สารส่องใจ Enlightenment

สำคัญที่แบบอย่าง



พระธรรมเทศนา โดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่




การเริ่มงานทุกอย่างต้องมีแบบอย่างเป็นแนวทางให้ดำเนินตาม
ที่เริ่มหัดเขียนหนังสือก็ต้องมีตัวหนังสือให้ดูเป็นตัวอย่าง
และต้องอาศัยเส้นบรรทัดเป็นแนวทางให้เขียนตาม
คนที่จะเขียนรูปภาพก็ต้องมีรูปภาพให้ดูเป็นตัวอย่าง

แม้การงานอื่นๆ เช่น การทำไร่ ทำนา ทำสวน ค้าขาย ข้าราชการ ฯลฯ
ก็ต้องอาศัยคนที่เคยทำมาแล้วเป็นแบบฉบับเปรียบเทียบ
และดำเนินตามการงานนั้นๆ จึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี


การประพฤติปฏิบัติ คือ การทำความดีก็เป็นงานชนิดหนึ่ง
และเป็นงานที่สำคัญกว่างานอย่างอื่น
เพราะคนเราจะดีจะชั่วจะสุขจะทุกข์ขึ้นอยู่กับความประพฤติ
อนุชนรุ่นลูกหลานเป็นผู้เริ่มงานย่อมต้องการแบบฉบับเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ
ผู้ใหญ่คือพ่อแม่และครูบาอาจารย์เป็นผู้ให้แบบ
ถ้าจะเปรียบให้เห็นง่ายๆ ผู้ใหญ่เหมือนรางรถไฟ ลูกหลานเหมือนรถไฟที่วิ่งไปตามราง
รถจะวิ่งได้ตรงหรือลดเลี้ยวไปมาประการใด สำคัญขึ้นอยู่กับราง
เพื่อให้เห็นว่าตัวอย่างเป็นแบบฉบับที่สำคัญอย่างไร
จะสาธกเรื่องให้เป็นอุทาหรณ์ดังนี้



อดีตกาลนานมาแล้ว มีพระราชาองค์หนึ่ง
พระองค์มีม้ามงคลอยู่ตัวหนึ่ง เป็นม้าที่ได้รับการทะนุถนอมเป็นอย่างดี
คนที่จะเลี้ยงก็ต้องเป็นคนมีความรู้ความสามารถในการเลี้ยงสัตว์
อาหารที่จะให้ก็ต้องเลือกแล้วเลือกอีก



พระองค์มีคนเลี้ยงม้าอยู่คนหนึ่งแม้จะเป็นคนมีคุณสมบัติเหมาะสมที่ได้รับเลือกมาแล้ว
แต่เขามีความบกพร่องอยู่อย่างหนึ่ง
ซึ่งแม้พระราชาเองก็ทรงคาดไม่ถึงว่าจะเป็นภัยแก่ม้ามงคลของพระองค์อย่างใด
ความบกพร่องของคนเลี้ยงม้ามีเพียงว่าเขาเป็นคนขาพิการ
ความพิการของขานั้น ความจริงก็ไม่มากอะไร เป็นแต่เพียงขาของเขาไม่เท่ากัน
เวลาเดินจะมีอาการกะเผลกๆ นิดๆ เท่านั้น ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่าเขาเป็นคนขาพิการ



ม้ามงคลเป็นม้าที่ฉลาด เวลาถูกจูงออกจากคอก
เมื่อเห็นคนเลี้ยงม้าเดินกะเผลกๆ เป็นประจำทุกวัน
ม้าก็คิดว่าเจ้าของต้องการให้ทำอย่างนั้นบ้าง ม้าจึงพยายามทำตามทุกวัน
อยู่ต่อมาอีกไม่นาน ม้าก็เดินกะเผลกๆ ได้เหมือนกับคนเลี้ยง



วันหนึ่งพระองค์ทรงประทับหลังม้ามงคลเพื่อเสด็จไปประกอบพระราชกิจ
ทรงรู้สึกว่าม้าเดินผิดปรกติ ทรงสงสัยว่าม้ามงคลของพระองค์จะไม่สบาย
จึงรับสั่งให้เรียกนายแพทย์มาตรวจดูอาการ
นายแพทย์พยายามตรวจดูอาการของม้าเป็นเวลาหลายวัน
แม้จะพยายามสักเท่าไรก็ไม่พบสมุฏฐานของโรคว่าเป็นโรคอะไร
จึงกราบทูลผลของการตรวจว่าม้าไม่ได้เป็นอะไร



ปัญหาม้าเดินขากะเผลกๆ ยังคงเป็นปัญหาสำหรับพระราชาเรื่อยมา
ในราชสำนักของพระราชาขณะนั้นมีปุโรหิตาจารย์อยู่คนหนึ่ง เป็นปุโรหิตผู้ทรงธรรม
ปุโรหิตาจารย์ผู้นี้คือพระโพธิสัตว์นั่นเอง
พระราชาทรงระลึกถึงท่านปุโรหิตาจารย์ได้ จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า
แล้วทรงเล่าเรื่องและพระประสงค์ให้ฟังตลอด



ปุโรหิตาจารย์เมื่อทราบพระประสงค์แล้ว
จึงคอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวไปมาของม้า
และสังเกตดูคนเลี้ยงม้าว่าเป็นคนมีท่าทางกิริยาอย่างไรเป็นเวลาหลายวัน
ต่อมาปุโรหิตาจารย์จึงทราบว่าม้าไม่ได้เป็นโรคอะไร เป็นความจริงดังที่แพทย์บอกไว้
การที่ม้าเดินกะเผลกๆ ก็เพราะม้าเลียนตามแบบคนเลี้ยงม้า
จึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ


เมื่อพระราชาทรงทราบแล้วทรงพอพระทัยมาก
ได้ตรัสถามถึงวิธีที่จะแก้ม้าให้กลับเดินเป็นปรกติได้ดังเดิม
ปุโรหิตาจารย์กราบทูลว่าเรื่องนี้จะแก้ด้วยวิธีบังคับ ทรมาน
หรือจะแก้ด้วยการเยียวยารักษา ย่อมไม่มีโอกาสที่จะทำได้
มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น คือเมื่อม้าเดินกะเผลกๆ ได้เอง
ก็ต้องหัดให้ม้าเดินให้เป็นปรกติได้เอง
แต่จะต้องให้แบบอย่างแก่ม้า
คือ เปลี่ยนคนเลี้ยงม้าคนเก่าแล้วหาคนที่เดินปรกติมาเลี้ยงม้า
พระราชาทรงรับสั่งให้ปฏิบัติตามที่ปุโรหิตแนะนำ
อยู่ต่อมาไม่นาน ม้ามงคลก็กลับเดินได้เป็นปรกติ
นี่คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าแบบอย่างมีความสำคัญอย่างไร



เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "เรียน" ทีไร ท่านผู้อ่านก็นึกถึงโรงเรียน แบบเรียนและครู
เพราะความเข้าใจของคนทั่วไป เข้าใจว่าการเรียนต้องมีสิ่งสามสิ่งนี้เป็นเครื่องประกอบ
ความจริงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องอยู่เหมือนกัน แต่ควรจะทำความเข้าใจให้มากกว่านี้
คือการเรียนของคนมิได้จำกัดขอบเขตเพียงแค่เรียนในโรงเรียนเท่านั้น
เมื่อคิดเฉลี่ยเวลาที่เรียนในโรงเรียนจริงๆ แล้ว
ชั่วระยะอายุของคนเรา มีเวลาเรียนอยู่ในโรงเรียนเพียงไม่กี่ปี และวันหนึ่งก็ไม่กี่ชั่วโมง


สมมติว่าเรามีอายุ ๘๐ ปี เราจะมีเวลาเรียนอยู่ในห้องเรียน
เรียนตามแบบตามที่ครูสอนอย่างมากไม่เกิน ๓๐ ปี
วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ปี เรามีเวลาเรียนอยู่ในห้องเรียนเพียง ๕-๖ ชั่วโมงเท่านั้น
นอกจากนั้นเราได้เรียนได้รู้นอกห้องเรียนทั้งสิ้น

การเรียนนอกห้องเรียน เป็นการเรียนนอกตำรา ไม่จำกัดวิทยฐานะของครู
เรามีโอกาสเรียนจากทุกๆ คนที่มีโอกาสเข้าไปใกล้ชิดติดต่อ
ตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนกระทั่งคนแก่


การเรียนนอกตำรานี้ เป็นกาเรียนที่เรียกว่าเลียนแบบ คือเอาตัวอย่างโดยไม่รู้สึกตัว
เช่น พ่อแม่เป็นช่าง ลูกก็มักเป็นช่างไปด้วย พ่อแม่เป็นนักร้อง ลูกก็มักเป็นนักร้องไปด้วย
พ่อแม่เป็นคนขยันมีมารยาทเรียบร้อย ลูกก็พลอยเป็นคนดีขยันเรียบร้อยไปด้วย
ตรงกันข้ามถ้าพ่อแม่เกียจคร้าน ลูกก็เกียจคร้าน
พ่อแม่เป็นนักการพนัน ดื่มเหล้า ลูกก็มักจะเป็นนักการพนันนักดื่มเหล้าด้วย
แต่เป็นสิ่งที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ ตัวอย่างที่ดีของพ่อแม่ลูกมักไม่เอาอย่าง
แต่ถ้าตัวอย่างที่ไม่ดีแล้ว ก็มักจะทำตาม



ทั้งนี้เพราะความชั่วให้ผลเป็นความสนุกสนานเพลิดเพลินในเบื้องต้น
แต่มีผลเป็นความทุกข์เดือดร้อนในบั้นปลาย
ส่วนความดีให้ผลเป็นความทุกข์ยากลำบากในเบื้องต้น
แต่มีผลเป็นสุขสงบในภายหลัง
ความชั่วจึงเลียนแบบได้ง่าย ความดีจึงเลียนแบบได้ยาก
ฉะนั้นทุกคนจึงควรสำเหนียกศึกษาว่า
เราจะทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีและเรียนจากแบบอย่างที่ดีเสมอ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


จาก "สำคัญที่แบบอย่าง" ใน “เครื่องหมายของคนดี”
โดย พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP