สารส่องใจ Enlightenment

ปัจจุบันนี้มีพระอริยเจ้าจำนวนมากหรือน้อยกว่าในอดีตเท่าไหร่



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร




ปุจฉา - ปัจจุบันนี้พระอริยเจ้า ตั้งแต่โสดาจนถึงอรหันต์
มีจำนวนมากน้อยเทียบกับในอดีตเป็นอย่างไรครับ
มีอะไรเป็นข้อวัดว่าท่านเป็นอริยภูมิได้ครับ



วิสัชนา - พระอริยเจ้าทุกวันนี้มีมากน้อยกว่าครั้งพุทธกาลเท่าใดนั้น
ถ้าเทียบตามคาดคะเนก็คงมีน้อยกว่าครั้งพุทธกาล
แต่มีข้อแย้งอยู่ว่า ต้องการเห็นพระโสดาหรืออนาคาหรืออรหันต์ก็ต้องเป็นเสียก่อน
ไม่ใช่จะเอาปริยัติความจำได้มาเห็น
ส่วนจะมีอะไรเป็นเครื่องวัดนั้นก็เป็นเครื่องวัดยากอยู่เหมือนกัน
เพราะนิสัยและวาสนาของสาวกสาวิกาละไม่ได้
จะละได้ก็แต่กิเลสเป็นตอนๆ ไปจนจบ



พระอรหันต์เป็นบางราย ยกอุทาหรณ์ เช่น พระสารีบุตรกระโดดข้ามคลอง
ชาวโลกทั้งหลายก็กล่าวว่าพระอรหันต์ยังไงกระโดดข้ามคลอง
(คลองนั้นคงกว้างแขนเดียวเท่านั้น)
แต่พระบรมศาสดาทรงแก้ว่า นิสัยขององค์ท่านเคยเป็นลิงมาหลายชาติ
ชอบกระโดดโหนตัวตามต้นไม้ นิสัยอันนั้นจึงละไม่ได้
ส่วนกิเลสของท่านนั้นท่านละได้สิ้นเชิงแล้วเหล่านี้เป็นต้น
ถ้าจะยกมาให้ฟังก็มีอยู่อีกหลายเรื่องนัก คือเรื่องที่ไม่ใช่นิสัยของพระพุทธเจ้า
เพราะพระพุทธเจ้าละนิสัยและวาสนาดังกล่าวแล้วได้
และก็ทิ้งกิเลสทั้งปวงก็ละได้ด้วย



จะเทียบอุทาหรณ์ให้ฟังต่อไปอีก
พระยามปัสเสนคุอันเป็นพระบรมราชาที่ปกครองแคว้นโกศล
กราบเรียนพระบรมศาสดาว่าน้ำใสกลางขุ่นขอบนั้นคืออย่างไร
พระบรมศาสดาทรงกรุณาตอบว่า
คือจิตของมนุษย์ที่เป็นธรรมแต่มารยาทวาจาไม่เหมาะสม
น้ำใสขอบขุ่นกลางนั้น มารยาทสวยงามที่สุดแต่จิตนั้นไม่เป็นธรรม
น้ำขุ่นขอบและขุ่นกลางด้วย มารยาทไม่งาม จิตใจไม่เป็นธรรม
น้ำใสทั้งกลางด้วยใสทั้งขอบด้วย
หมายความว่าจิตใจก็เป็นธรรม มารยาทก็เป็นธรรม ดังนี้เป็นต้น



เหตุฉะนั้นจึงเป็นการสังเกตยาก
แต่ที่สังเกตง่ายๆ ก็คือเห็นเขาฆ่าโค ฆ่ากระบืออยู่หรือฆ่าคนอยู่
ได้ยินเขาเล่าก็ดีหรือเห็นด้วยตาก็ดี อันนี้เราตัดสินเผงได้
ถ้าละเอียดไปกว่านี้แล้วเราก็ตัดสินลำบาก
แต่ถ้าเรามีนิสันเจโตปริยญาณ รู้จักดักใจของผู้อื่น
และเราก็เป็นอรหันต์เต็มภูมิด้วย (เว้นพระอรหันต์สุขวิปัสสโกเสีย)
เราก็ทายเขาได้เผงๆ ในใจเลย



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP