สารส่องใจ Enlightenment

นำธรรมะมาปรับปรุงตนเอง (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมคณะนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘




นำธรรมะมาปรับปรุงตนเอง (ตอนที่ ๑) (คลิก)


ทุกอย่างต้องมีเครื่องสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นทางดีทางชั่ว
การทำชั่วก็ต้องมีเครื่องสนับสนุน
ทำชั่วเพียงครั้งเดียวก็เป็นเหตุจะให้เป็นสองครั้งขึ้นไป
เพราะการทำบ่อย ความชั่วเพียงเล็กน้อยก็กลายเป็นความชั่วที่ใหญ่โตขึ้นมาได้
เนื่องจากการสนับสนุนคือการทำอยู่บ่อยๆ และกลายเป็นความพอใจในการทำชั่ว
คนๆ นั้นเลยกลายเป็นคนชั่วหมดทั้งตัว กายวาจาใจกลายเป็นเรื่องของความชั่วไปหมด



เรื่องของจิตใจก็เหมือนกัน เราบำเพ็ญเพื่อความดี
จะยากลำบากเราก็บำเพ็ญเพื่อเรา ไม่ได้บำเพ็ญเพื่อบ้านเพื่อเมือง
เพื่อพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์องค์ใดๆ เบื้องต้นก็เพื่อเรา
แต่เมื่อเห็นผลประจักษ์ขึ้นมาแล้ว การที่จะเฉลี่ยเผื่อแผ่ความรู้ความฉลาด
สมบัติของตนที่ปรากฏขึ้นมาเพราะความขยันหมั่นเพียร
หรือความขวนขวายของตนนั้นย่อมเป็นไปเอง
ฉะนั้นการอบรมด้วยความพากความเพียรให้ติดต่อไปทุกวันทุกคืนนั้น
จึงเป็นเหมือนกับอาหารเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ให้มีความเจริญคืบหน้าขึ้นไปในทางด้านจิตใจ



เบื้องต้นจะสงบเพียงเล็กน้อย แต่พอเป็นเครื่องสะดุดใจเราให้มีความดูดดื่ม
ต่อเมื่อทำไปมากๆ หรือทำไปนานๆ ความสงบนี้จะกลายเป็นพื้นฐานของจิตเป็นประจำ
เราจะออกจากสมาธิไปทำกิจการงานอะไรก็ตาม จะเดินเหินหรือนั่งอยู่ที่ไหนก็ตาม
เรื่องความสงบที่ปรากฏเป็นพื้นฐานนั้นจะมีประจำใจของท่านผู้บำเพ็ญผู้นั้น
นี่ท่านเรียกว่าจิตที่ได้ฐานแห่งความสงบไว้เป็นประจำตนแล้ว
เมื่อมีความชำนาญมากกว่านั้น เราต้องการจะให้สงบลงเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ
นี่ท่านเรียกว่าสมาธิขั้นละเอียด



ความสงบของจิตที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น บางท่านก็จะไม่เข้าใจ
คือตามธรรมดาของจิตย่อมมีการงานเช่นเดียวกับส่วนร่างกายของเรา จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้
นอกจากเราจะไม่สังเกตการงานของจิตเท่านั้น เราจึงจะเห็นไปว่าจิตว่างงาน
แท้ที่จริงจิตยิ่งมีงานมากยิ่งกว่าส่วนร่างกายของเรา
ร่างกายเรายังมีเวลาพักผ่อนนอนหลับ ส่วนของจิตนั้นไม่ค่อยจะมี
มีความปรุงความแต่งเรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องอดีตอนาคต
ปรุงอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งไม่มีจุดหมายปลายทางของความปรุงของจิต
นี่เรียกว่างานของจิตทั้งนั้น



เมื่อจิตทำงานอยู่ตลอดเวลาไม่มีเวลาพักผ่อนแล้ว
จิตก็ต้องมีความเหน็ดเหนื่อยมีความลำบาก เช่นเดียวกับบุคคลที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน
ไม่มีเวลาพักผ่อนนอนหลับและการรับประทานเลย คนนั้นจะหาความสุขที่ไหนก็ไม่ได้
ร่างกายก็ไม่สามารถจะต้านทานกับการงานได้ เลยจากนั้นก็ตาย
เรื่องของจิตก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นท่านจึงให้อบรมธรรมะ
เพื่อจิตจะได้รับความสงบเข้าพักผ่อนหย่อนใจของตนอยู่ในความสงบนั้น
เรียกว่าพักงาน คือความคิดความปรุงทั้งหลาย
เมื่อจิตได้หยั่งเข้าสู่ความสงบอย่างจริงจังแล้วจะระงับไป
เรื่องความคิดความปรุงจะไม่ปรากฏในจิตที่ตั้งอยู่ในความสงบนั้น
เมื่อจิตถอนออกมาจากความสงบนั้น จึงจะคิดอ่านเรื่องราวต่างๆ เรียกว่าทำงานอีกต่อไป



แต่ในขณะจิตที่มีความสงบประจำตนนั้น ที่เรียกว่าไม่มีงาน เป็นจิตที่มีความสุขอย่างยิ่ง
เช่นเดียวกับเราจะแบกไม้หรือหาบอะไรไปก็ตามซึ่งเป็นภาระอันหนัก
ย่อมมีความลำบากต่อตนเองไม่น้อย ยิ่งไประยะทางไกลๆ ก็ยิ่งหนักมากและเหนื่อยมาก
เมื่อได้ปลงหาบหรือทิ้งสิ่งที่เราแบกหามอยู่บนบ่าเราลงไปเสียเมื่อใด
เราก็รู้สึกมีความสบายกาย
ลักษณะของจิตที่ปล่อยวางอารมณ์ซึ่งเป็นภาระของตนหยั่งเข้าสู่ความสงบ
ย่อมมีความสบายเช่นนั้นเหมือนกัน
แต่มีความสบายมากยิ่งกว่าส่วนร่างกายที่ปล่อยภาระ
คือการหาบการหามนั้นจนหาประมาณไม่ได้
ไม่เช่นนั้นท่านผู้บำเพ็ญทางด้านจิตใจจะไม่มีความขยันหมั่นเพียร
และความดูดดื่มภายในจิตใจ เพื่อความก้าวหน้าแห่งธรรมขั้นสูงขึ้นไปได้เลย
นี้ก็เนื่องจากว่าได้ปรากฏรสชาติแห่งธรรมะซึ่งเกิดขึ้นจากการบำเพ็ญเห็นผลประจักษ์
คือความเย็นใจ สบายทั้งกลางวันกลางคืนประจำอยู่ในใจของตนนั่นเอง



นี่อธิบายถึงเรื่องความสงบของใจ เราจะให้ชื่อว่าสมาธิก็ได้
หรือจะไม่ให้ชื่อก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะความสุขเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่ด้วยกัน
เราจะให้ชื่อว่าสุขหรือให้ชื่อว่าทุกข์ นั่นเป็นชื่ออันหนึ่ง
ธรรมชาติที่ให้ชื่อนั้นเป็นสิ่งที่เรารับทราบอยู่ด้วยกัน
นี่อธิบายถึงขั้นของสมาธิที่จะปรากฏสำหรับผู้บำเพ็ญ
และจะรู้วิถีทางเดินของจิตใจของตนได้ชัดเจนขึ้น
ว่าใจนี้มีสภาพแปลกต่างกันกับส่วนร่างกายอย่างไรบ้าง
เพียงขั้นของสมาธิเท่านี้เราจะทราบได้อย่างชัดเจนว่า
ส่วนแห่งร่างกายนั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง จิตนี้เป็นสภาพอันหนึ่ง
แต่อาศัยซึ่งส่วนแห่งร่างกายเหล่านี้อยู่



ที่นี่กล่าวถึงขั้นปัญญา หมายถึงความเฉลียวฉลาดรอบคอบ พิจารณารู้แจ้งเห็นชัด
จิตใจมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดทั้งภายนอกและภายใน
ปัญญาสามารถจะพิจารณาค้นคว้า
รู้สิ่งที่มาเกี่ยวข้องหรือเป็นอุปาทานกับใจของตนเองได้เป็นลำดับๆ
และปล่อยวางภาระคืออุปาทานนั้นเข้ามาได้เป็นขั้นๆ
นี่ท่านเรียกปัญญา ปัญญาก็มีขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดเหมือนกัน



เมื่อปัญญาได้ทำความพินิจพิจารณา เช่นเราพิจารณาส่วนแห่งร่างกายของเรานี้
จะพิจารณาข้างนอกก็เป็นเรื่องสัจธรรม จะพิจารณาเข้าข้างในก็เป็นเรื่องสัจธรรม
จะพิจารณาเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เป็นเรื่องสัจธรรม
เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อุปาทานภายในใจของเราแทรกซึมอยู่ทุกแห่งทุกหน
ไม่ว่าข้างบนข้างล่าง ข้างหน้าข้างหลังของส่วนแห่งร่างกาย
การพิจารณาทำนองนี้จึงเป็นเหตุให้รู้ชัดเห็นชัดตามสภาพความเป็นจริง
แห่งธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติของเขา
แล้วถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นของตนที่เคยเกี่ยวข้องกับเขาเข้ามา
กลายเป็นการวางภาระไปเป็นขั้นๆ
วางภาระได้มากเท่าไรใจก็ยิ่งมีความเบาสบาย มีความสว่างกระจ่างแจ้ง
และเห็นอานิสงส์แห่งการปล่อยภาระด้วยอำนาจของปัญญา
พิจารณาไปมากเท่าไรก็ยิ่งเห็นการถอดถอนอุปาทานออกจากจิตใจ
เพราะจะพิจารณาข้างนอกหรือพิจารณาข้างใน
ก็เป็นเรื่องปล่อยวางอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น
ซึ่งเป็นภาระอันหนักออกจากใจได้เช่นเดียวกัน เรื่องของปัญญาเป็นอย่างนั้น



แม้ที่สุดส่วนเวทนา ไม่เพียงแต่ด้านวัตถุคือส่วนแห่งร่างกายหรือรูปทั่วๆ ไป
เวทนาจะเป็นความสุข ความทุกข์ เฉยๆ เบื้องต้นก็จดจ้องในเรื่องทุกขเวทนามาก
เมื่อพิจารณาทุกขเวทนาให้เห็นชัดลงไปตามหลักความจริงของเขาแล้ว
เรื่องสุขที่จะเกิดขึ้นมาภายในจิตใจ
เพราะอำนาจแห่งการพิจารณาเห็นทุกขเวทนานั้นได้ชัด
ก็สามารถจะรู้ชัดในเรื่องสุขเวทนานั้นได้อีก
แม้อุเบกขาเวทนาทั้งเป็นส่วนแห่งร่างกายและเป็นส่วนแห่งใจโดยเฉพาะ
ก็สามารถจะทราบได้ด้วยปัญญา



สิ่งเหล่านี้ถ้าเรายังไม่รู้ชัดเห็นชัดก็ย่อมเป็นอุปาทานได้
อุปาทานถือเวทนา ไม่ว่าทุกขเวทนา ไม่ว่าสุขเวทนา
ไม่ว่าเวทนาส่วนร่างกาย ไม่ว่าเวทนาส่วนจิตใจ ย่อมเป็นอุปาทานของใจได้
เมื่อเป็นอุปาทานของใจได้ก็ชื่อว่าเป็นกองทุกข์ทับถมจิตใจของเราได้เหมือนกัน
การพิจารณาด้วยอุบายวิธีอย่างนี้จึงเป็นการถอดถอนอุปาทาน
ทั้งส่วนเวทนาของกาย ส่วนเวทนาของใจได้เป็นลำดับๆ ไป
สัญญาที่หมายก็หมายเพื่ออุปาทาน สังขารที่คิดก็คิดเพื่ออุปาทาน
คือยกภาระมาแบกหามทั้งนั้น
วิญญาณที่รับรู้ก็รับรู้เพื่ออุปาทาน คือความหนักแก่จิตใจของตน



การพิจารณาให้ทราบชัดในเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
จึงเป็นการถอดถอนภาระแต่ละอย่างๆ เข้าไป
จนสามารถทราบชัดซึ่งสาเหตุที่จะเกิดขึ้นแห่งอุปาทานให้เป็นตัวทุกข์ขึ้นมาได้
ว่าเกิดขึ้นมาจากไหน
เรื่องปัญญาแล้วไม่มีสิ้นสุด เช่นเดียวกับไฟได้เชื้อ
เชื้อมีอยู่ที่ไหนไฟย่อมไหม้ไปได้ทั้งนั้น เชื้อที่จะเกิดขึ้นแห่งทุกข์มีอยู่ที่ไหน
เรื่องของปัญญาที่ได้ฝึกฝนอบรมมาจนเพียงพอแล้ว
สามารถที่จะซึมซาบเข้าไปถึงหมด และสามารถที่จะรื้อถอนได้
ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียดของสภาวธรรมทั่วๆ ไปทั้งภายนอกและภายใน
แม้ที่สุดจิตซึ่งเป็นที่อาศัยหรือซึมซาบอยู่แห่งอุปาทานภายในใจของตนเอง
ก็ทราบชัดด้วยปัญญา และสามารถแยกกันออกได้ด้วยอำนาจของปัญญาอันละเอียด
อุปาทานที่ฝังอยู่กับสิ่งภายนอกก็หมดไป
อุปาทานที่ฝังอยู่ในธาตุในขันธ์ ในธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
และในขันธ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ก็หมดไป



สาเหตุที่จะเกิดขึ้นแห่งอุปาทานในขันธ์นี้เกิดขึ้นมาจากไหน ก็สามารถทราบได้อีก
เรียกว่าถึงรากฐานของใจจริงๆ แล้วก็สามารถถอนออกได้
ธรรมชาตินั้นท่านเรียกอวิชชา อันนี้เราให้ชื่อว่าอวิชชา
ธรรมชาติอวิชชาที่แท้จริงนั้นก็ขึ้นอยู่กับความรู้ที่เรารู้ๆ อยู่นั่นเอง
ปัญญาสามารถแทรกลงไปได้
และถอดถอนอุปาทานคือความหลงตัวเองเสียได้โดยสิ้นเชิง
นั่นจะหมดเชื้อแห่งความท่องเที่ยวของจิต
เรื่องจิตที่ท่องเที่ยวถือเอาภพเอากำเนิดในที่นั่นที่นี่โดยเจ้าตัวไม่รู้
ย่อมเกิดขึ้นมาจากสาเหตุแห่งจิตที่มีอวิชชาอยู่ภายในตน
หรือมีอุปาทานอยู่กับตัวเองโดยเจ้าตัวไม่รู้



เพราะฉะนั้นการเรียนธรรมะ
การปฏิบัติธรรมะจึงเป็นวิธีเดียวกันกับการเรียนเรื่องของตัวเอง
และการปฏิบัติต่อตัวเองให้ถูกต้อง
เพื่อให้รู้ร่องรอยที่ไปที่มาของตนอย่างชัดเจน ทั้งที่เป็นมาแล้วเป็นมาเพราะเหตุใด
และจะเป็นไปข้างหน้า คือจะไปถือกำเนิดเกิดอีก
เป็นดีเป็นชั่วเป็นสุขเป็นทุกข์อะไรอย่างนั้นจะเป็นไปจากที่ไหน
ถือหลักปัจจุบันซึ่งรู้ๆ เห็นๆ อยู่ในเวลานั้นเป็นหลักประกัน
สาเหตุทั้งหมดที่เป็นอดีตและจะเป็นอนาคต
ย่อมปรากฏขึ้นมาจากอวิชชาคือความถือมั่นในจิตใจของตน
เพราะความหลงตนนี้เป็นสาเหตุอันสำคัญ ย่อมรู้ชัดกันลงที่นี่
และทำลายปมแห่งภพแห่งชาติลงได้ในจิตที่มีอวิชชาฝังอยู่นั้นด้วยปัญญา
เมื่ออวิชชาได้สลายตัวลงไป เรื่องของสมมุติทั้งหลายก็สลายลงไปพร้อมๆ กัน



เรื่องภพเรื่องชาติที่เคยเป็นปัญหาสำคัญต่อเรา
หรือเคยเป็นภาระต่อเรามาเป็นเวลานานเท่าไรนั้น
ย่อมทราบชัดกับหลักปัจจุบันที่ได้ทำลายให้สิ้นสูญลงไปแล้วนั้น
เรื่องอนาคตก็เป็นอันหมดปัญหาในการท่องเที่ยว
เพราะปัจจุบันคือจิตที่รู้อยู่ ณ บัดนี้เป็นจิตที่บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงแล้ว
ไม่มีสมมุติใดๆ ที่จะเคลือบแฝงได้แล้ว นี่เป็นการรู้เรื่องของตัวเอง
เมื่อรู้ถึงขั้นนี้แล้วปัญหาเรื่องเกิด เรื่องตาย
เรื่องความเป็นมาของตนและของคนอื่นสัตว์อื่นก็หมดปัญหา
เพราะปัจจุบันเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ หมดเรื่องหมดราว
ท่านดับกองทุกข์ท่านดับที่นี่



ทุกข์ที่จะไปถือกำเนิดเกิดเป็นรูปเป็นกายขึ้นมานั้น
เกิดขึ้นจากสาเหตุอันเดียวนี้เท่านั้น คือจิตดวงเดียวนี้
แต่เราไม่ทราบว่าจิตคืออะไรทั้งๆ ที่เราสงสัยหรือเราไม่รู้นั่นเอง
ธรรมชาติที่ไม่รู้ก็คือจิต แต่เราไม่ทราบ
เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะให้เราทราบเรื่องของจิตกับเรื่องของกาย
มีความต่างกันอย่างไรบ้าง หรือเป็นอันเดียวกันนั้น
จึงต้องอาศัยวิธีอบรมจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่พระองค์ทรงได้เคยท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บตายมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ
จนได้กลายเป็นศาสดาด้วยการบำเพ็ญธรรมะ และได้มาเป็นครูสอนพวกเรา
เราทั้งหลายได้นำธรรมะท่านมาปฏิบัติและดำเนิน
อย่างไรก็ต้องทราบร่องรอยความเป็นมาและความเป็นไปของตน
ด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติธรรมนี้โดยแน่นอน



ดังนั้นในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้
จึงขออาราธนาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับพระธรรมและพระสงฆ์
จงมาคุ้มครองบรรดาท่านนักใจบุญทั้งหลาย ให้มีความสุขกายสบายใจ
และนึกสิ่งใดจงสมตามความมุ่งมาดปรารถนาโดยทั่วหน้ากัน
เอวัง



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/2LNHMlj


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP