ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ภัทเทกรัตตสูตร ว่าด้วยผู้มีราตรีเดียวเจริญ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้วว่า พระเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์
ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญแก่เธอทั้งหลาย
พวกเธอจงฟังอุเทศและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอรับ พระเจ้าข้า.


[๕๒๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่มาถึง.


ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ
บุคคลนั้นได้รู้ความนั้นแล้ว พึงเจริญไว้เนือง ๆ


พึงทำความเพียรเสียในวันนี้ทีเดียว
ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย.


พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ผู้มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ.


[๕๒๘] ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร?
คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์นั้น ๆ ว่า
เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว.


[๕๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร?
คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์นั้น ๆ ว่า
เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว.


[๕๓๐] ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร?
คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์นั้น ๆ ว่า
ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในอนาคตกาล พึงมีเวทนาอย่างนี้ในอนาคตกาล
พึงมีสัญญาอย่างนี้ในอนาคตกาล พึงมีสังขารอย่างนี้ในอนาคตกาล
พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในอนาคตกาล.
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง.


[๕๓๑] ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร?
คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์นั้น ๆ ว่า
ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในอนาคตกาล พึงมีเวทนาอย่างนี้ในอนาคตกาล
พึงมีสัญญาอย่างนี้ในอนาคตกาล พึงมีสังขารอย่างนี้ในอนาคตกาล
พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในอนาคตกาล.
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า ไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง.


[๕๓๒] ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร?
คือ ปุถุชนในโลกนี้เป็นผู้ไม่ได้สดับแล้ว
ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ
ย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง
พิจารณาเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
พิจารณาเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
พิจารณาเห็นสังขารในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในสังขารบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน.


[๕๓๓] ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร?
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้สดับแล้ว
ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ
ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ
ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง
ย่อมไม่พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง
ไม่พิจารณาเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง
ย่อมไม่พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
ไม่พิจารณาเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง
ย่อมไม่พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
ไม่พิจารณาเห็นสังขารในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาในสังขารบ้าง
ย่อมไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า ไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน.


[๕๓๔] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่มาถึง.


ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ
บุคคลนั้นได้รู้ความนั้นแล้ว พึงเจริญไว้เนือง ๆ


พึงทำความเพียรเสียในวันนี้ทีเดียว
ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย


พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ผู้มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ.


ภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวไว้ว่า เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์
ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญแก่เธอทั้งหลายนั้น
เราอาศัยเนื้อความนี้แลกล่าว ด้วยประการฉะนี้.


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล.


ภัทเทกรัตตสูตร จบ



(ภัทเทกรัตตสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๓)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP