จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

โพสต์ในสิ่งที่คิด แชร์ในสิ่งที่เห็น


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

 


233 destination



ในยุคสมัยปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียครอบงำโลกเช่นนี้
เราก็คงจะได้เคยเห็นการโพสต์หรือการแชร์ในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกันอยู่นะครับ
ซึ่งบางทีคนที่โพสต์หรือแชร์บางท่านก็อาจจะเข้าใจว่า
การโพสต์แสดงความคิดเห็นตนเองตามจริง ไม่ได้ผิดอะไร
หรือการที่แชร์ในสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่ได้รับมานั้นตามจริง ไม่ได้ผิดอะไร
โดยเป็นสิทธิที่ทุกคนควรจะสามารถทำกันได้


ถ้าเราจะพิจารณากันในแง่ของกฎหมายแล้ว
ในกฎหมายไม่ได้กำหนดให้มาเฉพาะแต่สิทธินะครับ
แต่กำหนดหน้าที่มาให้ด้วย
เพราะถ้าทุกคนมีแต่สิทธิ โดยไม่มีหน้าที่แล้ว
การใช้สิทธิของคนหนึ่งก็จะไปละเมิดสิทธิของคนอื่นได้
ดังนั้นแล้ว เวลาที่เราใช้สิทธิ เราพึงคำนึงถึงหน้าที่เราเองด้วย
การใช้สิทธิของเราย่อมต้องอยู่ภายใต้หน้าที่ที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
และไม่ละเมิดข้อห้ามของกฎหมาย


ในส่วนของกฎหมายก็พิจารณากันไปดังที่กล่าวแล้วนะครับ
แต่ในทางธรรมนั้นจะเป็นอย่างไร?
เรามาพิจารณากันต่อไปนะครับว่า
ในทางธรรมแล้ว เราจะอ้างได้หรือไม่ว่า
การโพสต์แสดงความคิดเห็นตนเองตามจริง ไม่ได้ผิดอะไร
หรือการที่แชร์ในสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่ได้รับมาตามจริง ไม่ได้ผิดอะไร
โดยถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะสามารถทำกันได้


ใน “โยธาชีววรรคที่ ๔” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
เล่าว่า ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน
ในครั้งนั้น วัสการพราหมณ์ ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยได้กราบทูลว่า
ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า
ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนเห็นว่าเราเห็นอย่างนี้
โทษแห่งการกล่าวนั้นไม่มี
ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนได้ฟังมาว่าเราได้ฟังมาอย่างนี้
โทษแห่งการกล่าวนั้นไม่มี
ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนทราบ (ทางจมูก ลิ้น กาย) ว่าเราทราบอย่างนี้
โทษแห่งการกล่าวนั้นไม่มี
ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนรู้แจ้ง (ทางใจ) ว่าเรารู้แจ้งอย่างนี้
โทษแห่งการกล่าวนั้นไม่มี


(กล่าวคือ วัสการพราหมณ์เห็นว่าการที่เรากล่าวสิ่งที่ตนได้เห็นมา
สิ่งที่ตนได้ฟังมา สิ่งที่ตนได้ทราบมา สิ่งที่ตนได้คิด
โดยได้กล่าวตามจริงเช่นนั้นแล้ว โทษแห่งการกล่าวนั้น ย่อมไม่มี)


แต่พระผู้มีพระภาคตรัสเจ้าว่า เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่าควรกล่าว
และไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว
เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว
เราไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว
เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว


แท้จริง เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใดแล้ว
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นนั้นว่า ไม่ควรกล่าว
แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด
อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น
เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นนั้นว่า ควรกล่าว


เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาอันใด
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังนั้นว่า ไม่ควรกล่าว
แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟังอันใด
อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น
เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังนั้นว่า ควรกล่าว


เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ทราบมาอันใด
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
เรากล่าวสิ่งที่ได้ทราบนั้นว่า ไม่ควรกล่าว
แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ทราบอันใด
อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น
เรากล่าวสิ่งที่ได้ทราบนั้นว่า ควรกล่าว


เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้รู้แจ้งมาอันใด
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
เรากล่าวสิ่งที่ได้รู้แจ้งนั้นว่า ไม่ควรกล่าว

แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้รู้แจ้งอันใด
อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น
เรากล่าวสิ่งที่ได้รู้แจ้งนั้นว่า ควรกล่าว


ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ
ได้ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=4617&Z=4990&pagebreak=0


ดังนั้นแล้ว ในการที่เราจะโพสต์หรือจะแชร์ข้อความหรือข้อมูลใด ๆ ก็ตาม
สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเห็นเช่นนั้น เราได้ฟังเช่นนั้น
เราได้ทราบเช่นนั้น หรือว่าเราได้รู้เช่นนั้น แล้วเราก็กล่าวได้เลย
แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า เราโพสต์และแชร์ข้อความแล้ว
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
หรือว่าอกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น
เป็นตัวชี้วัดว่าเราสมควรจะโพสต์หรือจะแชร์ข้อความหรือข้อมูลหรือไม่
เพราะว่าหากโพสต์หรือแชร์แล้ว
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป ก็ย่อมจะก่อโทษ
ในทางกลับกัน หากโพสต์หรือแชร์แล้ว

อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น ก็ย่อมจะก่อประโยชน์


ในวิธีการพิจารณาอีกแนวทางหนึ่งนั้น
ใน “อภัยราชกุมารสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
เล่าว่า ในสมัยหนึ่ง อภัยราชกุมารได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบ ดังต่อไปนี้
๑. วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
๒. วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
๓. วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
๔. วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
๕. วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
๖. วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=13&A=1607


กล่าวโดยสรุปคือ ในการกล่าววาจานั้น
ต้องเป็นวาจาที่จริงที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์
หากไม่จริงแท้ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์แล้ว ไม่พึงกล่าว
แต่หากเป็นวาจาที่ไม่เป็นที่รัก หรือไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นแล้ว
เราพึงรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น
ดังนี้ ในการโพสต์หรือแชร์ข้อความ ก็พึงเป็นเช่นเดียวกันครับ
โดยเราพึงโพสต์หรือแชร์ข้อความเฉพาะที่จริงแท้ และเป็นประโยชน์
ซึ่งหากเป็นข้อความที่ไม่เป็นที่รัก หรือไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นแล้ว
เราพึงรู้กาลที่จะโพสต์หรือแชร์ข้อความนั้นด้วย



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP