จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๑) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนที่ ๕)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



210 destination



สืบเนื่องจาก ๔ ตอนที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเนื้อหาบางส่วนจาก
หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”
ซึ่งได้จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
ในตอนนี้ ผมจะขอนำบางส่วนของหนังสือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้


++++++++++++++++++++++++++++++++


ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า “ฉันครองราชย์สองปีแรก ฉันไม่มีผลงาน เพราะฉันยังไม่รู้ว่าราษฎรต้องการอะไร” เป็นที่ประจักษ์ว่า ทรงมองการเป็นพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องของงาน เป็นพระราชภาระ ที่จะสนองความต้องการของราษฎร เพื่อราษฎรจะได้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และการที่จะทรงงานให้ได้ผลตรงเป้าหมายได้นั้น ต้องทราบว่า ประชาชนต้องการอะไร


เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเริ่มเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภาคต่าง ๆ ได้ทรงศึกษาและทรงถามไถ่ความเป็นอยู่และทุกข์สุขของราษฎร จึงทรงได้รับข้อมูลปฐมภูมิอย่างลึกละเอียดในทุกพื้นที่ ทรงทราบว่า การที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกรนั้น “เกษตรกรต้องมีน้ำ มีที่ดิน แล้วก็พืชพันธุ์ที่ดี และถ้ามีปุ๋ยอีกหน่อยก็วิเศษ” ในเรื่องน้ำนั้น เนื่องจากการทำการเกษตรของประเทศอาศัยน้ำฝนเป็นหลักมาเป็นเวลาช้านาน ฝนตกมากน้ำท่วมพืชพรรณ แล้วก็ไหลลงทะเลไป เวลาหน้าแล้ง น้ำไม่มี ปลูกพืชไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนทั้งระยะยาวและระยะสั้น สำหรับหน้าที่ในการบริการจัดการน้ำนั้น เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญและต้องร่วมมือกันปฏิบัติงานถวาย ด้วยมีพระราชประสงค์จะหาน้ำให้ราษฎรที่ทำการเกษตร


ในการเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎร ซึ่งจะทรงใช้เวลาปีละประมาณ ๖ เดือน องคมนตรีที่ตามเสด็จก่อนหน้านั้น มีองคมนตรี หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ และองคมนตรีประกอบ หุตะสิงห์ ต่อมามีองคมนตรี หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ (ภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ) ซึ่งทรงชำนาญด้านการเกษตร องคมนตรีจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการชลประทาน แล้วก็ผม เวลาเสด็จฯ อย่างที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเองบ้าง รถยนต์พระที่นั่งไปไม่ได้ ก็ทรงพระดำเนินลุยน้ำลุยโคลน พระหัตถ์ทรงถือแผนที่ ทรงสังเกตพื้นที่ และทรงบันทึกภาพ ทรงถามชาวบ้านเป็นเวลานาน ๆ ถึงเวลาพระกระยาหารก็ประทับเสวยข้าวกล่องเหมือน ๆ กับผู้ตามเสด็จทั้งหลาย ตกค่ำจะพระราชทานเลี้ยงผู้ที่มาช่วยงาน เสวยเสร็จก็ทรงกางแผนที่บนโต๊ะ มีพระราชดำรัสถึงปัญหาที่ทรงพบระหว่างการเสด็จฯ ทรงซักถามความคิดเห็น และพระราชทานพระราชดำริถึงวิธีการแก้ปัญหานั้น ๆ อย่างตรงจุดและยั่งยืน ฉะนั้น พระตำหนักตามภาคต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่เป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถ แต่เป็นสำนักงานที่ใช้ทรงงาน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงละเอียดถี่ถ้วน เมื่อเสด็จฯ ไปในพื้นที่ด้วยพระองค์เอง จะทรงถามไถ่ทุกข์สุขราษฎรถึงความเป็นอยู่ การทำมาหากิน แม้กระทั่งว่า ในการเดินทางมานั้นผ่านอะไรมาบ้าง ทรงรวบรวมรายละเอียดทุกอย่างที่เกี่ยวกับพื้นที่ไว้ด้วย ข้อมูลที่ทรงได้รับจึงเป็นข้อมูลปฐมภูมิที่เชื่อถือได้ แผนที่ของพระองค์ท่านจึงมักใช้ได้ทันสมัยกว่าที่ราชการทำไว้ ครั้งหนึ่งทรงทอดพระเนตรแผนที่กับตำรวจตระเวนชายแดน ในแผนที่ของตำรวจลงไว้ว่า มีบ้านร้าง กลับรับสั่งว่า ไม่ร้าง มีคนอาศัยอยู่อย่างน้อย ๓ ครอบครัว ที่ทรงทราบเช่นนั้น เพราะเพิ่งทรงถามจากราษฎรที่มาเฝ้าฯ เมื่อทางตำรวจไปดู ก็ปรากฏว่าเป็นความจริง


เมื่อทรงได้รับข้อมูลและสรุปปัญหาความต้องการแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงพระราชดำริว่า จะช่วยเหลืออย่างไร จึงเกิดเป็นโครงการพระราชดำริขึ้นกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขนาดเล็กที่ช่วยบรรเทาทุกข์ของราษฎรได้โดยเร็ว เป็นงานที่สนับสนุนและกระตุ้นรัฐบาล โดยไม่ขัดต่อแผนใหญ่ของรัฐในการพัฒนาประเทศ มีหน่วยงานที่เรียกย่อ ๆ ว่า กปร. อยู่ในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ช่วยประสานระหว่างกัน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ขึ้นดูแลโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อเนื่องของโครงการ ...


... เกษตรกรที่ขาดน้ำก็ยากที่จะทำมาหากิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า น้ำเป็นเรื่องที่ต้องจัดการก่อน ประเทศเรามีฤดูฝนที่ฝนตกน้ำท่วม มีฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำ ปลูกพืชไม่ได้ จะทรงมองปัญหาตลอดแนว ทรงค้นหาสาเหตุ ทรงมองไปข้างหน้า โครงการเรื่องน้ำของพระองค์ท่านจึงครอบคลุมตั้งแต่การหาน้ำสำหรับที่แล้งด้วยฝนหลวง การรักษาต้นน้ำลำธารด้วยการปลูกป่า และการลดการตัดไม้ทำลายป่า การกระจายน้ำให้ใช้ประโยชน์ด้วยระบบชลประทานขนาดเล็กขนาดใหญ่ ซึ่งกักน้ำไว้เวลามีน้ำมาก เพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วม และปล่อยให้เกษตรใช้เพาะปลูกเมื่อยามต้องการ ไปจนถึงการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ...


... ครั้งหนึ่ง หลังจากเสด็จฯ ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระเกจิอาจารย์ทางภาคอีสาน ณ จังหวัดสกลนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั้งที่ยังไม่ทันได้ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงงานด้านศิลปาชีพ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกเยี่ยมราษฎร เมื่อทรงทราบข่าวว่า ราษฎรยังมีปัญหาน้ำไม่พอใช้ ถึงแม้จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดพอสมควรอยู่แล้ว มีพระราชดำริว่า อ่างนั้นถ้ายกประตูน้ำขึ้นอีกเล็กน้อย ก็จะเก็บน้ำเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นปริมาณมากขึ้น พอใช้ตามความต้องการ


แต่อย่างไรก็ดี ขอบอ่างมีลักษณะชันโดยรอบ บางแห่งลาดเอียง หากยกประตูน้ำขึ้น น้ำก็จะท่วมเข้าไปในพื้นที่สาธารณะบางส่วน แต่มีราษฎรเข้าไปปลูกพืชทำกินอยู่ ซึ่งหากทำตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็จะสามารถไล่ออกไปจากพื้นที่ได้ทันที แต่ในวันนั้น ก็ทรงพยายามอธิบายให้ชาวบ้านที่อาจจะต้องเดือดร้อนเข้าใจ ทรงเจรจาต่อรองที่จะหาที่ดินทดแทนและชดเชยให้ ทรงลงประทับที่พื้นเจรจาอธิบายกับชาวบ้านอยู่นาน ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ ก็ยังไม่เสด็จฯ กลับ จนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องนำเทียนไขมาจุด ทรงเจรจากับชาวบ้านจดหมดเทียนเป็นเล่ม เมื่อเข้าใจกันได้ดี จึงได้เสด็จฯ กลับ ด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระขันติธรรมดังกล่าว ทำให้การดำเนินการลุล่วงไปด้วยดี


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้เป็นประจำ รวมทั้งที่ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งแต่เดิมราษฎรทำนาปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก มีโรงสีตั้งอยู่หลายแห่ง ต่อมาเมื่อมีการทำนากุ้งซึ่งต้องใช้น้ำเค็ม แต่ไม่ได้มีการจัดพื้นที่การประกอบอาชีพแต่ละอย่างให้เหมาะสม การจัดน้ำเค็มกับน้ำจืดเพื่อการประกอบอาชีพ จึงเข้าไปปะปนกันทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลดี การเลี้ยงกุ้งก็ไม่ได้ประสิทธิภาพ ทุกครั้งที่เสด็จฯ ไป ก็ได้พระราชทานพระราชดำริเรื่องวิธีแก้ไข แต่เมื่อผ่านไป ๓ ปีแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้าไปแก้ไข ราษฎรยังคงเดือดร้อนอยู่ จึงมีพระราชดำริว่า จะทรงทำเอง เมื่อจะเริ่มโครงการ รัฐบาลจึงได้เข้ามาดำเนินการตามพระราชดำริ จนปัจจุบันโครงการประสบความสำเร็จ นาข้าวและโรงสีกลับมามีชีวิตได้ดังเดิม นับเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลเข้าแก้ไขปัญหาราษฎรได้อย่างตรงจุด


เรื่องน้ำนี้ มีเกร็ดเล็ก ๆ เล่าให้ฟังถึงพระราชอารมณ์ขัน หลายปีมาแล้ว เมื่อพระเจ้าซาห์แห่งอิหร่านจะเสด็จฯ เยือนประเทศไทย และมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเขื่อนภูมิพล เพราะทรงสงสัยว่า ทำไมเขื่อนภูมิพลจึงไม่เต็มเร็ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสถาม กฝผ. ก็ได้กราบบังคมทูลตอบไปว่า เขื่อนในอิหร่านนั้น มีรูปทรงตีบ แคบ พอเปิดให้น้ำไหลเข้าโรงไฟฟ้า น้ำจึงไหลเชี่ยวพัดเอาตะกอนมาทับถมทำให้ตื้นเร็ว ขณะที่เขื่อนภูมิพลกว้างเหมือนอ่าว น้ำจึงไม่ไหวเชี่ยว จึงไม่ค่อยเต็ม ทรงถามว่า “แล้วอีกกี่ปี ถึงจะเต็ม” ก็กราบบังคมทูลตอบว่าอย่างน้อย ๔๐๐ ปีขึ้นไป ก็ทรงถามต่อไปอีกว่า “ถ้าเขื่อนเต็ม จะทำอย่างไร” ถึงตอนนี้เข้าตาจน ก็กราบบังคมทูลตอบไปว่า “ไม่ทราบเกล้าพระพุทธเจ้าข้า ยังไม่ได้คิด เพราะว่าตายแล้วไปเกิดใหม่อีกไม่รู้กี่ชาติ กว่าจะครบ ๔๐๐ ปี” จึงได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า “ถ้าคิดออกแล้ว ให้เขียนใส่โอ่งฝังดิน แล้วทำลายแทงไว้ ถ้าเขื่อนเต็มเมื่อไร ก็ให้ไปขุดดู


ในส่วนของ กฟผ. เอง นอกจากจะได้ปฏิบัติงานถวายในหลาย ๆ เรื่องแล้ว ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำว่า ควรจะมีส่วนช่วยทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้วย เป็นเหตุให้เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าและจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับพระราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสาดาราม ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ และอื่น ๆ พระราชดำริซึ่งพระราชทานเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ตรงกับแนวคิดสมัยใหม่ในการบริหารองค์กรเรื่องการคืนกำไรสู่สังคม (Corporate Social Responsibilities - CSR) ซึ่ง กฟผ. ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ...


... สมัยที่กำลังสร้างเขื่อนจุฬาภรณ์มีราษฏรที่ไปบุกรุกป่าสงวนถูกตำรวจไล่จับ จึงอพยพหนีตำรวจมานอนอยู่ริมถนนในพื้นที่ของ กฟผ. ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า ถึงราษฎรเหล่านี้กระทำผิด แต่ก็มีความเดือดร้อนจริง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กฟผ. ติดต่อหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ทำโครงการจัดสรรที่ดินให้ราษฎรเหล่านี้ กฟผ. ก็ไปได้ที่ดินตำบลลุยลาย ซึ่งในตอนแรกต้องเช่าจากกรมป่าไม้ วางผัง ตัดถนน แบ่งที่ดินเป็นแปลง ให้มีที่ทำกิน ปลูกบ้าน สร้างอาชีพเพาะปลูกและเลี้ยงหมู โดยได้รับความช่วยเหลือจากเอกชน เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยเรื่องพันธุ์หมูและการตลาด เรื่องทุนก็ไปเจรจาขอกู้ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งก็ให้กู้โดยไม่ต้องค้ำประกัน การดำเนินโครงการดังกล่าวต้องใช้วินัยเป็นหลัก เมื่อราษฎรมีรายได้ต้องส่งใช้หนี้ตามสัญญาก่อน ไม่ฟุ่มเฟือย ผ่านไป ๔ - ๕ ปี ก็หมดหนี้ ตั้งตัวได้ หมู่บ้านลุยลายจึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีคนเอาไปเขียนนวนิยายและสร้างเป็นภาพยนตร์ นี่เป็นตัวอย่างที่ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ราษฎร และทรงพระปรีชาในการสร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรอย่างตรงตามความต้องการ ครบวงจร และยั่งยืน


ในภาคเหนือที่มีปัญหาชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอยเพื่อปลูกฝิ่นมานานแล้ว มีพระราชดำริว่า ในการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องหาอาชีพเข้าไปทดแทน ที่สร้างรายได้ให้เท่าหรือมากกว่าการปลูกฝิ่น จึงเป็นที่มาของโครงการหลวงที่ส่งเสริมและพัฒนาการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งหม่อมเจ้าภีศเดชรัชนีได้ทรงรับสนองพระราชดำริไปดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เรื่องพันธุ์พืชและเทคโนโลยีก็ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ จนปัจจุบันการปลูกฝิ่น และการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการทำไร่เลื่อนลอยลดน้อยลงมาก ชาวเขาหันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ประเทศไทยมีผลผลิตผักและผลไม้ทดแทนการนำเข้า เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ด้วยผลงานดังกล่าว โครงการหลวงจึงได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อปี ๒๕๓๑ และเพื่อความยั่งยืนของโครงการ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิโครงการหลวงขึ้น จะเห็นได้ว่าในการแก้ปัญหานั้นทรงแก้ที่ต้นเหตุก่อน โดยวิธีที่ราษฎรจะเดือดร้อนน้อยที่สุดและมีความยั่งยืน


โครงการหลวงส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวจนได้ผลดี มีผลผลิตทั้งจากชาวเขาและชาวบ้าน จนในที่สุดจำเป็นจะต้องสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ขึ้นที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดความเสียหาย โรงงานดังกล่าวมีเครื่องจักรที่ต้องใช้ไฟฟ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่ามีลำน้ำขนาดเล็กที่ไหลตลอดปีสามารถทำไฟฟ้าได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าภีศเดชฯ ทรงติดต่อ กฟผ. เข้าไปดำเนินการ จึงได้มีการสร้างเขื่อนเล็ก ๆ โรงไฟฟ้าและออกแบบสร้างกันหันให้ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถม้าพระที่นั่งไปทรงเปิดโรงไฟฟ้าและเขื่อน การดำเนินการตามพระราชดำรินี้ทำให้พื้นที่ทั่วบริเวณนี้ มีความเจริญขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรที่จะรองรับของสดที่ขายไม่ทัน มีไฟฟ้าใช้ก่อนกำหนดถึง ๑๐ ปี และมีการสร้างงานเพิ่มขึ้นอีกมาก


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขปัญหาของราษฎรโดยละมุนละม่อม เมื่อทรงเห็นว่า ราษฎรประสบความเดือดร้อน ถึงแม้กระทำผิดและสามารถถูกลงโทษได้ตามกฎหมาย เช่น การปลูกฝิ่น การบุกรุกป่าสงวน ก็ทรงหาวิธีแก้ไขโดยทรงแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นวิธีการตัดไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกโดยสิ้นเชิง ...


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ทรงเป็นบัณฑิตใฝ่รู้ ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง และทรงสนับสนุนให้ราษฎรได้รับการศึกษาในหลากหลายรูปแบบ วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานหนังสือมาเล่มหนึ่ง และมีพระราชดำรัสว่า “อยากเป็นช่าง แต่พอมาเป็นพระเจ้าอยู่หัวจึงต้องเรียนวิชาอื่น ซึ่งหนังสือเล่มนี้ทำให้สามารถหาความรู้ได้อย่างกว้างขวาง มีดรรชนีที่จะให้ค้นเรื่องได้อย่างต่อเนื่อง”


เรื่องหนึ่งที่สนพระราชหฤทัยได้แก่วิทยุการสื่อสาร เนื่องจากทรงติดตามความเป็นไปของประชาชนผ่านทางวิทยุตำรวจ FM5 ซึ่งรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยมีพลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ เป็นผู้ปฏิบัติงานถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาเรื่องการใช้วิทยุมาก เข้าพระราชหฤทัยเรื่องวงจรไฟฟ้า การทำงานของเครื่องรับ-ส่งวิทยุสื่อสาร และแม้แต่การซ่อมแซมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คงจะทรงทำได้ด้วยพระองค์เอง ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ไปที่ กฟผ. เพื่อทอดพระเนตรระบบการส่งวิทยุที่ใช้มือถือธรรมดาแต่ว่าสามารถไปได้ไกล ก็ทรงเห็นว่าเป็นระบบสองคลื่น แล้วเมื่อทรงเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว ก็ทรงเลือกใช้แบบเดิมซึ่งเหมาะกับวิธีทรงงานซึ่งเสด็จฯ ไปเป็นขบวนไม่ห่างกันมากนัก


ต่อมาทรงตั้งโจทย์ว่า ทหารชายแดนจะติดต่อกับฐานที่ตั้งได้อย่างไร และด้วยเหตุที่ทรงเข้าพระราชหฤทัยว่า เสาอากาศเป็นปัจจัยสำคัญในการรับ-ส่งวิทยุ ดร. สุธี อักษรกิตติ์ จึงได้ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ๔ แบบ ทรงพิจารณาแล้วทรงเลือก ๓ แบบที่ถือว่าใช้การได้ และพระราชทานแก่ กฟผ. ผลิตให้ราชการใช้ จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเรื่องที่เป็นที่สนพระราชหฤทัยแล้ว จะทรงศึกษาลึกลงรายละเอียด


การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ทรงพระกรุณาเสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรและพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังใจแก่บัณฑิตและอาจารย์ติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ทรงก่อตั้งทุนอนันทมหิดล พระราชทานพระราชทรัพย์ ส่งคนไทยไปเรียนต่อยังต่างประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ กันหลายสาขา ซึ่งไม่ได้ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ว่า กลับมาแล้วต้องทำงานใช้ทุน แต่หากใครจะมีจิตอาสา ทำงานรับใช้ชาติ มีผลงานออกมา พระองค์ท่านก็จะดีพระราชหฤทัย แต่ถ้าใครจะไปทำงานอื่นหรือไม่กลับมา พระองค์ท่านก็ไม่ได้ทรงตำหนิแต่อย่างใด เคยมีพระราชดำรัสว่า “อย่างน้อยคนไทยก็สามารถเรียนวิชานี้ได้”


เมื่อหลายสิบปีก่อน ครูไม่พอกับจำนวนนักเรียน สื่อก็ยังไม่กว้างขวางเหมือนในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้ในวิชาต่าง ๆ นอกห้องเรียนได้เองตลอดเวลา ไม่ต้องรอครู และในช่วงโรงเรียนหยุด นักเรียนไม่มีอะไรทำก็จะได้หันมาอ่านหนังสือ โดยให้มีสารานุกรมชนิดที่มีดัชนีสืบค้นข้อมูลต่อเนื่องประจำที่บ้านและห้องสมุด จึงเกิดเป็นโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น ลักษณะของสารานุกรมที่จัดทำโดยผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ จะมีข้อความเป็น ๓ ระดับคือ สำหรับเด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่ เลือกอ่านได้ตามพื้นฐานความรู้ ซึ่งพี่อาจจะช่วยสอนน้อง หรือพ่อแม่ช่วยสอนลูก เป็นการสร้างนิสัยรักการอ่าน สร้างการศึกษาต่อเนื่องและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว จึงเป็นแหล่งความรู้สำหรับคนไทย ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ ๖๐ ปี อ่านได้ มีประโยชน์ได้ตามความสามารถ และสามารถผูกโยงกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นหลักวิชาด้านวิทยาศาสตร์หรือด้านศิลปะ


โดยมีพระราชดำรัสว่า “... สารานุกรมนี้เดิมกำหนดไว้จะมีจำนวนเล่มที่แน่นอน แต่การจัดหาเรื่องให้ครบทุกหมวดหมู่ ให้เป็นเล่มตามต้องการนั้น ไม่สามารถทำได้ ฉะนั้น เมื่อผลิตหนังสือออกมาได้แล้ว ไม่สามารถให้จบลงได้ตามต้องการ จึงจัดเรื่องต่าง ๆ เข้าเป็นรูปเล่มต่อเนื่องกันมาจนถึงบัดนี้ ออกจะผิดลักษณะของหนังสือที่ใช้ตำราสารานุกรม ซึ่งต้องมีจำนวนเล่มที่แน่นอน” อย่างไรก็ดีมีพระราชดำรัสว่า “คงใช้เรียกหนังสือนี้เป็นสารานุกรมต่อไป แต่อาจจะเรียกให้ถูกต้องได้ว่าเป็น หนังสือแห่งความรู้ บุ๊กออฟโนวเลดจ์ (Book of Knowledge)


สำหรับเด็กที่ไม่ได้เล่าเรียนจนอายุวัยเกินเรียน ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นเพราะทางบ้านจำเป็นต้องใช้แรงงาน หรือว่าเด็กอาจจะเกเรไม่ยอมเล่าเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า เด็กเหล่านี้ต้องมีชีวิตอีกยาวนาน ถ้าไม่มีอาชีพติดตัวก็จะเกิดปัญหาทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการสอนวิชาชีพให้แก่เด็กเหล่านี้ เรียกว่า โครงการพระดาบส โดยจดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะถือว่าเป็นการศึกษานอกโรงเรียน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหลักการดำเนินงานว่า เด็กต้องตั้งใจมาเรียนเอง มาสมัครเองจึงจะสอนให้ เพราะที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนดัดสันดานที่จะรับเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงไม่ไหวแล้วเอามาฝาก เมื่อรับเข้าเป็นนักเรียนแล้ว โครงการจะมีที่พักให้อยู่ มีอาหารให้กิน มีพระสงฆ์มาสอน โดยมีเป้าหมายว่า เด็กที่จบออกไปต้องเป็นคนดี และมีความสามารถที่จะทำงานหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต พระองค์ทรงเปรียบเทียบว่า เหมือนในสมัยก่อนที่มีสำนักพระดาบส ที่จะสั่งสอนให้ลูกศิษย์เป็นคนดีมีวิชา แต่ใครอยากมาเรียนต้องเดินทางผ่านป่าหิมพานต์มาหา เริ่มต้นก็ให้กวาดใบไม้ เก็บผลหมากรากไม้มาให้อาจารย์ ถ้ามีความอดทนจึงจะสอนให้จนได้เป็นใหญ่เป็นโต ด้วยแนวพระราชดำรินี้ จึงพระราชทานนามว่า “พระดาบส” ผมก็กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “พระดาบสรุ่นของข้าพระพุทธบาทเจ้าคงต่างจากพระดาบสรุ่นเก่า ตรงที่จบแล้วไม่มีผอบแจก” พระองค์ท่านและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ประทับอยู่ด้วยกัน ก็ทรงพระสรวล ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ จึงได้รับแนวพระราชดำริ การสอนวิชาชีพในระบบการศึกษานอกโรงเรียน เอาไปขยายต่ออีกมาก นับเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา ...



(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระมหากษัตริย์นักคิด นักปฏิบัติ เพื่อความสุขของประชาชน” โดยท่านพลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP