จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๔)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it




200 destination


ในสามตอนที่แล้ว ผมได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทบางส่วนมานำเสนอ
ในตอนนี้ ผมจะขออัญเชิญพระบรมราโชวาทบางส่วนมานำเสนอเพิ่มเติมครับ




“ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป
ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี
ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ
เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว
จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้นตามต่อกันไปเป็นลำดับ
ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐)



“การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว
ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ
แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม
สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึ ทำดีนี่
แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึ ต้องมีความอดทน
เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์
ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖)



“คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย
เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย
ถ้ามีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง
หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
(พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
)



“ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม
เราต้องฝืนต้องต้านความคิด และความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ
เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม
ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริง ๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้น ๆ
ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ”
(พระราชดำรัสพระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ
ครั้งที่ ๑๒ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๓)



“เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญต่าง ๆ
เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่
จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของเกษตรเป็นสำคัญ”
(พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ
เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙)



“หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก
เพราะว่าชีวิตนั้นอยู่ที่น้ำ ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้”
(พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ
เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่อง
 มาจากพระราชดำริ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙)



“ถ้าน้ำมีไม่พอ ทั้งในด้านการบริโภคหรือใช้ เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมแล้ว
ประเทศชาติไม่มีทางที่จะเจริญได้”
(พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖)



“การปลูกป่า ไม่ควรนำเอาพื้นที่ที่ราษฎรอาศัยอยู่ก่อนแล้ว มาปลูกป่า
และป่าที่ปลูกขึ้น ก็ควรจะมีสภาพที่เป็นป่าอย่างแท้จริง
จึงควรปลูกไม้หลายประเภทคละกัน โดยเฉพาะไม้พื้นเมืองที่เหมาะสมกับท้องถิ่น
และกล้าไม้ที่จะนำไปปลูกจะต้องมีความทนทานพอสมควร”
(พระราชดำรัสพระราชทานแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๖)



“ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล
ซึ่งสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์
และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี
ข้อสำคัญจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด
โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ”
(พระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคมพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙)



“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญของบ้านเมือง
จึงควรสนับสนุนให้มีการค้นคิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภาวะ
และความต้องการของประเทศขึ้นใช้เองอย่างจริงจัง
ถ้าสามารถค้นคิดได้มากเท่าไหร่ จะเป็นการประหยัด
และช่วยให้สามารถนำไปใช้ในงานต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นเท่านั้น”
(พระราชดำรัสพระราชทานเนื่องในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๑)



“เทคโนโลยีนั้น โดยหลักการ คือ การทำให้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดเป็นสิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้
ดังนั้น เทคโนโลยีที่ดีสมบูรณ์ จึงควรจะสร้างสิ่งที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า
และมีความสูญเปล่าหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นน้อยที่สุด”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๒)



“การพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญขึ้นนั้น
จะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น
ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว
ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้
ดังนั้น นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว
จะต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคงไม่บกพร่องพร้อม ๆ กันไปด้วย”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓)



“ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้าน และต้องการความสามัคคีความสงบเรียบร้อย
ผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง
มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม”
(พระบรมราโชวาทในการเปิดประชุมใหญ่สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร
จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๒)



“การพัฒนาชนบทเป็นงานที่สำคัญ เป็นงานที่ยาก
เป็นงานที่จะต้องทำให้ได้ด้วยความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาด
ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่มุ่งที่จะหากินด้วยวิธีการใด ๆ
ใครอยากหากินขอให้ลาออกจากตำแหน่งไปทำการค้าดีกว่า
เพราะว่าถ้าทำผิดพลาดไปแล้ว บ้านเมืองเราล่มจม
และเมื่อบ้านเมืองของเราล่มจมแล้ว เราอยู่ไม่ได้ก็เท่ากับเสียหมดทุกอย่าง”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะผู้บริหารงานเร่งรัดพัฒนาชนบท
ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๒)



“การพัฒนาปรับปรุงงานทุกอย่าง ควรจะได้กระทำด้วยความมีสติรู้เท่าทัน
ด้วยความเฉลียวฉลาดและความรอบคอบ สุขุม
ผลของการพัฒนาที่บังเกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ และเป็นประโยชน์
ซึ่งจะเกื้อกูลให้สรรพกิจการงาน บุคคล และชาติบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าได้”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๑)



“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น
ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน
เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว
จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้น โดยลำดับต่อไป”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗)



“การกีฬานั้นย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า
เป็นปัจจัยในการบริหารร่างกายให้แข็งแรง และฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้วร่าเริง
รู้จักแพ้ และชนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีการให้อภัยซึ่งกันและกัน
สามัคคีกลมเกลียวกันอย่างที่เรียกกันว่า มีน้ำใจเป็นนักกีฬา”
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ
วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๘)



“ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉย ๆ
ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว
ดังนั้น ผู้ที่ปรกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย
จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้พอเพียง
กับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน”
(พระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สัมมนาเรื่องการออกกำลังเพื่อสุขภาพ
วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๓)



“นักกีฬาที่ดีนอกจากต้องมีการแสดง ทั้งในทางกายในทางสมอง
คือ ใช้ความคิด และวิทยาการแล้ว ก็ต้องมีจิตใจเป็นนักกีฬา อันนี้จะทำให้มีชัยเหมือนกัน
ถ้าแสดงตนเป็นคนที่มีจิตใจเป็นนักกีฬา จะทำให้ใจเย็นขึ้น
เกิดเรื่องอะไรก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอล ส.ส. มหากุศล
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๒)



“การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย
เป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่มั่นคง
เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์
และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อม ทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว
ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๒)



“เด็ก ๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบ
และคนที่มีระเบียบดีแล้วจะสามารถเล่าเรียน และทำการงานต่าง ๆ ได้
โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่สร้างความสำเร็จและความเจริญ
ให้แก่ตนเอง แก่ส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๒๑)



“เด็ก ๆ ต้องฝึกหัดอบรมทั้งกายทั้งใจให้เข้มแข็งเป็นระเบียบ
และสุจริตเพื่อประโยชน์ของตนในภายหน้า
เพราะคนที่ไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถควบคุมกายใจให้อยู่ระเบียบและความดี
ยากนักที่จะได้ประสบความสำเร็จและความเจริญอย่างแท้จริงในชีวิต”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๒๖)



“เด็กเป็นผู้ที่จะได้รับช่วงทุกสิ่งทุกอย่างต่อจากผู้ใหญ่
ดังนั้น เด็กทุกคนจึงสมควรและจำเป็นที่จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องเหมาะสม
ให้มีศรัทธามั่นคงในคุณความดี มีความประพฤติเรียบร้อย สุจริต
และมีปัญญาฉลาดแจ่มใสในเหตุผล”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานในโอกาสปีเด็กสากล วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๒)



“เด็ก ๆ นอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้ว ยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย
เพราะการทำงานจะช่วยให้มีความสามารถมีความขยันอดทนพึ่งตนเองได้
และการทำดีนั้นจะช่วยให้มีความสุขความเจริญทั้งป้องกันตนไว้ไม่ให้ตกต่ำ”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๓๐)



“กิจการใดที่ทำให้การรับน้องใหม่ จะต้องมีเหตุผลและต้องให้ทุกคนได้เห็นเหตุผลนั้น
ไม่ใช่สักแต่จะให้น้องใหม่กลัวพี่รุ่นเก่าเท่านั้น
การที่จะให้น้องใหม่มีความเกรงกลัวรุ่นพี่นั้นเป็นการดี
แต่สมควรที่จะให้น้องใหม่เข้ามาแล้วเคารพนับถือพี่จะดีกว่าการเกรงกลัว”
(พระราชดำรัสพระราชทานแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน
 ๒๕๑๒)



“นักเรียนที่ยังก่อเรื่องวิวาทจนเกิดความเสียหายแก่ตนแก่โรงเรียน
ขอให้สำนึกว่าการกระทำเช่นนั้น อาจกลายเป็นการทำลายอนาคตของตนไปได้อย่างคิดไม่ถึง
ฉะนั้น ขอให้พยายามฝึกฝนอบรมตนเองให้มีค่าเป็นคนเต็มคน ให้เป็นคนดีมีประโยชน์ให้จงได้”
(พระราชดำรัสในพิธีเปิดงานกรีฑาศิลปหัตถกรรมนักเรียนประจำปี ๒๕๑๒
ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ ๑ ธันวาคม
 ๒๕๑๒)



“เยาวชนทั้งหลายที่อยู่ในวัยเรียน ย่อมมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิชาการต่าง ๆ ให้ได้มาก ๆ
เพื่อนำไปใช้ทำประโยชน์สร้างสมความสุขความเจริญให้แก่ตัวเองตลอดจนส่วนรวม
แต่การใช้วิชาความรู้นั้นจำเป็นจะต้องใช้อย่างถูกต้องด้วยคุณธรรม
และความสามารถที่เหมาะ จึงจะได้ผลเต็มเปี่ยม”
(พระบรมราโชวาทในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม
เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ณ สนามศุภชลาศัย
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๒)



“งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คือ
งานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญา และทางจิตใจ
ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญ ด้านอื่น ๆ ทั้งหมด
และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยได้สืบไป”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร
ณ วังท่าพระ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๓)



“ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน
เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่ง
และช่วยกันส่งเสริมรักษาไว้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๐๓)



“การศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นการศึกษาที่สำคัญ
และควรจะดำเนินควบคู่กันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
เพราะความเจริญของบุคคลตลอดจนถึงความเจริญของประเทศมีทั้งทางวัตถุและจิตใจ
ความเจริญทั้งสองทางนี้ จะต้องมีประกอบกันเกื้อกูลและส่งเสริมกัน”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร
ณ วังท่าพระ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๐๙)



ข้อมูลอ้างอิง
http://203.172.205.25/ftp/intranet/KingProject/main.html
http://king.kapook.com/royal_words_05.php



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP