ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ทันตภูมิสูตร ว่าด้วยภูมิของผู้ที่ฝึกแล้ว


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๓๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน
อันเคยเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์
สมัยนั้นแล อจิรวตสมณุทเทสอยู่ในกระท่อมในป่า
ครั้งนั้น ชัยเสนราชกุมารทรงพระดำเนินทอดพระชงฆ์เที่ยวเล่นไปโดยลำดับ
เข้าไปหาอจิรวตสมณุทเทส ครั้นแล้วได้ตรัสทักทายปราศรัยกับอจิรวตสมณุทเทส
ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
ได้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.


[๓๘๙] ชัยเสนราชกุมารพอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว
ได้รับสั่งกะอจิรวตสมณุทเทสดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านอัคคิเวสสนะผู้เจริญ
ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว พึงสัมผัสเอกัคคตาแห่งจิตได้.


อจิรวตสมณุทเทสถวายพระพรว่า พระราชกุมาร ข้อนั้นถูกต้องแล้ว ๆ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว
พึงสัมผัสเอกัคคตาแห่งจิตได้.


ชัยเสน. ดีแล้ว ขอท่าอัคคิเวสสนะโปรดแสดงธรรมตามที่ได้สดับ
ตามที่ได้ศึกษามาแก่ข้าพเจ้าเถิด.


[๓๙๐] อจิรวต. พระราชกุมาร อาตมภาพไม่อาจจะแสดงธรรมตามที่ได้สดับ
ตามที่ได้ศึกษามาแก่พระองค์ได้
เพราะถ้าอาตมภาพพึงแสดงธรรมตามที่ได้สดับ ตามที่ได้ศึกษามาแก่พระองค์
และพระองค์ไม่ทรงทราบอรรถแห่งภาษิตของอาตมภาพได้
ข้อนั้นจะเป็นความยาก จะเป็นความลำบากของอาตมภาพ.


ชัยเสน. ขอท่านอัคคิเวสสนะโปรดแสดงธรรมตามที่ได้สดับ
ตามที่ได้ศึกษามาแก่ข้าพเจ้าเถิด
บางทีข้าพเจ้าจะพึงทราบอรรถแห่งภาษิตของท่านอัคคิเวสสนะได้.


อจิรวต. พระราชกุมาร อาตมภาพจะพึงแสดงธรรมตามที่ได้สดับ
ตามที่ได้ศึกษามาแก่พระองค์
ถ้าพระองค์ทรงทราบอรรถแห่งภาษิตของอาตมภาพได้ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่ทรงทราบ ขอพระองค์พึงดำรงอยู่ในภาวะของพระองค์ตามที่ควรเถิด
อย่าได้ซักถามอาตมภาพในธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้นไปเลย.


ชัยเสน. ขอท่านอัคคิเวสสนะโปรดแสดงธรรมตามที่ได้สดับ
ตามที่ได้ศึกษามาแก่ข้าพเจ้าเถิด
ถ้าข้าพเจ้าทราบอรรถแห่งภาษิตของท่านอัคคิเวสสนะได้ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าจักดำรงอยู่ในภาวะของตนตามที่ควร
ข้าพเจ้าจักไม่ซักถามท่านอัคคิเวสสนะในธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้นไป.


[๓๙๑] ลำดับนั้นแล อจิรวตสมณุทเทสได้แสดงธรรมตามที่ได้สดับ
ตามที่ได้ศึกษามาแก่ชัยเสนราชกุมาร. เมื่ออจิรวตสมณุทเทสกล่าวแล้วอย่างนั้น
ชัยเสนราชกุมารได้ตรัสกะอจิรวตสมณุทเทสดังนี้ว่า
ข้าแต่ท่านอัคคิเวสสนะผู้เจริญ ข้อที่ภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร
มีตนส่งไปแล้ว พึงสัมผัสเอกัคคตาแห่งจิต นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
ต่อนั้น ชัยเสนราชกุมาร ครั้งทรงประกาศความไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
แก่อจิรวตสมณุทเทสแล้ว ทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จหลีกไป.


ครั้งนั้นแล อจิรวตสมณุทเทส เมื่อชัยเสนราชกุมารเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน
จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลเรื่องราว
เท่าที่ได้สนทนากับชัยเสนราชกุมารทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.


[๓๙๒] เมื่ออจิรวตสมณุทเทสกราบทูลแล้วอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะอจิรวตสมณุทเทสดังนี้ว่า
อัคคิเวสสนะ พระราชกุมารจะพึงได้ความข้อนั้นในภาษิตของเธอนี้แต่ที่ไหน
ข้อที่ความข้อนั้นเขารู้ เขาเห็น เขาบรรลุ เขาทำให้แจ้งกันได้ด้วยเนกขัมมะ
แต่ชัยเสนราชกุมาร ยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกกิน
ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากาม
จักทรงรู้ หรือจักทรงเห็น หรือจักทรงทำให้แจ้งความข้อนั้นได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้.


[๓๙๓] อัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนช้างที่ควรฝึก หรือม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก
คู่หนึ่งที่เขาฝึกดี หัดดีแล้ว อีกคู่หนึ่งเขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดเลย
อัคคิเวสสนะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ช้างที่ควรฝึก หรือม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่ที่เขาฝึกดี หัดดีแล้วนั้น
อันเขาฝึกแล้ว จะเรียนรู้เหตุการณ์ จะทำได้ถึงขั้นที่ฝึกแล้ว ใช่ไหม?


อจิรวต. ใช่ พระพุทธเจ้าข้า.


ภ. ส่วนช้างที่ควรฝึก หรือม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก
คู่ที่เขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดแล้วนั้น อันเขาไม่ได้ฝึกเลย
จะเรียนรู้เหตุการณ์ จะทำได้ถึงขั้นที่ฝึกแล้ว
เหมือนอย่างคู่ที่ฝึกดี หัดดีแล้วนั้น ได้ไหม?


อจิรวต. ข้อนี้มิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า.


ภ. อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อที่ความข้อนั้น
เขารู้ เขาเห็น เขาบรรลุ เขาทำให้แจ้งกันได้ด้วยเนกขัมมะ
แต่ชัยเสนราชกุมารยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกกิน
ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากาม
จักทรงรู้ หรือจักทรงเห็น หรือจักทรงทำให้แจ้งความข้อนั้นได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้.


[๓๙๔] อัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนภูเขาใหญ่ไม่ห่างไกลบ้าน หรือนิคม
สหาย ๒ คนออกจากบ้านหรือนิคมนั้นไปยังภูเขาลูกนั้นแล้ว
จูงมือกันเข้าไปยังที่ตั้งภูเขา ครั้นแล้วสหายคนหนึ่ง ยืนที่เชิงภูเขาเบื้องล่าง
อีกคนหนึ่งขึ้นไปข้างบนภูเขา สหายที่ยืนตรงเชิงภูเขาข้างล่าง
เอ่ยถามสหายผู้ยืนบนภูเขานั้นอย่างนี้ว่า
แน่ะเพื่อน เท่าที่เพื่อนยืนบนภูเขานั้น เพื่อนเห็นอะไร
สหายคนนั้นตอบอย่างนี้ว่า เพื่อนเอ๋ย เรายืนบนภูเขาแล้ว
เห็นสวน ป่าไม้ ภูมิภาค และสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์
สหายข้างล่างกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเพื่อน ข้อที่เพื่อนยืนบนภูเขาแล้วเห็นสวน
ป่าไม้ ภูมิภาค และสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสเลย
สหายที่ยืนบนภูเขา จึงลงมายังเชิงเขาข้างล่างแล้วจูงแขนสหายคนนั้น
ให้ขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ให้พักเหนื่อยครู่หนึ่งแล้ว เอ่ย ถามสหายขึ้นว่า
แน่ะเพื่อน เท่าที่เพื่อนยืนบนภูเขาแล้วเพื่อนเห็นอะไร?
สหายคนนั้นตอบอย่างนี้ว่า เพื่อนเอ๋ย เรายืนบนภูเขาแล้วเห็นสวน ป่าไม้
ภูมิภาค และสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์.
สหายคนขึ้นไปก่อนกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเพื่อน เราเพิ่งรู้คำที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า
เพื่อนเอ๋ย ข้อที่เพื่อนยืนบนภูเขา แล้วเห็นสวน ป่าไม้ ภูมิภาค
และสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสเลย เดี๋ยวนี้เอง
และสหายคนขึ้นไปที่หลังก็พูดว่า เราก็เพิ่งรู้คำที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า
แน่ะเพื่อน เรายืนบนภูเขาแล้วเห็นสวน ป่าไม้ ภูมิภาค
และสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ เดี๋ยวนี้เหมือนกัน
สหายคนขึ้นไปก่อนจึงพูดอย่างนี้ว่า สหายเอ๋ย ความเป็นจริง
เราถูกภูเขาใหญ่ลูกนี้กั้นไว้ จึงไม่แลเห็นสิ่งที่ควรเห็น นี้ฉันใด
อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ชัยเสนราชกุมาร ถูกกองอวิชชาใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาลูกนั้นกั้นไว้ บังไว้ ปิดไว้ คลุมไว้แล้ว
ชัยเสนราชกุมารนั้นแล ยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกกิน
ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากาม
จักทรงรู้ หรือทรงเห็น หรือทรงทำให้แจ้งซึ่งความข้อที่เขารู้ เขาเห็น เขาบรรลุ
เขาทำให้แจ้งกันได้ด้วยเนกขัมมะ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
อัคคิเวสสนะ ถ้าเธอพึงทำอุปมา ๒ ข้อนี้ให้แจ่มแจ้งแก่ชัยเสนราชกุมารได้ไซร้
ข้อที่ชัยเสนราชกุมารจะพึงเลื่อมใสเธอ และครั้นเลื่อมใสแล้ว
พึงทำอาการของบุคคลผู้เลื่อมใสต่อเธอไม่น่าแปลกใจเลย.


อจิรวต. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์จักทำอุปมา ๒ ข้อนี้
ที่ไม่น่าอัศจรรย์ (ง่าย ๆ, ตื้น ๆ) แจ่มแจ้งแก่ชัยเสนราชกุมาร
เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้แต่ที่ไหน


[๓๙๕] ภ. อัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนพระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงได้มูรธาภิเษกแล้ว
ตรัสเรียกพรานนาควนิกมา (ควาญคล้องช้างป่า) รับสั่งว่า
มานี่แน่ะพ่อพรานเพื่อนยาก ท่านจงขี่ช้างหลวงเข้าไปยังป่าที่มีช้างป่า
เห็นช้างป่าแล้ว จงคล้องมันไว้ให้มั่นคงที่คอช้างหลวงเถิด.
พรานนาควนิกรับสนองพระราชโองการแล้ว จึงขึ้นช้างหลวงเข้าไปยังป่าที่มีช้างป่า
เห็นช้างป่าแล้ว จึงคล้องไว้มั่นคงที่คอช้างหลวง
ช้างหลวงจึงนำช้างป่านั้นออกมาสู่ที่กลางแจ้งได้
อัคคิเวสสนะ เพียงเท่านี้แล ช้างป่าจึงมาอยู่กลางแจ้ง
ธรรมดาช้างป่าทั้งหลายยังห่วงถิ่นคือป่าที่มีช้างป่าอยู่
พรานจึงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระราชามหากษัตริย์ว่า
ขอเดชะ ช้างป่าของพระองค์มาอยู่ที่กลางแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า
พระราชามหากษัตริย์จึงตรัสเรียกควาญผู้ฝึกช้างมารับสั่งว่า
มานี่แน่ะ ควาญช้างเพื่อนยาก ท่านจงฝึกช้างป่า จงไปแก้ไขปกติของสัตว์ป่า
แก้ไขความดำริพล่านของสัตว์ป่า แก้ไขความกระวนกระวาย
ความลำบากใจ และความเร่าร้อนใจของสัตว์ป่า
เพื่อให้ช้างป่าเชือกนั้นอภิรมย์ในแดนบ้าน ให้บันเทิงในปกติที่มนุษย์ต้องการเถิด.
ควาญช้างรับสนองพระราชโองการแล้ว จึงฝังเสาตะลุงใหญ่ในแผ่นดิน
ล่ามคอช้างป่าไว้มั่นคง เพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความดำริพล่านของสัตว์ป่า
แก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจ และความเร่าร้อนใจของสัตว์ป่า
เพื่อให้ช้างป่าเชือกนั้นอภิรมย์ในแดนบ้าน ให้บันเทิงในปกติที่มนุษย์ต้องการ.
ควาญช้างย่อมร้องเรียกช้างป่าเชือกนั้น ด้วยวาจาซึ่งไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักใคร่
จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมากปรารถนาและชอบใจเห็นปานนั้น
ในเมื่อช้างป่าอันควาญช้างร้องเรียกอยู่ด้วยวาจาซึ่งไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักใคร่
จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมากปรารถนาและชอบใจเห็นปานนั้นแล้ว
จึงสำเหนียกด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ควาญช้างจึงเพิ่มอาหาร
คือหญ้าและน้ำให้ช้างนั้นยิ่งขึ้น. ในเมื่อช้างป่ารับอาหาร คือหญ้าและน้ำของควาญช้าง
ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า คราวนี้ช้างป่าจักเป็นอยู่ได้ละ
จึงให้ช้างนั้นฝึกงานเพิ่มขึ้นด้วยคำว่า รับไว้พ่อ วางลงพ่อ.
ในเมื่อช้างของพระราชาเป็นสัตว์ทำตามคำสั่ง
รับทำตามโอวาทของควาญช้างในการรับไว้และการวางลง
ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึกงานเพิ่มขึ้นด้วยคำว่า เดินหน้าพ่อ ถอยกลับพ่อ.
ในเมื่อช้างของพระราชาเป็นสัตว์ทำตามคำสั่ง
รับทำตามโอวาทของควาญช้างในการเดินหน้าและถอยกลับ
ควาญช้างจึงให้ช้างนั้น ฝึกงานเพิ่มขึ้นด้วยคำว่ายืนพ่อ เทาพ่อ.
ในเมื่อช้างของพระราชาเป็นสัตว์ทำตามคำสั่ง
รับทำตามโอวาทของควาญช้างในการยืนและการเทา
ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึกงานชื่ออาเนญชะ (ฝึกกลลวง ทำเป็นไม่เคลื่อนไหว) ยิ่งขึ้น
คือ ผูกโล่ใหญ่เข้าที่งวงช้างนั้น จัดบุรุษถือหอกซัด นั่งบนคอ
จัดบุรุษถือหอกซัดหลายคนยืนล้อมรอบ และควาญช้างถือของ้าวยาว ยืนข้างหน้า.
ช้างนั้นถูกควาญช้างให้ฝึกงานชื่ออาเนญชะอยู่ จึงไม่เคลื่อนไหวเท้าหน้า
ไม่เคลื่อนไหวเท้าหลัง ไม่เคลื่อนไหวกายเบื้องหน้า ไม่เคลื่อนไหวกายเบื้องหลัง
ไม่เคลื่อนไหวศีรษะ ไม่เคลื่อนไหวหู ไม่เคลื่อนไหวงา ไม่เคลื่อนไหวหาง
ไม่เคลื่อนไหวงวง จึงเป็นช้างหลวงทนต่อการประหารด้วย หอก ดาบ
ลูกศร และเครื่องประหารของศัตรูอื่น ทนต่อเสียงกึกก้องแห่งกลองใหญ่
บัณเฑาะว์ สังข์ และกลองเล็ก กำจัดโทษคดโกงทุกอย่างได้ หมดพยศ
ย่อมถึงความนับว่า เป็นช้างสมควรแก่พระราชา อันพระราชาควรใช้สอย
เป็นองค์สมบัติของพระราชา ฉันใด.


[๓๙๖] อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ตถาคตอุบัติในโลกนี้
เป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้
เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม
ตถาคตนั้นทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนโลกนี้อันเป็นกับด้วยเทวดา มาร
พรหม ทุกหมู่สัตว์ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ให้รู้ทั่ว
แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด
พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง.
คฤหบดีก็ดี บุตรของคฤหบดีก็ดี คนที่เกิดภายหลังในสกุลใดสกุลหนึ่งก็ดี
ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วย่อมได้ความเชื่อในตถาคต
เขาประกอบด้วยการได้ความเชื่อโดยเฉพาะนั้น จึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางโปร่ง
เรายังอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
ดุจสังข์ที่เขาขัดแล้วนี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด.
สมัยต่อมา เขาละโภคสมบัติน้อยบ้าง มากบ้าง และวงศ์ญาติเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง
ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต.
อัคคิเวสสนะ เพียงเท่านี้แล เขาชื่อว่าเป็นอริยสาวก อยู่ในโอกาสอันว่างแล้ว.
ความจริง เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ยังห่วงถิ่นคือกามคุณ ๕ อยู่
ตถาคตจึงแนะนำเธอนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า ภิกษุ มาเถิด
เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่
จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด.
อัคคิเวสสนะ ในเมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีศีล สำรวมปาติโมกขสังวร
ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ ย่อมเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายได้
ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งไปว่า ภิกษุ มาเถิด
เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลบาปธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์เถิด
เธอได้ยินเสียงด้วยโสตะแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมโสตินทรีย์ อันมีการได้ยินเสียงเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลบาปธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาโสตินทรีย์ ถึงความสำรวมในโสตินทรีย์เถิด
เธอดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมฆานินทรีย์ อันมีการดมกลิ่นเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลบาปธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาฆานินทรีย์ ถึงความสำรวมในฆานินทรีย์เถิด
เธอลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมชิวหินทรีย์ อันมีการลิ้มรสเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลบาปธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาชิวหินทรีย์ ถึงความสำรวมในชิวหินทรีย์เถิด
เธอถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมกายินทรีย์ อันมีการถูกต้องโผฏฐัพพะเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลบาปธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษากายินทรีย์ ถึงความสำรวมในกายินทรีย์เถิด
เธอรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ อันมีการรู้แจ้งธรรมารมณ์เป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลบาปธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์เถิด
เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง
ทำปัญญาให้ถอยกำลังนี้ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่


[๓๙๗] อัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนควาญช้างฝังเสาตะลุงใหญ่ลงในแผ่นดิน
ล่ามคอช้างป่าไว้มั่นคง เพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความดำริพล่านของสัตว์ป่า
แก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจ และความเร่าร้อนใจของสัตว์ป่า
เพื่อให้ช้างป่าเชือกนั้นอภิรมย์ในแดนบ้าน ให้บันเทิงในปกติที่มนุษย์ต้องการ ฉันใด
อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สติปัฏฐาน ๔ นี้ ชื่อว่าเป็นหลักผูกใจของอริยสาวก
เพื่อแก้ไขปกติอันอาศัยบ้าน แก้ไขความดำริพล่านอันอาศัยบ้าน
แก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจอันอาศัยบ้าน
เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง.


[๓๙๘] ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ภิกษุ มาเถิด
เธอจงเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เข้าประกอบกับกาย
จงเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เข้าประกอบกับเวทนา
จงเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เข้าประกอบกับจิต
จงเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เข้าประกอบกับธรรม
เธอย่อมบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกและวิจารสงบ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
ย่อมเป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติคลายไป
ย่อมบรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
เป็นผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่
ย่อมบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ได้
เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่.


[๓๙๙] เธอ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว
ย่อมน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสติญาณ
ระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในอดีตชาติได้เป็นอเนกประการ
คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง
สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง
ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายสังวัฏกัปบ้าง หลายวิวัฏกัปบ้าง
หลายสังวัฏวิวัฏกัปบ้าง ว่าในชาติโน้นเรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้
มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้
เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว บังเกิดในชาติโน้น แม้ในชาตินั้น
เราก็มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้
เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้
เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว จึงเข้าถึงในชาตินี้
เธอย่อมระลึกถึงขันธ์ที่อยู่อาศัยในอดีตชาติได้เป็นอเนกประการ
พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศเช่นนี้


[๔๐๐] เธอ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว
ย่อมน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณของสัตว์ทั้งหลาย
มองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
ทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้
ประกอบแล้วด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ
เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปจึงได้เข้าถึงอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้
ประกอบแล้วด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ
เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไปจึงได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เธอย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี
มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
เธอย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมเช่นนี้.


[๔๐๑] เธอ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว
ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์
รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ
นี้ความดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับอาสวะ
เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ
แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ. เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.


[๔๐๒] ภิกษุนั้นเป็นผู้อดทนคือ มีปกติอดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน
ความหิว และความกระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด
และสัตว์เลื้อยคลาน ต่อคำพูดที่กล่าวร้าย ใส่ร้าย
ต่อเวทนาประจำสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นทุกข์ กล้า แข็ง เจ็บแสบ
ไม่สบอารมณ์ ไม่เป็นที่ชอบใจ พอจะสังหารชีวิตได้
เธอเป็นผู้กำจัดราคะ โทสะ โมหะทั้งปวงได้ หมดกิเลสเพียงดังน้ำฝาดแล้ว
เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน
ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอมเยี่ยมของโลก.


[๔๐๓] อัคคิเวสสนะ ถ้าช้างหลวงแก่ ที่ไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดล้มลง
ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงแก่ล้มตายไปอย่างมิได้ฝึก
ถ้าช้างหลวงปูนปานกลาง ที่ไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด ล้มลง
ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงปูนปานกลางล้มตายไปอย่างมิได้ฝึก
ถ้าช้างหลวงปูนหนุ่มที่ไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด ล้มลง
ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงหนุ่มล้มตายไปอย่างมิได้ฝึก ฉันใด
อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าภิกษุเถระยังไม่สิ้นอาสวะ ทำกาละลง
ก็ถึงความนับว่า ภิกษุเถระทำกาละตายไปอย่างไม่ได้ฝึก
ถ้าภิกษุมัชฌิมะยังไม่สิ้นอาสวะ ทำกาละลง
ก็ถึงความนับว่า ภิกษุมัชฌิมะทำกาละตายไปอย่างไม่ได้ฝึก
ถ้าภิกษุนวกะยังไม่สิ้นอาสวะ ทำกาละลง
ก็ถึงความนับว่า ภิกษุนวกะทำกาละตายไปอย่างไม่ได้ฝึก.


[๔๐๔] อัคคิเวสสนะ ถ้าช้างหลวงแก่ที่ฝึกดี หัดดีแล้ว ล้มลง
ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงแก่ล้มตายไปอย่างฝึกแล้ว
ถ้าช้างหลวงปูนปานกลางที่ฝึกดี หัดดีแล้ว ล้มลง
ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงปูนปานกลางล้มตายไปอย่างฝึกแล้ว
ถ้าช้างหลวงปูนหนุ่มที่ฝึกดี หัดดีแล้ว ล้มลง
ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงปูนหนุ่มล้มตายไปอย่างฝึกแล้ว ฉันใด
อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ถ้าภิกษุเถระสิ้นอาสวะแล้ว ทำกาละลง
ก็ถึงความนับว่า ภิกษุเถระทำกาละตายอย่างฝึกแล้ว
ถ้าภิกษุมัชฌิมะสิ้นอาสวะแล้ว ทำกาละลง
ก็ถึงความนับว่า ภิกษุมัชฌิมะทำกาละตายอย่างฝึกแล้ว
ถ้าภิกษุนวกะสิ้นอาสวะแล้ว ทำกาละลง
ก็ถึงความนับว่า ภิกษุนวกะทำกาละตายอย่างฝึกแล้ว.


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
อจิรวตสมณุทเทสได้ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.


ทันตภูมิสูตร จบ



(ทันตภูมิสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๓)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP