จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๗) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนที่ ๑)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it




205 destination


เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ นั้น คณะองคมนตรีได้จัดทำหนังสือชื่อว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”
ซึ่งต่อมา สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ขอพระราชทาน
พระบรมราชานุญาตนำมาจัดพิมพ์ใหม่ในปี ๒๕๕๖
เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดมอบให้มูลนิธิอานันทมหิดล


ในหนังสือเล่มนี้นอกจากจะมีเนื้อหาประวัติความเป็นมาของคณะองคมนตรี
ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทบาทและหน้าที่ของคณะองคมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ แล้ว
ยังมีบทความที่องค์มนตรีแต่ละท่านได้เล่าเรื่องราว
หรือถ่ายทอดเหตุการณ์และความรู้สึกในการได้ถวายงาน
ใต้เบื้องพระยุคบาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙ อีกด้วย


ในโอกาสนี้ ผมใคร่ขอนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มดังกล่าว
มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านที่สนใจ ดังต่อไปนี้



... เมื่อครั้งผู้เขียนดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๒ ไม่สามารถอ้างอิงวันเดือนได้ แต่เป็นปลายปี ๒๕๑๗ พลตรีเทียนชัย จั่นมุกดา หัวหน้านายทหารรักษาความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปตรวจภูมิประเทศเพื่อวางแผนในการถวายอารักขา เรานัดพบกันบนภูผาเหล็ก เวลา ๑๐.๓๐ น. พอถึงเวลาอาหารกลางวัน ผู้เขียนชวนคุณเทียนชัยให้รับประทานข้าวห่อที่กองทัพเตรียมไป คุณเทียนชัยบอกว่า เตรียมข้าวห่อมาจากกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว คุณเทียนชัยเล่าต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เตรียมข้าวห่อไปด้วย จะได้ไม่เป็นภาระของกองทัพ กองทัพเขามีภาระมากอยู่แล้ว


นี่คือน้ำพระราชหฤทัยสุดประเสริฐของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


เมื่อวันที่ ๑๓ – ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคอีสาน ประทับแรมที่เขื่อนน้ำอูนของกรมชลประทาน ขณะนั้นยังไม่มีพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ก่อนเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงานและรับเสด็จ ผู้เขียนได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ประทับต่อไปอีก ๒-๓ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า “ฉันมีความจำเป็นต้องกลับ
แต่ถ้าแม่ทัพอยากให้ฉันมาอีกเมื่อใด ให้บอกไป ฉันจะมา”


ผู้เขียนไม่มีเอกสารอ้างอิง แต่ขอยืนยันว่า เป็นพระราชดำรัสที่ผู้เขียนได้ยินและจะไม่มีวันลืม และไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย ถึงสิ่งที่มีอยู่ในพระราชหฤทัย


เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดต่าง ๆ จะทรงเตรียมพระองค์พร้อมเสมอ โปรดที่จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และทรงใช้แผนที่โดยตลอด ทรงเชี่ยวชาญในการใช้แผนที่อย่างยิ่ง นายทหารแผนที่ยอมรับว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้วิชาแผนที่ดีกว่าพวกเขา (นายทหารแผนที่) ในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร จะทรงทราบว่าบางระวางในแผนที่ที่ทรงใช้ ผิดจากภูมิประเทศจริง จะทรงอธิบายและมีพระราชดำรัสกับนายทหารแผนที่ที่ตามเสด็จให้รับไปแก้ไข


ข้าราชการและผู้ตามเสด็จต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะกราบบังคมทูลตอบพระราชดำรัสถาม และส่วนมากจะทรงถามคำถามที่ผู้ถูกถามมักจะไม่ได้เตรียมมาก่อน


ข้าราชการและผู้ตามเสด็จต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงงานนานหลายชั่วโมงโดยไม่ทรงพัก ไม่เสวยเมื่อถึงเวลาเสวย และไม่ทรงใช้ห้องสรงเป็นเวลานาน


ผู้เขียนได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ให้ตามเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลเป็นสิบ ๆ ครั้ง ได้ทราบ ได้เห็น ถึงวิธีการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พอสรุปได้ว่า


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่น ทรงแน่วแน่ที่จะได้ทอดพระเนตรของจริง ความจริง เพื่อทรงนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับรายงานที่องค์กรต่าง ๆ ทูลเกล้าฯ ถวาย


พระองค์มีพระวิริยะ พระอุตสาหะ พระขันติ แม้จะทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย ก็ไม่ทรงท้อถอย


เมื่อทรงทราบข้อมูลโดยละเอียด ถูกต้อง และครบถ้วนแล้ว จึงจะทรงพระราชดำริพระราชทานแก่หน่วยงานต่าง ๆ


ไม่ทรงมีกฎเกณฑ์และกำหนดการแต่งกายของราษฎรที่เข้าเฝ้าฯ บางคนไม่สวมเสื้อ ไม่ทรงรังเกียจแต่อย่างใด


ทรงวางพระองค์เรียบง่าย ประทับกับพื้นดินบ่อย ๆ


ในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรแต่ละครั้ง จะทรงงานจนเสร็จตามที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย จึงจะทรงหยุด ไม่ว่าจะทรงใช้เวลานานเท่าใด


จะไม่ทรงตำหนิผู้ใด แม้จะทราบบังคมทูลรายงานไม่ถูก ไม่ครบถ้วน ไม่ใช้ราชาศัพท์ หรือใช้ราชาศัพท์ไม่ถูก ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวสยาม” โดยท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี)



... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเป็นนักกฎหมายโดยวิชาชีพ แต่ทรงเข้าถึงแก่นแท้และจิตวิญาณของกฎหมายอย่างแท้จริง พระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ผมอยู่เสมอ จากพระบรมราชวินิจฉัยฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในคดีต่าง ๆ หรือจากพระราชกระแสเกี่ยวกับปัญหาทางด้านกฎหมายที่พระราชทานให้คณะองคมนตรีพิจารณา

นอกจากนี้ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานในหลายโอกาส ยังแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่นักกฎหมายและบุคคลทั่วไปถึงพระอัจฉริยภาพทางกฎหมายอันลึกซึ้งยิ่งนัก ซึ่งเราอาจเรียนรู้อุดมการณ์ เจตนารมณ์ และหลักการของกฎหมาย ตลอดจนข้อบกพร่องของกฎหมาย หรือแม้กระทั่งข้อจำกัดของผู้ใช้กฎหมาย จากพระองค์ได้เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่พระองค์ทรงชี้ทางสว่างให้แก่นักกฎหมายได้เห็นช่องทางที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งในตัวบทกฎหมายและในตัวนักกฎหมายเอง


พระอัจฉริยภาพทางกฎหมายเรื่องหนึ่งที่ประทับอยู่ในดวงใจของผมตลอดมา คือพระราชดำริในเรื่องความยุติธรรม อันความยุติธรรมนี้นักกฎหมายทุกคนทราบดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นสุดยอดแห่งความยากที่จะวินิจฉัยว่า สิ่งใดยุติธรรม สิ่งใดไม่ยุติธรรม ในหมู่นักกฎหมายด้วยกันเองยังมีข้อถกเถียงกันได้อย่างไม่จบสิ้น


อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญในระบบกฎหมายไทยตั้งแต่ได้มีการปฏิรูประบบกฎหมายในครั้งรัชกาลที่ ๕ มาจนถึงปัจจุบันคือ เราถือตามหลักระบบกฎหมายอังกฤษที่ว่า “ตัวกฎหมายนั่นแหละคือ ความยุติธรรม” ดังนั้น แม้ว่าเราจะเห็นกันทั่วไปว่ากฎหมายบทนั้นบทนี้ไม่ยุติธรรม ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมนั้น จนกว่าจะได้แก้ไขกฎหมายนั้นเสียก่อน


สำหรับในเรื่องนี้มีพระบรมราโชวาทองค์หนึ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมกับกฎหมาย ซึ่งให้แง่คิดที่ควรใคร่ครวญและศึกษา อย่างลึกซึ้ง คือ


“... กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ใช้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่ง กับใช้เป็นแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้น ๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงอีกสถานหนึ่ง


โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมาย และได้ผลที่ควรจะได้...”


... ในวันแรกที่ผมได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังบางปะอิน เพื่อเข้ากราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ผมรู้สึกพิศวงมากที่พระองค์ไม่ทรงถือพระองค์เลย พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผมเข้าเฝ้าฯ ในห้องทรงงานซึ่งจัดอย่างเรียบง่าย ไม่มีเครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งอย่างใดทั้งสิ้น นอกจากโต๊ะทรงพระอักษรเตี้ย ๆ เพื่อประทับทรงงานกับพื้นเท่านั้น โต๊ะทรงพระอักษรตัวนั้นมีขนาดประมาณ ๑.๒๐ เมตร x ๑.๒๐ เมตร มีเครื่องทรงพระอักษรที่จำเป็นวางอยู่บนโต๊ะทรงพระอักษรเพียงไม่กี่ชิ้น ดินสอส่วนมากสั้นกุด บางแท่งมีด้ามต่อเพื่อให้เหลาได้จนเกือบหมดไส้ รอบ ๆ ห้องทรงงานเรียงรายไปด้วยม้วนแผนที่ พระองค์ทรงมัธยัสถ์จริง ๆ และพระตำหนักแห่งอื่น ๆ ที่ผมมีโอกาสไปเข้าเฝ้าฯ อาทิ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ก็ตกแต่งอย่างเรียบง่ายเช่นเดียวกัน ...


... ตอนนั้นมีข่าวสำคัญว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะทรงอภิเษกสมรส เราคิดกันในคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลจะร่วมกับราษฎรทั้งประเทศ น้อมเกล้าฯ ถวายอะไรเป็นของขวัญแด่พระองค์ จึงจะเหมาะสมและดีที่สุด ในฐานะที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาท โดยจะถือโอกาสพิเศษอันหาได้ยากยิ่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความเข้าใจและความสามัคคีของคนในชาติ ด้วยการพึ่งพระบารมี และพัฒนาประเทศในส่วนท้องถิ่นทุรกันดารไปพร้อมกัน เมื่อตกลงกันในคณะรัฐมนตรีเบื้องต้นว่า จะรณรงค์จัดสร้างโรงพยาบาลในท้องถิ่นทุรกันดาร เพื่อประชาชนในท้องถิ่นชนบทที่ยากไร้ และเพื่อเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับทหาร ตำรวจ และหน่วยอาสาสมัคร ที่กำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ผมจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้อมเกล้าฯ ถวายโรงพยาบาลในท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส แด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสว่า “ไม่ต้องห่วงครอบครัวของฉัน จะทำอะไรก็ทำเถิด ขอให้เป็นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนก็แล้วกัน”


อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงพยาบาลด้วยว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” การณรงค์สร้างโรงพยาบาลครั้งนั้น แม้จะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่เราได้รับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศเป็นจำนวนสูงมากเกินความคาดหมาย ทั้งได้ที่ดินมาเพิ่มด้วยอีกจำนวนหนึ่ง เป็นผลให้สามารถสร้างโรงพยาบาลขนาด ๓๐ เตียง ได้ถึง ๒๑ แห่ง และเป็นโรงพยาบาลต้นแบบของโรงพยาบาลชุมชนทั้งหลายด้วย ...


.... ช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญศึกหนักจากภัยคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและภายนอกประเทศนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทสำคัญที่สุดในการตัดสินใจของชาติ เพราะพสกนิกรทั้งหลายต่างเฝ้ามองว่า พระประมุขของชาติจะมีพระบรมราชวินิจฉัยหรือมีพระราชปรารถนาอย่างไร ในครั้งนั้นพระองค์ทรงแสดงออกด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเด็ดเดี่ยวและแจ่งแจ้ง ดังที่ปรากฏในเพลงพระราชนิพนธ์ ๒ เพลง ที่เริ่มบรรเลงทั่วประเทศไทยในระยะนั้นคือ เพลง “ความฝันอันสูงสุด” อันมีเนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า “...ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว ขอทนทุกข์รุกโรมโหมภายใจ ขอฝ่าฝันผองภัยด้วยใจทะนง...”


และเพลง “เราสู้” ซึ่งมีเนื้อเพลงมาจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในยามบ้านเมืองกำลังเผชิญหน้าสิ่วหน้าขวานนั้นเองว่า

“บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ          ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา                    หน้าที่เรารักษาสืบไป
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า             จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย               มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น                   จะสู้กันไม่หลุดหนีหาย
สู้ตรงนี้ สู้ที่นี่ สู้จนตาย                         ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
บ้านเมืองเราเราต้องรักษา                  อยากทำลายเชิญมาสู้
เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู               เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว”


เพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสองเพลงนี้ ดังกึกก้องกังวานอยู่ทั่วทุกแห่งหนในผืนแผ่นดินไทย ในยามที่ประเทศไทยของเรากำลังอยู่ระหว่างปากเหยี่ยวปากกาเผชิญกับสงครามนอกแบบในครั้งนั้น ทุกถ้อยคำในเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์มีความหมาย ทำให้พสกนิกรผองไทยตื่นตัวรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ลุกขึ้นสู้อย่างฮึกเหิม โดยถือเอาแผ่นดินไทยเป็นเรือนตาย “สู้ตรงนี้ สู้ที่นี่ สู้จนตาย” ตามพระราชปณิธานอันแรงกล้าของพระประมุขของประเทศผู้ทรงเป็นจอมทัพไทย


การที่ทรงประกาศศึกเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส และพระราชธิดาทุกพระองค์มิได้ทรงหวั่นเกรงภยันตรายใด ๆ จากอริราชศัตรูเลยแม้แต่น้อย หากแต่ทรงแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกฝ่ายในน้ำพระราชหฤทัยอันเด็ดเดี่ยวและหาญกล้า ดังเช่น ทรงสร้างและประทับ ณ พระตำหนักกลางดงผู้ก่อการร้าย มีพระราชตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นต้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ข้าราชการพลเรือน และพลเรือนอาสาสมัคร ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่สีแดงและพื้นที่สีชมพูอยู่เป็นนิจ เพื่อเป็นการปลุกใจให้กับผู้ปกป้องอธิปไตยของชาติ และเป็นการบำรุงขวัญพสกนิกรในร่มพระบารมีได้อย่างดีที่สุด บางคราวที่เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายไทยกับผู้ก่อการร้ายไม่ว่าในท้องที่ใด ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและทรงนำทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ข้าราชการ พลเรือน และพลเรือนอาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บในการสู้รบ ออกมารักษาพยาบาลในแนวหลังทุกโอกาสที่ทรงกระทำได้


ศึกคอมมิวนิสต์ในครั้งนั้นหนักหนาสาหัสนัก นำความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงมาสู่ทุกฝ่ายในบ้านเมือง พวกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์สังหารผลาญชีวิตราษฎร เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจของเราไปเป็นจำนวนมาก แค่ปี ๒๕๑๙ เพียงปีเดียว มียอดผู้เสียชีวิตสูงถึง ๔๖๐ คน ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือตกเป็นผู้พิการจากการใช้กำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์อีกเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงต้องสูญเสียพระญาติสนิทที่ทรงเป็นกำลังสำคัญในการแบ่งเบาพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ในระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในการนำสิ่งของพระราชทานไปทรงมอบและทรงตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญตำรวจทหาร โดยทรงต้องกระสุนจากปืนของผู้ก่อการร้าย ณ บริเวณบ้านส้อง อำเภอเวียงสาระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งต่อมาในโอกาสแรกที่ทำได้ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลฯ และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อ “ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์” หรือทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๑ เป็น “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ในพระวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ครั้งนั้น


สุดท้ายแล้ว แม้ว่าจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์จะล่มสลาย ทำให้การคุกคามและการก่อการร้ายในประเทศไทยแผ่วบางลงเป็นลำดับ แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้เราก้าวผ่านภยันตรายสำคัญครั้งมาได้ ก็คือ การทรงเป็นผู้นำอย่างเด็ดเดี่ยวและองอาจสมดังที่ทรงเป็นจอมกษัตริย์ จอมทัพไทย ที่ทรงสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว ทำให้ประชาชนชาวไทยเริ่มตื่นตัวและตระหนักในภัยของคอมมิวนิสต์มากขึ้น การต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงเริ่มแข็งขันและต่อเนื่อง มีการผนึกกำลังกันหลายฝ่าย ต่างหันหน้าเข้าหากันประสานงานกันต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย แม้จะต้องกรำศึกอย่างยืดเยื้อยาวนานต่อเนื่องมาอีกหลายปีก็ตาม แต่ประเทศไทยก็สามารถรอดพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ในที่สุดและคงความเป็นไทยได้ตราบจนถึงปัจจุบัน...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระบารมีคุ้มเกล้าฯ” โดยท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP