สารส่องใจ Enlightenment

การเจริญสติสัมปชัญญะ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
วัดแพร่ธรรมาราม อ.เด่นชัย จ.แพร่




การเจริญสติสัมปชัญญะ (ตอนที่ ๑) (คลิก)


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามองหาความดับทุกข์ไกลนะ
ต้องหาความดับทุกข์ในใจของเรา ที่การกระทำของเรา


การรอคอยอะไรไกลๆ โน้น มันเป็นความทุกข์ทรมาน มันเป็นความพร่องอยู่ตลอดกาล
ถ้าเรารอคอยลักษณะอย่างนี้แสดงว่าใจเราพร่อง ใจเราไม่เต็ม สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์
เราต้องกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หยุดตัวเอง หยุดความคิด
ไม่อย่างนั้นมันเป็นเปรตนะ มันอยาก มันเผาตัวเอง
มันอยากสงบ อยากบรรลุธรรม



ถ้ามันอยากสงบ มันจะสงบได้อย่างไร?
มันอยากบรรลุธรรม มันจะบรรลุธรรมได้อย่างไร?

เพราะความอยากมันค้ำคอเรา
ให้เรากลับมาหาตัวเอง เรามาละความอยาก ไม่ให้ตัวเองตกนรกทั้งเป็น
ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเรามันจะยิ่งวิ่งไปไม่หยุด
อย่างเรานั่งสมาธิก็เพื่อที่จะมาหยุดตัวเอง
มาวางภาระหนัก มาปล่อยวางสิ่งต่างๆ มาหยุดตัวเอง
เพื่อให้ใจตัวเองมีสติสัมปชัญญะมีพลัง



เราอย่าไปคิดว่านั่งเพื่อเอาอันนั้นอันนี้ เพื่อบรรลุธรรม
เรานั่งเพื่อเสียสละ ให้ใจมันอยู่กับลมเข้า ให้ใจมันอยู่กับลมออก
เดินจงกรมก็เหมือนกัน เราปล่อยวางทุกอย่างในหน้าที่การงาน
เราจะเดินจงกรม เราไม่คิดอะไร
ให้ใจของเรามันอยู่กับการเดินไปเดินมาเพื่อออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง
เพื่อเราจะได้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
เราอย่าไปคิดว่ามัวแต่เจริญสมถะอยู่ เดี๋ยววิปัสสนามันไม่เกิด
เราอย่าให้ความอยากมันปั่นหัวของเรา

“เราให้สติสัมปชัญญะของเราอบรมบ่มปัญญานะ”


ทำไมเราถึงทำอย่างนี้ เพราะจิตใจของเราไม่มีกำลัง ไม่มีพลัง
มันเลยตัดกิเลสไม่ได้ ละกิเลสไม่ได้ ใจเรามันจะหมดสภาพ
อย่างพระเราเวลาไปบิณฑบาต มันก็เป็นการเจริญสติสมาธิดีนะ
เพราะมันเป็นภาคบังคับทั้งไปทั้งกลับอย่างน้อยก็ ๒-๓ กิโลเมตร
มันทำให้เราได้เจริญสติสัมปชัญญะได้ดีมาก



พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์ให้เราเจริญสติฝึกสติสัมปชัญญะนะ
มันเหลียวซ้ายแลขวาเราก็ต้องบังคับตัวเอง ทำตามพระวินัยไว้ดีมาก
ทำทุกวันๆ อย่างนี้มันก็ดีนะ เพราะเวลาบิณฑบาตก็มากกว่าชั่วโมงน่ะ
มันได้บุญได้กุศลมากนะไปบิณฑบาต
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าออกไปโปรดสัตว์ นี่แหละสัตว์ที่มันสำคัญก็คือใจตัวเอง
ใจของเราจะได้มีบุญมีกุศล เราจะได้โปรดใจของเราบ้าง


ตอนเช้าเราไปเดินบิณฑบาตต้องทำเหมือนที่พระพุทธเจ้าสอนนะ
ไปโปรดสัตว์ ไปโปรดใจตัวเองนี่แหละ
ผลที่ได้รับมันก็ได้อานิสงส์มาก ได้ทั้งญาติโยม ได้ทั้งพระ
“พระเณร ทุกรูปต้องรู้นะว่าเราทำแบบนี้แหละเป็นบุญเป็นกุศล”


ทุกท่านทุกคนต้องปฏิบัติธรรมหมด ไม่ว่าพระไม่ว่าโยมน่ะ
ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเป็นคนยากจน ไม่มีอริยทรัพย์ มันยากจน มันผอม
ผอมนี้ไม่ได้หมายถึงกายมันผอมนะ แต่ใจมันผอม
ใจมันเป็นโรคสารพัดเลย ทั้งผอมทั้งดำนะ
ถ้าพระพุทธเจ้ามองเรา คงมองเห็นว่าไอ้เจ้านี่หัวใจผอมโซเหมือนกันคนป่วยทางใจ
มีแต่หนัง เหมือนกับโครงกระดูก เหมือนกับเปรตเดินได้
“หัวโต พุงโร ก้นปอด...”
ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ ไม่สร้างอริยทรัพย์ในจิตใจของเรา เราก็เป็นคนผอมนะ
อ้วนก็จริง อ้วนทางกายแต่ใจผอมมาก
มันขาวมันก็ขาวแต่กาย ขาวแต่หน้า
แต่ว่าใจมันดำ ใจดำปิ๊ดปี๋เลย ยิ่งกว่าถ่านไฟเสียอีก
คนในบ้านในสังคมชอบพากันแต่งกายนะ แต่งกาย แต่งฟัน แต่งหน้า
แต่ไม่ได้แต่งศีล แต่งปฏิปทาของตัวเอง


พูดเรื่องการรักษาศีลนี้กลัว พูดเรื่องสมาธิก็ยิ่งกลัว
มีโยมคนหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง
นิมนต์พระไปแผ่เมตตาให้ที่บ้านเพราะว่าใกล้จะตายแล้ว
พระก็สอนว่า
“ให้รักษาศีล ๕” เขาบอกว่า เขารักษาไม่ได้
ทั้งๆ ที่มันใกล้จะตายแล้ว ใกล้จะหมดลมหายใจแล้ว
พระก็บอกว่า ถ้าศีล ๕ ไม่ได้ เอาศีล ๔ ศีล ๓ ศีล ๒ หรือศีล๑ ข้อก็ได้
เขาบอกว่าข้อไหนก็รักษาไม่ได้ เพราะว่าเกิดมาแล้วก็ไม่เคยรักษาศีลกับเขา รักษาศีลก็กลัว


โยมคนนี้เป็นคนรวยนะ มีเงินหลายสิบล้าน
หลวงพ่อก็บอกให้ท่องพุทโธๆ เขาก็บอกว่าท่องไม่ได้ เขาเป็นห่วงเงินของเขาที่คนเขายืมไป
เงินที่เขายืมไปหลายล้านน่ะ ให้พระช่วยแผ่เมตตาให้หน่อย ให้เขาเอาเงินมาคืน
ถ้าเขาเอามาคืนเขาจะถวายเงินส่วนหนึ่ง พระฟังแล้วยิ่งงงไปใหญ่
คนเรานี้แหละ ความคิดเห็นผิดความเข้าใจผิดมันมาปิดมาบังไม่ให้รู้ทาง
พระก็พูดต่อไปว่า โยมน่ะ ให้เอาเทปธรรมะมาฟัง เอาซีดีธรรมะมาฟัง นอนอยู่อย่างนี้
โยมที่ป่วยว่า มีเทปอันเดียว มีซีดีอันเดียว ลูกสะใภ้เขาเอาไปฟังเพลง
ฟังเพลงก็ไปซื้ออันใหม่มาก็ได้ อันหนึ่งก็ไม่เกินพันบาท
เงินโยมอยู่ในธนาคารตั้งหลายสิบล้าน โยมจะเอาไปไหน
เขาบอกว่า จะเอาไว้ให้ลูกเขา ลูกนั้นก็ไม่ใช่ลูกที่เกิดกับตัวเอง เป็นเพียงลูกบุญธรรม

“มันกลัวความดีอย่างนี้แหละคนเรา”


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรากลัวในสิ่งที่ดี
ถ้าจะตายก็ให้มันตายเพราะเราทำความดี ตายเพราะเสียสละ
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคิดอย่างนั้นนะ คิดอย่างนั้นมันเป็นบาป



เราแต่งกายอย่างไรมันก็ต้องแก่อยู่แล้ว มันต้องเจ็บต้องตาย
เราแต่งกายเพื่อเราเป็นคนเสียสละ
เพื่อให้คนอื่นเขาเห็นเขาจะได้สบายใจ เป็นการปล่อยวางที่ถูกต้อง
เราบางคนปล่อยวาง บ้านก็ไม่กวาด ภาชนะก็ไม่ล้าง ตัวเองก็ไม่อาบนํ้าแปรงฟัน
เราปล่อยวางไม่ถูกอย่างนี้ ปล่อยวางอย่างนี้เขาเรียกว่าคนบ้า
ตอนที่เรานั่งรถมาก็เห็น คนบ้านี่ผมเผ้ารุงรัง เก็บของเก็บขยะไปเรื่อยน่ะ
นักปฏิบัติต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย บ้านก็สะอาด ที่อยู่อาศัยก็สะอาด
เราดูพระพุทธเจ้าท่านให้เราปล่อยวาง
แต่ให้ทำอะไรให้สะอาดเรียบร้อย แต่งกายของเราให้ดี



แต่ถึงจะแต่งอย่างไร ก็ไม่หนุ่ม ไม่สาวขึ้นอีก
พระพุทธเจ้าท่านให้เราประดับประดาตัวเองให้เป็นผู้มีศีล
เป็นผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
เป็นผู้เจริญปัญญาว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา
เราต้องสร้างความดี สร้างบารมีเพื่อเจริญสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์
ให้เราเข้าถึงสวรรค์นิพพานตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่
อย่าได้เห็นอะไรก็ตามไปหมด เหมือนคนไม่มีเจ้าของนะ
คนที่คุมตัวเองไม่อยู่ บังคับตัวเองไม่อยู่ แสดงให้เห็นถึงมีสติสัมปชัญญะน้อยมาก
เรามาดูคนติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยา ติดอบายต่างๆ
คนจำพวกนี้แหละ สติสัมปชัญญะมันน้อย หรือว่ามันไม่มีเลย
มันตั้งอยู่ในความประมาท



การเจริญสติสัมปชัญญะที่ให้มันสมบูรณ์มันเป็นสิ่งที่สำคัญนะ
ถึงจะยากถึงจะลำบากก็ให้เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง
เพื่อให้มันพ้นให้มันข้าม ต้องอาศัยกำลังจิตกำลังใจ
ที่เขาละไม่ได้ ที่เรามองเห็นคนเขาติดยา ติดเหล้า ติดอะไรนี่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนใจอ่อน

“ถ้าจะมองดูคนใจอ่อนกับคนสมาธิน้อยมันก็คนเดียวกันนะ”
ให้ถือว่าเราต้องฝึกต้องปฏิบัติ ต้องแก้ไขตนเอง อดทนเอามากๆ
ถ้าไม่อดไม่ทน ไม่สู้ ไม่ตั้งใจ ละไม่ได้ เลิกไม่ได้
ให้เราคิดว่าเราต้องละให้ได้ เราต้องหยุดให้ได้ ถึงจะตายก็ยอม
สมาธิเรากำลังจะเกิดมันกระวนกระวาย มันกำลังชักดิ้นชักงอ
เราไม่อดไม่ทน เราไปใจอ่อน


เหมือนเราเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เด็กมันต้องการของ
เมื่อเราไม่ให้มัน มันก็ร้องไห้ นอนลงกลิ้งเกลือกตามพื้น ชักดิ้นชักงอ
ถ้าเราสงสารเด็ก เราทนไม่ไหว เราก็หาของให้เขาตามที่เขาต้องการ เขาก็หายร้องไห้
ปัญหามันหมดไปก็จริงนะ แต่มันยังไม่จบนะ
เมื่อเด็กมันต้องการของอีก มันก็ทำอย่างเก่านั่นแหละ
เพราะรู้ว่าเราเป็นคนใจอ่อนใจไม่เข้มแข็ง เป็นคนไม่มีสมาธิ เป็นคนมีจิตใจไม่หนักแน่น
ถ้าผู้มีปัญญา ผู้ที่ฉลาดเขาฝึกเด็ก
เด็กมันร้องไห้ มันต้องการของ มันนอนกลิ้งไปกลิ้งมาชักดิ้นชักงอ
เขาไม่ให้ มันจะร้องก็ร้องไป เมื่อเด็กมันไม่ได้มันก็หายร้องไห้เองแหละ
เพราะผู้ใหญ่เขามีปัญญามากกว่าเด็ก เพราะใจมันมีสมาธิ



การนั่งสมาธิเหมือนกัน ครูบาอาจารย์เขานั่งสมาธิ ฝึกสมาธิทีละหลายๆ ชั่วโมง
เป็นวันเป็นคืน หลายวันหลายคืน มันจะปวดขาเจ็บขาเท่าไหร่เขาก็ไม่สนใจ
นั่งจนมันไม่คิดน่ะ เพราะคิดไปแล้วเขาก็ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ
วันต่อมาพอนั่งสมาธิมันก็ไม่ปวด
เพราะว่ากิเลสมันรู้ว่าไปคิดไปปรุงแต่งแล้วก็ไม่ได้ผล
เพราะว่าสมาธิแข็งแรง แข็งแกร่ง


การประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะทำจิตใจให้มีพลัง แข็งแรง
ต้องทำสติสัมปชัญญะของตัวเองให้มันสมบูรณ์
เพราะความปวดก็ดี ความต้องการอะไรต่าง ๆ มันจะปวดขึ้นมาตลอด
ถ้าเราจิตใจสัมผัสอะไรขึ้นก็ตามไปหมด
เราก็เป็นคนไม่มี
“สัมมาสมาธิ” เป็นคนไม่เข้มแข็ง
เราก็เป็นคน “สมาธิไม่อบรมปัญญา”


ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องทำให้จิตใจของเรามีพลัง หนักแน่น แข็งแรง
อย่าเป็นคนใจเบา ที่เขาว่าหูเบามันไม่ใช่หูเบา มันเป็นคนใจเบา
ต้องเป็นคนหนักแน่น เราจะได้สร้างบารมี
เราเอาตัวอย่างจากพระพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญบารมีทุกภพทุกชาติ
ท่านจิตใจประเสริฐมาก หนักแน่นจริงๆ
ยอมตายเพื่อความดีทุกภพทุกชาติ สัมมาสมาธิมันถึงเกิด



ที่ปฏิปทาของเรามันลุ่มๆ ดอนๆ
แสดงว่าเราเป็นคนจิตใจเบา จิตใจไม่หนักแน่นนะ
ต้องปรับปรุงแก้ไขแล้วนะ



หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ไปประพฤติปฏิบัติให้ใจของเราเย็น เกิดกำลังมีพลังที่จะหยุดตัวเองให้ได้
ตัดสังโยชน์ จะได้ไม่ก่อกรรมทำเวรอีกต่อไป



พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “สมบัติของพ่อ เล่มที่ ๒” พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP