สารส่องใจ Enlightenment

นำธรรมะมาปรับปรุงตนเอง (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมคณะนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘




วันนี้ท่านนักใจบุญทั้งหลายได้อุตส่าห์สละทั้งเวล่ำเวลา
สละทั้งทรัพย์สมบัติอันมีค่า ตลอดทั้งชีวิตด้วยความไม่เสียดาย
ทั้งนี้เพื่อบูชาแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ และมีมากท่านด้วยกัน
มีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณท่านเป็นประธาน
นับว่าเป็นมงคลอย่างยิ่งในวัดป่าบ้านตาด
และท่านทั้งหลายมีความมุ่งอยากจะฟังพระธรรมเทศนา
เพื่อเป็นการอบรมจิตใจเท่าที่จะเป็นไปได้
ก่อนอื่นขออภัยทุกๆ ท่านว่าการแสดงธรรมะนี้ โดยมากเป็นธรรมะป่าๆ ทั้งนั้น
ซึ่งแสดงตามความรู้สึกที่ได้ปฏิบัติมาอย่างไร
จะถูกหรือผิดอย่างไรนั้น จึงขออภัยไว้ล่วงหน้า


การแสดงธรรมวันนี้ก็จะเริ่มแสดงเรื่องการปรับปรุง
คำว่าการปรับปรุงเป็นประโยคกว้างขวาง
ทางโลกทางธรรมต้องอาศัยการปรับปรุง
ไม่เช่นนั้นก็ไม่สำเร็จประโยชน์ตามความต้องการ
เช่นอาหาร แม้จะสำเร็จชื่อว่าเป็นอาหารแล้ว ก็ยังต้องอาศัยการปรับปรุงจากแม่ครัว
แม่ครัวมีความฉลาดมากน้อยเท่าไร
การปรับปรุงอาหารก็ย่อมมีรสมีชาติมากขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้นทุกๆ สิ่งจึงต้องอาศัยการปรับปรุง
บ้านเรือน วัดวาอาวาส รถรา เป็นต้นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่อาศัยการปรับปรุงขึ้น
เพียงแต่จะเป็นไม้อยู่เท่านั้น เป็นเหล็กอยู่เท่านั้น
จะไม่สำเร็จประโยชน์เป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมา



ดังนั้นการปรับปรุงจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เราจะต้องการสิ่งใดต้องอาศัยการปรับปรุงสิ่งนั้น
ด้วยความขยันหมั่นเพียร และทรัพย์สมบัติ พร้อมทั้งความฉลาด
สิ่งที่จะสำเร็จรูปขึ้นมาจากการปรับปรุงก็ถูกต้องตามความประสงค์ของเรา
ศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
เช่น เรานับถือพระพุทธศาสนา หลักของพระศาสนามีเหตุผลอย่างไรบ้าง
เราจึงมีความเชื่อความเลื่อมใสหรือสนใจ
การสนใจต่อพระศาสนานั้นสนใจเพื่ออะไร
ก็เพื่อจะนำหลักธรรมะที่ให้นามว่าสวากขาตธรรม
ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชอบแล้วนั้นมาปรับปรุงตนเอง



เพราะเราถ้าหากจะเทียบเหมือนไม้ก็เป็นไม้ทั้งท่อน หรือไม้ทั้งต้น
เพียงแต่เป็นรูปร่างของไม้อยู่เท่านั้น
จะเป็นไม้ประเภทที่มีเนื้อดีหรือเนื้ออ่อนเนื้อแข็ง
ประเภทใดๆ ก็ยังเป็นเพียงชื่อว่าไม้เท่านั้น
เมื่อยังไม่ได้ปรับปรุงไม้นั้นๆ ให้ถูกต้องตามความประสงค์
ซึ่งสมควรจะปรากฏให้เป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาแล้ว ก็สำเร็จไปไม่ได้
ความที่ว่าเป็นมนุษย์เป็นบุรุษหญิงชายก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
ต้องอาศัยสิ่งที่สำเร็จรูปจากการปรุง ได้แก่ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่พระองค์ท่านทรงปรุงไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว
จนกลายเป็น สวากขาตธรรม คือตรัสไว้ชอบหนึ่ง
และเป็น นิยยานิกธรรม จะนำผู้ประพฤติปฏิบัติคือปรับปรุงตนเองนั้น
ให้ได้ผ่านพ้นอุปสรรคเป็นลำดับๆ ไป
ดังนั้นเราท่านทั้งหลายที่ได้อุตส่าห์พยายามเสาะแสวงหาธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
มาเป็นเครื่องปรับปรุงกายวาจาใจของตนให้เดินถูกทางแห่งสวากขาตธรรม
จึงเป็นการปรับปรุงตนเองให้ถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า



ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีหลายชั้น
ชั้นหยาบ ชั้นกลาง ชั้นละเอียด เมื่อให้ชื่อแล้วก็ว่าธรรมด้วยกัน
เหมือนอย่างเครื่องมือที่มีหลายประเภท
สำหรับที่จะใช้ในกิจการตามจุดประสงค์ของตน
คำว่าศีล คำว่าทาน และคำว่าภาวนา ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
ศีลเบื้องต้นก็เป็นศีลของปุถุชน เพราะเราเป็นปุถุชน
ศีลแม้จะเป็นอริยศีล สำเร็จรูปมาจากความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า
เมื่อก้าวเข้ามาสู่กายวาจาใจของเราที่เป็นปุถุชน ศีลก็ต้องกลายเป็นศีลของปุถุชนไป
ต่อเมื่อเราได้ก้าวขึ้นสู่อริยภูมิ จะเป็นภูมิขั้นไหนก็ตาม
เรื่องศีลก็กลายเป็นอริยศีลขึ้นไป ตามเจ้าของที่รักษาศีลตามภูมิธรรมของตน



คำว่าทานก็เช่นเดียวกัน ทานอย่างต่ำ ทานอย่างกลาง ทานอย่างสูง
แยกออกเป็น ๓ ประเภท
คำว่าทานอย่างต่ำ คือทานตามฐานะของเราที่เป็นคนยากจน
เรามีอาหารหยาบๆ มีของหยาบๆ
ซึ่งคนมั่งมีศรีสุขเขาไม่สนใจ แต่ก็กลายเป็นของดีสำหรับเรา
เรามีความยินดีอยากจะให้ทานเพราะมีศรัทธา เราก็ทานไปได้
บุญก็สำเร็จประโยชน์แก่เราเช่นเดียวกัน
และผู้มีฐานะสูง สมบัติมาก ทานก็ได้ทานแต่ของดี นี่ก็สำเร็จประโยชน์เป็นขั้นๆ ขึ้นไป
และประเภทแห่งทานนี้ยังแยกออกได้ในบุคคลคนเดียวถึง ๓ ประเภท
คือประเภทที่ต่ำ ประเภทปานกลาง ประเภทที่สูง
ประเภทใดที่เราถือว่าเป็นประเภทต่ำ
เราให้ทานประเภทนั้นไป นั้นก็จัดว่าเป็นทานที่ต่ำของเรา
แม้จะสูงกว่าคนจนก็ตามก็จัดว่าต่ำสำหรับคนในฐานะเช่นนั้น



ภาวนาก็แยกประเภทเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอนเรื่อง อนุปุพพิกถา
คือแสดงธรรมไปตามลำดับของพุทธบริษัทผู้อยู่ในจริตนิสัยหรือภูมิธรรมขั้นใด
แสดงเป็นลำดับๆ ไปเช่นเดียวกับเราขึ้นบันได
ขึ้นแต่ขั้นต่ำก้าวขึ้นไปเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงขั้นสุดของบันได
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน



คำที่ว่านำธรรมะมาปรับปรุงตนเองนั้น
ได้แก่พยายามดัดแปลงความประพฤติของตนให้เป็นไปตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
ที่เห็นว่าธรรมะขั้นนั้นๆ เหมาะสมหรือพอดีกับจริตนิสัยหรือขั้นภูมิของเรา เพศของเรา
เราอยู่ฆราวาสเราจะควรประพฤติตนเป็นคนเช่นไร จึงจะจัดว่าเป็นพลเมืองดีมีศีลมีธรรม
ผู้เป็นนักบวช เป็นเณร จะควรประพฤติตนอย่างไรให้สมกับความเป็นเณรของตน
ผู้เป็นพระควรจะพึงประพฤติปฏิบัติกับศีลกับธรรมอย่างไรบ้าง
จึงจะสมกับภูมิแห่งความเป็นพระของตน นี่เป็นขั้นๆ อย่างนี้



เรื่องที่กล่าวมานี้ คือ ทาน ศีล
บรรดาท่านผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้รู้จักและปฏิบัติกันมา
รู้สึกจะไม่ค่อยมีข้อข้องใจอะไรนัก ดังนั้นจึงขอผ่านไป อธิบายเพียงเท่านี้
แต่ด้านจิตใจที่เรียกว่าการอบรมจิตใจให้เห็นผลประจักษ์ภายในใจของตน
ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญแก่ความเชื่อในหลักศาสนาทั่วๆ ไปนั้น
เป็นหลักสำคัญยิ่งสำหรับพุทธศาสนาของเรา
ที่เกี่ยวกับพุทธบริษัท ผู้สนใจต่อหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากทั้งผู้ฟัง
และยากทั้งผู้ที่จะนำมาแสดงในหลักแห่งสมาธิและปัญญา



เพราะคำว่าสมาธิเพียงเท่านั้น
เป็นประโยคอันกว้างขวางของหลักสมาธิทั่วๆ ไป
ถ้าจะแปลตามศัพท์ก็แปลว่าความตั้งมั่น คือจิตมีความตั้งมั่นท่านเรียกว่าสมาธิ
แต่วิธีจะทำจิตของเราให้มีความตั้งมั่นนั้นเราจะทำวิธีใดจึงจะเป็นไปเพื่อความสงบ
จนปรากฏเป็นผลคือความตั้งมั่นภายในใจของตนขึ้นไปเป็นขั้นๆ
เพราะคำว่าความตั้งมั่นนี้ไม่ใช่ว่าตั้งมั่นเพียงเท่านั้น
แล้วสำเร็จภูมิแห่งความเป็นสมาธิทุกๆ ขั้นไป
ตั้งมั่นในขั้นหยาบ ตั้งมั่นในขั้นกลาง
ตั้งมั่นในขั้นละเอียดของสมาธิยังมีเป็นชั้นๆ อย่างนี้
และวิธีที่จะทำจิตให้มีความสงบเยือกเย็น
และเป็นสิ่งที่จะเกิดความแปลกประหลาดและความเชื่อความเลื่อมใสในหลักธรรม
คืออุบายวิธีที่นำมาบำเพ็ญตนนั้น ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากเหมือนกัน
แต่ถึงอย่างไรก็ไม่พ้นวิสัยของท่านผู้สนใจเพื่อความสงบภายในจิตใจของตนไปได้



ดังนั้นเบื้องต้นเราไม่ต้องกำหนดหาบทธรรมอะไรมากมายนัก
เราเพียงสังเกตดูจริตจิตใจของเรากับบทธรรม เช่น อานาปานสติ เป็นต้น
มากำกับจิตใจเรา ด้วยการกำหนดตามรู้ลมหายใจเข้าออก
จะสั้นหรือยาวให้ทำความรู้ไว้กับลมของตน
และเราไม่ต้องคาดหมายผลล่วงหน้าว่า
ผลที่จะเกิดขึ้นจากการกำหนดเช่นนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง
เพราะการคาดคะเนไปนั้นเป็นเรื่องผิดจากหลักปัจจุบันที่จะทำให้จิตเกิดผลประจักษ์
คือความสงบเยือกเย็นใจขึ้นภายในใจของตนเอง
เราเพียงทำความกำหนดรู้ไว้กับลมเท่านั้น
หายใจเข้าก็ทำความรู้ตามระยะแห่งลมที่หยาบหรือละเอียด
หายใจออกก็ทำความรู้ไว้กับลม
จะสั้นหรือยาวก็ทำความรู้สึกไปตามระยะของลมที่ระบายเข้าๆ ออกๆ อยู่นั้น
นี่ท่านเรียกว่าวิธีบังคับจิตใจให้เข้าสู่หลักธรรมคืออานาปานสติ ได้แก่ลมหายใจ



ตามธรรมดาของใจมีธุระอันเดียวเท่านั้น
ในขณะที่คิดอะไรอยู่ก็ต้องเป็นเรื่องคิดอันนั้น
เมื่อเรื่องอื่นแทรกเข้ามาก็ต้องปล่อยวางเรื่องนั้นแล้วไปคิดเรื่องอื่น
ไม่ใช่จะคิดเพียงขณะเดียวนั้นได้ร้อยแปดพันประการ
เมื่อจิตได้ทำความรู้อยู่กับลมเป็นต้น ไม่ได้ส่ายแส่ไปที่ไหน
นี่ท่านเรียกว่าจิตตั้งอยู่ในปัจจุบันธรรมด้วย ตั้งอยู่ในปัจจุบันจิตด้วย
ปัจจุบันธรรมได้แก่ลมหายใจ
ปัจจุบันจิตได้แก่ความรู้สึกของเราที่สัมผัสอยู่กับลมเท่านั้น
นี่ถูกกับหลักที่จะทำจิตใจของเราให้มีความสงบ
เมื่อหลักปัจจุบันได้ตั้งไว้โดยถูกต้องแล้วเช่นนี้
ผลคือความสงบเย็นใจเป็นลำดับเข้าไปนั้น เราไม่ต้องไปคาดหมายก็ได้
จะปรากฏขึ้นกับท่านผู้บำเพ็ญหลักแห่งเหตุคือปัจจุบันนั้นโดยถูกต้อง



แม้ผู้จะกำหนดธรรมบทอื่นมี พุทโธ เป็นต้น
ก็โปรดได้ทำความรู้สึกกับบทธรรมของตนนั้นโดยเฉพาะๆ
ทุกๆ เวลาที่เราทำหน้าที่ภาวนา
จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เราไม่มีสิทธิจะไปคาดหมายหรือปรุงแต่งเอามรรคผลนิพพาน
เริ่มตั้งแต่ความสงบเป็นต้นไปได้ เพราะธรรมเหล่านั้นเป็นผล
อย่างไรจะต้องเกิดขึ้นจากหลักแห่งเหตุที่เราตั้งไว้ด้วยดีแล้วเท่านั้น
หลักแห่งเหตุคือได้แก่รักษาหลักปัจจุบันจิตของตนไว้ด้วยดี
นี่เป็นรากฐานสำคัญที่จะรับรองเรื่องผลคือความสงบในเบื้องต้น
จนถึงความสงบอันละเอียดที่สุดของหลักสมาธิ



ไม่ว่าเป็นผู้หญิงผู้ชาย ไม่ว่านักบวชและฆราวาส
เพราะเรื่องลมหายใจก็ดี เรื่องความรู้สึกคือใจก็ดี
ไม่ได้เป็นไปตามเพศหญิงเพศชาย เพศนักบวชและฆราวาส
แต่เป็นเรื่องของสัจธรรมอันเดียวกัน
ลมหายใจก็คือสัจธรรมเกี่ยวกับเรื่องของกาย
จิตที่ทำความรอบรู้อยู่กับลมก็คือเรื่องของสติคอยระมัดระวัง
และเป็นเรื่องของความเพียรที่จะพยายามรักษาสติของตนไม่ให้เคลื่อนคลาดจากความรู้
นี่ก็เป็นสัจธรรมประเภทหนึ่ง
เมื่อสัจธรรมทั้งสองประเภทได้เข้าสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันแล้ว
ผลที่จะเกิดขึ้นจะต้องปรากฏเป็นความสงบสุขขึ้นมา



เมื่อใจได้รับความสงบขึ้นมาโดยประจักษ์กับใจของตนเองแล้ว
แม้จะเพียง ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาทีก็ตาม
จะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและอัศจรรย์ภายในจิตใจของเรา
และเป็นเหตุจะให้คิดย้อนหลังกลับคืนไปถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมากี่มากน้อย
ว่าเราไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อน เพิ่งจะมาปรากฏในขณะนี้เท่านั้น
และเป็นความสุขที่แปลกประหลาดมากยิ่งกว่าความสุขใดๆ
ที่เราเคยผ่านมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายของเรา
ซึ่งก็ได้รับสัมผัสในเรื่องต่างๆ มาด้วยกัน
แต่ความสุขที่เป็นความสงบนี้ เป็นความสุขที่แปลกประหลาดมาก
และเป็นความสุขที่เบา เย็นใจ สบายใจ
นี่เริ่มจะให้เกิดความสนใจในหลักธรรมขั้นสูงขึ้นไป
คือความสงบมากยิ่งกว่านี้เป็นขั้นๆ ขึ้นไป
สำหรับผู้ปฏิบัติอย่างไรจะต้องมีความเชื่อมั่นในมรรคผลขึ้นไปเป็นขั้นๆ โดยไม่ต้องสงสัย
เมื่อได้ทราบผลอันเป็นพื้นๆ คือความสงบใจเบื้องต้นแล้ว



อย่าตำหนิเราว่าเป็นผู้มีบุญน้อยวาสนาน้อย
การตำหนิเช่นนี้เป็นเหตุที่จะให้ท้อถอยหรือทอดธุระ
ในความเพียรพยายามที่จะปรับปรุงตนเอง ให้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปโดยลำดับ
แต่โปรดได้พยายามดัดแปลงจิตใจของเรา
สิ่งใดที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงตนเองเพื่อความเจริญแล้ว
ให้ถือว่าสิ่งนั้นเป็นข้าศึก ไม่ใช่หลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
แต่เป็นเรื่องที่จะกีดขวางจิตใจของเราให้ลดคุณภาพลงไป
และจะก่อความทุกข์ใส่ตนเองเท่านั้น
ไม่มีทางอื่นนอกจากจะบำเพ็ญตนของตน
ด้วยความขยันหมั่นเพียรไปทุกวันทุกคืนเท่านั้น
นี่เป็นทางที่จะทำจิตใจของเราให้มีความสงบเยือกเย็นไปเป็นลำดับ



ความสงบนี้เมื่อได้อาศัยการบำรุงจากความเพียรอยู่เสมอ
จะเป็นเช่นเดียวกับต้นไม้ หรือเป็นเช่นเดียวกับทารกที่เริ่มคลอด
เมื่อได้อาศัยการบำรุงจากอาหาร อาศัยการบำรุงจากปุ๋ยหรือน้ำเป็นต้นแล้ว
ต้นไม้หรือทารกนั้นจะมีความเจริญเติบโตขึ้นไปเป็นลำดับ
จนกลายเป็นต้นไม้ที่ใหญ่เต็มภูมิของตน
และกลายเป็นผู้ใหญ่เต็มภูมิของบุคคลทั้งหญิงทั้งชาย
เรื่องการบำรุงจิตใจของเราด้วยความเพียรก็ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกัน



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/2LNHMlj


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP