ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

จะสำรวจว่าสมาธิของเราอยู่ในขั้นไหนได้อย่างไร



ถาม – อยากทราบวิธีตรวจสอบตนเองในเวลาที่นั่งสมาธิ ว่าสมาธิของเราอยู่ในขั้นไหน
เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์ประกอบการปฏิบัติต่อไปครับ


การที่จะสำรวจว่าสมาธิของเราอยู่ในขั้นไหน มันจะทำให้ฟุ้งซ่านไปเปล่าๆ
แต่ถ้าหากว่าเราเข้าถึงสมาธิแบบใดได้เป็นปกติ
อันนั้นจึงควรจะเอามาพิจารณานะ
ว่าสมาธิขั้นนี้ มันควรจะเอาไปใช้อะไรได้บ้างแล้ว
ตัวของสมาธิเอง จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มันยังโยกเยกได้มากๆ
ไม่ควรที่เราจะไปคำนึงถึงนะว่าขณะนี้เรียกว่าขณิกสมาธิ
ขณะนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิ หรือว่าเข้าถึงฌานแล้ว
เพราะว่าการมัวแต่ไปจดจ้อง แล้วก็คำนึงคำนวณนะ
ไปตีความมันว่ามีองค์ประกอบแบบใดบ้าง เรียกสมาธิขั้นไหนนะ
แทนที่จะมีผลดี แล้วก็มีความเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้า
มันกลับจะรบกวนจิตใจ ณ ขณะนั่งสมาธิ ให้เกิดความวอกแวก
ให้เกิดความรู้สึกฟุ้งซ่านไปนะ ว่าเราควรจะเอาสมาธิระดับนี้ไปใช้ได้อย่างไรนะ
หรือว่าเดี๋ยวจะมีความโลภขึ้นมานะว่าเราจะเอาให้ได้ฌานขั้นนั้นขั้นนี้นะ
ตรงนี้เขาเรียกว่ารูปฌาน อันนี้เรียกอรูปฌานแล้วหรือเปล่า



ส่วนใหญ่นะเท่าที่พบมา คนที่ยังไม่ได้ถึงสมาธิกันจริงๆ
จะมีความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้กันมากนะ
โดยเฉพาะคนที่หวังจะเอาสมาธินะครับ ไปใช้ในการพูดคุยกัน
อันนี้ไม่ได้หมายถึงคุณเจ้าของคำถามนะ คือจะหมายถึงคนที่เพิ่งเล่นสมาธิทั่วไป
ส่วนใหญ่จะเอามาใช้คุยกัน เอามาบอกเล่าว่า ทำสมาธิได้ถึงขั้นนั้นขั้นนี้แล้วนะ
เสร็จแล้วก็จะมีการคาดหมายกันต่อๆ ไปว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้จะเอาให้ได้ขั้นต่อมานะ
แล้วก็จะ เอ่อ เรียกว่าเตรียมดูลาดเลาไว้แล้วละ
ว่าจะเอามาใช้เล่นฤทธิ์เล่นเดชอะไรได้บ้าง
หรือว่าไปดูสวรรค์ไปดูนรกอะไรที่ไหนนะครับ
หลายคนก็ถึงขั้นที่ว่าเกิดมานะ ไม่เคยมีจิตใจสงบเลยจากความฟุ้งซ่านนะ
อยู่ๆ มันสงบเป็นขณิกสมาธิขึ้นมา
นึกว่าเป็นนิพพานก็มี นึกว่าเป็นการบรรลุมรรคผลก็มีนะ
คืออยู่ๆ ความฟุ้งซ่านมันดับฟุบไปเฉยๆ ก็เข้าใจว่านั่นคือการได้โพล่งขึ้นบรรลุธรรม
อย่างนี้เคยเจอมาหมดแล้ว เคยได้ยินเล่ามาหมดแล้ว
แล้วที่จะไปเกิดความฟุ้งซ่าน จะไปเกิดความสำคัญผิดแบบนั้น
มันก็มาจากการที่พยายามไปแปะป้ายตีความ
ว่าสมาธิที่เราทำได้นั้นน่ะเขาเรียกว่าอะไร



วิธีที่ดีที่สุดนะครับ ทางที่ดีที่สุดในการทำสมาธิอย่างมีโฟกัสจริงๆ
ให้เราสนใจแค่ว่ามีความรู้สึกอยู่กับอารมณ์ที่กำหนดไว้เป็นสมาธิเพียงใด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าตั้งใจจะดูลมหายใจ
เราต้องเข้าใจอย่างชัดเจนเลย วางแผนไว้ล่วงหน้า
ด้วยการเขียนแผนที่ว่าที่พระพุทธเจ้าท่านให้ฝึกอาณาปานสติ
มันมีเส้นทางเป็นอย่างไร ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นต่อยอด ขั้นแอดวานซ์เป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนเลย
ขั้นต้นขึ้นมานะให้แค่มีสติรู้ว่ากำลังหายใจออกหรือว่าหายใจเข้าอยู่นะ

หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้านะ
จากนั้นมีพัฒนาการขึ้นไปต่อนะครับ
คือถ้าเราสามารถรู้ได้เป็นปกติว่ากำลังหายใจเข้า หรือว่าหายใจออกอยู่
ก็ดูว่าเดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น ไม่เท่ากัน
สังเกตแค่ว่า เออ ตอนนี้มันสั้น ตอนนี้มันยาว เอาแค่นี้ตรงนี้แหละ
แล้วพอสังเกตไปนานๆ เนี่ย ก็จะดูได้นะว่าเรารู้มาถูกทางหรือเปล่านะครับ

 

ถ้าหากรู้มาถูกทาง มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า
ลมหายใจ เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาวเดี๋ยวก็สั้นเนี่ย มันไม่เที่ยง

รู้ด้วยจิตที่มันนิ่งๆ รู้ด้วยจิตที่มันสบายๆ รู้ด้วยจิตที่มันไม่มีอาการฟุ้งซ่านซัดส่าย
ไม่มีอาการคิดคำนวณนะว่าเรามาถึงสมาธิขั้นใดแล้ว
แต่จิตที่มีความรู้อยู่นิ่งๆ สบายๆ นั้นแหละนะ ในที่สุดมันจะกลายเป็นผู้รู้ผู้ดู
คือพูดง่ายๆ ว่าเมื่อไหร่ที่จิตเห็นลมหายใจไม่เที่ยงนะ
ธรรมชาติของมันจะแยกออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู

นี่คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในอานาปานสติสูตรนะครับ
ถ้าหากว่าเราลองสังเกตดู มันก็ทำกันได้อย่างนั้นแหละ
ไม่ว่าจะกี่พันปีผ่านไปนะ ยังทำกันได้เหมือนเดิม
เห็นว่าลมหายใจไม่เที่ยงเมื่อไหร่ จิตจะออกมาเป็นผู้ดูอย่างเงียบๆ สงบๆ ทันที


ตัวนี้ที่มีประโยชน์จริง คือเราสามารถใช้สังเกตได้ว่า
เมื่อจิตสงบ สักแต่เป็นผู้รู้ผู้ดูลมหายใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยงแล้ว
สิ่งที่จะตามมาก็คือความสามารถที่จะดูเข้ามาในอาการของจิต
จิตกำลังมีความสุขอยู่แค่ไหน จิตกำลังมีปีติอยู่แค่ไหน
ในแต่ละครั้งที่กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก นี่ตรงนี้มีประโยชน์เลยนะ
เมื่อเราสามารถสังเกตเห็นว่าจิตมีความอิ่มใจ มีปีติ มีความสุข ไม่เท่ากันในแต่ละลมหายใจ
บางครั้งก็มีความอึดอัด บางครั้งก็มีความสบายผ่อนคลายเปิดกว้างนะ
ตัวนี้มันนำไปสู่การเห็นความไม่เที่ยงของจิต
การเห็นความไม่เที่ยงของอาการปรุงแต่งทางใจ

ถ้าหากว่าเราเห็นทั้งธรรมชาติฝ่ายรูปคือลมหายใจ
และธรรมชาติฝ่ายนามคืออาการที่มันมีปีติบ้าง มีสุขบ้าง
แล้วก็คลายจากความสุขบ้าง คลายจากปีติบ้าง
มันก็จะมีตัวจิตผู้รู้ผู้ดูที่ละเอียดขึ้นไปอีกนะ



อย่างที่บอกว่าถ้าจิตเห็นอะไรไม่เที่ยง มันจะแยกออกมาเป็นผู้ดูทันทีนะครับ
อันนี้มันเห็นปีติ มันเห็นความสุขไม่เที่ยง
มันก็จะแยกออกมาเป็นผู้ดูความสุขไม่เที่ยง แยกออกมาเป็นผู้ดูปีติไม่เที่ยง
แล้วการแยกนี่มันมีความชัดเจนเลยว่า มีข้อสังเกตชัดเจนว่า
แต่ละลมหายใจเนี่ยนะที่เข้าที่ออกอยู่ มันไม่เท่ากันอย่างไร ตัวปีติกับตัวสุข

ตัวนี้แหละนะมันถึงจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
การมานั่งคำนวณเอาว่าเรากำลังถึงสมาธิขั้นนั้นขั้นนี้
มันไม่มีแผนที่บอกทางที่ชัดเจนว่าจะให้ทำอะไรต่อนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP