จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ไม่ยึดมั่นถือมั่นธรรมทั้งปวง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



237 destination



เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น”
ซึ่งบางท่านเมื่อได้ฟังคำสอนเช่นนั้นแล้วไม่เข้าใจ
และนำไปตีความใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องก็มีนะครับ
โดยในเวลาที่ตนเองไปประพฤติภาวนา
ก็เข้าใจว่าไม่ควรยึดมั่นธรรมทั้งปวง ไม่ต้องยึดธรรมใด ๆ
ปล่อยวางขันธ์ ๕ ไปเลย ไม่ต้องมีจิตผู้รู้ก็ได้ ปล่อยวางจิตผู้รู้ไปเลย
ไม่ยึดถือพระธรรมคำสอนในเรื่องวิธีการภาวนาด้วย
เข้าใจว่าภาวนาอย่างไรก็ได้ เลือกภาวนาไปตามวิธีที่ตนเองเห็นว่าดี
ในคราวนี้ เราจะมาพิจารณากันนะครับว่า
ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่


ในพระธรรมคำสอนว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” นี้
นำมาจากจูฬตัณหาสังขยสูตร (พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์) โดยนำพระสูตรนั้นสอนว่า
ท้าวสักกะ (คือพระอินทร์) ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร
ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา
มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลส
เป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน
มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย?”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า
ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนี้ ภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้
ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว
ย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้ว
ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว
เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี
มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ
พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น
เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไร ๆ ในโลก
เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้
ดูกรจอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้แล
ภิกษุชื่อว่าน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา
มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลส
เป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน
มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=7915&Z=8040&pagebreak=0


เราจะสังเกตได้ว่าประโยคที่ว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” นี้
ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติหรือวิธีการภาวนานะครับ
แต่ท่านทรงสอนว่า “เมื่อภิกษุได้สดับอย่างนี้แล้ว
ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว
ย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้ว
ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว
ภิกษุได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี
มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ
พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น”
ฉะนั้นแล้ว ในการภาวนานั้น ก็ย่อมจะต้องรู้ชัดในสภาวธรรม
แล้วก็เห็นว่าไม่เที่ยง ทำให้เกิดความหน่าย และสละคืน
กรณีไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ก็จะมาคิดเอาว่าสละคืนให้หมด
สภาวธรรมอะไรเกิดขึ้นก็สละคืนให้หมด
เช่นนี้แล้ว ย่อมไม่ใช่วิธีการภาวนาที่ถูกต้อง
เพราะไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ในสภาวธรรมนั้น
และไม่ได้เป็นการเห็นสภาวธรรมตามจริง
แต่เป็นการไปแทรกแซงสภาวธรรมนั้น


ในเรื่องที่ว่าไม่ยึดถือพระธรรมคำสอนในเรื่องวิธีการภาวนา
เพราะว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่นพระธรรมคำสอนนั้น
ขอให้เรามาพิจารณาพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล พบห้วงน้ำใหญ่
ฝั่งข้างนี้ น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า ฝั่งข้างโน้นเกษม ไม่มีภัย
ก็แหละเรือหรือสะพานสำหรับข้าม เพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้น ไม่พึงมี
บุรุษนั้นพึงดำริอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่แล
ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า ฝั่งข้างโน้นเกษม ไม่มีภัย
ก็แหละเรือหรือสะพานสำหรับข้าม เพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้น ย่อมไม่มี
ถ้ากระไร เราพึงรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ
แล้วอาศัยแพนั้น พยายามด้วยมือและเท้า พึงข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี


ทีนี้แล บุรุษนั้นรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ
อาศัยแพนั้น พยายามด้วยมือและเท้า พึงข้ามถึงฝั่งโดยความสวัสดี
บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งได้แล้ว พึงดำริ อย่างนี้ว่า แพนี้มีอุปการะแก่เรามากแล
เราอาศัยแพนี้พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า ข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี
ถ้ากระไร เรายกแพนี้ขึ้นบนศีรษะ
หรือแบกที่บ่า แล้วพึงหลีกไปตามความปรารถนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บุรุษนั้นผู้กระทำอย่างนี้ จะชื่อว่ากระทำถูกหน้าที่ในแพนั้นหรือ?


ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นชื่อว่าทำไม่ถูก พระเจ้าข้า?


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษนั้นกระทำอย่างไร
จึงจะชื่อว่าทำถูกหน้าที่ในแพนั้น?
ในข้อนี้ บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งแล้ว พึงดำริอย่างนี้ว่า แพนี้มีอุปการะแก่เรามากแล
เราอาศัยแพนี้ พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า จึงข้ามถึงฝั่งได้ โดยสวัสดี
ถ้ากระไร เราพึงยกแพนี้ขึ้นวางบนบก
หรือให้ลอยอยู่ในน้ำแล้ว พึงหลีกไปตามความปรารถนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นกระทำอย่างนี้แล
จึงจะชื่อว่ากระทำถูกหน้าที่ในแพนั้น แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมมีอุปมาด้วยแพ
เพื่อต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการยึดถือ
ฉันนั้นแล เธอทั้งหลายรู้ถึงธรรมมีอุปมาด้วยแพที่เราแสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย
พึงละแม้ซึ่งธรรมทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปไยถึงอธรรมเล่า”
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=280&items=1&preline=0&pagebreak=0&mode=bracket


เราจะเห็นได้ว่า ธรรมะเปรียบเหมือนแพข้ามฝั่ง
โดยเราจะใช้แพข้ามจากฝั่งนี้ซึ่งน่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า
เพื่อไปยังฝั่งข้างโน้นซึ่งเกษม และไม่มีภัย
ในการข้ามห้วงน้ำจากฝั่งนี้เพื่อไปยังฝั่งโน้น เราต้องยึดถือแพไว้ฉันใด
เราก็จำเป็นต้องยึดถือพระธรรมคำสอนไว้ฉะนั้น
ต่อเมื่อเราข้ามห้วงน้ำไปถึงฝั่งโน้นโดยเกษมแล้ว
เราก็ไม่ต้องยึดถือแพ หรือยึดถือธรรมะอีกต่อไป
แต่ไม่ใช่ว่าในขณะเริ่มต้นซึ่งเราเองยังอยู่ในฝั่งนี้
เรากลับไม่ยึดถือแพ ไม่ยึดถือพระธรรมคำสอนเสียแล้ว
กลับปล่อยว่าแพ ปล่อยวางพระธรรมคำสอนเสียตั้งแต่แรก
เช่นนี้แล้ว เราก็ย่อมจะติดอยู่ที่ฝั่งนี้ไปเรื่อย และข้ามฝั่งไปไม่ได้ครับ
ฉะนั้นแล้ว เวลาที่เราได้ฟังว่าให้ปล่อยวางพระธรรมคำสอนนั้น
มันมีความแตกต่างกันอยู่ระหว่าง
กรณีแรก ยึดถือพระธรรมภาวนาจนข้ามฝั่งสำเร็จแล้วค่อยวางพระธรรม
กับอีกกรณีหนึ่งวางพระธรรมตั้งแต่แรก โดยยังไม่ได้ข้ามฝั่ง และติดอยู่ที่ฝั่งนี้
ก็ขอให้ระมัดระวังและจำแนกแต่ละกรณี ๆ ไปครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP