จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ปิดอายตนะ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



236 destination



ในคราวที่แล้วได้สนทนาในเรื่องที่ญาติธรรมบางท่านได้ภาวนา
ด้วยวิธีการกลั้นลมหายใจนะครับ
ในคราวนี้ เรามาสนทนาเรื่องการภาวนาโดยปิดอายตนะ
ซึ่งมีญาติธรรมบางท่านเข้าใจว่า ควรจะปิดอายตนะ
เพื่อที่จะช่วยให้ภาวนาได้ง่ายขึ้น


ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ของ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
คำว่า “อายตนะ” หมายถึง ที่ติดต่อ, เครื่องติดต่อ, แดนต่อความรู้,
เครื่องรู้และสิ่งที่รู้ เช่น ตา เป็นเครื่องรู้ รูปเป็นสิ่งที่รู้,
หูเป็นเครื่องรู้ เสียงเป็นสิ่งที่รู้ เป็นต้น โดยแบ่งเป็น ๒ ประเภท
คืออายตนะภายใน ๖ แลอายตนะภายนอก ๖


อายตนะภายนอก ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (คือสิ่งต้องกาย)
และธรรมารมณ์ คือ (อารมณ์ที่เกิดกับใจ หรือสิ่งที่ใจรู้)
อายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D2%C2%B5%B9%D0&original=1


โดยอายตนะภายในรับรู้อายตนะภายนอก กล่าวคือ
ตารับรู้รูป, หูรับรู้เสียง, จมูกรับรู้กลิ่น, ลิ้นรับรู้รส,
กายรับรู้โผฏฐัพพะ และใจรับรู้ธรรมารมณ์


ในส่วนที่ญาติธรรมเข้าใจว่า ควรจะปิดอายตนะ
เพื่อที่จะช่วยให้ภาวนาได้ง่ายขึ้นนี้ หมายถึง “ปิดอายตนะภายใน”
โดยเข้าใจว่า อายตนะ เป็นช่องทางแห่งกิเลส จึงควรปิดไว้
แต่ความเข้าใจเรื่องการภาวนาโดยการปิดอายตนะดังกล่าวนั้น
เป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ
ถ้าหากการปิดหรือห้ามอายตนะ จะทำให้ภาวนาดีแล้วนะครับ
คนตาบอด จะภาวนาดีมาก
คนหูหนวก จะภาวนาดีมาก
คนจมูกไม่รับรู้กลิ่น จะภาวนาดีมาก
คนลิ้นไม่รับรู้รส จะภาวนาดีมาก
คนเป็นอัมพาตกายไม่รับรู้ความรู้สึก จะภาวนาดีกว่า
กลายเป็นว่าคนพิการ จะภาวนาดีมาก แต่มันไม่ใช่เช่นนั้นครับ


พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ปิดหรือห้ามอายตนะ
แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ "สำรวม"
ซึ่งเรามาดูกันครับว่าหมายถึงอย่างไร
ใน “สังคัยหสูตร” (สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค) ท่านทรงสอนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่สำรวมผัสสายตนะ ๖ นั่นแหละ
เว้นการสำรวมในอายตนะใด ย่อมเข้าถึงทุกข์
บุคคลเหล่าใด ได้สำรวมระวังอายตนะเหล่านั้น
บุคคลเหล่านั้น มีศรัทธาเป็นเพื่อนสอง ย่อมเป็นผู้อันราคะไม่ชุ่มอยู่
บุคคลเห็นรูปที่ชอบใจและเห็นรูปที่ไม่ชอบใจแล้ว พึงบรรเทาราคะในรูปที่ชอบใจ
และไม่พึงเสียใจว่า รูปไม่น่ารักของเรา (เราเห็นรูปไม่น่ารักเข้าแล้ว)
ได้ยินเสียงที่น่ารักและเสียงที่ไม่น่ารัก
พึงสงบใจในเสียงที่น่ารัก และพึงบรรเทาโทสะในเสียงที่ไม่น่ารัก
และไม่พึงเสียใจว่า เสียงไม่น่ารักของเรา (เราได้ฟังเสียงที่ไม่น่ารักเข้าแล้ว)
ได้ดมกลิ่นที่ชอบใจอันน่ายินดี และได้ดมกลิ่นที่ไม่สะอาด ไม่น่ารักใคร่
พึงบรรเทาความหงุดหงิดในกลิ่นที่ไม่น่าใคร่ และไม่พึงพอใจในกลิ่นที่น่าใคร่
ได้ลิ้มรสที่อร่อยเล็กน้อย และลิ้มรสที่ไม่อร่อยในบางคราว
ไม่พึงลิ้มรสที่อร่อยด้วยความติดใจ และไม่ควรยินร้ายในเมื่อลิ้มรสที่ไม่อร่อย
ถูกสัมผัสที่เป็นสุขกระทบเข้าแล้ว และถูกผัสสะที่เป็นทุกข์กระทบเข้าแล้ว
ไม่พึงหวั่นไหวในระหว่างๆ ควรวางเฉยผัสสะทั้งที่เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ทั้งสอง
ไม่ควรยินดี ไม่ควรยินร้ายเพราะผัสสะอะไร ๆ


นรชนทั้งหลายที่ทรามปัญญา มีความสำคัญในกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ยินดีอยู่ด้วยกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า เป็นสัตว์ที่มีสัญญา ย่อมวกเวียนอยู่
ก็บุคคลบรรเทาใจ ที่ประกอบด้วยปัญจกามคุณทั้งปวงแล้ว
ย่อมรักษาใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ
ใจที่บุคคลเจริญดีแล้วในอารมณ์ ๖ อย่างนี้
ในกาลใด ในกาลนั้น จิตของบุคคลนั้นอันสุขสัมผัสกระทบเข้าแล้ว
ย่อมไม่หวั่นไหวในที่ไหน ๆ”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=18&A=1745&w=%CD%D2%C2%B5%B9%D0
จะเห็นได้ว่า "สำรวมอายตนะ" ไม่ได้แปลว่า "ปิดหรือห้าม" ครับ


ทีนี้ ญาติธรรมท่านนั้นเข้าใจว่า การห้ามอายตนะ
เปรียบเหมือนเมืองแห่งหนึ่งที่มีประตู ๖ ประตู
หากข้าศึกเข้ามาโจมตี ก็ควรปิดประทั้ง ๕ ไว้เสีย
และเปิดไว้แค่ประตูเดียว เพื่อที่การป้องกันการโจมตีก็จะทำได้ง่ายขึ้น
กรณีนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกเช่นกัน
เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ปิดประตูเหมืองทั้ง ๕ ครับ


ใน พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ท่านทรงสอนว่า
“เหมือนอย่างว่า เมืองชายแดนของพระราชาเป็นเมืองที่มั่นคง
มีกำแพงและเชิงเทิน มีประตู ๖ ประตู
นายประตูเมืองนั้นเป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา
คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก อนุญาตให้คนที่ตนรู้จักเข้าไปในเมืองนั้น
ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วน มาแต่ทิศบูรพา
พึงถามนายประตูนั้นว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน
นายประตูนั้นตอบว่า แน่ะ ท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง
ทีนั้นแล ราชทูตคู่นั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว
พึงดำเนินกลับไปตามทางที่มาแล้ว


ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศปัศจิม
แล้วถามนายประตูนั้นอย่างนี้ว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน
นายประตูนั้นตอบว่า แน่ะ ท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง
ทีนั้นแล ราชทูตคู่นั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว
พึงดำเนินกลับไปตามทางที่มาแล้ว


ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมา แต่ทิศอุดร
แล้วถามนายประตูนั้นอย่างนี้ว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน
นายประตูนั้นตอบว่า แน่ะ ท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง
ทีนั้นแล ราชทูตคู่นั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว
พึงดำเนินกลับไปตามทางที่มาแล้ว


ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศทักษิณ
แล้วถามนายประตูนั้นอย่างนี้ว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน
นายประตูนั้นพึงตอบว่า แน่ะ ท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง
ทีนั้นแล ราชทูตคู่หนึ่งนั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว
พึงดำเนินกลับไปทางตามที่มาแล้ว


ดูกรภิกษุ อุปมานี้แล เรากระทำแล้วเพื่อจะให้เนื้อความแจ่มแจ้ง
ก็ในอุปมานั้นมีเนื้อความดังต่อไปนี้
คำว่า “เมือง” เป็นชื่อของ “กาย” นี้ที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔
ซึ่งมีมารดาและบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด
มีอันต้องอบ ต้องนวดฟั้นเป็นนิตย์ มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา
คำว่า “ประตู ๖ ประตู” เป็นชื่อของ “อายตนะภายใน ๖”
คำว่า “นายประตู” เป็นชื่อของ “สติ”
คำว่า “ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วน” เป็นชื่อของ “สมถะและวิปัสสนา”
คำว่า “เจ้าเมือง” เป็นชื่อของ “วิญญาณ”
คำว่า “ทางสามแพร่งกลางเมือง” เป็นชื่อของ “มหาภูตรูป ๔”
คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ
คำว่า “ถ้อยคำตามความเป็นจริง” เป็นชื่อของ “นิพพาน”
คำว่า “ทางตามที่มาแล้ว” เป็นชื่อของ “อริยมรรคมีองค์ ๘””
http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=342&items=1&preline=0&pagebreak=0


สังเกตว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ปิดประตูเมืองทุกเมืองนะครับ
แต่ท่านทรงสอนให้มีสติเป็นนายประตูเมืองที่คนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา
คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก และอนุญาตให้คนที่ตนรู้จักเข้าไปในเมืองนั้น


กรณีเทียบเคียงอีกกรณีหนึ่ง โดยเราอาจจะเคยอ่านพบ
เรื่องของท่านพระโปฐิละ ซึ่งได้เรียนวิธีการภาวนากับสามเณร ดังนี้
“ในเวลาที่ชายจีวรเปียก สามเณรจึงกล่าวกะท่านว่า "มาเถิด ท่านขอรับ"
แล้วกล่าวกะท่านผู้มายืนอยู่ด้วยคำ ๆ เดียวเท่านั้นว่า
“ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง
ในช่องเหล่านั้น เหี้ยเข้าไปภายในโดยช่อง ๆ หนึ่ง
บุคคลประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้ว
จึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง
บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว
จงเริ่มตั้งกรรมนี้ไว้ในมโนทวาร”
ด้วยนัยมีประมาณเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้มีแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูต
ดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีปฉะนั้น
พระโปฐิละนั้นกล่าวว่า "ท่านสัตบุรุษ คำมีประมาณเท่านี้แหละพอละ"
แล้วจึงหยั่งลงในกรชกาย ปรารภสมณธรรม”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=30&p=5


เราจะเห็นได้ว่าท่านสามเณรได้ใช้คำว่า "อุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้"
และ "ปิดทวารทั้ง ๕" นะครับ
แต่เราก็พึงเข้าใจในวิธีการภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน
เราจึงจะเข้าใจว่าท่านหมายความว่าอย่างไร
ถ้าเราไม่เข้าใจวิธีการภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน
เราไปอ่านตรงตัว และเข้าใจตามถ้อยคำตามนั้น ก็จะเข้าใจผิดได้
เพราะเท่ากับว่าพระเถระต้องมาปิดทวารทั้ง ๕ ก่อน จึงจะรู้ที่มโนทวารได้
ถามว่าหากต้องปิดทวารทั้ง ๕ แล้ว พระเถระท่านจะทำอย่างไรครับ
ให้เอาดินมาพอกปิดตา?
ให้เอาดินมาพอกปิดหู?
ให้เอาดินมาอุดลิ้นอุดปาก? (ซึ่งลิ้นก็รับรู้รสดินอยู่ดี)
ให้เอาดินมาอุดจมูก?
ให้เอาดินมาพอกตัว? (ซึ่งกายก็ยังรับรู้สัมผัสจากดินอยู่ดี)
ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเราไม่มีทางปิดทวารลิ้น และกายได้
เพราะไม่ว่ายังไง ลิ้นและกายก็จะรับรู้สิ่งที่มาปิดอยู่ดี


นอกจากนี้ ไม่จำเป็นต้องปิดทั้ง ๕ ทวารหรอกนะครับ
ให้ปิดแค่เพียง ๒ ทวารก็พอ คือปากกับจมูก เท่านั้น
ไม่ถึงสิบนาที เราก็ได้ไปปรโลกแล้วครับ ไม่ได้ภาวนาอะไรแล้ว


เช่นนี้แล้ว ประโยคว่า "บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว
จงเริ่มตั้งกรรมนี้ไว้ในมโนทวาร" หมายความว่าอย่างไร?”
หมายความว่า ทวารทั้ง ๕ จะรับรู้สัมผัสใด ๆ ก็ตาม ไม่ต้องไปสนใจ
แต่ให้มามีสติรู้อยู่ที่มโนทวาร หรือใจเท่านั้น
ซึ่งเป็นการเจริญจิตตานุปัสสนานั่นเอง


เมื่อเรารู้อยู่ที่ใจแล้ว เราจะได้อะไร?
เราก็จะได้เห็นความจริงว่า
"ธรรมารมณ์ทั้งหลาย" ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แม้ "จิตที่รับรู้ธรรมารมณ์" นั้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ซึ่งการที่จะเจริญจิตตานุปัสสนานั้น ไม่จำเป็นต้องปิดอายตนะครับ
แต่เมื่อตาเห็นรูปสวย หรือไม่สวย ใจเกิดธรรมารมณ์
ให้มาเฝ้าดูที่ใจ ไม่ใช่ไปหลงที่รูป
เมื่อหูได้ยินเสียงที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ใจเกิดธรรมารมณ์
ให้มาเฝ้าดูที่ใจ ไม่ใช่ไปหลงที่เสียง
เมื่อจมูกได้กลิ่นหอมหรือเหม็น ใจเกิดธรรมารมณ์
ให้มาเฝ้าดูที่ใจ ไม่ใช่ไปหลงที่กลิ่น
เมื่อลิ้นสัมผัสรสอร่อยหรือไม่อร่อย ใจเกิดธรรมารมณ์
ให้มาเฝ้าดูที่ใจ ไม่ใช่ไปหลงที่รส
เมื่อกายสัมผัสโผฏฐัพพะที่สบายหรือไม่สบาย ใจเกิดธรรมารมณ์
ให้มาเฝ้าดูที่ใจ ไม่ใช่ไปหลงที่โผฏฐัพพะ
เมื่อมโน (ใจ) เกิดธรรมารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ให้มาเฝ้าดูที่ใจ
ดังนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องปิดอายตนะ
หรือหาสิ่งของหรือสิ่งใด ๆ มาปิดอายตนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP