สารส่องใจ Enlightenment

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๑




คนสนใจในธรรมมากในวัดในวาในสถานที่สงบงบเงียบ
สถานที่ร่มเย็นเป็นสุขด้วยอรรถด้วยธรรม มีมากเท่าไรก็ส่อให้เห็นชัดขึ้นว่า
บ้านเมืองจะมีความสงบเย็นมากเพียงนั้น
แต่ถ้ามากในสถานที่ไม่ควรมาก นั่นแลมีมากเท่าไรก็ส่อให้เห็นว่า  
บ้านเมืองจะมีความเดือดร้อนวุ่นวาย
ถึงขนาดฉิบหายล่มจมไปได้เพราะคนมีมากในสถานที่เช่นนั้น
นี่หลวงตาบัวไม่ได้เรียนมาก จะอธิบายให้แจ้งชัดก็อธิบายไม่ได้
ให้พากันไปแจงเอาเอง นี้เป็นนักศึกษาเป็นนักเรียนทั้งนั้น
ให้เอาภาคปฏิบัติธรรมบรรจุเข้าในใจบ้าง
ใจจะได้มีเหตุผลรักษาตัวไม่เสียไปอย่างง่ายดาย



สถานที่ที่จะให้ความร่มเย็นเป็นสุข ผู้คนมาเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงไร
ก็ยิ่งให้ความร่มเย็นเป็นสุขมากน้อยเพียงนั้น
แต่ถ้าสถานที่ที่จะให้ความเดือดร้อนวุ่นวาย
และให้กิเลสราคะตัณหากำเริบเสิบสาน
ซึ่งจะนำผลเป็นความฉิบหายล่มจมมาสู่ส่วนรวมแล้ว
คนไปเกี่ยวข้องมากเท่าไรยิ่งส่อให้เห็นฤทธิ์เดชของมันว่าจะมีมากเพียงนั้น
อุ๊ย ลำบากนะก็หลวงตาไม่ได้เรียนนี่
เรียนแค่หางอึ่งนี่จะไปอธิบายให้กว้างขวางและพิสดารได้อย่างไร
ครูชั้น ก.ไก่ ก.กา จะไปให้คะแนนตัดคะแนนลูกศิษย์ชั้นปริญญามีอย่างที่ไหน
นี่ก็แบบเดียวกันนั่นแล เอาไปแปลเองนะ



ที่พูดนี้คือสถานที่อบรมอรรถธรรม
ธรรมเป็นแบบเป็นฉบับที่ให้ความถูกต้องดีงามแก่ผู้มาเกี่ยวข้อง
เพราะธรรมนี้เคยเป็นแบบเป็นฉบับของโลกมานานแสนนาน
ผลของธรรมให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขถึงขนาดที่บรมสุข
ธรรมนี้ไม่มีอัดมีอั้น ถึงขั้นบรมสุขหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง
ฉะนั้นผู้สนใจในธรรมจึงเท่ากับเป็นผู้สนใจในความสงบร่มเย็นต่อกัน
คนเราเมื่อมีธรรมในใจแล้ว
ย่อมมีโอกาสที่จะมองดูสิ่งเกี่ยวข้องทั้งหลายได้ด้วยความมีเหตุมีผลหนักเบา
และให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน ไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว
เป็นความเห็นรอบด้าน เขาก็เห็นรอบด้าน เราก็เห็นรอบด้าน เพราะคิดรอบด้าน
เนื่องจากธรรมสอนให้คิดรอบด้านด้วยความรอบคอบ
ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัว



ธรรมจึงมีคุณค่าและความละเอียดลึกซึ้งเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่มีอะไรที่จะรอบคอบยิ่งกว่าความมีธรรมในใจ
ผู้ปฏิบัติธรรม รู้ธรรม เห็นธรรมจึงเป็นผู้รอบคอบ
และให้ความร่มเย็นแก่ตนและผู้อื่น
เต็มความสามารถของตนที่รู้ธรรมเห็นธรรมทางภาคปฏิบัติ
เพราะธรรมนี้จะให้ปรากฏผลอย่างเด่นชัดประจักษ์ใจ
ต้องเกี่ยวกับภาคปฏิบัติด้วยนะ
มีแต่เรียนเฉยๆ ก็เป็นความจดจำความบอกเล่า
จดจำมาได้ถ้าไม่ได้ปฏิบัติให้เกิดผลก็มาอยู่แค่นี้
ถ้าไม่คิดปรุงไม่ระลึกออกมาก็ไม่ปรากฏ
คิดปรุงออกมาระลึกออกมาในบทใดคัมภีร์ใดเรื่องราวใด
ถึงจะมาปรากฏตามที่ระลึกได้



บางอย่างหัวใจเรามันก็ฝืนไม่อยากทำตาม
ธรรมท่านว่าอย่างนั้นๆ เราเรียนมาจำได้ว่าอย่างนั้นๆ
เช่นว่าให้ละชั่วทำดีอย่างนี้
แต่ใจมันไม่อยากละชั่วแต่อยากทำชั่ว ให้ทำดีมันไม่อยากทำดี
กลับหันหลังให้ความดี ทั้งๆ ที่เราจำได้ตามธรรมที่เรียนมานั่นแล
เพราะฉะนั้น ความจำกับความจริงจึงต่างกัน ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติ
เพราะพระพุทธเจ้าที่จะได้ธรรมมาสอนโลก
ท่านก็ได้มาจากภาคปฏิบัติ ไม่ได้มาจากภาคความจำ
ความจำนี้มาทีหลังภาคปฏิบัตินะ
พวกเรานี้ความจำมาก่อน ภาคปฏิบัติมาที่ ๒ ที่ ๓ คือยังไง
ก็เราต้องไปศึกษาเล่าเรียนเสียก่อน
พอรู้เข็มทิศทางเดินแบบแปลนแผนผังเรียบร้อยแล้ว
เราถึงจะมาดำเนินตามแบบแปลนนั้นๆ ที่เราเรียนมาจำได้มา
นี่จึงเรียกว่าภาคปฏิบัติเกิดทีหลังของภาคจดจำ
ภาคปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียน



แต่พระพุทธเจ้านั้นท่านกลับตรงกันข้าม ท่านปรากฏในภาคปฏิบัติก่อนแล้ว
จึงสอนออกมาให้โลกทั้งหลายได้จดจำแล้วนำไปปฏิบัติอีกทีหนึ่ง
นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติเป็นที่สองของปริยัติ
ส่วนพระพุทธเจ้านั้นเป็นภาคปฏิบัติก่อน
ผลเกิดขึ้นมาจากภาคปฏิบัติ จนปรากฏประจักษ์พระทัย
ถ้าว่าเรื่องของกิเลสก็ฆ่ากิเลสเรียบร้อยแล้ว
จึงได้มาบอกวิธีฆ่าหรือชำระกิเลสแก่โลก
ว่าเราฆ่ากิเลสด้วยวิธีนั้น เราสังหารกิเลสด้วยวิธีนั้น
เราบำเพ็ญคุณงามความดีด้วยวิธีนั้นๆ
นี่พระองค์เจอมาแล้วทำมาแล้วจึงได้นำธรรมนี้มาสอนโลก
จึงเรียกว่า ภาคปริยัติมาที่สอง
คือภาคจดจำภาคศึกษาจากพระพุทธเจ้ามาที่สอง



พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาก่อนด้วยอานาปานสติ
นี่แลรากฐานสำคัญที่จะให้เกิดความเป็นศาสดาขึ้นมาในเบื้องต้น
ท่านทรงกำหนดอานาปานสติ
พอกำหนดอานาปานสติคือลมหายใจเข้าลมหายใจออก
เรียกว่า อานาปานสติ
สติๆ แปลว่าระลึกรู้ตามลมที่เข้าและออก เข้าออกๆ รู้อยู่
ให้ความรู้สืบเนื่องกันอยู่กับลมที่เข้าและออก
ไม่ให้ความรู้ส่งไปหากิจการงานใดๆ ทั้งนั้น
ให้มีแต่ลมกับความรู้สัมผัสกันในเวลานั้น



เมื่อสืบเนื่องกันอยู่ด้วยความรู้กับลมไม่ขาดวรรคขาดตอน
จิตที่เคยฟุ้งซ่านรำคาญไปในที่ต่างๆ ก็สงบตัวเข้ามาๆ
ถ้าเทียบแล้วก็เหมือนเราดึงจอมแหที่ตากไว้ จับจอมแหดึงเข้ามา
มันจะย่นเข้ามาหดเข้ามาๆ ทุกด้านของตีนแห
จนกระทั่งแหทั้งผืนนั้นรวมกันเป็นก้อนหนึ่ง นี่ก้อนแห
กระแสของจิตที่ซ่านไปรอบด้านก็เหมือนกับตีนแหที่เราตากเอาไว้
พอจับจอมแห คือหมายความว่าความรู้นั่นเปรียบกับจอมแหนะ
ความรู้กับสติจดจ่อกันอยู่ตรงนี้ เรียกว่าจับจอมแหแล้วนั่น
ทีนี้ความรู้ทั้งหลายที่ซ่านอยู่ก็ค่อยๆ หดตัวเข้ามาๆ
จนกระทั่งถึงจุดสงบ เหมือนกับแหเมื่อจับจอมแหดึงขึ้นมาแล้ว
มันก็รวมตัวเข้ามาเป็นก้อนแหกองเอาไว้อย่างนี้



นี่ความรู้ก็เป็นจุด เมื่อรวมตัวเข้ามาแล้วเป็นจุด คือจุดแห่งผู้รู้
และคำว่าจุดแห่งผู้รู้นี้มีกว้างขวางอยู่ไม่น้อยนะ
แต่เราจะอธิบายเพียงย่อๆ พอให้เป็นปากเป็นทางของผู้ปฏิบัติ
คือจุดที่ว่านี้ เหมือนกับกองแหนี้ เป็นจุดแห่งความรู้
แหไม่มีความรู้เป็นแต่ข้อเปรียบเทียบเฉยๆ
อันนี้เป็นความรู้เด่นอยู่ในจุดนั้น เพราะอานาปานสติ กำหนดภาวนา
พระพุทธเจ้าของเราท่านทำอย่างนั้น
พอปรากฏนี้แล้วจิตสงบ จิตของพระพุทธเจ้าสงบ
สมาธิ ปัญญาขึ้นมาในระยะเดียวกันๆ
สมเหตุสมผลกับว่าขิปปาภิญญา ที่จะตรัสรู้เร็วในคืนวันนั้น
พอบำเพ็ญถูกทางคืนเดียวเท่านั้นก็ไปอย่างรวดเร็ว
สมถะคือความสงบ
สมาธิ คือความสงบแน่นหนามั่นคงของใจก็เกิดขึ้นในเวลานั้น
วิปัสสนาความรู้แจ้งแทงทะลุก็เกิดขึ้นในเวลานั้น
เหมือนกับต้นเกิดแล้ว แขนงเกิด กิ่งก้านสาขาเกิด ดอกเกิด ผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว



พอปฐมยามจิตก็หยั่งทราบเหตุการณ์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว
คือจิตดูร่องรอยที่ผ่านมาของตัวเอง
ความรู้ที่เป็นจุดอยู่นี้กระจายกระแสแห่งความรู้ออกไปอย่างละเอียด
จนกลายเป็นญาณ ไม่ใช่ปัญญาธรรมดา
ปัญญาธรรมดายังหยาบกว่าญาณ
พระญาณนี้หยั่งทราบละเอียดทั่วถึง
แล้วตามดูร่องรอยที่เคยเป็นมาของจิต
คำว่าร่องรอยคือความเป็นมาของจิตว่า
ออกจากภพไหนๆ ถึงได้มาเป็นอย่างนี้เรื่อยมา
ท่านว่าท่านบรรลุหรือตรัสรู้บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ระลึกชาติย้อนหลังได้ ชาติของพระองค์ที่เคยเป็นอะไรๆ
ในปฐมยามคือยามแรก ๔ ทุ่ม ตั้งแต่ ๑ ทุ่มถึง ๔ ทุ่มเรียกว่ายามแรก
มัชฌิมยามก็ตั้งแต่ ๕ ทุ่มเรื่อยไปถึงตี ๒ ตี ๓ เรื่อยไปถึงตี ๔ เป็นปัจฉิมยาม



นี่ละในปฐมยามนี้ทรงหยั่งทราบ คือตามรอยของพระองค์
ตามรอยของเจ้าของนั่นแหละ ไปเกิดยังไง
ไปยังไงมายังไงจิตดวงนี้ในปัจจุบันนี้จึงเป็นอย่างนี้ ตามไปๆ รู้ไปเห็นไปหมด
เคยตกนรกหมกไหม้ที่ตรงไหนๆ หลุมไหนต่อหลุมไหน
เกิดเป็นเปรตเป็นผีเป็นสัตว์นรกเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นอินทร์เป็นพรหม
เกิดไปตรงไหนๆ ตามรู้หมดร่องรอยของจิตดวงนี้
นี่ท่านเรียกว่าบรรลุบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ระลึกชาติย้อนหลังได้ กี่ภพกี่ชาติได้ทั้งนั้น
นี่ละผลของการภาวนาอานาปานสติของพระพุทธเจ้าเรา



อันหนึ่งเรียกว่าจิตสงบ เมื่อจิตสงบแล้วอารมณ์ยุ่งกวนไม่มี
เพราะส่วนมากเราอยากจะพูดว่าร้อยทั้งร้อยตัวเจ้าของกวนเจ้าของ
ไม่ใช่สิ่งนั้นมากระทบกระเทือน ไม่ใช่สิ่งนั้นมายุสิ่งนั้นมาแหย่ให้เกิดอารมณ์
สิ่งนั้นเป็นแต่เพียงเห็น เป็นแต่เพียงได้ยิน
แต่การสร้างอารมณ์นั้นเป็นเรื่องของใจสร้างอารมณ์ขึ้นแก่ตัวเอง
อารมณ์ที่ชอบใจก็ว่าดี อารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็ว่าไม่ดีไม่พอใจ
ทั้งพอใจและไม่พอใจเป็นเครื่องเขย่าจิตให้ขุ่นให้มัวได้ด้วยกันทั้งนั้น
จิตที่หาความสงบไม่ได้เพราะเจ้าของกวนตัวเองนั่นแล



นี่เราพูดถึงเรื่องการภาวนาอานาปานสติของพระพุทธเจ้า
ว่าในปฐมยามท่านรู้อย่างนั้น
พอในมัชฌิมยามก็บรรลุจุตูปปาตญาณ
ในปฐมยามนั้นทรงตามร่องรอยของพระองค์เอง
จนทราบตลอดทั่วถึงว่าเคยเกิดมายังไงๆ จนถึงปัจจุบัน คือบัดนี้
ทีนี้ในมัชฌิมยามคือ เที่ยงคืน ตั้งแต่ ๕ ทุ่มไปแล้วก็พิจารณาว่า
ความเป็นมาของเราก็เป็นอย่างนี้
การเกิดการตายของเรานี้ไม่มีหยุดมียั้ง ไม่มีเวลาพักผ่อนหย่อนตัวเลย
มีเกิดมีตายอยู่ในภพนั้นภพนี้ ไม่ว่าภพสูงภพต่ำ ไม่ว่านรกอเวจีที่ไหนไปได้หมด
เพราะอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่วพาให้เป็นไป



ทรงพิจารณาว่าจิตอันนี้มีแต่เราดวงเดียวเท่านั้นหรือที่เป็นอย่างนี้
จากนั้นก็พิจารณาและทรงทราบด้วยพระญาณว่า
จิตสัตว์ทั้งหลายดวงไหนก็ตาม วิญญาณดวงใดก็ตาม
ย่อมเป็นจิตที่หมุนไปเวียนมาแบบเดียวกันนี้
นั่นท่านว่าจุตูปปาตญาณ
ทราบความเคลื่อนความเกิดความตายของสัตว์ทั้งหลายว่า
เป็นแบบเดียวกันกับของเราที่เป็นอยู่เวลานี้
นี่มัชฌิมยามทรงรู้ทรงเห็นอย่างนี้ชัดเจนว่า
จิตวิญญาณดวงใดไม่มีความเป็นอิสระ มีแต่ความถูกบีบบังคับขับไสอยู่อย่างนั้น
ถ้าเป็นความดี-กรรมดี ก็หนุนให้ไปสู่ทางสูงไปสู่ทางดี
ถ้าเป็นกรรมไม่ดีก็ผลักดันให้ลงสู่ทางต่ำเรื่อยไป ทางต่ำเท่าไรก็ยิ่งไหลลงไปเลย



เมื่อพิจารณาดูเห็นร่องรอยของสัตว์ทั้งหลายแต่ละดวงวิญญาณๆ นี้
เป็นอย่างเดียวกันกับพระองค์แล้ว
ก็ทรงหายสงสัยในความเป็นมานี้ว่าเป็นเหมือนกัน
ทีนี้ประมวลเรื่องทั้งสองนี้ คือทั้งวิญญาณของเราและวิญญาณของสัตว์โลกทั้งหลาย
มันมีอะไรพาให้เกิดพาให้เป็นอย่างนี้ มันถึงได้เป็นทั้งเขาทั้งเราทั่วหน้ากันหมด
ไม่มีวิญญาณดวงใดได้เป็นอิสระมีอิสระเป็นของตัว
ทำไมถึงได้เป็นอย่างนี้ด้วยกันหมด มีอะไรเป็นสาเหตุ
นั่นท่านเรียกว่าการพิจารณาปัจจยาการปฏิจจสมุปบาท



พิจารณาปัจจยาการคือรากฐานที่พาให้สัตว์เกิดคืออะไร
ท่านก็ขึ้น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา
อวิชชานั้นแลเป็นเชื้อฝังอยู่อย่างลึกภายในจิตใจดวงนั้นๆ
จึงทำให้จิตดวงใดๆ ก็ตามที่มีอวิชชานี้ฝังจมอยู่นั้น ต้องได้เกิดได้ตายเหมือนกันหมด
เมื่อพิจารณาสาเหตุว่าเป็นมาจากอวิชชา
แล้วรากแก้วของอวิชชามันมีอะไร ตามเข้ามาๆ
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ..
จนกระทั่งถึง เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.
ทุกสิ่งทุกอย่างต่อจาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ไปนี้ เป็นกิ่งเป็นก้านเป็นแขนงไป
ล้วนแล้วแต่เป็นตัวสมุทัย สาเหตุให้เกิดภพเกิดชาติเกิดกิเลสตัณหาทั้งนั้น



ก็พิจารณาตามเข้ามาๆ
จนถึงรากฐานของอวิชชาที่ฝังจมอยู่ในจิตและทำลายกันที่ตรงนี้
อวิชชาขาดลงไป ท่านบอกว่า อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ.
จนกระทั่ง นิโรโธ โหติ.
ทีนี้เมื่ออวิชชาดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับต้นไม้
เมื่อรากแก้วมันถอนพรวดขึ้นมาแล้ว
ไม่ว่ากิ่งก้านสาขาดอกใบก็ตายไปด้วยกันหมด ไม้ต้นนั้นตายด้วยกันหมด
นี่ก็เหมือนกันเมื่ออวิชชาได้ขาดสะบั้นออกจากจิตใจแล้ว
เรื่องภพชาติขาดไปตามๆ กันหมดไม่มีอะไรเหลือเลย
นั่นท่านเรียกว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมในปัจฉิมยาม อย่างที่ว่าตรัสรู้ธรรม
ตรงนี้เองที่ตรัสรู้คือตรัสรู้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา
เบื้องต้นก็ตรัสรู้บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ที่สองก็ตรัสรู้ จุตูปปาตญาณ
ที่สามก็ตรัสรู้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ขาดสะบั้นออกจากใจ
เป็นศาสดาเอกขึ้นมาในโลก



จิตดวงนี้แล พากันจำเอานะ
นี่เรื่องร่องรอยของมัน อู๊ย หาไม่จบไม่สิ้นไม่สุดแหละ
เพราะมันกว้างแสนกว้าง ยาวแสนยาว
เกิดแล้วตายเล่า เกิดแล้วตายเล่า ๑....๒....๓.... อยู่ตลอด
ไม่มีคำว่าย่นลงมา ๓....๒....๑ ไม่มี
มีแต่ ๑....๒.....๓....๔....๕....๖....๗....๘....๙....๑๐....
คือเกิดภพนี้หนึ่ง เกิดภพนั้นสอง เกิดภพนี้สาม
สี่ ห้า หก เจ็ด ภพนั้นแปด ภพนั้นเก้าไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งถึงบัดนี้มีล้านๆ ภพ มันเกิดมาตั้งแต่เมื่อไรฟังซิ
พระพุทธเจ้าท่านว่าคำนวณต้นปลายไม่ได้
อย่าไปคำนวณนะต้นแห่งความเกิดของจิตวิญญาณดวงนี้มาจากทางไหน
หนึ่งของวิญญาณนี้ แล้วที่สุดของจิตวิญญาณดวงนี้ไม่มีอีกเหมือนกัน
ต้นก็ไม่มีปลายก็ไม่มีท่านว่า ถ้าไม่ทำลายที่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา
ถอดสลักของมันตัวสำคัญที่อยู่ภายในจิตนี้ออกเสียโดยสิ้นเชิงแล้วสิ้นสุดยุติ
หนึ่งก็เป็นชาตินี้ ที่สุดของชาติก็คือชาตินี้ หมด
อย่างพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา http://bit.ly/2slntPi



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP