จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๘) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนที่ ๒)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



206 destination


สืบเนื่องจากคราวที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเนื้อหาบางส่วนจาก
หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”
ซึ่งได้จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
ในคราวนี้ ผมจะขอนำบางส่วนของหนังสือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้



... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวัน ชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดิน ต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่าง เริ่มจาก “โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง” รัฐบาลแต่ละชุดได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทในเรื่องปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำริของพระองค์มาเป็นลำดับ ตั้งแต่รัฐบาลชุดศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เสนอ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ขึ้น ช่วงที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ พระองค์ทรงพระกรุณารับโครงการไว้ในพระราชูปถัมภ์ ด้วยการพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน ๕๑,๙๖๗ ไร่ ๙๕ ตารางวา ในพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคกลาง แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นประเดิมเริ่มต้น โดยมีพระราชประสงค์ให้ผู้เช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่แต่เดิม ได้ทำกินในที่ดินนั้นต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ตราบที่ยังยึดถืออาชีพเกษตรกรรมอยู่ แต่จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น


ต่อมา สมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ฯ นายกรัฐมนตรีเฝ้าฯ รับพระราชทานดำริเรื่องการปฏิรูปที่ดิน โดยทรงขอให้รัฐบาลดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่ช้านัก แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดดังกล่าวมีเวลาอยู่ในหน้าที่ไม่นาน จึงยังไม่มีโอกาสสนองพระราชดำริเต็มที่ การปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำรินั้น จึงเริ่มดำเนินการในสมัยรัฐบาลชุดของผมตามที่ได้มีพระราชดำรัสแนะนำคือ ให้มีการแจกเอกสารสิทธิแก่ราษฎรผู้ไร้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และจัดให้มีการบูรณาการต่อไปด้วยการสร้างถนน สะพาน ขุดคลอง สร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงคุณภาพดิน แจกปุ๋ย ฝึกอบรมสาธิตการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ที่ดูแลง่าย โตเร็ว ให้ราคาสูง และจัดสรรเงินทุนของกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกษตรกรกู้ยืมเพื่อการเกษตรด้วย


รัฐบาลเริ่มทำการปฏิรูปที่ดินที่ได้รับพระราชทานมาทั้ง ๕๐,๐๐๐ ไร่เศษก่อน โดยมีที่ดินที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะปฏิรูปได้ ๔๓,๙๐๒ ไร่ จากนั้นก็บุกเบิกปฏิรูปที่ดินในท้องถิ่นทุรกันดารอื่น ๆ ตามพระราชดำริ รวม ๑๗ จังหวัด รวมท้องที่ที่แห้งแล้งและทุรกันดารที่สุดในภาคอีสาน คือ ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วย และรัฐบาลชุดต่อ ๆ มาก็ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำรินี้จวบจนถึงปัจจุบัน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรไทยผู้ยากไร้เป็นจำนวนมากให้มีที่ดินทำกิน และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นลำดับมา


พระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว นอกจากจะทำให้รัฐบาลแต่ละสมัยดำเนินการปฏิรูปที่ดินได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังทำให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ และประชาชนเกิดความเข้าใจและมั่นใจในนโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของพระองค์ ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องราษฎรไม่มีที่ดินทำกินได้อย่างแท้จริงอีกด้วย นับเป็นโครงการที่สร้างสรรค์และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญโครงการหนึ่งในปัจจุบัน ...


... นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำให้มีการส่งเสริมระบบสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรช่วยเหลือกันเองและเป็นการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการตั้งสหกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้นอีก ๑๐๒ แห่งในปี ๒๕๒๐ เมื่อรวมกับสหกรณ์การเกษตรเดิมที่มีอยู่แล้ว ทำให้ทั่วประเทศมีสหกรณ์การเกษตร รวมจำนวนทั้งสิ้น ๖๖๔ แห่ง สหกรณ์และรัฐบาลได้เร่งรัดจัดหาเงินให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตรกรกู้ยืม เพื่อใช้จ่ายในการลงทุนประกอบอาชีพและปลดเปลื้องหนี้สินได้เป็นจำนวนมาก และทรงพระราชดำริต่อไปด้วยว่า เพื่อช่วยเกษตรกรในด้านพยุงราคาข้าวและพืชผลอื่น ๆ และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกร ควรจัดให้มีการสร้างฉางข้าวและพืชผล เกษตรกรจะได้ไม่ต้องเร่งรัดขายข้าวและพืชผลในทันที เมื่อมีฉางแล้ว เกษตรกรสามารถเก็บกักข้าวและพืชผลไว้ได้นานเพียงใดก็ได้ เพื่อรอขายในยามที่ได้ราคาสูง รัฐบาลได้สนองพระราชดำริดังกล่าว ด้วยการดำเนินโครงการจัดสร้างฉางข้าว และพืชผลขึ้นในสหกรณ์การเกษตรทั่วราชอาณาจักร โดยรัฐบาลออกค่าวัสดุให้ ส่วนการก่อสร้างนั้น สมาชิกสหกรณ์ลงแรงร่วมกันจัดสร้างเอง ภายในเวลาหนึ่งปี มีฉางข้าวและพืชผลเพิ่มขึ้นใหม่อีก ๕๐๐ ฉาง จากเดิมที่มีอยู่เพียง ๓๐๐ ฉาง เพิ่มพื้นที่เก็บข้าวและพืชผลการเกษตร และเพิ่มรอยยิ้มให้กับเกษตรกรไทยได้อีกเป็นจำนวนมาก ...


... ในปี ๒๕๑๙ พื้นที่ป่าในประเทศไทยลดน้อยลงเป็นอันมาก เหลือเพียงร้อยละ ๓๘.๖๗ ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น จากเดิมในปี ๒๕๐๔ เราเคยมีพื้นที่ป่าไม้สูงถึงร้อยละ ๕๓.๓๓ ของพื้นที่ประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยเรื่องนี้และทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำว่า ควรจะชี้ให้ประชาชนเห็นว่ามีการตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างกว้างขวาง และรณรงค์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปลูกป่า โดยเฉพาะตามต้นน้ำลำธาร พื้นที่รกร้างว่างเปล่า และป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกในหมู่ประชาชนให้ตระหนักในความสำคัญของป่าที่มีต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนป่ามากขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดรายการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันปลูกป่าตามโครงการ “อาสาพัฒนาปลูกป่าในฤดูฝน” โดยกรมป่าไม้เป็นผู้แจกกล้าไม้ให้ประชาชนนำไปปลูก และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ถือเอาวันเข้าพรรษาเป็น “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ” โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างดียิ่ง ...



... “ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ ๔๐ ปี อยากสร้างถนนวงแหวน ...”


นี่คือพระราชดำรัสตอบอดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี


น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้ทรงมีเฉพาะต่อชาวชนบทในท้องถิ่นทุรกันดารเท่านั้น หากแต่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยทั่วทุกคนอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ ทรงเข้าพระราชหฤทัยและทรงเห็นใจชาวกรุงที่ต้องประสบกับปัญหาการจราจรคับคั่ง จึงมีพระราชดำรัสให้จัดสร้างถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งในเมืองหลวง และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สัญจรเข้าออกระหว่างในกลางเมืองกับชุมชนส่วนนอก ตลอดจนผู้ที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถเดินทางผ่านกรุงเทพฯ ได้โดยไม่ต้องผ่านศูนย์กลางของเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น


จากพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้นเป็นที่มาของวงแหวน “ถนนรัชดาภิเษก” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๔ พระองค์ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่และติดตามความคืบหน้าด้วยพระองค์เองเสมอมา เมื่อรัฐบาลชุดของผมเข้าทำงาน พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า "ถนนสายนี้เริ่มสร้างมาหลายปีแล้วยังไม่เสร็จเรียบร้อย ยังไม่ครบวง ให้เร่งสร้างให้เสร็จโดยเร็วด้วย” ขณะนั้น ถนนสายนี้กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงสี่แยกอโศกกับถนนพหลโยธิน รัฐบาลจึงได้เร่งรัดให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ และรัฐบาลชุดต่อ ๆ มาก็ได้เร่งรีบดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองพระราชดำริจนสำเร็จเป็นวงแหวนถนนรัชดาภิเษกโดยสมบูรณ์ในปี ๒๕๓๖ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ ชั้นในให้คลี่คลายไปได้อย่างมาก ...


... ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะวิกฤติสักปานใด พระองค์ไม่เคยทรงหวั่นไหว และมีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขวิกฤติการณ์ของบ้านเมืองตามกรอบแห่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้คลี่คลายและผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเสมอมา อีกทั้งเมื่อมีผู้ใดจาบจ้วงล่วงละเมิดพระองค์ ไม่ว่าจะโดยการบิดเบือนสถานการณ์ หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ หรือโดยการปั้นน้ำเป็นตัว จะเห็นเป็นที่ประจักษ์แจ้งทั่วกันว่าไม่เคยทรงตอบโต้หรือทรงมีปฏิกิริยาในทางใด ๆ ทั้งสิ้น พระองค์ทรงสงบนิ่ง เสมือนหนึ่งไม่เคยทรงมีเรื่องเหล่านี้มาแผ้วพานให้ทรงระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเลย พระองค์ทรงปฏิบัติได้อย่างไร? เรื่องนี้จะคิดเห็นเป็นอื่นคงจะยาก นอกจากว่าพระองค์ทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรม ประการที่ ๗ “อกฺโกธ” หรือ “ความไม่โกรธ” และทรงบำเพ็ญ “อภัยทาน” ได้อย่างบริสุทธิ์และสมบูรณ์ ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลากว่า ๖๕ ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงดำรงคงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม และทรงแน่วแน่ในอันที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณีกิจน้อยใหญ่นานัปการ สมดังพระราชปณิธานในพระปฐมบรมราชโองการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยพระพลังแห่งพระจิตอันหนักแน่น เด็ดเดี่ยว มั่นคง และด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการส่งเสริมพระบารมีในพระองค์ ซึ่งสูงส่งและสดใสอยู่แล้วให้ยั่งยืนต่อไปชั่วกาลนาน ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระบารมีคุ้มเกล้าฯ” โดยท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร)






... สิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด คือแนวทางที่จะแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างลำบาก พวกชนกลุ่มน้อย หรือผู้ที่ด้อยโอกาสในทุก ๆ ด้าน ทรงพระราชดำริว่า การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ จะต้องขจัดปัญหาความยากจนให้ได้ พระราชดำรัสที่พระราชทานเสมอคือ “พวกเขาลำบาก ให้ไปช่วยกันดูแล” พระมหากรุณาธิคุณในข้อนี้จึงเรียกได้ว่าปกแผ่ไปแทบจะทุกพื้นที่ และในหลาย ๆ ครั้งก็แสดงให้เราได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถที่เลิศล้ำหาใดเปรียบ


เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๙ ผมได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านอีกครั้ง ตอนนั้นผมเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่แล้ว พระองค์ท่านและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ไปพระราชทานเพลิงศพพระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ที่เมรุวัดหินหมากเป้ง ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หลังจากที่พระราชทานเพลิงศพเสร็จแล้ว ขณะเตรียมเสด็จฯ กลับ ก็ได้มีพระราชดำรัสกับผมว่า “ท่านแม่ทัพ ขอให้ไปดูความเดือดร้อนของชาวบ้านบ้านแก่งนาง ที่ภูพานด้วย”


ผมได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรับพระราชดำรัสเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้น เป็นถึงแม่ทัพภาคที่ ๒ แล้ว แต่ยังไม่ทราบเลยว่าบ้านแก่งนางอยู่ตรงไหน แต่พระองค์ท่านทรงทราบแล้วว่าที่นั่นมีปัญหา จึงเป็นความรู้สึกที่ทั้งเลื่อมใสและศรัทธาว่า พระองค์ท่านทรงทุ่มเท ทรงใส่พระราชหฤทัยประชาชนอย่างเหลือเกิน


วันนั้นหลังจากส่งเสด็จแล้ว ผมก็รีบหาข้อมูลเพื่อจะเดินทางไปบ้านแก่งนางทันที พบว่าเป็นชุมชนทั้งอยู่บริเวณตอนบนของตำบลห้วยบางทราย จังหวัดมุกดาหาร แต่อยู่ห่างจากตัวเมืองไปอีกประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร ก่อตั้งขึ้นจากราษฎรกลุ่มที่เคลื่อนย้ายจากท้องที่หลายจังหวัดมารวมกัน รวมทั้งราษฎรกลุ่มชนเผ่าดั้งเดิม เช่น โซ่ ข่า กลุ่มนามสกุลชาวดงและภูไท มีจุดเด่นคือ เป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่สีชมพู แต่ราษฎรปฏิเสธไม่เข้าร่วมขบวนการกับ ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์)


เมื่อผมเดินทางไปถึง ก็ได้เข้าไปถามชาวบ้านตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางว่า ให้ทหารเข้าไปถามว่าเขามีปัญหาอะไร ชาวบ้านบอกว่า เขามีปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง เหตุเพราะพื้นที่หมู่บ้านมีลักษณะเป็นแอ่งหุบเขา ลำห้วยอยู่ลึกลงไป เวลาหน้าแล้งระดับน้ำจะอยู่ต่ำมาก ทำให้เอาน้ำขึ้นมาใช้ลำบาก


หลังจากปรึกษาหารือกันในหน่วยฯ แล้ว ลงความเห็นว่า ให้นำเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าที่เรียกว่า “ไดรโว่” ลงไปสูบน้ำขึ้นมาไว้ในถังพัก เพื่อให้ชาวบ้านมาตักไปใช้ เป็นการช่วยให้เขามีความสะดวกสบายมากขึ้นในระดับหนึ่ง ไม่ต้องลงไปหาบหามขึ้นมาให้เป็นที่ลำบาก ยังจำภาพได้ติดตามาจนถึงทุกวันนี้ว่า ชาวบ้านต่างมีสีหน้าแสดงความดีใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อผมเล่าให้เขาฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน มีพระราชดำรัสสั่งให้ทหารเข้ามาดูแลและหาทางช่วยกันแก้ไข ครั้งนั้นหลังจากดำเนินการช่วยชาวบ้านเสร็จเรียบร้อย ผมบอกให้พวกเขาหันหน้าไปยังทิศที่ตั้งของกรุงเทพฯ จากนั้นก็บอกให้ทุกคนก้มลงกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งประดิษฐานไว้ที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน เพื่อให้รู้ซึ้งว่านี่คือพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้พระราชทานแก่ชาวบ้านแก่งนาง


ภายหลังเมื่อผมดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ผมได้กลับไปเยี่ยมชาวบ้านที่บ้านแก่งนางอีกครั้ง พบว่าที่นั่นมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาก กลายเป็นหมู่บ้านขยายที่มีถึง ๔ หมู่บ้านในละแวกเดียวกัน แทนที่จะเป็นหมู่บ้านเดี่ยวเหมือนสมัยก่อน โดยชาวบ้านได้ขยายการทำมาหากินออกไปหลากหลาย เส้นทาง ถนนต่าง ๆ ก็เข้าถึง ซึ่งพอมองย้อนกลบไปเทียบกับภาพในอดีต จึงนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อประชาชน


เป็นความรู้สึกที่ตระหนักแน่แก่ใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอดส่องถึงทุกปัญหาความยากลำบากของประชาชน ถึงแม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็ก ๆ เพียงหมู่บ้านเดียว แต่ก็ทรงห่วงใยเท่าเทียมเสมอเหมือนกันหมด ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระมหากษัตริย์ผู้ให้” โดยท่านพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP