จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

คุณสมบัติห้ามอุปสมบท


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it




234 destination


เมื่อช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา
ได้มีข่าวของอดีตผู้ประกาศข่าวท่านหนึ่งที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา
และได้มาบวชเป็นพระภิกษุ
ซึ่งก็มีการวิเคราะห์และวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า สามารถบวชได้หรือไม่
ในบรรดาความเห็นต่าง ๆ นั้น บางท่านได้ให้ความเห็นว่า
ขนาดโจรองคุลีมาลเคยฆ่าคนมาร่วมพัน ก็ยังบวชได้
แล้วคดีความของอดีตผู้ประกาศข่าวท่านนี้
ไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น ทำไมจึงจะบวชไม่ได้
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็อาจจะไม่ใช่ว่าดูแค่นั้นเท่านั้นจะพอนะครับ
ในคราวนี้ ผมจึงจะนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติห้ามอุปสมบท
มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านครับ


ในเรื่องของคุณสมบัติห้ามอุปสมบทนั้น แบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่
๑. ข้อห้ามอุปสมบทตามพระธรรมวินัย และ
๒. ข้อห้ามอุปสมบทตามกฎหมาย



๑. ข้อห้ามอุปสมบทตามพระธรรมวินัย

ในเรื่องข้อห้ามอุปสมบทตามพระธรรมวินัยนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบัญญัติข้อห้ามอุปสมบทไว้หลายกรณี
โดยผมจะขอนำข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับประชาชนมานำเสนอ ดังนี้


๑.๑ ข้อปฏิบัติต่อผู้เคยเป็นเดียรถีย์
มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเกี่ยวกับผู้บวชแล้ว ไปเข้ารีตเป็นเดียรถีย์
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้เคยเป็นเดียรถีย์เข้ามาบวช
อุปัชฌายะว่ากล่าวโดยธรรม กลับคัดค้านแล้วจากไปเข้ารีตเดียรถีย์
ครั้นแล้วขอเข้ามาบวชอีก ไม่ควรบวชให้
ส่วนผู้ที่เคยเป็นเดียรถีย์ประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้
จะต้องได้รับการอบรม (ปริวาส) ๔ เดือน คือให้โกนผม ปลงหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสายะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย
เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัย ๓ จบ
แล้วให้ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศขอให้สงฆ์ให้ปริวาส (การอบรม) ๔ เดือน
เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านจึงสำเร็จไปขั้นหนึ่ง
ในระหว่าง ๔ เดือน ถ้าประพฤติตนไม่เรียบร้อย ไม่เป็นที่พอใจ ก็ไม่ควรบวชให้
ถ้าประพฤติตนเรียบร้อย เป็นที่น่าพอใจ จึงบวชให้
อนึ่ง ได้ประทานข้อกำหนดพิเศษแก่พระญาติผู้เกิดในศากยสกุล
ถ้าเคยเป็นเดียรถีย์มาก่อน แล้วมาขอบวช ให้บวชให้เลย ไม่ต้องรับการอบรม ๔ เดือน
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prawinai/4.5.html


๑.๒ ห้ามบวชให้คนเป็นโรค ๕ ชนิด
สมัยนั้น มีโรค ๕ ชนิดเกิดขึ้นมากในแคว้นมคธ
คือโรคเรื้อน, โรคฝี, โรคกลาก, โรคมองคร่อ และโรคลมบ้าหมู
มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นโรคเหล่านี้ ก็พากันไปหาหมอชีวกเพื่อให้ช่วยรักษาให้
หมอชีวกไม่รับรักษา อ้างว่า มีภาระต้องรักษาพระราชา
บุคคลในราชสำนัก และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
คนเหล่านั้นเห็นไม่มีทางอื่น จึงขอบวช ภิกษุทั้งหลายก็บวชให้
เป็นภาระแก่ภิกษุทั้งหลายที่จะต้องพยาบาล
แม้หมอชีวกเองก็ต้องทำงานหนักจนเสียราชกิจ
ชายคนหนึ่งออกบวชให้หมอชีวกรักษา พอหายแล้วก็สึกไป
หมอชีวกเห็นเข้าจำได้ ถามทราบความ ก็ติเตียน
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติวินัย ห้ามบวชแก่คนเป็นโรค ๕ ชนิด
ผู้ใดบวชให้ ต้องอาบัติทุกกฎ


๑.๓ ห้ามบวชให้ข้าราชการ
เกิดความไม่สงบชายแดน พระเจ้าพิมพิสารตรัสสั่งมหาอำมาตย์ที่เป็นนายทัพ
ให้ไปปราบ มีหลายคนหนีไปบวช ภิกษุทั้งหลายก็บวชให้
พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงขอให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติวินัย
มิให้พระบวชคนที่เป็นข้าราชการ
เพราะอาจมีพระราชาที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเบียดเบียนภิกษุเหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสห้ามบวชให้ข้าราชการ
ทรงปรับอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุที่บวชให้
(ในสมัยนี้ ผู้เป็นข้าราชการจะต้องมีใบอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก
ผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมายให้อนุญาตแทนพระองค์
พระอุปัชฌายะและสงฆ์จึงบวชให้)


๑.๔ ห้ามบวชให้โจรที่มีชื่อ
สมัยนั้น โจรองคุลิมาลบวชอยู่ในสำนักภิกษุทั้งหลาย
คนเห็นก็ตกใจกลัวบ้าง สะดุ้งบ้าง วิ่งหนีบ้าง มีผู้ติเตียน
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติวินัย ห้ามบวชให้โจรที่มีชื่อเสียง
ทรงปรับอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุผู้บวชให้


๑.๕ ห้ามบวชโจรที่ทำลายเครื่องพันธนาการ
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงประกาศมิให้ใครทำอะไร (เช่น จับกุม)
บุคคลที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
โจรผู้หนึ่งทำโจรกรรม ถูกพันธนาการด้วยเครื่องจองจำ
แต่ทำลายเครื่องจองจำได้ จึงหนีไปบวช
คนทั้งหลายพากันติเตียนภิกษุผู้บวชให้
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย
ห้ามบวชให้โจรที่ทำลายเครื่องพันธนาการ ผู้บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฎ


๑.๖ ห้ามบวชบุคคลที่ไม่สมควรอื่นอีก
ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ภิกษุทั้งหลายให้บุคคลผู้ไม่สมควร มีผู้ติเตียน
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามบวชให้บุคคลผู้ไม่สมควรอื่นอีก
คือ โจรที่ถูกหมายประกาศให้ฆ่า บุคคลที่ถูกโบยด้วยแส้
ถูกลงโทษแล้วเนรเทศ บุคคลที่ถูกนาบด้วยเหล็กแดงให้เสียโฉม
บุคคลที่เป็นหนี้ บุคคลที่เป็นทาส


๑.๗ ห้ามบวชผู้มีอายุยังไม่ครบ ๒๐
เด็ก ๑๗ คนขออนุญาตมารดาบิดาออกบวช
ถึงเวลากลางคืนลุกขึ้นร้องไห้ขออาหาร
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติพระวินัย
ห้ามบวชให้คนมีอายุไม่ถึง ๒๐ ทั้งที่รู้อยู่ (ว่าอายุไม่ถึง)
ถ้าบวชให้ให้จัดการตามควร (มีวินัยที่อื่นปรับอาบัติปาจิตตีย์อยู่แล้ว)
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prawinai/4.6.html


๑.๘ บุคคลที่ห้ามบวชอื่น ๆ อีก
ต่อมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในการที่ภิกษุทั้งหลายบวชให้แก่ผู้ไม่สมควร
จึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามบวชให้แก่ผู้ไม่สมควรต่อไปนี้
(๑) กะเทย (๒) คนที่ลักเพศ (คือบวชเอาเองโดยไม่ถูกต้อง)
(๓) ภิกษุที่ไปเข้ารีตเดียรถีย์ (๔) สัตว์ดิรัจฉาน (๕) ผู้ฆ่ามารดา (๖) ผู้ฆ่าบิดา
(๗) ผู้ฆ่าพระอรหันต์ (๘) ผู้ข่มขืนนางภิกษุณี (๙) ผู้ทำสงฆ์ให้แตกกัน
(๑๐) ผู้ประทุษร้ายพระพุทธเจ้าถึงยังพระโลหิตให้ห้อ
(๑๑) คนมีอวัยวะ ๒ เพศ (อุภโตพยัญชนก)
ทั้งสิบเอ็ดประเภทนี้ ถ้าบวชให้แล้วรู้เข้าภายหลัง ต้องให้สึกไป
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prawinai/4.7.html


๑.๙ ลักษณะที่ไม่ควรให้อุปสมบท (บวชเป็นพระ) อีก ๒๐ ประเภท
ครั้นแล้ว ทรงบัญญัติพระวินัยแสดงลักษณะที่ไม่ควรให้บวช (อุปสมบท)
บุคคล รวม ๒๐ ประเภท ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ไม่มีอุปัชฌายะ
(๒) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นสงฆ์ (อุปัชฌายะต้องมีรูปเดียว ไม่ใช่มากรูป)
(๓) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นคณะ (๒ หรือ ๓ ชื่อว่าเป็นคณะ, ๔ ขึ้นไปเป็นสงฆ์)
(๔) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นกะเทย (๕) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นคนลักเพศ (ผู้บวชเอาเอง)
(๖) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์
(๗) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน (มีเรื่องเล่าว่า นาคปลอมมาบวช)
(๘) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ฆ่ามารดา (๙) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ฆ่าบิดา
(๑๐) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์
(๑๑) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ข่มขืนนางภิกษุณี
(๑๒) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
(๑๓) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ประทุษร้ายพระพุทธเจ้า จนถึงยังพระโลหิตให้ห้อ
(๑๔) ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้มีอวัยวะ ๒ เพศ (๑๕) ผู้ไม่มีบาตร (๑๖) ผู้ไม่มีจีวร
(๑๗) ผู้ไม่มีทั้งบาตรทั้งจีวร (๑๘) ผู้ขอยืมบาตรเขามาบวช
(๑๙) ผู้ขอยืมจีวรเขามาบวช (๒๐) ผู้ขอยืมทั้งบาตรทั้งจีวรเขามาบวช
ทั้งยี่สิบประเภทนี้ ถ้า (สงฆ์) บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฎ
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prawinai/4.8.html


จะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติข้อห้ามอุปสมบทไว้หลายกรณี
ซึ่งแม้ว่าโจรองคุลีมาลจะสามารถบวชได้ก็ตาม
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ภิกษุจะสามารถบวชให้แก่ผู้ต้องหาได้ทุกกรณี
เพราะว่าหลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติข้อห้ามอื่น ๆ
เช่น ห้ามบวชให้โจรที่มีชื่อที่จะทำให้ผู้คนสะดุ้งกลัว
ห้ามบวชโจรที่ทำลายเครื่องพันธนาการ (ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็ได้แก่
ผู้ต้องหาหนีคดีหรือหนีหมายจับ) เป็นต้น จึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป



๒. ข้อห้ามอุปสมบทตามกฎหมาย

นอกเหนือจากข้อห้ามอุปสมบทตามพระธรรมวินัยแล้ว
ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
ซึ่งได้มีการจัดตั้งมหาเถรสมาคมขึ้น
โดยมหาเถรสมาคมมีอํานาจหน้าที่ในหลายเรื่อง ๆ
เช่น ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
และรักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา เป็นต้น
โดยมหาเถรสมาคมมีอํานาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ
วางระเบียบ ออกคําสั่ง มีมติหรือออกประกาศ
โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้


ในเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติห้ามอุปสมบทนี้
มหาเถรสมาคมได้ตรากฎมหาเถรสมาคมหลายฉบับ
ซึ่งรวมทั้ง กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๓๖)
ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์
โดยในข้อ ๑๓ ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ กำหนดว่า
พระอุปัชฌาย์ต้องพบและสอบสวนกุลบุตรให้ได้คุณลักษณะก่อน
จึงรับให้บรรพชาอุปสมบทได้ คุณลักษณะของกุลบุตรนั้น ดังนี้


(๑) เป็นคนมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตตำบลหรืออำเภอที่จะบวช
และมีหลักฐาน มีอาชีพชอบธรรม หรือแม้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอื่น
แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นคนมีหลักฐาน มีอาชีพชอบธรรม
มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ใช่คนจรจัด
(๒) เป็นสุภาพชน มีความประพฤติดีประพฤติชอบ
ไม่มีความประพฤติเสียหาย เช่น ติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น
(๓) มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้
(๔) ไม่เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ
(๕) เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้
ไม่เป็นคนชรา ไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ
(๖) มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย
(๗) เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเองและถูกต้อง ไม่วิบัติ


ในข้อ ๑๔ ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ กำหนดว่า
พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้


(๑) คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน
(๒) คนหลบหนีราชการ
(๓) คนต้องหาในคดีอาญา
(๔) คนเคยถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
(๕) คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
(๖) คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย
(๗) คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้


ในข้อ ๑๖ ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ กำหนดว่า
เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์จะรับผู้ใดบวช ต้องมีผู้รับรองและให้ผู้รับรองของผู้นั้น
นำผู้จะบวชมามอบตัว พร้อมด้วยใบสมัคร และใบรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท
ซึ่งจะขอได้จากพระอุปัชฌาย์ ก่อนถึงวันบรรพชาอุปสมบทไม้น้อยกว่า ๑๕ วัน
โดยให้เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์สอบสวนผู้จะมาบวช
ว่าผู้จะมาบวชไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามข้อ ๑๓ และข้อ ๑๔ ดังกล่าว
ซึ่งปรากฏตามข้อปฏิญญาในใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท
และสอบถามผู้รับรองตามข้อรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท
จนเป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกันดีแล้ว จึงรับใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท
และใบรับรอง แล้วจึงดำเนินการฝึกซ้อมผู้จะบวชต่อไป


ในเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่าตามกฎหมายแล้ว
ก็จะมีข้อห้ามบางประการเพิ่มเติมนอกเหนือจากในพระธรรมวินัย
ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ที่จะต้องสอบสวนผู้จะมาขอบวช และผู้รับรอง
ให้เข้าใจตรงกันถึงคุณสมบัติของผู้จะมาขอบวช
โดยที่ผู้จะมาขอบวช และผู้รับรองก็จะต้องรับรองข้อเท็จจริงต่าง ๆ
ในใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และใบรับรองที่ยื่นต่อพระอุปัชฌาย์ด้วย


ในบทความนี้ ผมจะไม่ฟันธงให้นะครับว่า
อดีตผู้ประกาศข่าวท่านที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาตามที่เป็นข่าวนั้น
จะสามารถบวชได้หรือไม่ โดยวัตถุประสงค์ของบทความนี้
ก็เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติข้อห้ามอุปสมบทเท่านั้น
ซึ่งเชื่อว่าน่าย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ท่านที่สนใจอุปสมบทต่อไปครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP