ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

มหานามสูตร ว่าด้วยคุณสมบัติของอุบาสก


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๕๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่
ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ.
ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหานามศากยราช
เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าอุบาสก”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
“มหาบพิตร บุคคลผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ.
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล บุคคลจึงจะชื่อว่า เป็นอุบาสก.”


[๑๕๙๑] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.


ภ. มหาบพิตร อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท เป็นผู้งดเว้นจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน.
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.


[๑๕๙๒] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา.


ภ. มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ
เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว
ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม.
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา.


[๑๕๙๓] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ.


ภ. มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้
มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม
ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน.
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ.


[๑๕๙๔] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา.


ภ. มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ
ประกอบด้วยปัญญาเป็นเหตุให้ถึง (เห็น) ความเกิดความดับ เป็นอริยะ
เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ.
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา.


มหานามสูตร จบ



(มหานามสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๑)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP