ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

พาลบัณฑิตสูตร ว่าด้วยคนพาลและบัณฑิต (ตอนที่ ๒)


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



(ต่อจากฉบับที่แล้ว) (คลิก)


[๔๘๔] ภิกษุทั้งหลาย ลักษณะของบัณฑิต เครื่องหมายของบัณฑิต
เครื่องอ้างของบัณฑิตนี้ มีอยู่ ๓ อย่าง. ๓ อย่างเป็นไฉน?
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตในโลกนี้ มักคิดความคิดที่ดี มักพูดคำพูดที่ดี
มักทำการทำที่ดี ถ้าบัณฑิตจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ดี พูดคำพูดที่ดี
และทำการทำที่ดี บัณฑิตทั้งหลายจะพึงรู้จักเขาได้ด้วยลักษณะ เครื่องหมาย
และเครื่องอ้างได้อย่างไรว่า ผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นสัตบุรุษ
เพราะบัณฑิตมักคิดความคิดที่ดี มักพูดคำพูดที่ดี และมักทำการทำที่ดี
ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้เขาได้ว่า ผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นสัตบุรุษ.
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแลย่อมเสวยสุขโสมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน.


[๔๘๕] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบัณฑิตนั่งในสภาก็ดี ริมถนนก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี
ชนในที่นั้น ๆ พูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่กรรมดีนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบัณฑิตเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต
เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท
เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ในเรื่องที่พูดนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
ข้อที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่กรรมดีนั้นแล
ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย.
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่ ๑ นี้ในปัจจุบัน.


[๔๘๖] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก บัณฑิตเห็นพระราชาทั้งหลาย
สั่งให้จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งให้ลงกรรมกรณ์ชนิดต่าง ๆ คือ
โบยด้วยแส้บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
หม้อเคี่ยวน้ำส้มบ้าง ขอดสังข์บ้าง ปากราหูบ้าง มาลัยไฟบ้าง
คบมือบ้าง ริ้วส่ายบ้าง นุ่งเปลือกไม้บ้าง ยืนกวางบ้าง
เกี่ยวเหยื่อเบ็ดบ้าง เหรียญกษาปณ์บ้าง แปรงแสบบ้าง
กางเวียนบ้าง ตั่งฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันเดือด ๆ บ้าง สุนัขทึ้งบ้าง
นอนหงายบนหลาวทั้งเป็น ๆ บ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง.
ในขณะที่เห็นนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล พระราชาทั้งหลายจึงให้จับโจรผู้ประพฤติผิดมา
แล้วสั่งลงกรรมกรณ์ชนิดต่าง ๆ คือ
โบยด้วยแส้บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
หม้อเคี่ยวน้ำส้มบ้าง ขอดสังข์บ้าง ปากราหูบ้าง มาลัยไฟบ้าง
คบมือบ้าง ริ้วส่ายบ้าง นุ่งเปลือกไม้บ้าง ยืนกวางบ้าง
เกี่ยวเหยื่อเบ็ดบ้าง เหรียญกษาปณ์บ้าง แปรงแสบบ้าง
กางเวียนบ้าง ตั่งฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันเดือด ๆ บ้าง สุนัขทึ้งบ้าง
นอนหงายบนหลาวทั้งเป็น ๆ บ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
ธรรมเหล่านั้นไม่มีอยู่ในเรา และเราก็ไม่ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย.
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่ ๒ นี้ในปัจจุบัน.


[๔๘๗] ภิกษุทั้งหลาย ประการอันยังมีอีก กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ในกาลก่อน
คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมแผ่ไป ปกคลุม
ครอบคลุมบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น
เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมแผ่ไป ปกคลุม
ครอบคลุมแผ่นดินในเวลาเย็น ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ในกาลก่อน
คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมแผ่ไป ปกคลุม
ครอบคลุมบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
เราไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความผิด ไม่ได้ทำความเลว
ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้
ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความผิด
ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ แน่นอน
บัณฑิตนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ
ไม่ร่ำไห้ทุบอกชกตัว ไม่ถึงความงุนงงหลงใหล.
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่ ๓ แม้นี้ในปัจจุบัน.


[๔๘๘] ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแล
ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องถึงสิ่งใดที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจโดยส่วนเดียว เขาพึงกล่าวถึงสวรรค์นั้นนั่นแหละ
ภิกษุทั้งหลาย สุขนี้กับสุขในสวรรค์ กระทำการเปรียบเทียบกันได้ไม่ง่าย


[๔๘๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้
ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจเปรียบเทียบได้ไหม?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุ อาจเปรียบเทียบได้
แล้วตรัสต่อไปว่า ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ
ทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ และความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง
จึงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้นเป็นเหตุ.
พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการคืออะไร?


[๔๙๐] ภิกษุทั้งหลาย จักรแก้วทิพย์ (จักรรัตนะ) มีกำตั้งพันพร้อมด้วยกงและดุม
บริบูรณ์ด้วยเครื่องประกอบทุกอย่าง ย่อมปรากฏแก่พระราชามหากษัตริย์ในโลกนี้
ผู้ทรงได้มูรธาภิเษกแล้ว ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทรงสรงสนานพระเศียร
ทรงรักษาอุโบสถ ประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน.
พระราชามหากษัตริย์ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว ได้มีพระราชดำริดังนี้ว่า
ก็เราได้สดับมาดังนี้แล จักรแก้วทิพย์ (จักรรัตนะ) มีกำตั้งพันพร้อมด้วยกงและดุม
บริบูรณ์ด้วยเครื่องประกอบทุกอย่าง ย่อมปรากฏแก่พระราชาพระองค์ใด
ผู้ทรงได้มูรธาภิเษกแล้ว ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทรงสรงสนานพระเศียร
ทรงรักษาอุโบสถ ประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน
พระราชานั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แล้วเราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือไม่?
ภิกษุทั้งหลาย จากนั้น พระราชามหากษัตริย์ ผู้ทรงได้มูรธาภิเษกแล้ว
เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงจับพระเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย
ทรงประพรมจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา โดยรับสั่งว่า จักรแก้วผู้เจริญ จงหมุนไปเถิด
จักรแก้วผู้เจริญ จงพิชิตให้ยิ่งเถิด. ลำดับนั้น จักรแก้วนั้นก็หมุนไปทางทิศตะวันออก
พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จตามไป
จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด
พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา.
บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ
แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิดมหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมหาราช
ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงครอบครองเถิด.
พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์
ไม่ควรลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ
ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกันตามเดิมเถิด.
พระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นแล
ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ.
ภิกษุทั้งหลาย ต่อจากนั้น จักรแก้วนั้นได้หยั่งลงสู่สมุทรด้านทิศตะวันออก
แล้วลอยขึ้นหมุนไปทางทิศใต้ พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จตามไป
จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด
พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา.
บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศใต้ เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ
แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิดมหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมหาราช
ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงครอบครองเถิด
พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์
ไม่ควรลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ
ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกันตามเดิมเถิด.
พระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศใต้เหล่านั้นแล ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ.
ภิกษุทั้งหลาย ต่อจากนั้น จักรแก้วนั้นได้หยั่งลงสู่สมุทรด้านทิศใต้
แล้วลอยขึ้นหมุนไปทางทิศตะวันตก พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จตามไป
จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด
พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา.
บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันตก เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ
แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิดมหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมหาราช
ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงครอบครองเถิด
พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์
ไม่ควรลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ
ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกันตามเดิมเถิด.
พระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันตกเหล่านั้นแล
ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ.
ภิกษุทั้งหลาย ต่อจากนั้น จักรแก้วนั้นได้หยั่งลงสู่สมุทรด้านทิศตะวันตก
แล้วลอยขึ้นหมุนไปทางทิศเหนือ พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จตามไป
จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด
พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา.
บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือ เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ
แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิดมหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมหาราช
ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงครอบครองเถิด
พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์
ไม่ควรลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ
ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกันตามเดิมเถิด.
พระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นแล
ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ.


ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล จักรแก้วนั้นพิชิตราบคาบตลอดแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขต
แล้วกลับมาสู่ราชธานีเดิม ประดิษฐานอยู่ราวกะเสียบอยู่ที่เพลาล้อ
ที่พระทวารภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ
ประดับพระทวารภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิให้งดงามอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย จักรแก้วเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ.


[๔๙๑] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ช้างแก้ว ซึ่งเป็นพญาช้างตระกูลอุโบสถ
เผือกทั่วสรรพางค์กาย มีอวัยวะ ๗ อย่างสัมผัสพื้น มีฤทธิ์ เหาะได้
ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ. ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปรานว่า พ่อมหาจำเริญ
จะเป็นยานช้างที่ดีหนอ ถ้านำไปทำการฝึก.
จากนั้น ช้างแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัด
เหมือนช้างอาชาไนยตัวเจริญที่ฝึกปรือดีเป็นเวลานาน.
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองช้างแก้วนั้น
จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขต
แล้วเสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา.
ภิกษุทั้งหลาย ช้างแก้วเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ.


[๔๙๒] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ม้าแก้ว ซึ่งเป็นอัศวราช ชื่อวลาหก
ขาวปลอด ศีรษะดำเหมือนกา เส้นขนสลวยเหมือนหญ้าปล้อง มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาศได้
ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ. ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปานว่า พ่อมหาจำเริญ
จะเป็นยานม้าที่ดีหนอ ถ้านำไปทำการฝึก.
จากนั้น ม้าแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัด
เหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ฝึกปรือดีแล้วเป็นเวลานาน.
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองม้าแก้วนั้น
จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขต
แล้วเสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาอาหารเช้าได้ทันเวลา.
ภิกษุทั้งหลาย ม้าแก้วเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ.


[๔๙๓] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก มณีแก้ว ซึ่งเป็นไพฑูรย์ งามโชติช่วง
แปดเหลี่ยม อันเจียระไนไว้อย่างดี มีแสงสว่าง แผ่ไปโยชน์หนึ่งโดยรอบ
ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ. ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว
พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองมณีแก้วนั้น
จึงสั่งให้จตุรงคินีเสนายกมณีขึ้นเป็นยอดธง แล้วให้เคลื่อนพลไปในความมืดทึบของราตรี
ชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ สำคัญว่าเป็นกลางวัน พากันประกอบการงานด้วยแสงสว่างนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย มณีแก้วเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ.


[๔๙๔] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก นางแก้ว ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ.
นางแก้วนั้นรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง
ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก
งามเกินผิวพรรณของมนุษย์ แต่ไม่ถึงผิวพรรณทิพย์
มีสัมผัสทางกายปานประหนึ่งสัมผัสปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย
นางแก้วนั้นมีตัวอุ่นในเวลาหนาว มีตัวเย็นในเวลาร้อน
มีกลิ่นดังกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากร่างกาย มีกลิ่นดังกลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปาก
นางแก้วนั้นมีปกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังรับสั่ง ประพฤติถูกพระทัย
ทูลปราศรัยเป็นที่โปรดปรานต่อพระเจ้าจักรพรรดิ
และไม่ประพฤติล่วงพระเจ้าจักรพรรดิแม้ทางใจ
ไฉนเล่าจะมีประพฤติล่วงทางกายได้.
ภิกษุทั้งหลาย นางแก้วเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ.


[๔๙๕] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก คฤหบดีแก้ว
ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ จักษุเพียงดังทิพย์เกิดแต่ผลของกรรม
ซึ่งเป็นเหตุให้มองเห็นขุมทรัพย์ ทั้งที่มีเจ้าของทั้งที่ไม่มีเจ้าของ
ย่อมปรากฏแก่คฤหบดีแก้วนั้น. เขาเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า
ขอเดชะ พระองค์จงทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด
ข้าพระองค์จักทำหน้าที่การคลังให้พระองค์
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองคฤหบดีแก้วนั้น
จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งให้ลอยล่องกระแสน้ำกลางแม่น้ำคงคา
แล้วตรัสสั่งกะคฤหบดีแก้วดังนี้ว่า คฤหบดี ฉันต้องการเงินและทอง
คฤหบดีแก้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้นโปรดเทียบเรือเข้าฝั่งข้างหนึ่งเถิด.
พระเจ้าจักรพรรดิตรัสว่า คฤหบดี ฉันต้องการเงินและทองตรงนี้แหละ.
ทันใดนั้น คฤหบดีแก้วจึงเอามือทั้ง ๒ หย่อนลงในน้ำ ยกหม้อเต็มด้วยเงินและทองขึ้นมา
แล้วกราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ว่า ข้าแต่มหาราช พอหรือยังเพียงเท่านี้
ใช้ได้หรือยังเพียงเท่านี้ บูชาหรือยังเพียงเท่านี้
พระเจ้าจักรพรรดิจึงตรัสสั่งอย่างนี้ว่า คฤหบดี เพียงเท่านี้พอแล้ว
เพียงเท่านี้ใช้ได้แล้ว เพียงเท่านี้บูชาแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีแก้วเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ.


[๔๙๖] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ปริณายกแก้ว
ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ. ปริณายกนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา
สามารถถวายข้อแนะนำ ให้พระองค์ทรงบำรุงผู้ที่ควรบำรุง
ทรงถอดถอนผู้ที่ควรถอดถอน ทรงแต่งตั้งผู้ที่ควรแต่งตั้ง
เขาเข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์จงเสด็จอยู่ตามสบายเถิด ข้าพระองค์จักสั่งการถวาย.
ภิกษุทั้งหลาย ปริณายกแก้วเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ.


ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการเหล่านี้.
พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง คืออะไร?


[๔๙๗] ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ย่อมทรงพระสิริโฉมงดงาม น่าดู
น่าเลื่อมใส ทรงประกอบด้วยความงามแห่งพระฉวีวรรณอย่างยิ่งเกินมนุษย์อื่น ๆ.
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อแรกดังนี้.


[๔๙๘] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก
พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงพระชนมายุยืน ทรงดำรงอยู่นานเกินมนุษย์อื่น ๆ.
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๒ ดังนี้.


[๔๙๙] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก
พระเจ้าจักรพรรดิย่อมเป็นผู้มีพระโรคาพาธน้อย ไม่ทรงลำบาก
ทรงประกอบด้วยพระเตโชธาตุอันย่อยพระกระยาหารสม่ำเสมอ
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เกินมนุษย์อื่น ๆ.
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๓ ดังนี้.


[๕๐๐] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก
พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงเป็นที่รักใคร่พอใจของพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย
บิดาย่อมเป็นที่รักใคร่พอใจของบุตร ฉันใด
พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงเป็นที่รักใคร่พอใจของพราหมณ์และคฤหบดี ฉันนั้น
พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายก็เป็นที่โปรดปราน
พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าจักรพรรดิ
บุตรเป็นที่รักใคร่พอใจของบิดา ฉันใด
พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายก็ย่อมเป็นที่โปรดปราน
พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าจักรพรรดิ ฉันนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา
ออกประพาสพระราชอุทาน ทีนั้น พราหมณ์และคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระองค์
แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์อย่ารีบด่วน
โปรดเสด็จโดยอาการที่พวกข้าพระองค์ได้ชมพระบารมีนานๆ เถิด.
แม้พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงสั่งสารถีว่า สารถี ท่านอย่ารีบด่วน
จงขับไปโดยอาการที่ฉันได้เห็นบรรดาพราหมณ์และคฤหบดีนาน ๆ เถิด.
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๔ ดังนี้.


ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการเหล่านี้
และทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่างเหล่านี้
พึงเสวยสุขโสมนัสอันมีแก้ว ๗ ประการ
และความสัมฤทธิผล ๔ อย่างนั้นเป็นเหตุบ้างหรือไม่?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้วแม้เพียงประการเดียว
ก็ทรงเสวยสุขโสมนัสอันมีแก้วประการนั้นเป็นเหตุได้
จะป่วยกล่าวไปไยถึงแก้วทั้ง ๗ ประการ และความสัมฤทธิผลทั้ง ๔ อย่างเล่า.


[๕๐๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยิบก้อนหินย่อม ๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ
แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ก้อนหินย่อม ๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถืออยู่นี้ กับภูเขาหลวงหิมพานต์
อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน?


ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก้อนหินย่อม ๆ
ขนาดเท่าฝ่ามือที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือนี้
มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว
ย่อมไม่ถึงแม้การนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้.


ภ. ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พระเจ้าจักรพรรดินี้
ทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการและความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง
ย่อมทรงเสวยสุขโสมนัสอันมีแก้ว ๗ ประการและความสัมฤทธิผล ๔ อย่างนั้นเป็นเหตุ
สุขโสมนัสนั้นเปรียบเทียบสุขอันเป็นทิพย์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้การนับ
ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้.


[๕๐๒] ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแล ถ้ามาสู่ความเป็นมนุษย์
ในบางครั้งบางคราว ไม่ว่ากาลไหน ๆ โดยล่วงระยะกาลนาน
ก็ย่อมเกิดใหม่ในสกุลสูง คือ สกุลกษัตริย์มหาศาล หรือสกุลพราหมณ์มหาศาล
หรือสกุลคฤหบดีมหาศาล อันเป็นสกุลมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
มีทอง เงิน อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ และทรัพย์ธัญญาหารอย่างเพียงพอ.
อนึ่ง เขาจะเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส
ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง จะได้รับข้าว น้ำ ผ้า
ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
และเครื่องตามประทีป เป็นประจำโดยปกติ.
บัณฑิตนั้นประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
ครั้นเขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.


[๕๐๓] ภิกษุทั้งหลาย เหมือนนักเลงการพนัน
ได้รับโภคสมบัติมากมาย เพราะความโชคดีครั้งแรกเทียว
ภิกษุทั้งหลาย ความโชคดีที่นักเลงพนันได้รับโภคสมบัติมากมาย
เพราะความโชคดีครั้งแรกเทียว เป็นความโชคดีมีประมาณน้อย
ที่แท้แล ข้อที่บัณฑิตนั้น ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นี้นั่นเอง.
เป็นความโชคดีใหญ่หลวงกว่าความโชคดีนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นภูมิของบัณฑิตครบถ้วนบริบูรณ์.


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล.


พาลบัณฑิตสูตร จบ



(พาลบัณฑิตสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๓)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP