จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๓)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



198 destination



ในปี ๒๕๔๙ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การปลูกจิตสำนึกให้เกิดความรัก สามัคคี
ปรองดอง เพื่อรักษาและพัฒนาบ้านเมือง" ในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
พระจอมเกล้าลาดพระบังนิทรรศ ๔๙ ที่หอประชุมใหญ่
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โดยส่วนหนึ่งของปาฐกถามีข้อความว่า
"ใครที่นำพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส มาประพฤติปฏิบัติ
จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง อย่างเรื่องที่พระองค์รับสั่งมากว่า ๓๐ ปีแล้ว
เรื่องคนดี คนไม่ดี อย่าให้คนไม่ดีเข้ามายุ่งกับบ้านเมือง
เราฟังร้อยครั้งพันครั้ง แต่หายาก คนที่จะปฏิบัติให้เกิดผลตามพระบรมราโชวาท
แต่ทุกคนอย่าได้ท้อถอยว่าเราทำไม่ได้ เพราะเราสามารถทำได้"


ในสองตอนที่แล้ว ผมได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทบางส่วนมานำเสนอ
ในตอนนี้ ผมจะขออัญเชิญพระบรมราโชวาทบางส่วนมานำเสนอเพิ่มเติมครับ


"หลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จ
และเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือการไม่ทำตัวทำความคิดให้คับแคบ
หากให้มีเมตตาและไมตรี ยินดี ประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐)


"การทำงานใดๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก
ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้
และเมื่อใดพลังของความเพียรนี้เกิดขึ้น
เมื่อนั้นการงานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดยง่ายดายและรวดเร็ว"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจาก
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๒)


"ผู้ที่มีปัญญาที่สามารถจะทำการงานสำคัญๆ
ให้ยึดหลักเป็นกำลังของบ้านเมืองต่อไปได้นั้น
จะต้องเป็นผู้หนักแน่นในสัจจะ คือต้องมีความจริง พร้อมทั้งในคำพูดในการกระทำ
ทั้งในบุคคลอื่นและในตนเองสิ่งใดที่ตั้งใจจริงต้องปฏิบัติให้ได้ โดยเคร่งครัดครบถ้วน"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๑)


"การทำงานด้วยความรู้ความสามารถด้วยความตั้งใจ และเอาใจใส่ศึกษานั้น
เป็นการพัฒนาบุคคลให้มีคุณภาพสูงขึ้นโดยแท้
และบุคคลที่มีคุณภาพอันพัฒนาแล้วย่อมสามารถจะพัฒนางานส่วนรวมของชาติ
ให้เจริญก้าวหน้าได้ดังประสงค์"
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ
วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐)


"เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำ
โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง
คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ
ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันและซื่อสัตย์สุจริต
ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น"
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ
วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐)


"การทำงานใดๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก
ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขต และหลักการไว้ให้แน่นอน
เพราะจะช่วยให้สามารถปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรง
และถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกัน
และขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่าทุกอย่างได้อย่างสิ้นเชิง"
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐)


"การปฏิบัติงานให้บรรลุผลเลิศนั้น
นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถทางวิชาการเป็นอย่างดีแล้ว
ทุกคนจะต้องมีความสำนึกตระหนักในหน้าที่ของตน
แล้วตั้งใจปฏิบัติงานรับใช้ชาติบ้านเมืองด้วยความพากเพียรและอดทน"
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตร
แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพ
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๒๙)


"ทุกคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทำเฉพาะหน้าที่นั้น
เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองดูคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้
เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน
ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องรู้ถึงงานของผู้อื่น แล้วช่วยกันทำ"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓)


"เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ทุกคนชอบที่จะทำความคิดความเห็นให้สอดคล้องกัน
ร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไขด้วยเหตุและผล
ตามความเป็นจริงบนพื้นฐานอันเดียวกัน
ก็จะเห็นแนวทางปฏิบัติแก้ไขได้อย่างเที่ยงตรงถูกต้องและเหมาะสม"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๓๗)


"แต่ละคนก็มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติงานของตนที่เรียกว่าอาชีพของตน
ถ้าทำดี ก็เป็นสิ่งที่น่าชมและน่าปลาบปลื้มใจ เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง
และถ้ากิจการที่ทำมีความเจริญในทางที่ดีที่ชอบ
ก็ทำให้ส่วนรวมของชาติบ้านเมืองมีความก้าวหน้าด้วยดี"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ สวนจิตรลดา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘)


"เมืองไทยของเรา ประกอบด้วยคนหลายจำพวก หลายวัย หลายความคิด
หลายหน้าที่ ซึ่งทั้งหมดจะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งคนใดจะอยู่ได้โดยลำพัง"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ สวนจิตรลดา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)


"อุปสรรคสำคัญของการทำงาน คือความท้อถอยและความหวั่นเกรงต่ออิทธิพลต่าง ๆ
ซึ่งเป็นเหตุบั่นทอนความสามารถในตน กับทั้งความเที่ยงตรงต่อหน้าที่อย่างร้ายกาจ
จึงต้องระมัดระวังควบคุมสติ และรักษาความสุจริตเป็นธรรมไว้ให้ได้ตลอดเวลา"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๒)


"หนังสือพิมพ์เป็นกำลังของบ้านเมือง
ถ้าหากว่าใช้กำลังในทางที่ดีก็จะทำให้บ้านเมืองไปในทางที่ดี
แต่ถ้าใช้กำลังในทางที่เรียกว่าไม่ดี ก็จะทำให้บ้านเมืองเป็นไปในทางที่ไม่ดี
จึงต้องระมัดระวังและต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์ที่ดี
และต้องมีสิ่งที่เรียกว่าความเสียสละบ้างเพื่อส่วนรวม"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๕)


"การเขียนเรื่องใดๆ จะเป็นแนวใดก็ตาม
จะเป็นคุณเป็นประโยชน์ได้และจะเป็นโทษได้ทั้งนั้น
แล้วแต่วิธีการเขียนที่ประพันธ์หรือที่เรียบเรียง
ถ้ามีความคิดที่ดีที่ชอบธรรมอยู่แล้ว เขียนลงไปด้วยความสามารถก็เป็นคุณได้"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดรายการโดยเสด็จพระราชกุศล
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๓)


"ผู้มีหน้าที่สื่อข่าวควรสำนึกอยู่เสมอว่า งานที่ทำเป็นงานสำคัญและมีเกียรติสูง
การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวัง หรือแม้แต่คำพูดง่ายๆ เพียงนิดเดียว
ก็สามารถจะทำลายงานที่ผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลาย
พยายามสร้างไว้ด้วยความยากลำบากเป็นเวลาแรมปี
เหมือนฟองอากาศนิดเดียว ถ้าเข้าไปอยู่ในเส้นเลือดก็สามารถปลิดชีวิตคนได้"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์
ณ พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตันนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๐)


"งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ
เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น
ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒)


"มหาวิทยาลัยมุ่งสั่งสอนนักศึกษาให้เป็นคนเก่งซึ่งเป็นการดี
แต่นอกจากจะสอนให้เก่งแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย
ประเทศเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อม
คือทั้งเก่งและทั้งดีมาเป็นกำลังของบ้านเมือง"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้บริหารและสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๓)


"ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ในทางวิชาการ
และในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่
จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรมจรรยาและวัฒนธรรม
รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ด้วย"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๓)


"การศึกษาเป็นเครื่องอันสำคัญในการพัฒนาความรู้ความคิด
ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล
เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
เมื่อบ้านเมืองประกอบไปด้วยพลเมืองที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
การพัฒนาประเทศชาติก็ย่อมทำให้ได้โดยสะดวกราบรื่นได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูใหญ่ และนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต
วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐)


"การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทุกอย่างนั้น
ต้องเริ่มต้นที่การศึกษาพื้นฐานเดิมก่อน
เมื่อได้ศึกษาทราบชัดถึงส่วนดีส่วนเสียแล้ว จึงรักษาส่วนดีที่มีอยู่แล้วให้คงไว้
แล้วพยายามปรับปรุงสร้างเสริมด้วยหลักวิชาอันประกอบด้วยเหตุผลและความสุจริตจริงใจ
ให้ค่อยเจริญงอกงามมั่นคงบริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘)


"ความรู้ที่ใช้ได้ผลนั้น ต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้อง แม่นยำ ชำนาญ นำมาใช้การได้ทันที
และนอกจากความรู้ด้านลึก คือวิชาเฉพาะสาขาที่ศึกษามาโดยตรงแล้ว
ความรู้ด้านกว้าง คือ วิชาการอื่นๆ ทั่วไปย่อมเป็นปัจจัยประกอบส่งเสริมอีกส่วนหนึ่งด้วย"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๒)


"ผู้ที่เป็นครูจะต้องนึกถึงความรับผิดชอบ
เพราะว่าถ้าเป็นครูแล้วลูกศิษย์จะต้องนับถือได้
ต้องวางตัวให้เหมาะสมกับที่เป็นครู
ไม่ใช่วางตัวอย่างหนึ่ง แล้วมาสอนอีกอย่างหนึ่ง"
(พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในวันการศึกษาสัมพันธ์
ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๒)


"ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร
ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดทน และอดกลั้น
สำรวมระวังความประพฤติปฏิบัติของตนให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีงาม
รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูอาวุโส วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓)


"ครูนั้นจะต้องให้ความรู้แก่เด็กๆ ด้วยความเมตตา ด้วยความหวังดี
คือด้วยความเมตตาต่อผู้ที่เป็นลูกศิษย์ และด้วยความหวังดีต่อส่วนรวม
เพราะถ้าส่วนรวมประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ดี ส่วนรวมก็ไปรอด"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล
ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓)


"การที่ได้มีโอกาสมาเรียนในต่างประเทศนับว่าเป็นประโยชน์
เพราะหลายประเทศมีความก้าวหน้าในด้านวิชาการ
แต่ควรจะพิจารณาด้วยสติปัญญาว่า อะไรที่ควรจะรับมาเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง
แล้วนำเอาวิชาความรู้กลับไปช่วยบ้านเมือง"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา
ณ โรงแรมพลาซ่า นิวยอร์ค วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๐)


"โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ
ฉะนั้น ก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรลงไป ควรพิจารณาดูเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อน
แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงแนะให้ใช้สติและปัญญา
ศึกษาค้นคว้าและไตร่ตรองให้แน่ว่า คำสั่งสอนนั้นเป็นความจริงที่เชื่อได้หรือไม่
ไม่ให้สักแต่ว่าเชื่อเพราะว่ามีผู้รู้บัญญัติไว้"
(พระราชดำรัส ในพิธีถวายปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยวิลเลียมส์
ณ วิลเลียมทาวน์ นครนิวยอร์ค วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๐)


"การพึ่งตนเองนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติประจำบุคคลสองอย่าง
คือความสามารถนำวิชาการที่ได้ศึกษามาใช้ในการปฏิบัติงาน
กับความฉลาดที่จะวินิจฉัยให้เห็นทางเสื่อมทางเจริญ
พร้อมทั้งทางที่จะให้พ้นความเสื่อม เพื่อดำเนินไปให้ถึงความเจริญ"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๒)


ข้อมูลอ้างอิง
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000141295
http://203.172.205.25/ftp/intranet/KingProject/main.html



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP