ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

นกุลปิตุสูตร ว่าด้วยนกุลปิตาคฤหบดี


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เภสกฬาวัน
(ป่าที่นางยักษ์ชื่อ เภสกฬา อยู่อาศัย) อันเป็นสถานที่ให้อภัยแก่หมู่มฤค
ใกล้เมืองสุงสุมารคิระในภัคคชนบท ฯลฯ
ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อนกุลปิตาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า
ข้าพระองค์ เป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้วโดยลำดับ
ร่างกายกระสับกระส่าย เจ็บป่วยเนืองๆ พระเจ้าข้า
ก็ข้าพระองค์มิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้เจริญใจอยู่เป็นนิตย์
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดสั่งสอนข้าพระองค์
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดพร่ำสอนข้าพระองค์ ด้วยธรรม
เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นั่นถูกแล้ว ๆ คฤหบดี
อันที่จริง กายนี้กระสับกระส่าย เป็นดังฟองไข่ มีหนังหุ้มไว้
คฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่ พึงรู้ตัวได้ชัดว่าไม่มีโรคได้แม้เพียงครู่เดียว
ก็จะมีอะไรเล่า นอกจากความเป็นคนอ่อนแอ
คฤหบดี เพราะเหตุนี้แหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย
คฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล.


[๒] ครั้งนั้นแล นกุลปิตาคฤหบดีชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้ว
เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะนกุลปิตาคฤหบดีว่า
คฤหบดี อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง
วันนี้ ท่านได้ฟังธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหรือ.
นกุลปิตุคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไฉนจะไม่เป็นอย่างนี้เล่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลั่งอมฤตธรรมรดข้าพเจ้าด้วยธรรมีกถา.


. คฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลั่งอมฤตธรรมรดท่าน
ด้วยธรรมีกถาอย่างไรเล่า.


. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ (ข้าพเจ้าจะเล่าถวาย) ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า
ข้าพระองค์เป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้วโดยลำดับ
มีกายกระสับกระส่าย เจ็บป่วยเนืองๆ พระเจ้าข้า
ก็ข้าพระองค์มิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้เจริญใจอยู่เป็นนิตย์
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดสั่งสอนข้าพระองค์
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดพร่ำสอนข้าพระองค์
ด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด.
เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลอย่างนี้แล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นั่นถูกแล้ว ๆ คฤหบดี
อันที่จริง กายนี้กระสับกระส่าย เป็นดังฟองไข่ มีหนังหุ้มไว้
คฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่ พึงรู้ตัวได้ชัดว่าไม่มีโรคได้แม้เพียงครู่เดียว
ก็จะมีอะไรเล่า นอกจากความเป็นคนอ่อนแอ
คฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย
คฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลั่งอมฤตธรรมรดข้าพเจ้า
ด้วยธรรมีกถาอย่างนี้แล.


[๓] ส. คฤหบดี ก็ท่านมิได้ทูลสอบถามพระผู้มีพระภาคเจ้าต่อไปว่า
พระเจ้าข้า ด้วยเหตุเท่าไรหนอ บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย
และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย และก็ด้วยเหตุเท่าไรเล่า
บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่.


. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาแม้แต่ที่ไกล เพื่อจะทราบ
เนื้อความแห่งภาษิตนั้นในสำนักท่านพระสารีบุตร ดีละหนอ
ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้นจงแจ่มแจ้งกะท่านพระสารีบุตรเถิด.


. คฤหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.


นกุลปิตุคฤหบดีรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า



สักกายทิฏฐิ ๒๐

[๔] คฤหบดี ก็อย่างไรเล่า บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย
จึงชื่อว่าเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย
คฤหบดี คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้มิได้สดับแล้ว มิได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ มิได้รับแนะนำในอริยธรรม
มิได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
มิได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม
ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา
รูปนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้น


ย่อมเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีเวทนา ๑
ย่อมเห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในเวทนา ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา
เวทนานั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะเวทนาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้น


ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีสัญญา ๑
ย่อมเห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสัญญา ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสัญญา สัญญาของเรา
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสัญญา สัญญาของเรา
สัญญานั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะสัญญาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้น


ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีสังขาร ๑
ย่อมเห็นสังขารในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสังขาร ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา
สังขารนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะสังขารแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงเกิดขึ้น


ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา
วิญญาณนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้น
คฤหบดี ด้วยเหตุอย่างนี้แล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย
และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย.


[๕] คฤหบดี ก็อย่างไรเล่า บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย
แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่
คฤหบดี คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว
ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ผู้ได้รับแนะนำดีแล้วในอริยะธรรม ผู้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย
ผู้ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ผู้ได้รับแนะนำดีแล้วในสัปปุริสธรรม
ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ๑
ย่อมไม่เห็นรูปในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในรูป ๑
ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา
เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา
รูปนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงไม่เกิดขึ้น


ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีเวทนา ๑
ย่อมไม่เห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในเวทนา ๑
ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา
เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา
เวทนานั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะเวทนาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น


ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีสัญญา ๑
ย่อมไม่เห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในสัญญา ๑
ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่าเราเป็นสัญญา สัญญาของเรา
เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสัญญา สัญญาของเรา
สัญญานั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะสัญญาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น


ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีสังขาร ๑
ย่อมไม่เห็นสังขารในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในสังขาร ๑
ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา
เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา
สังขารนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะสังขารแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น


ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมไม่เห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในวิญญาณ ๑
ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา
เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา
วิญญาณนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น
คฤหบดี อย่างนี้แล บุคคลแม้มีกายกระสับกระส่าย
แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่.


ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้แล้ว
นกุลปิตาคฤหบดีชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตร ฉะนี้แล.


นกุลปิตุสูตร จบ



(นกุลปิตุสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP