จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๒) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนที่ ๖)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it




211 destination


สืบเนื่องจาก ๕ ตอนที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเนื้อหาบางส่วนจาก
หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”
ซึ่งได้จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
ในตอนนี้ ผมจะขอนำบางส่วนของหนังสือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้


++++++++++++++++++++++++++++++++


... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ระบบสหกรณ์เหมาะกับประเทศไทย เพราะเป็นการรวมตัวให้มีอำนาจต่อรอง ทั้งการซื้อและการขาย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง หมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชดำริแห่งแรก คือที่หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี โดยได้จัดราษฎรเข้าทำกินในบริเวณป่าเสื่อมโทรม ๑๐,๐๐๐ ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน และจัดสรรให้คนเข้าอยู่โดยห้ามขายที่ดินต่อ แต่สามารถตกทอดถึงลูกหลานได้ แต่ถ้าทิ้งพื้นที่ว่างลง เพราะผู้ได้รับจัดสรรทิ้งไป ผู้ที่เข้ามาอยู่ใหม่ต้องเช่า มีการตั้งสหกรณ์ร่วมกันผลิต ร่วมกันขาย ภายหลังได้เกิดหมู่บ้านสหกรณ์ในแนวคิดเช่นนี้อีกมากมายหลายแห่ง เช่น ที่สันกำแพง ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นต้น ปัจจุบันชาวบ้านที่เข้าอยู่ในหมู่บ้านเหล่านี้มีอาชีพที่มั่นคง บางแห่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ ด้วยพระมหากรุณา ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินจำนวนหนึ่ง จึงสามารถลืมตาอ้าปากได้ และพลิกฟื้นผืนป่าที่เสื่อมโทรมให้เป็นประโยชน์ได้


ที่ใดที่ราษฎรรวมตัวกันปลูกข้าวมาก ก็จะพระราชทานโรงสีข้าวขนาดกลางไว้ให้ใช้เป็นส่วนรวม มีพระราชดำรัสว่า “คนที่คุมการสีข้าวต้องมีความรู้ที่จะปรับเครื่องจักรให้เข้ากับความต้องการ เพราะปลูกกันคนละพันธุ์ เมล็ดข้าวอาจจะมีขนาดไม่เท่ากัน และต่อมาให้พยายามหาข้าวพันธุ์ดีปลูกให้เหมือน ๆ กัน เพื่อจะได้ไม่ต้องปรับเครื่องมาก การบริหารเงินต้องมีการทำบัญชีต้นทุนให้ชัดเจน” นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรผสมผสาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับเกษตรกรรายเล็กที่มีทุนน้อยให้สามารถเลี้ยงชีพได้โดยไม่ขัดสน


ความสำเร็จของโครงการมากมายเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญอีกประการคือ เป็นศูนย์เรียนรู้ที่ผู้คนหรือหน่วยงานจะมาศึกษาเพื่อเอาไปขยายผลต่อไปได้ ศูนย์เรียนรู้เหล่านี้จะสาธิตถึงการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมีความหลากหลายและแตกต่าง เป็นการรวบรวมและบูรณาการความรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยราษฎรจะสามารถเข้าไปศึกษาและนำมาปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองได้ ...


... เมื่อประมาณเกือบ ๔๐ ปีก่อน มีเหตุการณ์ความไม่สงบจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศและราษฎร หลายพื้นที่ไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างสงบสุข ทหาร ตำรวจ และราษฎรอาสาสมัครต้องช่วยกันทำหน้าที่ป้องกันประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยผู้ทำหน้าที่เหล่านี้ บางครั้งเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมทหารถึงฐานปฏิบัติการ ส่วนราษฎรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ทรงเห็นว่าควรได้รับการพัฒนาและการดูแลที่เหมาะสม


ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมหน่วยทหาร ที่คลองช่องกล่ำ สระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบรุนแรง ทรงเห็นว่าในค่ายทหารไม่มีไฟฟ้าใช้ สื่อสารกับภายนอกไม่ได้ เป็นอุปสรรคต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ เมื่อทรงพิจารณาพื้นที่ร่วมกับ กฟผ. แล้ว ทรงเห็นว่ามีพื้นที่ ๓ แห่งที่จะสร้างเขื่อนเล็ก ๆ เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนค่ายทหาร และน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนก็ให้ราษฎรใช้ในการเกษตรได้ ก็ทรงเลือกให้สร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุด ๑ เขื่อน แต่ว่าเขื่อนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตอนกลางคืน เพื่อให้ไฟฟ้ากับค่ายทหาร มีการปล่อยน้ำออกมามากแต่ราษฎรไม่ได้ใช้ เนื่องจากราษฎรต้องการใช้น้ำในตอนกลางวัน ซึ่งเขื่อนไม่ได้ผลิตไฟฟ้า ทำให้ไม่มีน้ำใช้ ทรงเป็นห่วงทั้งทหารและราษฎร ด้วยทหารทำหน้าที่รักษาความมั่นคง ส่วนราษฎรก็ต้องทำมาหากินได้ด้วย


ถ้าราษฎรมีความมั่นคงในชีวิต ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้าย จึงมีพระราชดำรัสถามว่า “เขื่อนต้องปล่อยน้ำตอนกลางคืนเพื่อทำไฟฟ้าให้ทหารใช้ แต่ราษฎรไม่ได้ทำสวนไร่นาตอนกลางคืน ทำอย่างไรจึงจะหาน้ำให้ราษฎรใช้ตอนกลางวันได้ด้วย” โจทย์นี้ค่อนข้างยาก ในที่สุด ต้องสร้างบ่อพักน้ำ ที่มีขนาดพอเหมาะขึ้นตามจุดต่าง ๆ เพื่อกักน้ำ แล้วปล่อยให้ราษฎรใช้ในตอนกลางวัน และทำทางน้ำไปยังจุดที่ต้องการ พื้นที่นี้ในปัจจุบันเป็นที่ทดลองทำไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์


เหตุการณ์ความไม่สงบในระยะนั้น มีทหาร ตำรวจ ราษฎรอาสาสมัครล้มตายจากการต่อสู้มากมาย บางคนก็พิการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงห่วงใย เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำระเบียบความช่วยเหลือของหน่วยราชการต่าง ๆ มาศึกษาและเปรียบเทียบด้วยพระองค์เอง ทรงทราบถึงความแตกต่างและขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือ และทรงเห็นว่า จำเป็นจะต้องมีหน่วยงานต่างหาก เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายโดยรวดเร็วและเท่าเทียมกัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นห่วงว่าสำหรับผู้ทุพพลภาพต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ครอบครัวที่ขาดหัวหน้าต้องได้รับการดูแล และต้องมีหน่วยงานที่มิใช่ราชการรับผิดชอบเพื่อความคล่องตัว ทั้งสองพระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมน้ำใจคนไทยที่จะช่วยกลุ่มผู้ที่เสียสละเหล่านี้ และให้ความอุ่นใจแก่ผู้ที่กำลังปฏิบัติงานว่ามีผู้ที่เห็นถึงความเสียสละ และช่วยดูแลมูลนิธิฯ ดำเนินกิจการมาตามลำดับจนถึงปัจจุบันเข้าปีที่ ๓๖ แล้ว และมูลนิธิฯ ได้ขยายความช่วยเหลือไปถึงทหาร ตำรวจ ราษฎรอาสาสมัคร ผู้ที่ทำหน้าที่ทางภาคใต้ รวมทั้งครู ซึ่งมีทั้งการให้ความช่วยเหลือตลอดชีวิต ดูแลการศึกษาของบุตรธิดาและฝึกอาชีพ ...


... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูถัมภก นอกจากจะทรงพระผนวชแล้ว ก็ยังทรงศึกษาธรรมะจากพระอริยสงฆ์หลาย ๆ รูปดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ครั้งหนึ่งเคยมีพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาของไทยควรเป็นหนึ่ง ดังนั้น เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาให้แข็งแรงมั่นคง และเป็นที่พึ่งทางใจสำหรับประชาชน จึงเกิดโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ซึ่งทรงพระกรุณารับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ ก็มีกิจกรรมการถวายทุนเล่าเรียนสำหรับพระสงฆ์และสามเณร ทั้งหลักสูตรเปรียญธรรมของแม่กองบาลีสนามหลวง และหลักสูตรอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้มีการถวายทุนการศึกษาแด่พระภิกษุสงฆ์ นอกจากนั้น ยังได้สนับสนุนการอบรมพระนักเทศน์ พระวิปัสสนาจารย์ และส่งเสริมสำนักเรียนกับพระธรรมทูตอำเภอ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนา และส่งเสริมให้นำพุทธธรรมมาเผยแพร่แก่ประชาชนอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระมหากษัตริย์นักคิด นักปฏิบัติ เพื่อความสุขของประชาชน” โดยท่านพลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์)







... หากไม่ใช่เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผืนแผ่นดินไทยคงไม่สงบสุขร่มเย็นตราบถึงวันนี้ ...


... หากย้อนกลับไปประมาณ ๕๐ ปีที่แล้ว ความขัดแย้งทางการปกครองแทรกซึมอยู่ในทุกหย่อมหญ้าของประเทศไทย เป็นศึกภายในที่เกิดจากการผนึกกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยมุ่งจะล้มล้างรัฐบาล แล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยให้เป็นรูปแบบคอมมิวนิสต์ มีการแทรกซึมเข้ามาปลุกระดมในชนกลุ่มน้อยและคนไทยที่ด้อยการศึกษามานานแล้ว จน พคท. สามารถประกาศ “วันเสียงปืนแตก” ได้ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ ณ หมู่บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม


ตั้งแต่นั้นทุกภูมิภาคของประเทศไทย ก็ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์สู้รบ รัฐบาลส่งกำลังทั้งทหารและตำรวจออกควบคุมสถานการณ์ แต่กลายเป็นว่ายิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกที เมื่อกำลังทหารไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องประกาศจัดตั้งกองร้อยชาวเขา กองกำลังทหารพราน และราษฎรอาสาสมัคร เพื่อยับยั้งและต่อต้านการคุกคามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย


ณ ตอนนั้น ผมรับตำแหน่งหัวหน้ากองยุทธการกองทัพภาคที่ ๓ รับผิดชอบในการกวาดล้างและกำจัดอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในเขตพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัด ได้แก่ อำเภออุ้มผาง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอทุ่งช้าง อำเภอปัว จังหวัดน่าน อำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอหล่มสัก อำเภอทุ่งสมอ (เข้าค้อ) จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตติดต่อจังหวัดเลย ในแต่ละพื้นที่ล้วนเป็นป่าภูเขาสูงชัน หนาแน่น รกทึบ และเป็นเขตเชื่อมติดต่อกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเขาค้อและภูหินร่องกล้า มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงยึดไว้เป็นฐานที่มั่น และตั้งเป็นฐานอำนาจรัฐในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งสะสมทั้งเสบียงอาหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และกำลังพล ให้แก่ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ เวลานั้นกองทัพบกและกองทัพภาคที่ ๓ ได้ร่วมกันกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ก็สำเร็จภารกิจไปได้เพียงระดับหนึ่ง ครั้นเมื่อถอนกำลังกลับ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ก็ขยายกำลังเข้าสู่พื้นที่มั่นคงเดิมอย่างเต็มรูปแบบ


ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง ทรงอุทิศพระวรกายทุ่มเทและตรากตรำ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และพระราชทานโครงการตามพระราชดำริมากมาย เพื่อให้ราษฎรของพระองค์ได้อยู่ดีกินดี มีพระราชดำรัสว่า “หากปากท้องของเขาอิ่ม เขาก็จะไม่เป็นคอมมิวนิสต์”


ฉะนั้น แม้จะทุรกันดารหรือเสี่ยงอันตรายเพียงใด ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงย่อท้อ เสด็จฯ ไปทุกหนทุกแห่งเพื่อทรงช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้พอมีพอกิน จะได้หลุดพ้น ไม่ตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์


วันหนึ่งทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมกองพันพิเศษ (พลร่ม) ค่ายสฤษดิ์เสนา จังหวัดพิษณุโลก ขณะนั้น ผมพร้อมด้วยพันโท มนัส คล้ายมณี ผู้บังคับกองพัน และพันโท หาญ เพไทย หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ ๓๐๑ เป็น ผู้เฝ้าฯ รับเสด็จและถวายความสะดวก ในระหว่างที่ประทับอยู่ ณ เรือนประทับรับรอง แม่ทัพภาคที่ ๓ สมัยนั้นคือพลโท สมศักดิ์ ปัญจมานนท์ ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานว่า เครื่องบิน F-5 ตก มีเรืออากาศเอก พงษ์ณรงค์ เกสรศุกร์ เป็นนักบิน จะขอหน่วยกู้ภัยของกองพันพิเศษ (พลร่ม) ออกค้นหา ตอนนั้น ถ้าดวงวิญญาณเรืออากาศเอก พงษ์ณรงค์ ได้ล่วงรู้ คงดีใจที่ชีวิตของท่านได้แลกกับอธิปไตยที่กำลังจะกลับคืนมาด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงกางแผนที่บริเวณเขาค้อ พระราชทานพระราชดำรัส ใจความว่า


“การใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างบริเวณเข้าค้อ เสมือนหนึ่งโยนหินลงไปในแหน เมื่อน้ำหยุดกระเพื่อม แหนก็จะปิดตัวเหมือนเดิม เปรียบเหมือนเอากำลังทหารเข้ากวาดล้าง ผู้ก่อการร้ายก็จะหนีไป เมื่อถอนกำลังออก เขาก็จะกลับมาเหมือนเดิม ไม่ได้อะไร เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙ เราสูญเสียพันโท เจริญ ทองนิ่ม ไปแล้ว เรามิได้อะไรกลับคืนมา ขอให้พิจารณาหาวิธีใหม่


เขาค้อมีลักษณะคล้ายก้นกระทะ เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ พรรคคอมมิวนิสต์จะไม่ยอมละทิ้งเป็นเด็ดขาด จึงมีความรุนแรง หากเปรียบไปก็เหมือนเตาอั้งโล่ที่กำลังร้อนแรง หากเอาอะไรใส่ลงไปก็จะหลอมละลาย วิธีการที่จะลดความร้อนลงได้ ต้องสร้างจุดความเย็นล้อมรอบ ซึ่งเป็นตัวช่วยดึงความร้อนจากเตาที่กำลังร้อนแรง นั่นคือ การสร้างหมู่บ้านล้อมรอบ สร้างความเจริญให้หมู่บ้าน คอมมิวนิสต์กลัวความเจริญ หากที่ไหนเจริญแล้ว คอมมิวนิสต์เข้าไม่ได้ เพราะชาวบ้านรู้ทัน คอมมิวนิสต์ใช้หลักป่าล้อมเมือง ล้อมกรุง แต่ของเรากลับกันคือ สร้างบ้านล้อมป่า เพราะหากปล่อยให้เขาลงพื้นราบได้แล้ว เราจะแพ้ หมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้น ให้ใช้หมู่บ้านอาสาสมัคร รับสมัครจากครอบครัวที่ยากจน ไม่มีที่ทำกิน หรือจากทหารกองหนุน เพราะทหารจะเป็นแกนนำในการระวังป้องกันหมู่บ้าน


ราษฎรอาสาสมัครนี้จะต้องฝึกอาชีพในการเกษตร และฝึกทางยุทธวิธี เพราะเมื่อเข้าไปในอยู่ในเขาค้อแล้ว จะต้องประกอบอาชีพในการเกษตร ต้องป้องกันตนเองและป้องกันหมู่บ้าน หากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ฆ่าชาวบ้าน เขาจะเสียทางด้าน ‘ปจว’ (ปฏิบัติการจิตวิทยา) และเสียทางด้านการเมือง หากเปรียบประเทศไทยเหมือนร่างกายของเรา เขาค้อก็เปรียบเสมือนหัวใจ ถึงแม้จะตัดแขนตัดขาออก แต่หัวใจยังเต้นได้ ร่างกายก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น จะต้องทำลายหัวใจให้หยุดเต้น ร่างกายก็อยู่ไม่ได้ และเมื่อนั้นเขาก็จะแพ้ วิธีนี้ เรียกว่า ‘ยุทธศาสตร์พัฒนา’ ให้ทดลองทำดู อาจใช้เวลานานห้วงแรกถึง ๔ ปี โดยเริ่มจากค่ายสฤษดิ์เสนาและด้านทุ่งสมอก่อน ต่อไปจึงค่อยขยายด้านอื่นเพื่อปิดล้อม”


นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยที่ขณะนั้นผมดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองยุทธการรับสนองงาน พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งไว้สำหรับการใช้จ่าย ในขณะที่กำลังพลส่วนหนึ่งกำลังเร่งสร้างความเจริญในพื้นที่ เช่น หมู่บ้าน แหล่งน้ำ ตัดถนนเชื่อมต่อหมู่บ้าน พัฒนาอาชีพให้ราษฎรมีรายได้สูงขึ้นจากการเกษตร พร้อมทั้งพัฒนาการศึกษา เช่น สร้างโรงเรียน สถานการณ์การสู้รบยิ่งทวีความรุนแรง ทำให้การพัฒนาโครงการตามพระราชดำริเต็มไปด้วยอันตรายรอบด้าน พคท. ดักซุ่มโจมตีขัดขวางการทำงานอยู่ตลอดเวลา กว่าจะสร้างทางสำเร็จ ทั้งคนงาน ทั้งกำลังพลต้องบาดเจ็บล้มตายไปไม่รู้เท่าไหร่ แต่พอสร้างเสร็จ ก็ไม่มีใครกล้าใช้ ที่พึ่งของผม ณ ตอนนั้น ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสแนะนำว่า “ให้สร้างหมู่บ้านห่างกัน ๑ กิโลเมตร”


ผมดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านคนละ ๒๐ ไร่ ให้เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย และสัตว์เลี้ยงทางเศรษฐกิจไว้ทำทุน จาก ๒ หมู่บ้านค่อย ๆ ขยายเป็น ๓๒ หมู่บ้าน ท่ามกลางเสียงปืนที่ยังดังรัวอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่ผมเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงาน จะมีพระราชดำรัสพระราชทานกำลังใจว่า


“การที่ผู้ก่อการร้ายขัดขวางและต่อต้านมิให้เราจัดตั้งหมู่บ้านได้สำเร็จ แสดงว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว เสมือนหนึ่งว่าเราไปบีบจมูกแล้วเขาหายใจไม่ออก จึงจำเป็นต้องดิ้น”


พระราชดำรัสของพระองค์เป็นกำลังใจอันสูงค่าของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกคน ที่พร้อมจะสละชีวิตเพื่อปกปักรักษาผืนแผ่นดินไทย และด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใย และทรงเป็นกำลังใจแก่ทหารหาญอย่างสม่ำเสมอ ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมทุกปี กระทั่งครั้งหนึ่งหน่วยทหารเกิดปะทะกับผู้ก่อการร้ายและได้รับบาดเจ็บ พระองค์ท่านพระราชทานเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปรับทหารบาดเจ็บ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้


หนึ่งปี สองปี สามปี เสียงปืนไม่เคยเงียบหายไปจากพื้นที่แห่งนี้ ผมจำได้ตั้งแต่ที่เริ่ม “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เมื่อปี ๒๕๒๐ ล่วงเข้าปี ๒๕๒๔ ใกล้ถึงวันครบกำหนดที่ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริมา แม้ทหารจะพยายามกดดันด้วยยุทธิวิธี “การรุก” ตลอดเวลา แต่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยังคงตั้งหลักต่อสู้ ผมตัดสินใจเปิด “ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก” เพื่อหวังเผด็จศึกษาให้ผู้ก่อการร้ายพ่ายแพ้และยอมละทิ้งพื้นที่บริเวณเขาค้อ เขาย่า บ้านหนองแม่นา แม้ยุทธการครั้งนี้กองทัพจะสูญเสียกำลังพลทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร และอาสาสมัคร ทหารพรานไปเป็นจำนวนมาก แต่ผลที่ทหารไทยได้รับคือ “ชัยชนะ” อันยิ่งใหญ่ เราสามารถเข้าตี ทำลายล้าง และยึดที่หมายสำคัญ ๆ ไว้ได้หมด กำลังพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่รอดตายหลบหนีไปอยู่แหล่งอื่น มวลชนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีชาวเขามอบตัวหลายร้อยคน ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่สมดังกระแสพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยพระราชทานไว้ว่า “แผนยุทธศาสตร์พัฒนานี้ทดลองปฏิบัติดู ๔ ปี ซึ่งอาจจะยาวนาน แต่ถ้าสำเร็จแล้ว เขาจะต้องพ่ายแพ้ในที่สุด”


เหตุการณ์ต่อจากนั้น ก็เป็นจริงดังที่พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ทุกประการ เมื่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่เขาค้อพ่ายแพ้ ในห้วงเวลาต่อมา เขตภูหินร่องกล้าก็ยอมวางอาวุธและเข้ามอบตัว จากนั้นก็ไล่ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในเขตภาคเหนือ จังหวัดน่าน (บ้านห้วยโกร๋น อำเภอทุ่งช้าง) ในพื้นที่จังหวัดตาก (อำเภอพบพระและอำเภออุ้มผาง) รวมทั้งที่เป็นกองกำลังสำคัญของกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทยในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร และจังหวัดอุดรธานี รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงที่ยอมวางอาวุธและเข้ามอบตัวจนที่สุดเมื่อปี ๒๕๒๗ ผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอช่องช้าง และอำเภอนาสาร) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอกุยบุรี) ขอมอบตัวเป็นผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย เป็นอันว่าการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สิ้นสุดลง ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ เป็นไปตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกประการ


จากนั้น ผมเร่งพัฒนายุทธศาสตร์พระราชทาน คือ ปลูกฝังให้ราษฎรรักและหวงแหนในพื้นที่ และส่งเสริมให้ราษฎรได้อยู่ดีกินดี โดยมีเป้าหมายที่เด่นชัด คือให้มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีสูงกว่ารายได้ของราษฎรทั่วไปในภาคเหนือ ซึ่งก็บรรลุผลตามเป้าหมายทุกปี นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการนำเอาการพัฒนาอาชีพและจิตใจมาเป็นอาวุธในการสู้รบจนได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “ยอดกษัตริย์ จอมทัพไทย” โดยท่านพลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP