สารส่องใจ Enlightenment

ดวงจิตผู้รู้อยู่ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
แสดงธรรมเมื่อ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗




การนั่งสมาธิภาวนา อย่างธรรมดา เอาขาขวาทับขาซ้าย
เอามือข้างขวาวางทับมือข้างซ้าย
ตั้งกายให้เที่ยงตรง หลับตา ภาวนา พุทโธ พุทโธ
อันนี้ก็เป็นระเบียบหนึ่ง

แต่อีกชนิดหนึ่งในวิธีนั่ง ท่านว่านั่งสมาธิแบบขัดสมาธิเพชร
เอาแข้งซ้ายขึ้นมาบนขาขวา แล้วก็เอาขาขวาขึ้นมาบนขาซ้าย
เอามือขวาทับมือซ้ายเหมือนกัน วิธีนี้แน่นหนากว่า


ฉะนั้นผู้ที่ฝึกหัดแบบที่หนึ่งได้ดีแล้ว ก็หัดแบบที่สองนี้เพิ่มเติม
ตอนหัดทีแรกก็มีความเจ็บปวดบ้าง เป็นธรรมดาของรูปขันธ์
แต่ถ้าหากฝึกไปทีละน้อยๆ จนนั่งได้นานๆ จะหายไปเรื่องเจ็บปวด ทุกขเวทนา
ขนาดชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมง ก็ไม่ขัด ถ้ามันเคยชินจริงๆ
อันนี้เป็นการนั่งสมาธิทางรูปร่างกาย



ส่วนสมาธิภาวนาจริงๆ นั้น หมายถึงการตั้งจิตตั้งใจ
ทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิภาวนานั้น
ถ้าเราอยู่ในเคหสถาน กุฏิวิหารที่อยู่ของตนโดยเฉพาะ
เราก็มีวิธีกราบพระไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ตามกำลัง
แล้วก็นั่งสมาธิเสียก่อน จึงค่อยนอนทุกคืนๆ ไป



อันสมาธินั้นหมายถึงการตั้งจิต ให้รู้ถึงที่ตั้งของจิต
ที่ตั้งของจิตนั้น ในจิตใจของคนเรา มีดวงจิตผู้รู้อยู่ภายในร่างกายของคนเรา
จะยืน เดิน นั่ง นอน ไป มา พูดจาปราศรัยได้นั้น อยู่ที่ดวงจิตผู้รู้นี้เอง
ดวงจิตผู้รู้ ธาตุรู้ ดวงนี้นั้น เป็นดวงดั้งดวงเดิม
มีมาตั้งแต่อเนกชาติ นับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว
มิใช่ว่าพึ่งมาเกิดในภพนี้ชาตินี้ก็หามิได้



ดวงจิตผู้รู้นี้เป็นของเราเอง เป็นจิตใจของเราทุกคน
ไม่ใช่บิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าให้
บิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าให้นั้นคือให้รูปขันธ์ ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง
รูปตัวก้อนธาตุดินน้ำไฟลมนี้ ได้มาจากบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้า
ส่วนดวงจิตผู้รู้นี้เป็นของเราเอง เกิดตายๆ มาในโลกนี้นับไม่ถ้วน
ก็จิตผู้รู้ดวงนี้แหละ ยังลุ่มหลงอยู่ในรูปรสกลิ่นเสียง



เวลาภาวนาตั้งจิต ท่านจึงให้ตั้งลงไป ณ ที่นี้
จะบริกรรมอุบายใดก็ตาม กำหนดตรวจกายก็ตาม
คือเอาจิตดวงนี้กำหนดพิจารณาตรวจไปตามร่างกาย
มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น
เมื่อกำหนดพิจารณาร่างกายทุกอย่าง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว
ก็ให้มารวมจิตใจเข้าไปที่ดวงจิตผู้รู้ที่ว่านี้



ดวงจิตผู้รู้อันนี้ มีอยู่ในปัจจุบัน
ไม่ได้มีอยู่ในอดีต มิได้มีอยู่ในอนาคต
สิ่งใดที่เป็นอดีตล่วงมาแล้ว สิ่งนั้นมันก็หมดไปแล้ว
สิ่งที่ยังมาไม่ถึงคือข้างหน้าอนาคตกาล สิ่งนั้นก็ยังเป็นเรื่องข้างหน้า



จิตใจมิได้อยู่ข้างหน้า
เป็นแค่อารมณ์ส่ายไปในเรื่องอดีต ส่ายไปในเรื่องอนาคต
แล้วก็มาเป็นอารมณ์สับสนอยู่ภายในจิต
ถ้าไม่ชำระแก้ไขในเวลาปัจจุบัน
คนเราก็จะหาเวลาทำสมาธิรวมจิตรวมใจให้สงบไม่ได้
เพราะอารมณ์เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา
ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งบาปทั้งบุญ มารวมอยู่ในปัจจุบัน



ด้วยเหตุนี้ เวลานั่งสมาธิภาวนาทุกครั้งทุกคราว
ท่านจึงให้ละวางปล่อยวางเรื่องราวอารมณ์ที่ผ่านมาแล้ว ที่ยังไม่มาถึง
ดีเท่าไรก็อย่าไปคิดคำนึง ชั่วร้ายขนาดไหนก็อย่าไปคิดคำนึง
เพราะสิ่งนั้นมันเป็นธรรมดาของจิตปุถุชนคนเรา
ท่านให้เลิกติดต่อกับสิ่งนั้นๆ มาตั้งจิตลงไปในดวงจิตผู้รู้ที่กล่าวนี้


คำว่าดวงจิตผู้รู้นี้ มิใช่ว่าแต่งตั้งหรือว่าเทศน์ธรรมจึงเกิดมีขึ้น
จิตดวงที่มีความรู้อยู่นี้ มันเป็นดวงดั้งเดิม
เป็นธาตุแท้จิตใจของคนเราและสัตว์ทั้งหลาย ไม่ได้มีอะไรมาเพิ่มเติม
ดวงจิตผู้รู้นี้ ทีนี้สิ่งที่เพิ่มเติมนั้นก็คือ จิตผู้รู้นี้แหละ
มีสังขารจิตปรุงแต่งคิดนึกไปตามอารมณ์ อดีต อนาคต
แล้วก็เก็บเข้ามา มาหมักหมมไว้ในดวงจิตผู้รู้อันนี้
มาหลอกหลอนจิตผู้รู้อันนี้ ให้ไหวหวั่นพรั่นพรึงไปตามสังขารจิตอันนั้น



ท่านจึงให้ชื่อสังขารจิตที่ปรุงแต่งหลอกหลอนนั้นว่าเป็นสังขารมาร
คำว่า สังขารมาร มารคือสังขาร
ที่ท่านให้ชื่อว่ามาร ก็คือว่ามันเป็นผู้ฆ่า ผู้ทำลาย
ทำลายศีล ทำลายสมาธิ ทำลายปัญญา ทำลายวิชาความรู้หมดทุกอย่าง
ถ้าใครหลงไปตามสังขารมารเหล่านั้น



ท่านจึงให้ตั้งจิตให้มั่นคงลงไปจำเพาะดวงจิตที่มีความรู้อยู่
อย่างเราฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนอยู่ในเดี๋ยวนี้ขณะนี้
เพราะมีหูจึงได้ยินเสียง เสียงนั้นไม่ว่าเทศน์เสียงธรรม เสียงอะไรๆ มันเข้าไปได้หมด
ที่รับรู้ว่าเสียงนั้นเสียงนี้นั่นแหละ ดวงจิตอยู่ตรงนี้แหละ
ตรงที่รู้จักว่าเสียงกระทบเข้ามา
หรือเราบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ ก็ผู้ที่ได้ยินว่า พุทโธ พุทโธ
(นี้เอง)
คำว่า พุทโธ พุทโธ ที่เราได้ยินนั้น
เป็นเรื่องของสังขาร หรือว่าปรุงแต่งกำหนดขึ้นมา
ส่วนดวงจิตผู้รู้นั้น เวลานึก พุทโธ ก็รู้
รู้อะไร รู้ได้ว่านึกพุทโธ เมื่อไม่นึกพุทโธ ก็รู้ว่าไม่ได้นึกพุทโธนั้น


ดวงจิตผู้รู้นั้น ท่านว่ามันเป็นธาตุเดิม ธาตุแท้ดั้งเดิม มีอยู่แล้ว
มีอยู่ เป็นอยู่ ตั้งอยู่อย่างนั้นแหละ
แต่เมื่อสังขารมารกิเลส กิเลสตัณหาต่างๆ มันเข้าไปสุมรุมอยู่ในดวงจิต
พาให้ดวงจิตอันนั้นหลง หลงกายหลงจิต หลงรูปหลงนาม



สิ่งทั้งหลายในโลก ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน
จิตสังขาร จิตมาร จิตกิเลส อันนี้เข้าใจผิด
และเอามาหลอกหลวงว่าเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน
ดูง่ายๆ อย่างว่า รูปขันธ์ ตัวตนคนเราทุกคน
ตัวเราตัวเขา จะเป็นหญิงเป็นชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต
ก็คือว่า ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก้อนอสุภะนั้นเอง
แต่เมื่อสังขารจิต มารจิต ตัณหาจิต อันปรุงแต่งอยู่นั้นเก็บมาหลอกหลวง
แล้วให้เห็นว่าเป็นของมั่นคงถาวรไปได้
ของขี้ริ้วขี้เหร่ให้เห็นว่าเป็นของสวยของงามขึ้นมาได้



นี่แหละท่านว่า สังขารมาร มารคือสังขาร มันปรุงแต่งคิดนึกอะไรขึ้นมา
จิตผู้รู้มาสมาธิภาวนา จิตตั้งมั่นไม่พอ ก็หลงใหล
ผู้หลงใหลก็คือว่าจิตตั้งมั่นไม่พอ



เมื่อจิตตั้งมั่นไม่พอ ปัญญาความรอบรู้ในสิ่งนั้นไม่เกิดมีขึ้น หรือเกิดมีขึ้นก็ไม่ทันท่วงที
จึงได้เกิดความลุ่มหลง หลงตัวตน หลงชาติ หลงตระกูล
หลงคนหลงสัตว์ หลงวัตถุธาตุทั้งหลายในโลก
เมื่อได้หลงไปตามสังขารมารกิเลส แล้วมันก็หลงไปหมด
ตาเห็นรูปก็หลงในรูป หูได้ยินเสียงก็หลงในเสียง
จมูกได้กลิ่นเหม็นหอมก็หลงในสิ่งที่ได้กลิ่นนั้น
เวลาลิ้นสัมผัสกับรสอาหารก็หลงใหลโลเลในรสอาหาร
เวลาเย็นร้อนอ่อนแข็งกระทบกระเทือนผิวกายก็หลงอีก
แม้จิตใจคิดนึกปรุงแต่งอะไรต่อมิอะไรอยู่ภายในก็หลงไปอีก



ความหลงคือความไม่รู้แจ้ง ความหลงคือไม่ตั้งจิตให้มั่นคง
ความหลงคือว่าจิตไม่มีสัจจะความจริงใจ ไม่มีอธิษฐานลงไปในจิตในใจ
เป็นจิตที่เหลาะแหละ หวั่นไหว สั่นสะเทือน กลัวตาย
กลัวรูปร่างกายนี้แหละมันแตกมันตาย
เพราะจิตอุปาทาน จิตที่เข้ามายึดมั่นถือมั่นในรูป ในนาม
ในตัวในตน ในสัตว์บุคคล ในสมมตินิยามต่างๆ
ว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นก้อนเป็นหน่วย
พอหลงเข้าไปแล้ว ก็เลยยึดมั่นถือมั่น สำคัญผิดคิดว่าเป็นตัวเราจริงๆ



แท้จริงมันก็เท่ากับเอาธาตุดินมาปั้น
เอาธาตุน้ำมาผสม ธาตุลม ธาตุไฟ มารวมกันเข้า
ก็เป็นรูปร่าง สี สัณฐาน เป็นรูปร่างมนุษย์
ก็ให้ชื่อสมมติว่าเป็นมนุษย์เป็นคน



ในเรื่องที่เป็นคนนี้ ก็สมมติไปได้มากมาย นับไม่ถ้วนเหมือนกัน
จิตอันนี้ไม่รู้เท่าทัน ไม่รู้เท่าทันสังขารมารกิเลส
จึงได้หลงไปยึดมั่นไปตามอาการเหล่านั้น

จึงได้เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลง อวิชชา ตัณหาขึ้นมาภายในดวงจิตดวงใจ
เพราะจิตมันยึดอยู่ที่ร่างกาย ที่ตัวตน ที่สมมตินี้แหละ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -

จากพระธรรมเทศนา
“ดวงจิตผู้รู้อยู่” ใน พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๒ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์ ฉบับพิมพ์เมื่อมกราคม ๒๕๕๐.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP