สารส่องใจ Enlightenment

ธรรมะเป็นสิ่งที่ให้คุณเสมอไป



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐




คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวมลงแล้วท่านเรียกว่าศาสนธรรม
คือธรรมเครื่องประกาศสั่งสอน
แต่การสอนนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีความมุ่งหมายและมีจุดที่รวมลงแห่งคำสอน
จุดที่รวมลงแห่งคำสอนก็คือใจ
ผู้ประกาศศาสนานับแต่พระพุทธเจ้าลงมาเป็นลำดับลำดาก็มีความมุ่งหมายลงที่ใจ
สอนลงที่นั่น ผู้ฟังก็ฟังเพื่อตนเอง ให้เข้าอกเข้าใจในความผิดถูกดีชั่วอะไรทั้งหมด
ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่ออกจากใจทั้งนั้น
ถ้าใจได้รับการอบรมที่ดี การระบายออกจากใจ ไม่ว่ามากน้อยหยาบละเอียด
เคลื่อนไหวออกมาทางกายวาจาย่อมเป็นผลดีไปตามๆ กัน
หากใจไม่ได้รับการอบรมเลย
การแสดงออกก็ต้องส่อถึงความไม่รอบคอบ ความผิดพลาดไปเรื่อยๆ



ดังนั้นทางโลกก็ดี ทางธรรมก็ดี
จึงนิยมการศึกษาเล่าเรียนอบรม ตั้งแต่เริ่มเป็นเด็กมา
พ่อแม่ต้องให้การอบรมสั่งสอนเป็นลำดับลำดาจนกระทั่งส่งเข้าโรงเรียน
เพื่อจะให้เด็กได้รับความรู้ความฉลาด เพื่อการปฏิบัติต่อตัวเองนี้เป็นอันดับแรก
จากนั้นไปก็เพื่อสิ่งเกี่ยวข้องหรือผู้เกี่ยวข้องตลอดถึงส่วนรวม
ถ้าต่างคนต่างได้รับการอบรมศึกษามาด้วยดี
หน้าที่การงานที่ทำด้วยการได้รับอมรมศึกษามาแล้วนั้น
ก็ย่อมเป็นประโยชน์ไม่ค่อยจะมีโทษ
ถ้าหาไม่แล้วโดยมากมีแต่ความผิดพลาด ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่ค่อยปรากฏ
ท่านจึงนิยมกันให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียนทางโลกทางธรรม ให้ดีแท้ก็ให้เป็นไปพร้อมๆ กัน



นักเรียนที่เข้าไปอยู่ในโรงเรียนก็ดี หรืออยู่ในบ้านก็ดี
เวลามีโอกาสพ่อแม่ก็ควรอบรมทางด้านศีลธรรมแฝงกันไปด้วย
เข้าโรงเรียนก็ควรจะมีหลักสูตรเกี่ยวกับด้านธรรมะแฝงเข้าไปด้วยทุกๆ ชั้นที่เรียน
นับแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูงของวิชาที่เรียน เด็กจะได้มีความเข้าใจทั้งทางโลกและทางธรรม
เพราะการเรียนเรียนหนักไปทางไหนก็ต้องรู้ไปทางนั้น
ถ้าหนักไปทางโลกล้วนๆ ธรรมะไม่มีเลยก็แสดงว่าบกพร่องทางธรรมะ
หากได้อบรมไปด้วยกัน แฝงกันไปก็ดี นี่ท่านถือกันอย่างนี้
ผู้ใหญ่ท่านมีความฉลาด ให้เด็กได้รับการอบรมศึกษาเรื่อยไป



พูดถึงผู้ปฏิบัติทางด้านธรรมะก็ยิ่งเป็นของจำเป็นสำหรับธรรมะที่เกี่ยวกับตัว
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ทุกบททุกบาทรวมลงที่ใจ
คือให้ใจได้รับความเข้าอกเข้าใจ ให้ได้รับความรู้ความฉลาด
วิธีจะปฏิบัติต่อใจของตัวเอง
ธรรมะเป็นสิ่งที่ให้คุณเสมอไป ไม่มีโทษเจือปน
อบรมได้มากน้อยแค่ไหนก็เป็นประโยชน์แก่ตน
วิชารักษาตัวนี้เป็นวิชาสำคัญ จึงต้องอาศัยธรรมะ
หลักธรรมะเป็นวิชารักษาตัวโดยตรง
รู้เข้าถึงจิตถึงใจมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นเหตุให้แน่ใจในตัวเอง



ทางโลกยังมีที่แจ้งที่ลับอยู่บ้าง
สำหรับทางธรรมะนี้ถ้าได้เข้าถึงใจแล้วจะไม่มีที่แจ้งที่ลับ
ความผิดถูกทราบอยู่กับตัวเอง
หิริโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อความผิดพลาดทั้งหลายมีอยู่กับตัว
ให้เลือกเฟ้นทำเอาในสิ่งที่เป็นประโยชน์
สลัดปัดทิ้งในสิ่งที่เห็นว่าเป็นความผิด ไม่ว่าที่แจ้งที่ลับ
เพราะมุ่งผลที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ
การจะเรียนให้ถึงธรรมะหรือให้ธรรมะเข้าถึงใจจริงๆ ปฏิบัติให้ถึงใจได้รับผลจริงๆ
เท่าที่ปรากฏมาโดยมากก็คือการอบรมภาวนา
เพราะการภาวนาเป็นการดูใจของตัวเอง ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
ไม่ว่าอิริยาบถใดใจจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มีการเคลื่อนไหวคิดปรุงแต่งยุ่งนั้นยุ่งนี้
ถ้าไม่ได้ระมัดระวัง ใจก็สั่งสมยาพิษไว้สำหรับตัวเอง



เพราะความอยากคิดอยากปรุงนั้นไม่ได้นิยมว่าดีหรือชั่ว จิตชอบทั้งนั้น
ปรุงทางดีก็ชอบ ปรุงทางชั่วก็ชอบ
ปรุงความเศร้าโศกเสียใจก็ชอบ ปรุงทางรื่นเริงบันเทิงก็ชอบ มันชอบไปหมด
ถ้าไม่มีธรรมะเข้าไปทดสอบเลือกเฟ้นแล้ว จิตจะไม่มีทางเลือกความคิดทั้งหลาย
แต่จะคิดไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะเกิดขึ้นเป็นความเดือดร้อนแก่ตนก็ทราบว่าเดือดร้อน
แต่ไม่สามารถจะทราบและสามารถจะแก้ไขตนได้ด้วยวิธีใด
คนเราเกิดมาในโลก ไม่มีใครจะต้องการความทุกข์ความลำบาก
แต่เพราะเหตุใดถึงต้องเจอ ก็เพราะเหตุที่ว่านี่ละเป็นส่วนมาก คือเจอภายในใจ
เพราะความคิดภายในใจนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความโง่ความฉลาด ความมีความจน
แต่ขึ้นอยู่กับความคิดของตนเป็นสำคัญ ความคิดเป็นต้นเหตุก่อเรื่องขึ้นมา
ถ้ามีธรรมะก็มีทางจะแยกแยะกัน ทดสอบกันในความคิดความปรุงของเรา
แล้วหาทางแก้ไขกันได้ เฉพาะอย่างยิ่งการภาวนา มีทางที่จะทราบเรื่องใจของตนได้ดี
เพราะเรานั่งสังเกตเรื่องของเรา คิดดีชั่วขึ้นมาอย่างไรก็ทราบ



การภาวนาท่านสอนให้มีธรรมบทใดบทหนึ่งเป็นเครื่องยึดในขั้นเริ่มแรก
ซึ่งยังไม่สามารถจะทรงตัวได้ด้วยใจโดยเฉพาะ ก็ต้องอาศัยบทธรรม
เช่นกรรมฐาน ๔๐ ล้วนแล้วตั้งแต่ธรรมเครื่องอาศัยในเบื้องต้น เช่นพุทโธ
เรานึกพุทโธๆ อยู่ที่ใจ ให้มีความสืบต่อโดยความรู้
คำว่าพุทโธกับใจให้กลมกลืนกันไปตามระยะที่บริกรรม
หรือตามเวลาที่เราทำความเพียรอยู่แล้ว
คือใจทำหน้าที่อันเดียว เมื่อได้ทำความรับรู้อยู่กับสิ่งใดก็ย่อมอยู่กับสิ่งนั้น
และพยายามทำความรู้กับงานที่ตนกำลังทำนั้นให้สืบต่อกันไป
จากนั้นก็ปรากฏเป็นความสงบขึ้นไป



ใจถ้าสงบแล้วเย็น ความเย็นกับความสบายรู้สึกจะเป็นอันเดียวกัน
ขณะใดที่ใจสงบ ขณะนั้นเป็นความสบาย
ปล่อยวางความกังวลอะไรทั้งหมด เหลือแต่ความรู้ เย็นอยู่อย่างนั้น
คำว่าความสงบนี้ก็มีหลายขั้นเหมือนกัน
ความสงบได้ปรากฏเป็นความสบายเท่านั้น เราก็พอจะเห็นผลแห่งการกระทำของเราแล้ว
ยิ่งมีความสงบเข้าไปมากเท่าไร
ยิ่งจะเห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นกับใจดวงสงบนั้นมากเท่านั้น
ขณะนั้นเป็นขณะที่ใจไม่ทำงาน ความคิดความปรุงทั้งหมดซึ่งเป็นงานของจิต
เป็นความรู้ล้วนๆ นั่นละเป็นตัวของตัวขึ้นมาแล้วในขั้นหนึ่ง เย็นเข้ามา
จิตใจรู้สึกยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน พอปรากฏความสุขขึ้นมาจากความสงบ



แต่การกำหนดภาวนาด้วยบทธรรมนั้นจริตนิสัยไม่เหมือนกัน
โปรดได้เทียบเคียงหรือพินิจพิจารณา
กำหนดพุทโธ ธัมโมหรือสังโฆ หรืออานาปานสติ
หรือจะตามด้วยพุทโธเวลาหายใจเข้าออก
ก็ให้ทำความรู้อยู่กับสิ่งที่ตนทำนั้น ผลก็คือความสงบเย็นใจอันเดียวกัน
จิตนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ยากที่จะกำหนดรู้ได้ว่าอะไรคือจิต
ถ้าจิตไม่สงบลงเสียก่อน จะไม่ทราบว่าจิตคืออะไร นี่เป็นสิ่งที่ยาก
แม้ผู้ได้ตั้งใจปฏิบัติในหน้าที่อันเดียวคือพยายามจะให้รู้จิตของตนอยู่ด้วยการภาวนาก็ตาม
แต่ถ้าจิตยังไม่สงบลงเมื่อไรก็ยังไม่รู้ว่าตัวจิตแท้คืออะไร



จิตนั้นอยู่ในกายของเรานี่เองแต่จับไม่ได้ ละเอียดขนาดนั้น
มันซ่านออกไปทั่วสรรพางค์ร่างกาย
ไม่ทราบว่าจุดไหนเป็นจุดของจิตที่แท้จริง เป็นของละเอียดขนาดนั้น
มีวิชาคือธรรมะที่จะสามารถจับจิตให้รู้ว่าเป็นจิตเป็นสิ่งต่างๆ ในส่วนร่างกายได้
และแยกกันได้จริงๆ แยกกันชั่วขณะก็มี แยกกันได้ตลอดกาลก็มี
แยกกันได้ชั่วกาลชั่วขณะก็คือจิตที่เป็นสมาธิ จิตเป็นจิต กายเป็นกาย นี่เป็นขั้นหนึ่ง
ขั้นที่สองจิตแยกจากกายได้ แต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังแยกไม่ออก นี่เป็นขั้นที่สอง
คือเกิดขึ้นจากการภาวนาทั้งนั้น
เมื่อจิตเข้าถึงขั้นแยกกายได้ ขาดจากกาย ในความยึดถือกายว่าเป็นตน
เห็นประจักษ์ชัดเจนภายในใจ
แต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ภายในใจ ยังแยกไม่ออก
ก็ต้องพิจารณาอีก ต่อไปก็แยกได้



ขันธ์ ๕ ทราบว่าเป็นขันธ์ ๕ ชัดเจนภายในใจ ตามที่ท่านสอนไว้ว่าสันทิฏฐิโกคือเห็นเอง
แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ต่อหน้าเราก็ไม่ถาม เพราะเป็นธรรมชาติเหมือนกัน
เช่นเดียวกับต่างคนต่างรับประทาน เมื่อต่างคนต่างอิ่มไม่จำเป็นต้องถามกัน
เพราะความอิ่มทราบได้ด้วยกันทุกคน ธรรมะก็เป็นเช่นเดียวกัน
ขั้นที่สองแยกขันธ์ได้ ขั้นที่สามเชื้อเดิมที่ฝังในจิตอย่างละเอียดมาก
ท่านว่าความหลงตัวก็หมายถึงอวิชชาท่านก็สอนไว้
แต่อวิชชาในแบบนั้นท่านดึงไปจากจิตไปวางเป็นแบบแผนตำรับตำรา
ส่วนอวิชชาจริงๆ เราไม่รู้ อยู่ในจิตนี่เอง แทรกอยู่ในจิต
เหมือนกับยาพิษที่สิงอยู่ในด้านวัตถุ มองไม่เห็นตัว แต่มันมีอยู่ในนั้น



นี่ก็ต้องอาศัยความเพียร สติปัญญาซึ่งมีกำลังควรจะถอดถอนหรือแก้ไขกันออกได้
เมื่อสติปัญญากล้าจึงแยกกันจนได้
สิ่งที่ซึมซาบอยู่ภายในจิตออกไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ
นี่เป็นขั้นที่สาม ขั้นนี้เป็นขั้นตลอดกาล
เราจะตั้งใจแยกไม่ตั้งใจแยกไม่เป็นปัญหา
เพราะแยกกันโดยเด็ดขาดแล้ว นั่นเป็นอิสระแท้ ใจอิสระ
ถึงธาตุขันธ์จะมีการเจ็บไข้ได้ป่วยตรงไหนก็ตาม ก็ทราบชัดๆ ว่านี่เป็นเรื่องของธาตุ
ใจไม่มาเกี่ยวข้องกังวลให้เกิดความเดือดร้อนภายในตัวเองขึ้นอีกทีหนึ่ง



คือตามธรรมดาทั่วๆ ไป
กายได้รับความลำบากใจต้องลำบากไปตามกัน กายเป็นทุกข์ใจก็เป็นทุกข์
แต่นี้กลับกัน กายเป็นสุขกายเป็นทุกข์ ใจไม่ได้รับเสวยด้วย กายก็ทราบว่ากาย
เวทนาคือความสุข ทุกข์ เฉยๆ ที่แฝงอยู่กับกายก็ทราบว่าเป็นเวทนา ไม่คละเคล้ากัน
ท่านเรียกว่าชำระได้โดยเด็ดขาด
เป็นจิตที่มีอิสระเสรีเต็มที่ ไม่มีการระวังกลัวอะไรจะมาแทรกซึมจิตดวงนั้น
เห็นก็เห็นไปธรรมดา ได้ยินธรรมดา เพราะหมดเชื้อที่จะสืบต่อกันแล้ว เชื้อภายในไม่มี
สิ่งภายนอกก็ไม่เป็นภัย เหมือนกันกับเตาไฟที่ไม่มีไฟอยู่ข้างใน
ไสฟืนเข้าไปเท่าไรก็เป็นกองฟืนอยู่เท่านั้น ไม่ปรากฏเป็นไฟขึ้นมา
แต่ถ้ามีเชื้อไฟอยู่ที่นั่นไม่ได้ ต้องแสดงเปลวขึ้นมาทันที
เชื้อของจิตก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
พบทางรูปทางเสียงทางกลิ่นทางรสต้องแสดงความกำเริบออกมาในทางดีใจเสียใจปิดไม่อยู่
แต่ถ้าเชื้อภายในนั้นหมดจริงๆ แล้ว รูปก็แล้ว เสียงก็แล้ว กลิ่นก็แล้ว
ไม่มีสิ่งใดไปเป็นภัยต่อใจดวงที่เป็นอิสระและไม่ซึบซาบกับสิ่งใดนั้นอีกต่อไป



ถ้าพูดถึงเรื่องความสุขก็เป็นสุข ไม่ต้องการจะเอาอะไรมาเพิ่มเติมส่งเสริมอีกแล้ว
นี่ละวิชาธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นวิชาที่วิเศษ
สามารถค้นพบในหลักความจริงที่มีอยู่ในตัว
ฝ่ายธาตุขันธ์ก็ทราบชัดว่าเป็นธาตุขันธ์ ฝ่ายจิตก็ทราบชัดว่าเป็นจิต
ส่วนไหนเป็นกิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดรัดรึงจิตใจของตน
กดถ่วงจิตใจให้ได้รับความทุกข์ความทรมานมากน้อยมานานแสนนาน
ก็ทราบชัดและถอดถอนกันได้ด้วยวิชาธรรมะนี้
ฉะนั้นธรรมะจึงเป็นของเยี่ยมยอด ไม่มีการจะลดหย่อนผ่อนผลลงไป
มีคุณสมบัติอย่างเต็มเปี่ยมอยู่เช่นนั้นตลอดไป และไม่เป็นภัยต่อผู้ใดเลย
นับแต่เด็กที่รู้เดียงสาภาวะนำธรรมะไปปฏิบัติก็ได้ผลตามขั้นภูมิของตน
เป็นฆราวาสก็นำไปปฏิบัติได้ตามเพศของตัว วัยของตัว
ถ้าเป็นพระก็รู้แล้วว่ามีหน้าที่ปฏิบัติธรรมะโดยตรง



นี่ความสุขถ้าได้เจออันนั้นแล้วก็ไม่ทราบจะไปหาที่ไหนอีก
คาดว่าที่นู้นน่าสบาย ที่นี้น่าสบาย เรื่องความคาดก็คือความต้องการ
สิ่งที่มีอยู่ในตัวนั้นไม่พอกับความต้องการ
คิดว่าทางนี้จะมีเพิ่มบ้าง ทางนู้นจะมีเพิ่มบ้าง หรือภายในตัวไม่มี
เข้าใจว่าทางโน้นจะมีความสุข ทางนี้จะมีความสุข
จึงทำให้ใจของเราแส่อยู่ตลอดเวลา แส่ส่ายหาเรื่องหาราว
แทนที่จะเป็นสุขกลับเป็นทุกข์ไปแล้ว แทนที่จะเป็นดังใจคาดหมายไว้ กลับเป็นอย่างอื่น
ทุกข์เดือดร้อน ใจตัวโกหกนี้มันสำคัญ หลอกลวงอยู่เรื่อย



การปฏิบัติภาวนาจึงเป็นวิชาหรือวิธีที่จะรู้เรื่องความโกหกของตนได้ดี
อุบายต่างๆ ที่ท่านสอนไว้นั้น เป็นอุบายวิธีที่จะเข้าถึงความจริงคือจิตแท้ทั้งนั้น
ใจสบายอยู่ที่ไหนก็สบายหมด จะร้อนจะหนาว จะอดจะอิ่ม บกพร่องสมบูรณ์
มันเป็นเรื่องของแต่ละอย่างๆ ที่จำต้องสัมผัสกัน ต้องรับรู้
เพราะโลกอันนี้เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านั้น จะไม่ให้มีเหล่านี้ได้ยังไง ท่านจึงเรียกว่าโลกอนิจจัง
เราเรียนธรรมะเพื่อให้รู้ความจริงของหลักทั้งสามประการนี้แล้วก็สบาย



อนิจจังข้างนอกก็มีข้างในก็มี ทั่วทั้งโลกธาตุนับแต่ตัวของเราออกไป
มันเหมือนกันหมด ทุกขัง อนัตตา มีสภาพอันเดียวกัน
เรียนให้รู้เห็นตามหลักความจริงแล้ว มันก็หมดความตื่นเต้น สบาย
จิตนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกของตนได้ด้วยการดัดแปลง
กระทั่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อไม่ลดละการดัดแปลง เปลี่ยนขึ้นสู่ความสูงเสมอไป
วันนี้เทศน์เพียงเท่านี้ก็เห็นว่าพอสมควร
ก็เห็นอกเห็นใจท่านผู้มา รู้สึกเหนื่อยแย่แล้ววันนี้ ขอยุติเพียงเท่านี้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา http://bit.ly/2dHpbVm


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP