ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

การพิจารณาถึงความไม่เที่ยงเป็นประจำ จะส่งผลดีอย่างไร



ถาม – เมื่อพบเหตุที่ทำให้เป็นทุกข์หรือสุข ดิฉันจะคิดว่ามันเป็นของไม่เที่ยง
เราไม่ได้ทุกข์หรือสุขในเรื่องนั้นๆ ตลอดไป
ซึ่งก็ทำให้เลิกคิดซ้ำๆ ในเรื่องที่เป็นทุกข์ และเลิกหลงใหลกับความสุขได้ในระดับหนึ่ง
ถ้าหากพิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะช่วยทำให้เบื่อหน่ายการเวียนว่ายตายเกิดได้หรือไม่คะ



การคิดถึงความไม่เที่ยง ถ้าหากว่าทำเป็นประจำจริงๆ มันกลายเป็นสติได้เหมือนกัน
ตัวสตินี่ที่มันจะเกิดหรือไม่เกิด
เราดูตรงที่ความสามารถในการระลึกได้
แล้วรู้สึกถึงความเป็นเช่นนั้นเป็นปกติได้หรือเปล่านะ
ถ้าหากว่าเราคิดถึงความไม่เที่ยงว่า เออ ความสุขแบบนี้ เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป
แล้วเราเกิดความสลดใจ ไม่ยึดติดกับความสุขนั้นมากเกินไป
ก็ถือว่าได้มีสติขึ้นมาแล้วระดับหนึ่ง



สลดใจในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราหมดความสุขนะ ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นความทุกข์ไปแทน
คำว่าสลดใจหรือสลดสังเวช
ในความหมายที่แท้จริงคือเกิดความรู้สึกว่าไม่น่ายึดมั่นถือมั่น
เห็นว่ามันเป็นแค่อะไรอย่างหนึ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไป
แต่เราก็เสพสุขอยู่อย่างนั้นแหละ ความรู้สึกเป็นสุขไม่ได้หายไปไหน
แต่ความรู้สึกสลดสังเวชมันเพิ่มเข้ามา
มันมีความไม่อยากจะไปเอาอะไรกับมันมากนะ
หรือว่าไม่ได้อยากจะยื้อไว้ให้มันนานๆ หรืออยู่กับตัวเราตลอดไป
คือมันมีความตระหนักขึ้นมาว่าความสุขจะสุขแค่ไหน ในที่สุดมันก็หายสุข
ถ้าหากว่าเราคิดมากๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่ามันไม่เที่ยง
นี่เรียกว่าเป็นการปลุกอนิจสัญญาด้วยการคิด
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดสมาธิจิตตั้งมั่นถึงขั้นจะเกิดมรรคเกิดผลได้นะ
แต่ก็จะเป็นพื้นฐาน จะเป็นปัจจัยให้เกิดความมีปัญญาแบบพุทธ
เกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาได้ในที่สุดเช่นกันนะครับ



คือการเบื่อเวียนว่ายตายเกิดนี่ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ นะ
ไม่ใช่แค่ไปปลงกับความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ชั่วขณะที่เกิดขึ้น
จะต้องเห็นเข้ามาตลอดทั่วทั้งสภาวะทุกสภาวะในกายในใจนี้
คำว่าทั่วในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเก็บทุกเม็ดนะ
ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเห็นกระดูกชิ้นนั้นชิ้นนี้เสียก่อน
เราจะต้องเห็นลมหายใจอยู่ตลอดเวลา หรือว่าเราจะต้องเห็นตับไตไส้พุงอะไร
หรือความสุขความทุกข์แบบไหนๆ ให้มันครบถ้วนเสียก่อน
ไม่ใช่ถึงขนาดนั้น ไม่ได้เก็บขนาดนั้น
แต่หมายความว่าความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือว่าภาวะทางกายทางใจอย่างไร
ที่เคยล่อให้เราหลงติดหลงยึดหรือเกิดอุปาทานได้นะ เราเห็นหมดว่ามันไม่เที่ยง
นี่แค่นี้เพียงพอที่จะบรรลุมรรคผล



แต่ถ้าหากว่าพิจารณาความสุขความทุกข์โดยความเป็นของไม่เที่ยงผ่านความคิด
คิดแต่ละครั้งที่เกิดความสุขหรือความทุกข์ที่มันโดดเด่นขึ้นมา
คิดว่ามันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง
ในที่สุดมันเกิดเป็นความเห็นขึ้นมาจริงๆ ว่าความสุขความทุกข์นี่มันเปลี่ยนได้
ตอนที่เราคิดเป็นการจูงจิตเหนี่ยวนำจิต ให้เข้าไปรู้เข้าไปเห็นความจริงระดับหนึ่งแล้ว
ถึงแม้ว่าเรากำลังสุขมากแล้วเราคิดว่า เออ ความสุขนี้ไม่เที่ยง
ความสุขนั้นยังไม่ได้ผ่านไป แต่เดี๋ยวหนึ่งมันก็จะต้องผ่านไปจริงๆ
แล้วตรงที่มันผ่านไปแล้วนั่นแหละ
มันจะเตือนให้เราเกิดความระลึกขึ้นมาได้ว่า เออ มันไม่เที่ยงจริงๆ



นี่ก็สรุปก็คือว่าเราจะได้นิสัย ได้ปัจจัยไปเป็นทุนให้เกิดพุทธิปัญญา
แม้ว่าจะไม่ถึงระดับที่จะตั้งมั่นมากพอจะเกิดสัมมาสมาธิ เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมาได้นะ
แต่ก็จะเป็นบันไดขั้นแรกๆ นำไปสู่มรรคผลเช่นกันนะครับ
ถ้าหากว่าสะสมอนิจสัญญา ความหมายมั่นความหมายรู้ว่าอะไรๆ ไม่เที่ยงไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งเกือบจะสิ้นชีวิตนะ ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้เหมือนกันที่ก่อนตายมันจะไปรวม
เกิดความรู้สึกว่าชีวิตไม่เที่ยง แล้วก็ไม่อยากยึดมั่นถือมั่น
อาจบรรลุมรรคผลได้ถึงในขณะนั้นนะ
เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยว่าจิตก่อนตายมีความหนักแน่นมีประโยชน์มาก
ถ้าหากว่าทำให้จิตก่อนตายโน้มน้อมไปทางไหน
ก็จะไปบรรลุสภาพที่มันสอดคล้องกันแบบนั้นแหละ



อย่างตอนพระสารีบุตรท่านไปโปรดลูกศิษย์ท่านที่เป็นพราหมณ์
คือลูกศิษย์ท่านนับถือท่านเป็นส่วนตัว ไม่ได้นับถือท่านเพราะว่าท่านเป็นภิกษุในพุทธศาสนา
พราหมณ์นั้นก็ได้มีความยินดีในภพของพรหม
เป็นผู้ที่มีความอาลัย เป็นผู้ที่มีความใยดี
เป็นผู้ที่มีความมุ่งหมายที่จะไปรวมกับพระพรหมตามความเชื่อแบบพราหมณ์
พอท่านพราหมณ์นี้ใกล้จะสิ้นชีวิตก็ให้คนไปนิมนต์พระสารีบุตรมา
เพื่อที่จะมาโปรดเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะสิ้นชีวิตจากโลกนี้ไป
พระสารีบุตรท่านก็เห็นว่าพราหมณ์นี้มีความศรัทธาในพรหม
ก็เลยสอนให้แผ่เมตตา เพราะว่าการแผ่เมตตาไปยังทิศทั้งสี่
จนเกิดอัปปมัญญาสมาบัติ จะเป็นเหตุให้ได้เข้าถึงพรหมอย่างแท้จริง


คือตลอดชีวิตมาพราหมณ์ผู้นี้ไม่เคยทำสมาธิได้ถึงฌานเลยนะ
แต่พอพระสารีบุตรมานำทางให้ก่อนตาย
ว่าให้แผ่เมตตาไปตามทิศนั้นทิศนี้
ให้มีความกรุณา ให้มีความมุทิตา ให้มีความอุเบกขา
แล้วจิตก็เกิดความตั้งมั่นระดับฌาน เข้าถึงพรหมได้จริงๆ เหมือนกัน
นี่เป็นตัวอย่างว่าขนาดคนไม่เคยได้ถึงฌานเลยชั่วชีวิตนะ
แต่พอมีคนไปแนะนำให้แผ่เมตตาได้อย่างถูกทางก่อนสิ้นใจ ก็เข้าถึงพรหมภูมิได้


แต่พอพระพุทธเจ้าท่านทราบความ คือท่านรู้ของท่านได้เองนะ มีพระญาณ
ท่านก็เรียกพระสารีบุตรมา ตรัสตำหนิเลยนะ ตรัสตำหนิต่อหน้าภิกษุจำนวนมากเลย
บอกว่าเธอส่งพราหมณ์ไปแค่พรหมโลกเองเหรอ จริงๆ แล้วยังส่งไปได้มากกว่านั้น
คือท่านก็ตรัสเป็นนัยๆ แหละว่าไปได้ถึงนิพพาน ทำไมไม่ส่ง
พระสารีบุตรก็ทูลตอบไปว่าเห็นพราหมณ์อยากไปพรหมโลกก็เลยสงเคราะห์
คือยังมีความติดใจมีความยินดีอยู่
คือด้วยญาณของท่านพระสารีบุตร เห็นว่าพราหมณ์น่าจะไปได้แค่พรหม
ก็ไม่นึกว่าจะไปถึงนิพพานได้
จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าถ้านำทางอีกนิดหนึ่งให้ปล่อยวาง ไปได้ถึงนิพพานเลย



อันนี้ก็เล่าไว้เป็นเกร็ดว่าถึงแม้ระหว่างมีชีวิตเราจะทำสมาธิยังไม่ได้ถึงไหน
แต่ถ้าหากสะสมอะไรไปมากๆ แล้วไปรวมกัน ณ ขณะที่ใกล้จะสิ้นชีวิตนะ
ก็มีสิทธ์ที่จะบรรลุถึงภาวะที่สอดคล้องกัน
ถ้าหากว่าเราเห็นอนิจจังไว้ระหว่างมีชีวิตมากๆ
ก็จะไปได้รางวัล ไปได้ผลรวมเอาตอนที่จิตมีความหนักแน่นที่สุดในชีวิต
คือใกล้ตายนั่นแหละ

ใกล้ตายนี่จะรวมเอาสิ่งที่เราผูก เรายึด เราโยง เรามีความเยื่อใย
หรือเรามีการพิจารณาไว้มากที่สุดในชีวิต
มารวมให้เกิดผลรวมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนะครับ



สรุปง่ายๆ ดีนะ ถ้าหากว่าคิดๆ ไปเรื่อยๆ ว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง
ไม่ต้องกลัวว่าความสุขมันจะหายไป เรายังเสพสุขได้เต็มที่แหละ
แต่ว่ามันมีความรู้อยู่ มีความเห็นอยู่ว่าความสุขชนิดนี้นะที่กำลังเสพ
จะสนุกแค่ไหน จะมีความปลาบปลื้มยินดีแค่ไหน
ในที่สุดแล้วเดี๋ยวมันจะต้องหายไป เดี๋ยวมันจะต้องเปลี่ยนไป
เรียกว่าเป็นการสะสมอนิจสัญญา



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP