป็นของเรา



กายกรรม ทำทางกาย วจีกรรม ทำทางวาจา มโนกรรม ทำทางใจ
ข้อนี้แหละให้พากันพินิจพิจารณาให้เห็นชัด
อย่าเข้าใจอย่างอื่น อย่าให้เป็นสีลัพพตปรามาส
ลูบคลำโน่นๆ นี่ๆ ว่ากรรมอยู่โน้น บาปอยู่โน้น นั่นแหละเข้าใจผิดไป
เราต้องใช้โอปนยิกธรรม ต้องน้อมเข้ามาถึงดวงใจของเรา
กรรมมันไม่ได้เกิดที่อื่น เวลานี้กายเราไม่ได้ทำอะไร วาจาเราก็ไม่ได้ทำ
เหลือแต่มโนกรรมความน้อมนึก
มะโน ปุพพัง คะมา ธัมมา มะโน เสฏฐา มะโนมะยา
บุญและบาปไม่ว่าใด ๆ ใจถึงก่อน

ให้พากันพินิจพิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งลงไป แน่นอนลงไป บุญและบาปใจมันถึงก่อน



มโน คือความน้อมนึก ธรรมะคือความคิด ปุพพะ คือในเบื้องต้นนี้แหละ
ต้นบุญต้นกุศลทั้งหลาย คือใจเรานี้เอง
บุญและบาปเกิดจากนี้ ไม่ได้เกิดจากอื่นจากไกล
พิจารณาให้เห็นแน่นอนลงไปเดี๋ยวนี้แหละ
แต่ก่อนนั้นพระพุทธเจ้าท่านเทศนา พุทธบริษัททั้งหลายได้ไปสดับโอวาทานุสาสนี
อันเป็นธรรมะคำสั่งสอนของท่านแล้ว
ได้สำเร็จมรรคผลถึงโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตา
เราทั้งหลายทุกวันนี้มัวแต่ฟัง แล้วก็ไม่ได้ถ้อยได้ความอะไร
ฟังพอเป็นพิธี ฟังแต่ว่าเอาบุญ ไม่รู้จักว่าบุญอยู่ที่ตรงไหน
เมื่อท่านเทศน์จบแล้วก็สาธุได้บุญแล้วเท่านั้น ก็จะเอาบุญที่ตรงไหนเล่า
ที่ท่านฟังกันแต่ก่อนนั้นท่านน้อมลงไปถึงจิตถึงใจของท่าน
บุญก็เกิดเดี๋ยวนั้น ใจมีความเยือกความเย็น ใจมีความเบาความสบาย
นี่แหละตัวบุญ มีหรือยังในใจของเรา เรามีความสุขสบายหรือยัง
เวลานี้แหละที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เข้าที่ดูทีระลึกดูที พุทโธ ธัมโม สังโฆ ระลึกดู
พุทโธนั้นอยู่ที่ไหนเล่า ธัมโมอยู่ที่ไหนเล่า สังโฆอยู่ที่ไหนเล่า
นี่แหละเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเรา ที่กราบที่ไหว้ ที่สักการบูชาของเรา
ถ้าเราไม่มีพุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วก็ไม่มีที่พึ่งที่อาศัย
เรามีพุทโธ ธัมโม สังโฆ นี้แหละเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่กราบไหว้



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


(ถอดจากแถบบันทึกเสียงของนายแพทย์อวย เกตุสิงห์
ม.ร.ว.ส่งศรี เกตุสิงห์ ผู้ถอด อวย เกตุสิงห์ เรียบเรียง)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก “อาจาโรวาท : พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร”
กรุงเทพฯ : ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์, ๒๕๕๐.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP