จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๓๖ บทลองใจจากธรรมชาติ



236 talk



พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้
มีใจความสรุปรวมว่าโลกนี้ 
คนทุศีลมากกว่าคนมีศีล
คนเห็นแก่ตัวมากกว่าคนมีน้ำใจ
คนดีอยู่ยาก แต่ตายเมื่อไรสบายเมื่อนั้น


พระดำรัสประมาณนี้แสดงให้เห็นว่า
พุทธเราไม่ได้โลกสวย
แต่เห็นอะไรตามจริงด้วยตาเปล่า
และบอกทางออกที่ดีที่สุดไว้ให้
กล่าวคือ เป็นพุทธให้เต็มตัว
เริ่มจากการเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้ารู้จริง
กรรมที่ทำๆไปทุกวันมีผล
ไม่ใช่ว่าตายแล้วตายเลย 
หายวับไม่เหลือเชื้อ
ไม่ใช่ฆ่าคนเป็นร้อย
แต่สุขสบายเท่าคนชอบปล่อยสัตว์นับพัน
ไม่ใช่โกงภาษี โกงเงินทอน
แล้วเบาสบายหายห่วงเท่าสุจริตชน
ไม่ใช่ขายยาบ้ายาเมา
แล้วรอดตัวเท่ากับคนขายยาบำรุงสุขภาพ


ทุกอย่างคือบทลองใจจากธรรมชาติ
ลองดูซิ ถ้าไม่รู้ว่ากรรมมีผล
มนุษย์คนหนึ่งจะเลือกทำกรรมแบบไหน?


ถ้าดีแล้วไม่มีพวก
ถ้าดีแล้วอยู่ลำบาก
ก็ให้ดียิ่งกว่าเดิม
เช่น หาทางอยู่กับคนดีๆด้วยกัน
หาทางเข้าคอกแกะขาวบ้าง อย่าเอาแต่คอกดำ
หาทางทำอะไรดีๆยิ่งกว่าไม่โกง ไม่ด่า ไม่นินทา
หาทางทำเรื่องดีๆที่ช่วยให้ตัวเองอยู่ได้ 
อยู่รอด สบายกาย สบายใจ
เชื่อมั่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ท่องให้เป็นคาถาประจำใจทุกวัน
จนจิตอ่อนควร เกิดความอบอุ่นใจ
แล้วทางเลือกดีๆจะมาเองราวปาฏิหาริย์


สำคัญคือ เมื่อมีการใบ้ทางเลือกดีๆ
ให้รู้จักสังเกต ไม่ใช่มองเมิน
หรือปล่อยให้หลุดมือ
จะเอาแต่อ้าปากค้างเป็นช้างรออ้อย
คนเราจะดีจริงถึงที่สุด
ก็เมื่อทำให้อะไรดีๆเกิดขึ้นกับโลก
ทำเรื่องเป็นประโยชน์ที่ใครต่อใครต้องการ
ไม่ใช่บ่นอยู่บนเตียงด้วยสำเนียงเดิมๆ
โอ๊ย! ชีวิต โอ๊ย! กรรม โอ๊ย! มนุษย์
เสียงบ่นแบบนั้นไม่ใช่เสียงของคนดีจริง
แต่เป็นเสียงของคนดีที่พร้อมจะกลายพันธุ์!


ดังตฤณ
มิถุนายน ๖๑





review

 

หากต้องพบมรสุมชีวิตจากการกระทำของผู้อื่น
จะวางใจอย่างไรจึงจะรับวิบากไม่ดีได้ด้วยจิตที่เป็นกุศล
ติดตามคำตอบได้จากวิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
ตอน "ยามต้องพบความทุกข์เพราะกรรมเก่ามาให้ผล ควรทำใจอย่างไร"
ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" ค่ะ (-/\-)

หากเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่มีวันหายขาด 
และไม่ต้องการเป็นหนี้เพราะค่าใช้จ่ายในรักษาพยาบาล
จึงปล่อยให้ตนเองเสียชีวิตโดยไม่ยอมรับการรักษา เช่นนี้จะเป็นบาปหรือไม่
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา" 
ตอน "ถ้าปล่อยให้โรคประจำตัวกำเริบโดยไม่ยอมรักษาจนเสียชีวิต 
จะถือเป็นการฆ่าตัวตายไหม"

อายตนะภายนอกและอายตนะภายในประกอบด้วยอะไรบ้าง
และทำอย่างไรจึงจะทำให้การปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้า
ติดตามได้จากเรื่องราวที่คุณงดงามบอกเล่าไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "ปิดอายตนะ"

 



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP