ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

มีวิธีแก้ความกลัวสัตว์ต่างๆบ้างไหม



ถาม - เหตุใดบางคนจึงกลัวสัตว์บางอย่าง เช่น หนู แมลงสาบ จิ้งจก ฯลฯ แบบไม่มีที่มาที่ไป
เกี่ยวกับกรรมอะไรหรือเปล่าคะ แล้วพอจะมีวิธีแก้ความกลัวเหล่านี้ไหม



ผมก็ได้ยินมาเยอะนะเรื่องของความกลัวสัตว์บางประเภท
แบบที่บางคนนี่คือไม่ได้กลัวสิ่งที่น่าขยะแขยง
ผมเพิ่งได้ยินมาไม่นาน อาจจะเป็นแค่ประมาณว่านกหรือว่าอะไรสักอย่างในบ้านนะ
ที่มีลักษณะไม่ได้น่ากลัว ไม่ได้น่ารังเกียจอะไร
แต่เห็นแล้วรู้สึกว่ามีอาการใจทุรนทุราย มีอาการกระสับกระส่ายร้อนรนเป็นพิเศษ



ก็มีความผูกพันบางอย่างที่บางทีอาจไม่ต้องสืบไปข้ามชาติก็ได้
ถ้าเรามองย้อนไปขุดไป ในอดีต วัยเด็ก
เราอาจจะเคยกระทบ มีประสบการณ์อะไรบางอย่างกับสัตว์บางชนิด
ที่ทำให้รู้สึกว่าภาพแบบนั้น ลักษณะรูปพรรณสัณฐานแบบนั้น
มันรบกวนจิตใจเราได้แรงเป็นพิเศษนะครับ
ก็เป็นเรื่องของความฝังใจ ความยึดของจิตนะที่ปรุงแต่งไปในทางไม่ชอบ
ปรุงแต่งไปในทางรังเกียจ ปรุงแต่งไปในทางที่อยากจะไม่ให้มันมีอยู่ในโลกนี้
แล้วยิ่งไปย้ำกับตัวเอง ตอกย้ำว่าไอ้นี่เราไม่ชอบ ไอ้นี่เราเกลียด
เห็นทีไรมันยึดอยู่ในความรู้สึกไม่ชอบใจ มีความกลัว มีความรังเกียจอย่างใหญ่หลวง
ตรงนี้มันก็จะเหมือนกับขันเกลียวให้แน่นยิ่งๆ ขึ้นไปในแต่ละครั้ง ในแต่ละวัน


คือจำไว้นะว่าปมทางใจ ถ้าเราไปผูก เราไปฝัง ไปยึดแน่น
กับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ยิ่งเห็นมันยิ่งยึดมากเข้าไปอีกๆ นี่นะ
ในที่สุดแล้วมันเหมือนกับเราผูกใจของตัวเองเข้ากับความปรุงแต่งชนิดที่เป็นลบ
ชนิดที่มีความมืด ชนิดที่ทำให้รู้สึกเหมือนกับจะทนไม่ได้ ไม่สามารถทน
มันจะมีความดิ้นรนมากขึ้นทุกทีๆ

นี่เป็นธรรมชาติ เป็นกลไกของจิตอย่างหนึ่งนะครับ


แต่ถ้าจะเอาเรื่องกรรม เรื่องวิบาก มันก็มีอยู่นะ
คือตัวอย่างในพระไตรปิฎกก็เคยกล่าวถึงนะ
สมมติว่าเคยเป็นช้างด้วยกัน
แล้วต่อมามาเกิดเป็นคน แล้วก็ยังมีความรู้สึกชิงชัง
มีความรู้สึกฝังใจอยู่กับความแค้นในการเป็นช้าง
เห็นช้างแล้วก็จะรู้สึกทนไม่ได้ อยากฆ่าอะไรแบบนี้
ก็อย่างนี้ก็มี แต่เป็นเรื่องเล่า ซึ่งเราคงจะได้แต่พูดกันนะครับ
ว่าคงมีอะไรอย่างหนึ่งที่ทำให้เราจะต้องมาตั้งข้อรังเกียจ
หรือว่ามีมุมมองที่ไม่ดีกับสัตว์แบบใดแบบหนึ่ง
อะไรๆ นี่นะมันไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
หรือว่าจะมาเริ่มต้นนับหนึ่งเอาชาตินี้อย่างเดียว



แต่อย่างไรก็ตามนะ จะด้วยเหตุอันใดที่เราลืมไปแล้วก็ตาม
เราสามารถที่จะมองเห็นได้ว่าทุกครั้งที่เราเกิดความรังเกียจ
หรือว่าตาไปกระทบเข้ากับสัตว์ชนิดที่เรากลัว
หรือว่าเกิดความรู้สึกชิงชังอยากออกห่างนะ
ให้มองเข้าไปที่ใจนั่นแหละ
ว่ามันเหมือนมีอาการขันเกลียวให้เกิดความแน่น

นึกออกไหม เวลาเราอยู่ปกติ ใจจะสบายๆ อยู่ใช่ไหม
แต่หากว่าไปเจอเข้ากับอะไรที่เรารังเกียจ อย่างคนทั่วไปก็จะเป็นพวกงู
เห็นแล้วเกิดความรู้สึกราวกับว่าจะเป็นจะตายขึ้นมา
ทั้งๆ ที่มันอยู่ออกห่าง แล้วก็ไม่ได้มีทีท่าจะเคลื่อนไหวเข้ามาทำร้ายเรา
แต่เราก็รู้สึกราวกับว่าเกือบๆ จะโดนมันทำร้ายอยู่แล้ว
อะไรแบบนี้ มันเป็นการปรุงแต่งของใจนะ ที่ถูกกระทบแล้วเกิดความบาด
มีตัวความมืด มีตัวความเร่าร้อนทุรนทุรายนะ
พูดง่ายๆ มีโทสะเกิดขึ้นเต็มที่



ตัวโทสะไม่ใช่โกรธหรือโมโหเสมอไปนะ
แต่มีความขัดเคือง มีความไม่ชอบ มีความอยากจะทำลายทิ้ง
ลักษณะของใจแบบนี้ มันเป็นอาการยึดแน่นที่เกิดจากของแรงดันของโทสะ
ถ้าหากว่าเรารู้เข้าไปทุกครั้ง ไม่ใช่จะต้องรู้อะไรให้ละเอียดมากมายนะ
เอาแค่ความรู้สึกเหมือนกับใจนี่มันถูกขันเกลียวให้แน่นขึ้นแบบผิดปกติ
จากเดิมที่สบายๆ อยู่ พอตาไปประจวบกับรูปที่ไม่น่าพอใจปุ๊บ
มันเกิดอาการขันเกลียวขึ้นทันที
ตัวนี้นะ เห็นบ่อยๆ แล้วจะเริ่มรู้สึกถึงอาการคลาย
เพราะปกติมันสร้างแต่ความเคยชินที่จะขันเกลียวให้แน่นขึ้นไง
มันมีแต่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร หรือว่าปลอบใจตัวเองอย่างไร
หรือว่าหาคำอธิบายอะไรมา
บางทีก็จะไปขุดค้นเอาเกี่ยวกับเรื่องของวิบากเก่า วิบากอันเกิดจากกรรมเก่า
ซึ่งแบบนั้นถึงแม้เรารู้ก็ตามนะว่าเคยทำกรรมกับอะไรมา
บางทีก็ไม่ได้มีประโยชน์มากนัก
เพราะว่าตัวของใจอย่างไรนี่ มันก็จะปรุงแต่งไปในทางขันเกลียวให้แน่นขึ้นอยู่ดี



ทีนี้ถ้ามีสติ เจริญสติให้มันดีขึ้นนะครับ
แล้วเห็นอาการทางใจที่ขันเกลียวแน่นเข้าไปปุ๊บนะ
ยังไม่สามารถเอาออกมาได้ก็จริงแหละ
แต่พอเห็นแล้ว เห็นบ่อยๆ มันจะเกิดความฉลาดขึ้นทีละครั้งทีละหน
มันก็จะค่อยๆ รู้สึกขึ้นมาเองว่า เออ ที่มันขันเกลียวแน่นเข้าไป
ที่มันมีอาการผูก มีอาการยึด มีอาการเหมือนกับจะเป็นจะตายขึ้นมา
เป็นแค่อาการปรุงแต่งของจิต



ส่วนใหญ่นะ ๙๙% เลย ที่เราเจอสัตว์ที่น่ารังเกียจ
มันจะเป็นการปรุงแต่งไปเอง คิดไปเอง
แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร
ก็นี่แหละตรงนี้แหละ เห็นเข้าไปเฉยๆ นะ
ว่ามีอาการขันเกลียวแน่นขึ้นมาแบบผิดปกติ
พอเห็นหลายๆ ครั้ง จิตจะฉลาดขึ้นมาเอง ทดลองดู



มันเป็นเรื่องของความฉลาดความโง่ของจิต
ไม่ใช่ความฉลาดความโง่ของความคิดของเรานะ
ไม่ใช่ตัวตนของเราจะไอคิวสูงหรือไอคิวต่ำ
แต่มันเป็นเรื่องความฉลาดความโง่ของจิต
ที่เข้าไปสร้างความเคยชินที่จะผูกยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ไม่ใช่เฉพาะกรณีของสัตว์ แม้แต่ในกรณีของคนกับคน หรือคนกับเหตุการณ์
พอเราไปตั้งความชอบหรือความชังเข้าไว้แล้วนะ
พอประจวบกับความไม่น่าชอบใจนั้นๆ แบบนั้นๆ ที่เราเคยชิน
ก็จะเกิดอาการทางใจที่มีความเคยชินไปในทิศทางเดียวกันเช่นกัน



อย่างคนยุคเรา เรื่องสื่อเรื่องอะไรมันจะกว้าง แล้วก็กระทบกับคนได้มาก
อย่างเรื่องการเมือง เรื่องอะไรนี่
พอฟังถึงเรื่องของฝ่ายตรงข้ามที่เราตั้งเป้าไว้ว่าเป็นปฏิปักษ์กับเรานะ
ฟังปุ๊บยังไม่ทันรู้รายละเอียดอะไรทั้งสิ้น เกิดอาการเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาแล้ว
เกิดอาการเหมือนกับจะเต้นผางเป็นเจ้าเข้าขึ้นมาแล้วนะ เกิดอาการอยากด่าขึ้นมา

นี่ตัวนี้ ก็ลองสังเกต มันเป็นอาการแบบเดียวกัน
กับที่เรานึกรังเกียจสัตว์แบบใดแบบหนึ่ง
ยังไม่ทันที่เขาจะมามีทีท่าว่าจะทำอะไร หรือว่าแสดงอาการจะทำร้ายอะไร
เรารู้สึกเหมือนถูกทำร้ายเข้าไปแล้ว เพียงแค่ได้ยิน เพียงแค่ได้เห็น


ตรงนี้ก็ถ้าสังเกตอาการทางใจของเราไปเรื่อยๆ
มันก็จะเหมือนเห็นทางออก เหมือนกับจะหาทางออกจากความยึดมั่นถือมั่นได้

คล้ายๆ กับคนที่รู้ตัวว่าอันนี้เรากำขึ้นมา กำก้อนหิน กำอะไรขึ้นมาเฉยๆ
โดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่มีความสำคัญอะไรมากพอที่จะต้องกำ แต่เราก็กำ
พอเห็นบ่อยๆ เข้า เอ๊ะ นี่กำไปทำไม นี่จะยึดไปทำไม
จิตฉลาดมากขึ้นมันก็ปล่อยออกไปเอง อันนี้เป็นหลักการเดียวกัน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP