ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรให้ปล่อยวางจากสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ได้



ถาม - การปล่อยวาง การไม่คิดถึงสิ่งที่ทุกข์ เราต้องเริ่มจากอะไรก่อนคะ
และทำอย่างไรให้คิดถึงเรื่องทุกข์น้อยที่สุด



ความทุกข์ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เป็นทุกข์อย่างหนักนะ
ก็ขอให้มองว่าใจนี่มันยึดเรื่องนั้นๆ อย่างเหนียวแน่น
คือพุทธศาสนาชี้เข้ามาที่อาการของใจ
เป็นสำคัญเลยตรงนี้นะว่าใจยึดหรือไม่ยึด
ถ้าหากว่ายังยึดอยู่ ท่านเรียกว่ามีอุปาทาน
อุปาทานในความหมายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
คือสำคัญผิด ซึ่งมันก็เป็นความสำคัญผิดจริงๆ
แต่โดยอาการของใจนะ โดยศัพท์ของอุปาทานที่ใช้ในพุทธศาสนา
หมายถึงอาการยึดมั่นถือมั่น หลงยึดมั่นถือมั่นแบบสำคัญผิดนะ
นึกว่าอะไรนั้นมันเป็นของของตัว อะไรนั้นมันเกี่ยวข้องกับตน
ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ลักษณะของจิตที่มันกำอะไรอย่างหนึ่งแน่นนะ
ยิ่งยึดมากเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสิ่งที่มันไม่น่าชอบใจ มันเป็นสิ่งที่น่าขัดเคือง
ยึดเข้าแล้วมันมีแต่ความทุกข์



ส่วนถ้าหากว่าเรายึดสิ่งที่น่าพอใจ บุคคลอันเป็นที่รัก หรือว่าข้าวของอันถูกอกถูกใจ
อย่างนี้ยึดแล้วดูเหมือนกับว่ามีความสุข
แต่ว่าเป็นความสุขในแบบที่จะเป็นเชื้อของความทุกข์เมื่อต้องพรากจาก
เพราะว่าพุทธศาสนานะครับบอกว่าทุกข์อันดับต้นๆ ทุกข์อันดับหนึ่งนะ
ก็คงไม่พ้นจากการพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก หรือว่าสัตว์เลี้ยงหรือว่าสิ่งของที่เราพิศวาสมาก
ยิ่งพิศวาสเท่าไหร่ ยิ่งมีต้นเหตุ ยิ่งมีเชื้อของความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น ทวีเป็นเงาตามตัวนะ
พูดง่ายว่าๆ รักมากก็ยึดมาก ยึดมากก็เป็นต้นเหตุของทุกข์มากนะครับ



ถ้าหากว่าเรามองอาการของใจว่ามันยึดมั่นถือมั่นมาก แล้วมีความทุกข์มากอย่างนี้
ด้วยความเข้าใจอย่างนี้นะ แล้วเล็งไปที่อาการของจิต
เราจะเห็นว่าตราบใดที่ใจมันยังมีอาการยึดอยู่
ตราบนั้นมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่คิดถึงสิ่งที่เรากำลังยึดนะ
สิ่งนั้นอย่างไรๆ ก็ต้องผลิตความคิดขึ้นมา
คือตัวอาการยึดสิ่งนั้น อย่างไรนะครับก็ต้องผลิตความรู้สึก
จะเป็นสุข จะเป็นทุกข์ หรือว่าจะเป็นความคิดแย่ๆ หรือเป็นความคิดดีๆ อะไรก็แล้วแต่
มันจะยืนพื้นอยู่บนสิ่งที่เรายึดไว้นั้นนะ


อย่างเช่น ถ้าหากว่าข้าวของแตกพังไป แล้วเรายังมีใจที่ยึดอยู่กับข้าวของนั้น
อย่างไรๆ นะความคิดมันก็ต้องออกมาว่าเสียดายจัง
โธ่เอ๊ย นี่ถ้าหากว่าไม่มีใครไปปัดตก ถ้าตอนนั้นเอาขึ้นที่สูงกว่านี้นะ
มันจะมีสมมุติขึ้นมาสารพัด แล้วก็เสียดายอดีต เสียดายที่ไม่อย่างนั้น เสียดายที่ไม่อย่างนี้นะ
แล้วยิ่งเกิดความเสียดาย แล้วก็ไปสมมุติมากเท่าไหร่
มันก็ยิ่งมีอาการเพ้อนะ ยิ่งมีอาการเหมือนจะคลุ้มคลั่ง
มีอาการเหมือนกับว่าอยากจะย้อนเวลากลับไปให้ได้
นี่ตัวนี้เขาเรียกว่าเป็นทุกข์ต่อทุกข์นะ
พอจินตนาการขึ้นมาถึงสิ่งที่มันล่วงไปแล้ว หรือว่าไปพยายามไปสมมุติในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้
ใจมันก็ยิ่งมีความกระสับกระส่าย มีความเร่าร้อน
มีความรู้สึกว่า เออ มันไม่สามารถจะถอนออกไปได้
เพราะว่าเหมือนกับอาการของจิต อาการของใจ
แทนที่มันจะค่อยๆ คลายออกมาตามเวลาที่ผ่านไป
มันกลับกลายเป็นว่ายิ่งคิดมันยิ่งไปผูกพัน ยิ่งไปกำให้มันแน่นขึ้น
จากเดิมที่สมมุติว่ากำแน่นอยู่ห้า ยิ่งคิดขึ้นมามากเท่าไหร่นะ
มันก็กลายเป็น กำหก กำเจ็ด กำแปด กำเก้า
จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งนะ กำสิบ กำเต็มที่ กำแบบไม่มีช่องว่าง
ไม่มีโอกาสให้ปล่อยออกมาเลย
เราก็จะรู้สึกถึงความยึดมั่นเหนียวแน่นจนเกินกว่าจะถอดถอนออกมาได้
ถึงตรงนั้น เรามาถามหาวิธี ดูเหมือนกับว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย



แต่ถ้าหากว่าดูจากหลักการเจริญสติของพุทธศาสนา ท่านให้ทำอย่างไรนะครับ
ก่อนอื่นเลยเราทำความเข้าใจง่ายๆ นะว่าทุกข์หรือว่าอาการที่มีความกระสับกระส่าย
มีความร้อน มีความไม่สามารถที่จะอยู่เย็นได้ของจิตนี่นะ
เป็นเพราะว่ายึดเปล่าๆ แล้วเกิดความรู้สึกว่ามันทุกข์ไปเปล่าๆ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น
อันนี้คือทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกก่อนนะครับ
นี่คุณถามถึงว่าต้องเริ่มจากอะไร

ต้องเริ่มจากความเข้าใจ
เพราะว่าหากไม่เข้าใจธรรมชาติของจิตแล้ว
มันก็จะไม่มีลำดับการปฏิบัติที่จะถูกฝาถูกตัว

ส่วนใหญ่จะไปเริ่มกันจากอุบายนะ ให้คิดอย่างโน้น ให้ทำอย่างนี้
ซึ่งมันเป็นการเหมือนกับปลอบประโลมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
แต่ถ้าหากว่าเราทำความเข้าใจว่าทั้งหลายทั้งปวง
มันมีแค่จิตยึดกับจิตปล่อย มีอยู่แค่ ๒ อย่างนี้นะ
เราก็จะได้หลักการปฏิบัติ แนวทางการปฏิบัติที่เป็นสากล ใช้ได้ตลอดชีวิตที่เหลือนะ



หลังจากที่เราเข้าใจได้แล้วว่าจิตมีแต่ยึดกับปล่อย
เราก็ตั้งคำถาม ตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรจิตมันถึงจะมีอาการปล่อย มีอาการคลาย
พระพุทธเจ้าตรัสนะว่าอนิจจสัญญาหรือว่าความเห็นว่าไม่เที่ยง
สามารถครอบงำความสุข ความทุกข์ทั้งปวง หรือแม้กระทั่งอุปาทานสำคัญมั่นหมายผิดๆ นะ
คือพูดง่ายๆ ว่าอาการยึดมั่นถือมั่น มันจะสู้อาการเห็นความไม่เที่ยงไม่ได้
ถ้าจิตเห็นอยู่ ถ้าจิตจดจ่อเห็นความไม่เที่ยงไม่เท่าเดิม
ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็แล้วแต่นะ อะไรอย่างนั้นมันจะคลายออก



ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสังเกตอยู่ว่า เรามีความทุกข์ เรามีความอึดอัดในนาทีนี้
สมมุติ สมมุติว่าบอกตัวเองว่ายึดมากทุกข์มาก
ลองสังเกตว่านาทีต่อไปนะ คือนึกขึ้นมาเล่นๆ ดูขึ้นมาเล่นๆ
ว่ามันยึดเท่าเดิม มันทุกข์เท่าเดิมหรือว่ามันน้อยลง
การที่เราค่อยๆ เห็นไปทีละนิดๆ นะ สังเกตเข้ามาว่าอาการยึด อาการแน่น อาการเค้น
อาการเหมือนกับโศกเศร้า อยากคร่ำครวญหรือว่าอยากที่จะรินน้ำตาออกมา
มันมีไม่เท่าเดิมในแต่ละนาที
เราจะค่อยๆ เกิดปัญญา ตัวปัญญาที่เห็นว่ามันไม่เที่ยงนี่นะ จะทำให้จิตเกิดอาการคลาย
คือมันจะรู้ขึ้นมาเองว่ากำ กำอยู่เหมือนมือกำอะไรเปล่าๆ เป็นอาการอย่างหนึ่ง
แล้วพอกำไปแล้ว เออ ของที่กำอยู่มันไม่เที่ยง
มันเหมือนกับกำก้อนอะไรที่มันเปลี่ยนรูปได้ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
แล้วจะกำไปทำไม มันก็จะมีอาการเหมือนกับปล่อยมือ คลายมือออกมา
ตามธรรมชาติธรรมดาของจิตที่ฉลาดขึ้นนะครับ
อันนี้ก็ขอให้ลองดูก็แล้วกัน แค่ลองแค่นี้แหละ
สังเกตความยึดนะว่ามันมากหรือว่ามันน้อย
ถ้าสังเกตเป็นนาทีได้ ก็สามารถจะสังเกตเป็นลมหายใจได้
แต่ละลมหายใจ ความยึดไม่เท่ากันนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP