จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๖) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนจบ)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



215 destination



สืบเนื่องจาก ๙ ตอนที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเนื้อหาบางส่วนจาก
หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”
ซึ่งได้จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
ในตอนนี้ ผมจะขอนำบางส่วนของหนังสือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้


++++++++++++++++++++++++++++++++



… เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปยังโครงการป่าขุนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพของผืนป่าแห้งแล้งทรุดโทรม ราษฎรทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องเพราะความลำบากยากจน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นหลายแห่ง ในช่วงที่ทรงพระดำเนินขึ้นไปบนภูเขา เพื่อทอดพระเนตรจุดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอ่างเก็บน้ำบ้านศาลาปางสัก-๑ ทรงชี้ไปข้างทางแล้วมีพระราชดำรัสกับผมว่า “อธิบดี ตรงนี้เป็นร่องน้ำ ในหน้าฝนจะมีน้ำตลอด พอหมดฝนก็แห้งสนิท เป็นเช่นนี้ทั้งภูเขา ทำให้ป่าแห้งแล้ง ต้นไม้เหี่ยวเฉาทิ้งใบเกือบทั้งป่า ให้กรมชลประทานไปสร้างฝายเล็ก ๆ กั้นน้ำไว้ในจุดที่เหมาะสมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยให้เอาเศษไม้และดินในบริเวณนั้นมาทำเป็นฝายชะลอน้ำ โดยใช้แรงคน ห้ามทำฝายคอนกรีตแบบทั่วไป ช่วงแรกน้ำจะรั่วซึม พอหมดฝนอาจจะเก็บไว้ได้ห้าวัน สิบวัน แต่ต่อไป โคลนตมก็จะอุดรูรั่ว เก็บน้ำได้นานขึ้นเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน ป่าก็จะค่อย ๆ ชุ่มชื้น ฟื้นตัวขึ้นมาเอง”


กรมชลประทานสนองพระราชดำริ สร้างฝายชะลอน้ำจำนวนมากขึ้นบนภูเขาในศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ฯ เป็นแห่งแรก โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก ภายในเวลาไม่กี่ปีต่อมา ทุกอย่างเป็นไปตามพระราชดำรัสในวันนั้นทุกประการ ผืนป่าพลิกฟื้น เขียวชอุ่ม สัตว์ป่ารวมทั้งนกนานาชนิด โดยเฉพาะนกยูง ได้กลับมายังถิ่นเดิมบริเวณศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ฯ ปัจจุบันป่าแห้งแล้งที่มีการก่อสร้างฝายชะลอน้ำบนภูเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้พลิกฟื้นคืนสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ทั่วทุกแห่ง


แล้วคำว่า “ฝายแม้ว” ที่ผู้คนเข้าใจผิด เรียกจนติดปากไปทั่ว มีที่มาอย่างไร สืบเนื่องมาจากในช่วงแรก นายช่างชลประทานที่มาจากนอกพื้นที่ หรือมาจากกรุงเทพฯ ไปเห็นเข้าก็งง เพราะฝายที่กรมชลประทานสร้างทั่วไป ต้องเป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างเดียว ไม่เคยเห็นฝายที่ทำด้วยไม้ไผ่ ท่อนไม้ตอก หิน และทรายในท้องน้ำ ด้วยความที่ไม่ทราบที่มา ก็ตั้งชื่อให้ว่า “ฝายแม้ว” จนเรียกกันติดปากไประยะหนึ่ง ที่ถูกควรจะเป็น “ฝายต้นน้ำลำธารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”


กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า หากไม่สร้างฝายตามแบบของพระองค์ การพลิกฟื้นผืนป่าจะไม่มีทางสำเร็จได้ เพราะการชะลอน้ำทั้งผืนป่าต้องใช้ฝายจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการสร้างฝายคอนกรีตเพียงฝายเดียว สามารถนำไปสร้างฝายแบบเรียบง่ายของพระองค์ท่านได้เป็นร้อย ๆ ฝาย อีกทั้งการซ่อมแซมบำรุงรักษาก็ทำได้ง่าย เป็นพระปรีชาสามารถในการแก้ปัญหาที่ทุกคนคิดไม่ถึง


พระปรีชาสามารถอันน่าอัศจรรย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากในด้านแหล่งน้ำ ยังมีอีกมากมายในสาขาอื่น ได้เห็นประจักษ์ครั้งแล้วครั้งเล่า ตัวอย่างเช่น ปัญหาด้านการจราจร พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดมาแล้วหลายครั้ง ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทรงประสบปัญหารถติด ครั้งหลังสุด คือถนนและสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งชาวอำเภอพระประแดงได้สาธุแซ่ซ้องสรรเสริญ ก่อนที่จะมีสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพฯ และจากนิคมอุตสาหกรรมปู่เจ้าสมิงพรายลงไปทางภาคใต้ จะต้องไปลงแพขนานยนต์ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอพระประแดง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วไปขึ้นฝั่งแล่นผ่านชุมชนตัวอำเภอพระประแดง ทำให้รถติดอย่างมโหฬารทั้งกลางวันกลางคืน ชาวพระประแดงเล่าให้ท่านราชเลขาธิการอาสา สารสิน และคณะที่ไปตรวจเยี่ยม รวมทั้งอธิบดีกรมทางหลวงชนบทที่ไปรอรับว่า ก่อนที่จะมีถนนวงแหวนอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชาวพระประแดงต้องเดือดร้อนเรื่องรถติดอย่างแสนสาหัส ชาวบ้านกลับจากทำงานเห็นหลังคาบ้านตอนหกโมงเย็น กว่าจะเข้าบ้านได้ก็ปาเข้าไปสองทุ่มกว่า บางรายป่วยหนักจะรีบไปโรงพยาบาล ก็ไปไม่ทันเพราะรถติด เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว “ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ สาธุ” พร้อมยกมือพนมท่วมศีรษะ ...


... ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงงานในพื้นที่ ภาพที่พสกนิกรเห็นเป็นประจำ คือภาพที่พระองค์ท่านทรงถือแผนที่ปึกหนาด้วยพระองค์เอง จะไม่มีภาพผู้ใดถือแผนที่ปึกนี้แทนพระองค์ท่านอย่างเด็ดขาด นอกจากอาจจะช่วยจับในเวลาที่พระองค์ท่านทรงคลี่ดู แผนที่นี้เราเรียกว่า แผนที่ (มาตราส่วน) หนึ่งต่อห้าหมื่น (๑:๕๐,๐๐๐) หมายความว่า ระยะ ๒ เซนติเมตรในแผนที่ คือระยะหนึ่งกิโลเมตร ตารางสี่เหลี่ยมในแผนที่ขนาด ๒ x ๒ เซนติเมตร คือ พื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตร เขาสร้างขึ้นจากภาพถ่ายทางอากาศ มีเส้นบอกพิกัด และระดับความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นตัวเลขมีเครื่องหมายบวกข้างหน้า ในพื้นที่สูงขึ้นเป็นภูเขา จะมีเส้นบอกระดับทุกยี่สิบเมตรที่ความสูงเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น บริเวณภูเขาสูงชัน เส้นบอกระดับจะอยู่ติดกันดำพรืด เมื่อความลาดชันลดลง เส้นบอกระดับก็จะค่อยห่างออก นายช่างชลประทานจะใช้แผนที่นี้ในการวางโครงการชลประทานเบื้องต้น โดยอ่านระดับความสูงของหุบเขา คำนวณหาพื้นที่รับน้ำแล้วคูณด้วยตัวเลขฝนเฉลี่ย จะได้ปริมาณน้ำเฉลี่ยต่อปี แล้วนำมาพิจารณาว่า ควรจะสร้างฝายหรืออ่างเก็บน้ำตรงจุดใด ได้น้ำประมาณเท่าใด ส่งไปช่วยพื้นที่เกษตรจำนวนกี่ไร่ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องใช้เวลาพอสมควร


แผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ ที่พระองค์ท่านทรงถือติดพระองค์นั้น ถ้าคลี่ออกเต็มที่ ทุกคนจะแปลกใจเพราะเป็นแผ่นใหญ่มาก ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างใหญ่รอบ ๆ จุดที่เสด็จฯ ไป โดยพระองค์ท่านจะทรงนำแผนที่หลาย ๆ แผ่น มาต่อกันด้วยพระองค์เอง และพระองค์เคยทรงสอนวิธีการพับให้เหลือขนาดที่ทรงพกพาได้สะดวก การพับแผนที่แผ่นใหญ่ เพื่อให้คลี่มาดูจุดที่ต้องการได้ในทันทีโดยไม่ต้องคลี่แผ่นใหญ่ทั้งหมดเป็นเรื่องยากมาก แม้พระองค์ท่านจะเคยทรงสอน แต่ผมเชื่อว่า จนบัดนี้ ยังไม่มีนายช่างชลประทานคนไหนทำได้


ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำบ้านศาลาปางสัก-๑ โครงการป่าขุนแม่กวง กรมชลประทานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หลังจากเสวยพระกระยาหารเสร็จ กรมชลประทานจัดการแสดงถวาย จึงหรี่ไฟฟ้าให้สลัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ มาวางบนโต๊ะเสวย ทรงหยิบดินสอกับไฟฉายเล็ก ๆ ที่ทรงเหน็บไว้ที่กระเป๋าฉลองพระองค์มาทรงเปิดส่องแผนที่ซึ่งทรงคลี่ออก เป็นแผนที่ภาคเหนือ ตั้งแต่เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลงมาจนถึงจังหวัดตาก อุทัยธานี เพชรบุรี ผมสังเกตเห็นเส้นบอกระดับความสูงของภูมิประเทศด้านทิศเหนือและตะวันตกของประเทศไทย เป็นเส้นติดกันจนดูดำมืด แสดงว่าเต็มไปด้วยภูเขาสูง ผมใจคอไม่ค่อยดี ได้แต่ท่องคาถาประจำตัว “ห้ามเดา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ปลายดินสอชี้ไปในแผนที่ เริ่มตั้งแต่เชียงราย เหนือสุดไล่ลงมาทีละจังหวัดจนถึงจังหวัดเพชรบุรี “อธิบดี ลำห้วยนี้มีน้ำมาก ถ้าเรากั้นตรงจุดนี้จะได้น้ำถึง ๒๐ – ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำไปช่วยอำเภอนี้ได้ทั้งอำเภอ” ผมมองไม่เห็นเส้นบอกลำห้วยด้วยซ้ำว่า น้ำไหนไปทางไหน บางจุดก็มีพระราชดำรัสว่า “ลำห้วยนี้พื้นที่รับน้ำไม่มาก ควรสร้างเป็นฝาย ช่วยหมู่บ้านบริเวณนี้ได้หลายหมู่บ้าน”


ผมฉงนจริง ๆ ว่าพระองค์ทอดพระเนตรเห็นตัวเลขบอกระดับความสูงของภูมิประเทศได้อย่างไร ในเมื่อตัวเลขเล็ก ๆ เบียดอยู่ในเส้นบอกระดับจะอยู่ติดกันดำพรืด แม้แต่ในตอนกลางวันก็ต้องเพ่งมองหาตัวเลขระดับ จึงจะนำมาคำนวณพื้นที่รับน้ำกับปริมาณฝนเฉลี่ย เพื่อจะให้ได้ปริมาณน้ำที่จะเก็บกักได้ และจะต้องพิจารณาด้วยว่า ตัวเขื่อนควรจะสูงเท่าใด จึงจะเหมาะสม ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถ เพียงทอดพระเนตรแผนที่ ก็ทรงสามารถวางโครงการกำหนดจุดที่ควรจะสร้างอ่างสร้างฝายได้ในทันทีทันใด เป็นที่อัศจรรย์ ผมกลับมาถามวิศวกรจากกองออกแบบว่าเป็นไปได้อย่างไร หลายคนลงความเห็นว่า เป็นไปได้สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นที่ และใช้แผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ จนเชี่ยวชาญ เพียงดูความถี่ ความห่างของเส้นบอกระดับ ก็อาจจะมองแผนที่เป็นภาพสามมิติ มองเห็นความสูงต่อของภูมิประเทศที่เป็นภูเขาหรือหุบเหว พระองค์ท่านจึงทรงสามารถทอดพระเนตรจุดเหมาะสมที่จะสร้างฝายหรืออ่าง แล้วทรงคำนวณปริมาณน้ำที่เก็บกักน้ำในพระราชหฤทัยได้ในทันที ...


... วันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมร่วมโต๊ะเสวย โดยผมนั่งทางด้านซ้ายของพระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับผู้ร่วมโต๊ะเสวยในหลาย ๆ เรื่อง ช่วงหนึ่งมีพระราชดำรัสถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่มีความจำเป็น เป็นประโยชน์กับราษฎร “อธิบดี โครงการอะไรนะที่อุดรฯ เก็บน้ำได้ ๓๐–๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ควรจะรีบสร้างเพราะจะเป็นประโยชน์มาก” พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสเป็นเชิงสนทนามากกว่า ไม่ได้ทรงตั้งเป็นพระราชดำรัสถามที่จะต้องตอบ ถ้าผมเพียงแต่รับพระราชดำรัสว่า “พระพุทธเจ้าข้า” พระองค์ท่านก็จะมีพระราชดำรัสต่อไป ด้วยทรงทราบว่า คงจำไม่ได้เหมือนกัน เมื่อเขากลับไปก็จะตรวจสอบได้ไม่ยาก แต่ด้วยความที่ชักจะชะล่าใจว่าเราเป็นอธิบดีมากว่าสองปีแล้ว ควรจะทราบ จึงลืมคาถา “ห้ามเดา” สนิท หลุดปากกราบบังคมทูลเอ่ยชื่อโครงการแถวภาคอีสานที่คุ้น ๆ ว่า “โครงการลำปลายมาศ พระพุทธเจ้าข้า” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดนิดหนึ่ง หันพระพักตร์มาทางผมแล้วมีพระราชดำรัสเบา ๆ เพียงเพื่อให้ผมได้ยินคนเดียวว่า “อธิบดี เสียชื่อแล้ว” ผมใจหายวาบ รู้ทันทีว่าคงปล่อยไก่ตัวเบ้อเริ่ม อยากจะมุดลงใต้โต๊ะเสวย ด้วยพระเมตตาเป็นล้นพ้น มีพระราชดำรัสเรื่องอื่นต่อ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลังจากนั้น ผมรีบตรวจสอบไปทางอุดรฯ ปรากฏว่าเป็นโครงการลำพันชาด ส่วนโครงการลำปลายมาศอยู่ที่โคราช คนละลุ่มน้ำ คนละจังหวัด ไกลกันลิบ ...


... เมื่อทรงศึกษาเรื่องใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง โดยทรงค้นคว้าลงลึกจนถึงแก่นในทุกเรื่อง และทรงพระปรีชาสามารถในแต่ละเรื่องเป็นที่น่าอัศจรรย์ ยกตัวอย่างเช่น การทำฝนเทียมที่โด่งดังไปทั่วโลก ฟังเผิน ๆ คล้ายกับการใช้เครื่องบินโปรยสารเคมี แล้วฝนก็จะตก ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ มีตัวแปรมากมาย ซึ่งต้องใช้เทคนิคพิเศษที่พระองค์ท่านทรงคิดค้น ดังเช่นที่ทรงเคยอธิบายโดยใช้คำว่า “เลี้ยง (เมฆ) ให้อ้วน แล้วโจมตีแบบแซนด์วิช” เป็นต้น ครั้งหนึ่งเกิดฝนแล้งผิดปรกติในเขตจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (คุณศักดิ์ โกไศยกานนท์) ขอฝนเทียมด่วน เพราะข้าวกำลังจะตาย ช่วงนั้นผมอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ ด้วยความอยากรู้ จึงขอติดเครื่องบินทำฝนเทียมไปด้วย ระหว่างโปรยสารเคมี บางครั้งต้องบินเข้าในก้อนเมฆ มองไม่เห็นอะไรเลย นักบินต้องติดต่อกับเครื่องบินอีกสองลำตลอดเวลา เพื่อแจ้งพิกัดความสูงและทิศทาง มิฉะนั้นอาจชนกันเองได้


เครื่องลำที่ผมขึ้นคงจะบินเป็นเที่ยวสุดท้าย เพราะประมาณครึ่งชั่วโมง ผมสังเกตเห็นฟ้าที่ก่อนนั้นมีแดดจ้า เมฆเริ่มเกาะตัวเป็นก้อนดำใหญ่ นักบินบอกว่าต้องรีบลงโดยด่วน เพราะถ้าฝนตกจะมองไม่เห็นสนามบิน เครื่องของผมลงสนามบินชั่วคราวเรียบร้อย โดยมีเมฆดำทะมึนไล่หลัง เพียงไม่กี่นาทีต่อมา ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก มืดไปทั่ว ระหว่างนั่งรถกลับ ผมนึกรำพึงอยู่ในใจว่า “ช่างเป็นบุญของชาวนาไทยโดยแท้ ที่เรามีพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้” ผมหลับตาวาดภาพเห็นท้องนาอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา ที่ต้นข้าวกำลังจะเหี่ยวเฉาตาย เห็นชาวนาผู้ยากไร้ทั้งลูกเมียยืนน้ำตาตกมองความหายนะของตนเองและครอบครัวที่กำลังจะมาถึงต่อหน้าต่อตา แต่แล้วเหมือนปาฏิหาริย์ ฝนก็ตกกระหน่ำลงมา เป็น “ฟ้ามาโปรด” จริง ๆ ...


... ในช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งควรจะหมดฝนเข้าหน้าหนาวแล้ว คุณสมิทธ ธรรมสโรช อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ทูลเกล้าฯ ถวายรายงาน พร้อมกับออกโทรทัศน์ประกาศว่า ยังมีไต้ฝุ่นอีกหนึ่งลูกเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น ชื่อ “แอนเจลล่า” ความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลางถึง ๑๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถล่มฟิลิปปินส์ยับเยิน มีคนตายจำนวนมาก และจะตรงเข้ามาประเทศไทยแน่นอนในอีกสามวัน ขอให้เตรียมตัวสำหรับคนกรุงเทพฯ และควรเตรียมเรือไว้ด้วย ปรากฏว่าผู้คนตกใจแตกตื่นเป็นการใหญ่ ทั้งซีเอ็นเอ็น และบีบีซีก็ออกเป็นข่าวด่วนด้วย วันรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงอธิบดีว่าซูเปอร์ไต้ฝุ่น “แอนเจลล่า” จะอ่อนแรงลงเปลี่ยนทิศทางขึ้นเหนือ ไม่เข้าไทยแน่นอน ขอให้แจ้งประชาชนด้วยว่าไม่ต้องตกใจ วันต่อมา สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ก่อนจะถึงเวียดนาม พายุ “แอนเจลล่า” ได้เปลี่ยนทิศทางหักมุม ๙๐ องศาขึ้นเหนือ ขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีน มีคนตาย ๗๐๐-๘๐๐ คน


ต่อมาไม่นาน ทรงพระกรุณาให้ผมร่วมโต๊ะเสวย ช่วงหนึ่งผมได้กราบบังคมทูลถามว่า “อธิบดีสมิทธบอกว่า นักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ซูเปอร์ไต้ฝุ่น “แอนเจลล่า” จะต้องเข้าเวียดนามและไทยแน่นอน ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระองค์เดียวทรงยืนยันว่าไม่เข้า เขาจะพากันเผาตำราทิ้งหมดแล้ว ทรงทราบได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแย้มพระสรวล พลางมีพระราชดำรัสตอบว่า “ฉันให้นางมณีเมขลาห้ามไว้” ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเรื่องนี้ในทำนองขำขันเช่นเดียวกันว่า “ได้ให้นางมณีเมขลาไปเจรจาได้ผลดี แล้วให้พาคุณ “แอนเจลล่า” ไปเที่ยวเขาพระสุเมรุแทน” ที่มีพระราชดำรัสเช่นนี้ ก็เพราะพระเมตตาโดยแท้ ด้วยทรงเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะเสียหน้า ที่จริงแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมอุตุนิยมวิทยาทูลเกล้าฯ ถวายข้อมูลสภาพอากาศและแผนที่ทางอากาศทุกวัน ยิ่งกว่านั้นยังทรงค้นคว้าหาข้อมูลทางคอมพิวเตอร์จากหลายแห่งทั่วโลก นำมาทรงศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้ง และบางครั้งมีพระบรมราชวินิจฉัยแตกต่างไปจากคำพยากรณ์อากาศของกรมอุตุฯ ซึ่งผลเป็นไปตามที่พระองค์ท่านมีพระบรมราชวินิจฉัย ...


... ในช่วงสามปีเศษที่ได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะอธิบดีกรมชลประทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แปรพระราชฐานเพื่อทรงงานเกือบตลอดทั้งปีดังเช่นที่ทรงปฏิบัติมาโดยตลอด และในระหว่างประทับ ณ ที่แปรพระราชฐาน จะเสด็จฯ ไปทรงงานเกือบทุกวัน เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในที่ทุรกันดาร ซึ่งหลายแห่งไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเคยเข้าไปเลย ภาพที่ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรเป็นประจำ คือ หยาดพระเสโทเต็มพระพักตร์จนฉลองพระองค์เปียกชุ่ม หรือประทับบนพื้นดิน ทรงซักถามทุกข์สุขของราษฎรที่มารอเฝ้าฯ หรือเสด็จฯ ไปในป่าเขาหุบเหวท่ามกลางสายฝนที่กำลังกระหน่ำ ทั้งในเวลากลางวันหรือค่ำคืนดึกดื่น


เฉพาะในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้สร้างโครงการที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาลจำนวนมากมายหลายโครงการ อีกทั้งยังพระราชทานพระราชดำรัสที่มีความหมายลึกซึ้งทรงคุณค่ายิ่งในหลายโอกาส หลายวาระ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถอันล้ำลึกแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกล จากการที่ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยในหลายเรื่อง ผมจะขอยกตัวอย่างเพียง ๒-๓ เรื่อง เช่น มีพระราชดำรัสถึงโครงการเขื่อนท่าด่านตอนหนึ่งว่า “จังหวัดนครนายกมีปัญหาน้ำท่วมทุกปี พอหมดฝนก็ขาดน้ำ และยังมีปัญหาดินเปรี้ยว จุดที่เหมาะสมตามที่กรมชลประทานเสนออยู่ในใจกลางอุทยานฯ เขาใหญ่ใกล้น้ำตกเหวนรก จะกระทบสิ่งแวดล้อมมาก ลงมาสร้างที่เชิงเขาขอบอุทยาน ค่าสร้างเขื่อนจะแพงกว่าแต่ก็คุ้ม” หรือในกรณีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง “เดิมปลูกข้าวเกือบสี่แสนไร่ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป น้ำเค็มรุกขึ้นไปถึงอำเภอชะอวด คนหนุ่มสาวละทิ้งถิ่นฐาน เหลือแต่คนแก่ยากจน เพราะปลูกข้าวไม่ได้ผล ทั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวนากับเจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ควรสร้างประตูควบคุมใกล้ปากน้ำ ไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำ และเก็บน้ำจืด แล้วแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนเหมาะสม นำสิ่งแวดล้อมกลับคืนมาสู่ชาวปากพนัง” สำหรับเขื่อนป่าสัก มีพระราชดำรัสว่า “ปีที่เกิดน้ำท่วม แม่น้ำป่าสักจะพาน้ำมาซ้ำเติมที่อยุธยา ทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น สร้างเขื่อนป่าสัก แล้วจัดการน้ำให้ดี จะช่วยป้องกันหรือบรรเทาสภาวะน้ำท่วมได้มาก เพียงสองปีก็คุ้มค่าก่อสร้างแล้ว


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก” โดยท่านสวัสดิ์ วัฒนายากร)









...ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นริ้วขบวนเรืออันประกอบไปด้วยเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธี นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทย ที่ผ่านมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีการจัด “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” และ “ขบวนเรือพระราชพิธี” มาแล้วหลายครั้ง ในโอกาสต่าง ๆ อาทิ ครั้งแรกจัดขึ้นในโอกาสการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๐๐ และครั้งต่อ ๆ มา ในการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปีเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๕ ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๙ เป็นต้น


(“ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” หมายถึง ขบวนเรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับบนเรือพระที่นั่ง “ขบวนเรือพระราชพิธี” หมายถึง ขบวนเรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับบนเรือพระที่นั่ง)


หลังจากที่ทรงทราบว่าทหารนาวิกโยธิน ยังไม่มีเพลงประจำหน่วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีอย่างยอดเยี่ยม จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลงมาร์ช “ราชนาวิกโยธิน” พระราชทานแก่ทหารนาวิกโยธิน เพื่อใช้เป็นเพลงประจำหน่วยเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๒ และได้มีการอัญเชิญเพลงนี้ไปบรรเลงเป็นปฐมฤกษ์หน้าพระที่นั่งที่สนามศุภชลาศัย เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๐๒ ในช่วงพักของการแข่งขันฟุตบอลเพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างทหารเรือไทยกับนาวิกโยธินอเมริกัน ในโอกาสที่กองพลนาวิกโยธินที่ ๓ เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแข่งขันในวันนั้นด้วย ...


... ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจการอู่เรือ LUERSSEN WERFT ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมีชื่อเสียงในการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งขนาดเล็ก เมื่อพระองค์เสด็จฯ กลับมาถึงประเทศไทย พระราชทานพระราชดำรัสว่า “กองทัพเรือควรต่อเรือยนต์ขนาดเล็กไว้ใช้เอง จะเป็นการประหยัดกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ”


กองทัพเรือได้น้อมรับใส่เกล้าฯ และดำเนินการต่อเรือตามพระราชดำริ โดยให้ชื่อว่า เรือ ต.๙๑ เพื่อความหมายว่า เป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งที่ต่อในสมัยรัชกาลที่ ๙ ลำที่ ๑ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชนุเคราะห์แก่กองทัพเรือในด้านต่าง ๆ อาทิ ทรงติดต่อวิศวกรจากอู่เรือ LUERSSEN WERFT มาให้คำปรึกษา พระราชทานตำราเกี่ยวกับการต่อเรือ พระราชทานพระราชดำรัสแนะนำ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้า และข้อขัดข้องในการต่อเรือหลายครั้ง อีกทั้งเสด็จฯ ไปทรงวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๐ หลังจากนั้น พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานพิธีปล่อยเรือ ต.๙๑ ลงน้ำที่กรมอู่ทหารเรือเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ...


... วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๐๙ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบประเภทโอเค หมายเลข TH18 ขนาด ๑๓ ฟุตนาม “เวคา” ที่ทรงต่อขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง จากชายหาดวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้ามทะเลอ่าวไทย ไปทางทิศตะวันออก มุ่งสู่หาดเตยงาม กรมนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นระยะทางประมาณ ๖๐ ไมล์ทะเล เพียงลำพังพระองค์ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า ๑๗ ชั่วโมง ซึ่งหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบังคับเรือใบจนบรรลุถึงที่หมายแล้ว จึงทรงปักธง “ราชนาวิกโยธิน” ลงอย่างมั่นคง เหนือหินก้อนใหญ่ของหาดเตยงาม นับเป็นเหตุการณ์ที่ชาวไทยและชาวโลกได้ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ....


... ในเวลาต่อมา ผมได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชองครักษ์ประจำกรมราชองครักษ์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๓ ผมจึงมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ และตามเสด็จมากขึ้น เหตุการณ์หนึ่งขณะปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์คือ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๐ ผมตามเสด็จไปที่จังหวัดยะลา ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน ระหว่างที่ทรงยืนพระราชทานพระบรมราโชวาทอยู่นั้น ได้เกิดเสียงระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง ห่างจากพลับพลาที่ประทับประมาณ ๒๐๐ เมตร ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ บางคนถึงกับวิ่งหนี มีความสันสนอลหม่านเกิดขึ้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระสติมั่นคงและทรงยืนอยู่ที่เดิม พร้อมทั้งมีพระบรมราโชวาทต่อไป โดยรับสั่งถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นด้วย เมื่อเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจแล้ว พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่โรงพยาบาลยะลาในทันที สร้างความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ...


วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๕ ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์ไกลกังวล มีความบางตอนว่า “เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๑ ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่โตขึ้นและสร้างเพิ่มเติม” กองทัพเรือจึงได้น้อมรับใส่เกล้าฯ และนำไปดำเนินการจนเกิดเป็นโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๙๑ ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติของกองทัพเรือในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐


เมื่อได้เตรียมการออกแบบในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่ตามพระราชดำริแล้ว วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ผมในฐานะผู้บัญชาการทหารเรือ จึงทำหน้าที่กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำคณะผู้เกี่ยวข้องในการออกแบบเข้าเฝ้าฯ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยขอเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานและขอรับพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่เมื่อทรงทราบว่า ผมและคณะขอเฝ้าฯ ได้มีพระราชดำรัสว่า “พรุ่งนี้ทหารเรือจะมาเฝ้าฯ เป็นเรื่องดีมีประโยชน์ สมควรให้คนอื่นได้รับรู้ ให้นำทีวีมาด้วย” การเข้าเฝ้าฯ ส่วนพระองค์จึงกลายมาเป็นการเข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการ และมีการออกข่าวทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่องในค่ำวันเดียวกัน


ระหว่างการเข้าเฝ้าฯ ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ๓๐ นาที พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในด้านการต่อเรืออย่างยอดเยี่ยม ทรงเล่าถึงประสบการณ์ต่าง ๆ และปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่กองทัพเรือต่อเรือ ต.๙๑ ตลอดจนสภาพท้องทะเลในอ่าวไทย ซึ่งจะมีผลต่อการใช้เรือ ที่สำคัญก็คือ มีพระบรมราชวินิจฉัยให้แก้ไขแบบลายเส้นและรูปทรงของเรือ ซึ่งผลที่ได้จากการคำนวณเป็นไปตามที่ได้มีพระราชวินิจฉัยไว้ กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการคำนวณเดิม ปรากฏว่าเรือ ต.๙๙๑ มีความเร็วเพิ่มขึ้นและประหยัดเชื้อเพลิงได้ถึงร้อยละ ๖


ต่อมาในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ไปทรงวางกระดูกงูเรือ ต.๙๙๑ ที่กรมอู่ทหารเรือด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้น ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๐ พระองค์ท่านและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไปทรงเป็นประธานพิธีปล่อยเรือ ต.๙๙๑ ลงน้ำ สร้างความปลื้มปีติแก่เหล่าทหารเรืออย่างหาที่สุดมิได้ ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “จอมทัพไทยกับราชนาวี” โดยท่านพลเรือเอก ชุมพล ปัจจุสานนท์)









ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี เคยกล่าวในการสัมมนาเกี่ยวกับการประสานงานในกระบวนการยุติธรรมว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรตรวจสำนวนเองแทบทุกเรื่อง เรารู้ เพราะบางคดีท่านย้อนสำนวนมาให้องคมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยทรงถามมาว่า ข้อนั้น ๆ อยู่ตรงไหน เช่น ทรงถามว่า ปืนของกลางจับได้เมื่อใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงละเอียด ทรงใช้เวลาวินิจฉัยฎีกานักโทษด้วยพระองค์เอง บางเรื่องก็ง่าย เช่น ยาเสพติดให้โทษ แต่คดียากที่ทรงทักท้วงให้พิจารณาอีกครั้งบ่อย ๆ คือคดีประหารชีวิต ...”


หลายคนอาจไม่รู้ว่า แม้ขณะประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรับการถวายการรักษาพระวรกาย พระองค์ท่านก็ยังทรงงานพระบรมราชวินิจฉัยฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของนักโทษอย่างสม่ำเสมอ และมีพระราชกระแสในฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตลอดมาไม่ได้ทรงหยุด พระองค์ท่านไม่ได้ทรงรักษาพระองค์เหมือนคนป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวตามโรงพยาบาล แต่ยังคงทรงงานตลอดเวลา เพราะทรงทราบดีว่าทุกคนฝากความหวังไว้ที่พระองค์ท่าน และพระองค์ท่านเองก็ไม่เคยทรงละพระเมตตาที่มีต่อประชาชน ...


... เคยมีตัวอย่าง กรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ส่งสำนวนคดีลงโทษจำคุกตลอดชีวิตไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๕ และได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลย ความปรากฏต่อมาว่า การพิจารณาของศาลไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้มีการเพิกถอนหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด และส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษา เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณายืน เป็นผลให้คดีของจำเลยผู้นั้นถึงที่สุด จึงได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดฉบับใหม่ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์


ปรากฏว่าระหว่างมีการออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดครั้งแรก และครั้งที่สอง ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษหลายครั้ง การเพิกถอนหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดฉบับแรกและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดครั้งที่สอง ทำให้จำเลยเสียสิทธิในการได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่จำเลยฯ เมื่อมีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ คณะองคมนตรีจึงเสนอความเห็นให้จำเลยได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เนื่องจากเป็นความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานอภัยโทษให้แก่จำเลยผู้นั้น ให้ได้รับความเป็นธรรมโดยการลดโทษให้


อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ความผิดในคดีค้ายาเสพติดให้โทษ กรณีนำเข้าหรือส่งออก แม้ยาเสพติดมีจำนวนน้อย แต่โทษทางกฎหมายรุนแรง กำหนดโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต กรณีเช่นนี้ ถ้าเป็นผู้มีความประพฤติดี มักได้รับพระราชทานอภัยโทษ รวมถึงนักโทษที่มีปัญหาด้านสุขภาพด้วย ...


... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาธรรมสูง มีพระบรมราชวินิจฉัยฎีกานักโทษด้วยพระเมตตา แม้จะเป็นผู้กระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ พระองค์ก็พระราชทานอภัยโทษให้ ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “ใต้เบื้องพระยุคลบาท” โดยท่านอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ)









... ในแต่ละปี มีกรณีที่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ที่เรียกว่า ฎีการ้องทุกข์ ประเภทหนึ่ง และฎีกานักโทษ อีกประเภทหนึ่ง เป็นจำนวนมาก ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี เคยกล่าวไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงงานหนักมากเพื่อราษฎรของพระองค์ แต่ยังมีงานที่ขึ้นไปถึงพระองค์ท่านอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมิได้ปรากฏในข่าวสารของสื่อมวลชนเลย งานนี้มิได้เป็นงานเบา และเป็นงานที่มีมาตลอดปี ไม่ขาดสาย เป็นงานที่ต้องทรงพระราชดำริโดยสุขุม รอบคอบ แล้วจึงมีพระบรมราชวินิจฉัย งานนี้คืออะไร งานนี้คืองานฎีกานักโทษ และฎีการ้องทุกข์”


เกี่ยวกับเรื่องฎีกาต่าง ๆ นี้ หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ อดีตราชเลขาธิการเคยแสดงปาฐกถาต่อที่ประชุมคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งหนึ่งว่า “พระมหากรุณาธิคุณอีกข้อหนึ่งที่ไม่ได้มีต่อประชาชนทั่ว ๆ ไป แต่พระราชทานแก่บุคคลกลุ่มหนึ่งที่เขาได้รับเคราะห์กรรม คือบรรดานักโทษที่ได้รับโทษจำคุก แล้วเขาได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขึ้นมาโดยผ่านรัฐบาล ผมอยากจะกราบเรียนว่าทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก ทรงอ่านฎีกา หรือที่เรียกว่าข้อมูลในคดีทุกตัวอักษร เพราะเหตุว่า มีหลายคดีที่ผมไม่ทราบว่าจะเรียนได้อย่างไรว่า เป็นด้วยพระอัจฉริยภาพหรือพระปรีชาญาณของพระองค์ท่าน ปรากฏว่าได้ช่วยให้นักโทษบางคนได้กลับมีชีวิตใหม่ และได้รับความยุติธรรมอย่างที่เขาสามารถจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นคนไทย” ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม” โดยท่านศุภชัย ภู่งาม)









... เมื่อมีเหตุการณ์ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระบรมเดชานุภาพ และพระบารมีเข้าระงับเหตุขัดแย้งให้หมดสิ้นไปได้อย่างเหมาะสมทันต่อเหตุการณ์ สามารถขจัดปัดเป่าให้เหตุการณ์สงบเรียบร้อยและนำพาประเทศชาติเข้าสู่ภาวะปกติ อาทิ เหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นิสิต นักศึกษา และประชาชนเดินขบวนชุมนุมประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็วจนเหตุการณ์บานปลาย เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมประท้วงบาดเจ็บ ทำให้ผู้ชุมนุมหนีลงไปในคูน้ำรอบสวนจิตลดา เพื่อขอพึ่งพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสให้เปิดประตูรับผู้ชุมนุมเข้ามาหลบภัยในบริเวณสวนจิตลดา และมีพระราชดำรัสขอให้ทุกฝ่ายทุกคนระงับเหตุแห่งความรุนแรง ด้วยการตั้งสติยับยั้งเพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ขอให้รัฐบาลอย่าได้ทำร้ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนเป็นอันขาด แม้จะถูกยั่วโทสะ หรือถูกทำร้ายก่อน ก็ขออย่าได้ทำร้ายตอบ ในที่สุด นายกรัฐมนตรีกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เหตุการณ์รุนแรงจึงยุติและสงบลงได้เพราะพระบารมี หลังจากนั้น ทรงแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน”


ครั้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เกิดเหตุการณ์นองเลือดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและประชาชนเดินขบวนขับไล่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เหตุการณ์เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุมและจับผู้นำการชุมนุมไปควบคุมไว้ เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นจลาจล มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่มีองค์กรทางการเมืองใดสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงเข้ามาแก้ไขสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรีและผู้นำการชุมนุมเข้าเฝ้าฯ และมีพระราชดำรัสเตือนสติคู่ขัดแย้งว่า หากยังเผชิญหน้ากันแบบนี้ ต่อไปประเทศไทยก็มีแต่ล่มจม ขอให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เผชิญหน้ากัน คิดถึงประเทศชาติและประชาชน หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติคู่ขัดแย้งแล้ว นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง ทำให้เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ยุติและมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พร้อมกับมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น


ประเทศไทยผ่านพ้นมรสุมทางการเมืองและความขัดแย้งมาได้โดยปลอดภัยทั้งสองครั้ง ก็เพราะพระบรมเดชานุภาพและพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้ พระบรมเดชานุภาพและพระบารมีเกิดขึ้นได้ เพราะทรงปฏิบัติและทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างเคร่งครัดถูกต้องและจริงจัง มิได้เกิดขึ้นเองในทันทีทันใด หากแต่เกิดจากการที่ทรงบำเพ็ญคุณงามความดีสั่งสมมาโดยตลอดจนสมบูรณ์บริบูรณ์


แม้จะมีพระบรมเดชานุภาพและพระบารมีเป็นที่ยอมรับของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ดังที่เรียกกันว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” แต่พระองค์ก็ยังทรงเป็นนักประชาธิปไตยที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกประการ ไม่เคยทรงทำเกินหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอรัปชั่น แทรกแซงสื่อและองค์กรอิสระจนหมดอิสระ และเป็นเผด็จการรัฐสภาอย่างเบ็ดเสร็จ ประชาชนหลายกลุ่ม นักวิชาการหลายสถาบันออกมาต่อต้านรัฐบาลทุกรูปแบบ และเรียกร้องนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงแม้รัฐบาลประกาศยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากพรรคของนายกรัฐมนตรีเพียงพรรคเดียว เบอร์เดียว


๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ ขณะนั้นผมเป็นประธานศาลฎีกา นำผู้ช่วยผู้พิพากษาเพิ่งเข้าใหม่ ๖ คนเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณที่วังไกลกังวล ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ประธานศาลปกครองสูงสุดนำตุลาการศาลปกครองชุดใหม่ไปเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเหมือนกัน แต่ศาลปกครองเข้าเฝ้าฯ ก่อน พอท่านเดินลงมา พวกผมจึงเดินขึ้นไป ตอนนั้นยังไม่ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเรื่องอะไร


มาทราบทีหลังว่า ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ขอให้ทุกศาลปรึกษาหารือกันแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้บ้านเมืองสามารถปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ต่อไป มีพระราชดำรัสว่า อย่าคอยนายกรัฐมนตรีพระราชทาน การขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะอ้างมาตรา ๗ ไม่ได้ เพราะมาตรา ๗ ไม่ได้บอกว่า พระมหากษัตริย์สั่งได้ ขอยืนยันว่า ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย พระมหากษัตริย์ต้องทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบเลยตั้งแต่เป็นพระมหากษัตริย์ ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ ไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำ ก็ต้องทำ แต่มันไม่ต้องทำ เมื่อครั้งที่ตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีพระราชทาน เพราะมีนายทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมายและหลักการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติจะไปไม่รอด ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระบารมีปกเกล้าฯ” โดยท่านชาญชัย ลิขิตจิตถะ)









... ไม่เพียงแต่พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประชาชนชาวไทยและชาวเขาที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยเท่านั้น แม้แต่กับสัตว์ พระองค์ก็ทรงดูแลด้วยเช่นกัน ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๘ หลังจากที่ผมเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศได้เดือนเศษ ผมได้มีโอกาสน้อมเกล้าฯ ถวายเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งลำใหม่ (แบบ Bell 412 EP) เข้าประจำการที่วังไกลกังวล หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ประทัปเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาราว ๗ ปี ในวันที่ผมเข้าเฝ้าฯ นั้น มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากวังไกลกังวลไปยังอ่างเก็บน้ำบ้านยางชุม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งหมายเลข ๑ ส่วนผมในฐานะผู้อำนวยการเดินทางอยู่ในเฮลิคอปเตอร์หมายเลข ๒ เฮลิคอปเตอร์เครื่องที่ผมนั่งได้ลงจอดก่อน และรอรับเสด็จ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งได้ลงจอด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากเครื่อง ทรงพระดำเนินมาหาผม มีพระราชดำรัสว่า “ไปดูช้างมา” ผมได้กราบบังคมทูลถามพระองค์ว่ามีช้างจำนวนมากหรือไม่ มีพระราชดำรัสตอบว่า “มีอยู่มาก แต่เขาได้ยินเสียงเครื่องบิน จึงไปแอบอยู่ใต้ต้นไม้” นี่เป็นสิ่งที่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงช้างในเขตพื้นที่ป่ากุยบุรี ซึ่งพื้นที่แถบนั้น ชาวบ้านได้หักร้างถางพงไปใกล้กับพื้นที่ที่ฝูงช้างเคยอยู่อาศัยมาก่อน และมีข่าวยิงช้าง ล่าสัตว์ในเขตป่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีข้อมูลของโขลงช้างต่าง ๆ เหล่านี้มาก่อนแล้ว จึงได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง นี่คือพระเมตตาต่อสรรพสัตว์ในประเทศของเราด้วย ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระมหากรุณาธิคุณเปี่ยมฟ้าล้นแผ่นดิน” โดยท่านพลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP