ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปุตตมังสสูตร ว่าด้วยเนื้อบุตร


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๒๔๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่าง เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด
อาหาร ๔ อย่างนั้นคือ ๑. กวฬิงการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
. ผัสสาหาร ๓. มโนสัญเจตนาหาร ๔. วิญญาณาหาร
ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้แล
เพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด.


[๒๔๑] ภิกษุทั้งหลาย ก็กวฬิงการาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ภรรยาสามีสองคนถือเอาเสบียงเดินทางเล็กน้อย
แล้วออกเดินไปสู่ทางกันดาร เขาทั้งสองมีบุตรน้อย ๆ น่ารักน่าพอใจอยู่คนหนึ่ง
เมื่อขณะที่คนทั้งสองกำลังเดินไปในทางกันดาร
เสบียงเดินทางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดสิ้นไป
แต่ทางกันดารนั้นยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองยังข้ามพ้นไปไม่ได้
ครั้งนั้น เขาทั้งสองคนคิดตกลงกันอย่างนี้ว่า
เสบียงเดินทางของเราทั้งสองอันใดแลมีอยู่เล็กน้อย
เสบียงเดินทางอันนั้นก็ได้หมดสิ้นไปแล้ว
แต่ทางกันดารนี้ก็เหลืออยู่ เรายังข้ามพ้นไปไม่ได้
อย่ากระนั้นเลย เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรน้อย ๆ คนเดียว
ผู้น่ารักน่าพอใจคนนี้เสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง
เมื่อได้บริโภคเนื้อบุตร จะได้พากันเดินข้ามพ้นทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น
ถ้าไม่เช่นนั้นเราทั้งสามคนต้องพากันพินาศหมดแน่
ครั้งนั้น ภรรยาสามีทั้งสองคนนั้น ก็ฆ่าบุตรน้อย ๆ คนเดียว ผู้น่ารักน่าพอใจนั้นเสีย
ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อบริโภคเนื้อบุตรเสร็จ
ก็พากันเดินข้ามทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น
เขาทั้งสองคนรับประทานเนื้อบุตรพลางค่อนอกพลางรำพันว่า
ลูกชายน้อย ๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ลูกชายน้อย ๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย
ดังนี้ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นอย่างไร
คือว่าเขาได้บริโภคเนื้อบุตรที่เป็นอาหารเพื่อความคะนอง หรือเพื่อความมัวเมา
หรือเพื่อความตบแต่ง หรือเพื่อความประดับประดาร่างกายใช่ไหม
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า
จึงตรัสต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น เขาพากันรับประทานเนื้อบุตรเป็นอาหาร
เพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดารใช่ไหม
ใช่ พระเจ้าข้า
พระองค์จึงตรัสว่า ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า บุคคลควรเห็นกวฬิงการาหารว่า
(เปรียบด้วยเนื้อบุตร) ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬิงการาหารได้แล้ว
ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้แล้ว
สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีก ก็ไม่มี.


[๒๔๒] ภิกษุทั้งหลาย ก็ผัสสาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร
เหมือนอย่างว่า แม่โคนมที่ไม่มีหนังหุ้ม
ถ้ายืนพิงฝาอยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์อาศัยฝาเจาะกิน
ถ้ายืนพิงต้นไม้อยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ชนิดอาศัยต้นไม้ไชกิน
หากลงไปยืนแช่น้ำอยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดและกัดกิน
ถ้ายืนอยู่ในที่ว่าง ก็จะถูกมวลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะกัดและจิกกิน
เป็นอันว่าแม่โคนมตัวนั้นที่ไร้หนังหุ้ม จะไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใดๆ
ก็ถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้น ๆ กัดกินอยู่ร่ำไป
ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่าพึงเห็นผัสสาหารฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้แล้ว
เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว.


[๒๔๓] ภิกษุทั้งหลาย ก็มโนสัญเจตนาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร
เหมือนอย่างว่า มีหลุมถ่านเพลิงอยู่แห่งหนึ่ง ลึกมากกว่าชั่วบุรุษ
เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน
ครั้งนั้นมีบุรุษคนหนึ่งอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เดินมา
บุรุษสองคนมีกำลังจับเขาที่แขนข้างละคนคร่าไปสู่หลุมถ่านเพลิง
ทันใดนั้นเอง เขามีเจตนาปรารถนาตั้งใจอยากจะให้ไกลจากหลุมถ่านเพลิง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขารู้ว่า ถ้าเขาจักตกหลุมถ่านเพลิงนี้
ก็จักต้องตายหรือถึงทุกข์แทบตาย
ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่าพึงเห็นมโนสัญเจตนาหาร ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว
ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว
เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว.


[๒๔๔] ภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร
เหมือนอย่างว่า พวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้วแสดงแก่พระราชาว่า
ขอเดชะ ด้วยโจรผู้นี้กระทำผิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
จงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ลงโทษโจรผู้นี้ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด
จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ
จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้านี้
เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ช่วยกันประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้า
ต่อมาเป็นเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม
จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ
จงช่วยกันประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน
เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน
ต่อมาเป็นเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม
จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ
จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น
เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น
ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายยังเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่าเมื่อเขากำลังถูกประหารด้วยหอกร้อยเล่มตลอดวันอยู่นั้น
จะพึงได้เสวยแต่ทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้น เป็นเหตุเท่านั้น มิใช่หรือ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกแม้เล่มเดียว
ก็พึงเสวยความทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุ
แต่จะกล่าวไปไยถึงเมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกสามร้อยเล่มเล่า
ข้อนี้ฉันนั้น เรากล่าวว่า จะพึงเห็นวิญญาณาหารฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว
เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว.


ปุตตมังสสูตร จบ



(ปุตตมังสสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๖)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP