ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปฐมเคลัญญสูตร ว่าด้วยควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะในเวลาเจ็บป่วย


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๓๗๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา
ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น
พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังศาลาคนไข้
แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ รอกาลเวลา
นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ.


[๓๗๕] ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างนี้แล.


[๓๗๖] ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัว ในการก้าวไป ในการถอยกลับ
ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการแล ในการเหลียว
ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า เหยียดออก
ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร
ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม
ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะรอกาลเวลา
นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ.


[๓๗๗] ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท
มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น
เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เราแล
ก็แต่ว่าสุขเวทนานั้นอาศัยกันจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยกันไม่เกิดขึ้น
อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น
ก็สุขเวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง
อาศัยกันเกิดขึ้นแล้วจึงเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน
ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป
ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่
เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป
ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่
ย่อมละราคานุสัยในกายและในสุขเวทนาเสียได้.


[๓๗๘] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น
เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนานี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็แต่ว่าทุกขเวทนานั้น อาศัยกันจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยกันไม่เกิดขึ้น
อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง
ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็ทุกข์เวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง
ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้นแล้ว จึงบังเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน
ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป
ความดับ ความสละคืนในกายและในทุกขเวทนาอยู่
เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป
ความดับ ความสละคืนในกายและในทุกขเวทนาอยู่
ย่อมละปฏิฆานุสัยในกายและในทุกขเวทนาเสียได้.


[๓๗๙] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีใจเด็ดเดียวอยู่อย่างนี้ อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น
เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า อทุกขมสุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็แต่ว่าอทุกขมสุขเวทนานั้นอาศัยกันจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยกันไม่เกิดขึ้น
อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น
ก็อทุกขมสุขเวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง
อาศัยกันเกิดขึ้นแล้วจึงบังเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน
ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป
ความดับ ความสละคืนในกายและในอทุกขมสุขเวทนาอยู่
เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป
ความดับ ความสละคืนในกายและในอทุกขมสุขเวทนาอยู่
ย่อมละอวิชชานุสัยในกายและในอทุกขมสุขเวทนาเสียได้.


[๓๘๐] ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง
ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง
ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง
ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น
ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น
ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นสุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่าเมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลิน
จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว.


[๓๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน
อาศัยน้ำมันและไส้จึงโพลงอยู่ได้
เพราะสิ้นน้ำมันและไส้ ประทีปนั้นไม่มีเชื้อพึงดับไปฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนั้น ถ้าเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลิน
จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว.


ปฐมเคลัญญสูตร จบ



(ปฐมเคลัญญสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๙)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP