จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

วาทะแย้งกัน (ตอนจบ)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



189 destination



ในคราวที่แล้ว เราได้สนทนาถึงเรื่องวาทะแย้งกันระหว่าง
คำอธิบายของผู้รับอาหารจากญาติธรรมท่านหนึ่ง
ซึ่งกล่าวถึงการให้ทานแก่ผู้อื่น ไม่หมายมั่น ไม่แก่งแย่ง
เทียบกับคำอธิบายของญาติธรรมท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ให้อาหาร
กล่าวถึงการหวงกัน การยึดติด และกีดกันทานของผู้อื่น
โดยผมมองว่าคำอธิบายของผู้รับอาหารจากญาติธรรมท่านนี้
น่าจะเป็นคำอธิบายที่มีเหตุผลสมควรรับฟังมากกว่า


อย่างไรก็ดี กรณีก็ไม่ได้หมายความว่า วาทะที่สนับสนุนเรื่องทานนั้น
จะต้องเป็นวาทะที่มีเหตุผลสมควรรับฟังมากกว่าเสมอไป
เพราะเราควรต้องพิจารณาพระธรรมคำสอนในเรื่องอื่น ๆ ด้วย
ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็อาจจะหลงไปทำทานจนเกินกำลัง หรือจนหมดตัว
โดยที่คนที่มาเรี่ยไรก็จะอ้างได้ว่าควรถือตามวาทะของคนเรี่ยไร
เพราะเป็นเรื่องของการให้ทาน การสละ การไม่ยึดมั่น
แต่ไม่ควรถือตามวาทะของคนที่ไม่ทำทาน
เพราะเป็นเรื่องของการหวงกัน การยึดติด และการสะสม


ในเรื่องนี้ เราพึงต้องเข้าใจว่า เราทุกคนย่อมมีหน้าที่ของตนเอง
โดยใน “สิงคาลกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) ได้สอนว่า
กุลบุตรย่อมมีหน้าที่บำรุงมารดาบิดาใน ๕ ประการคือ
๑. ตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
๒. จักรับทำกิจของท่าน ๓. จักดำรงวงศ์สกุล
๔. จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก
๕. เมื่อท่านละไปแล้ว จักทำบุญให้ซึ่งทักษิณา
บิดามารดาย่อมมีหน้าที่อนุเคราะห์บุตรใน ๕ ประการคือ
๑. ห้ามจากความชั่ว ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาภรรยาที่สมควรให้ ๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย


กุลบุตรย่อมมีหน้าที่บำรุงอาจารย์ใน ๕ ประการคือ
๑. ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ ๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๓. ด้วยการเชื่อฟัง
๔. ด้วยการปรนนิบัติ ๕. ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
อาจารย์ย่อมมีหน้าที่อนุเคราะห์ศิษย์ใน ๕ ประการคือ
๑. แนะนำดี ๒. ให้เรียนดี ๓. บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด
๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย


สามีย่อมมีหน้าที่บำรุงภรรยาใน ๕ ประการคือ
๑. ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น ๓. ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ
๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๕. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว
ภรรยาย่อมมีหน้าที่อนุเคราะห์สามีใน ๕ ประการคือ
๑. จัดการงานดี ๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงของผัวดี
๓. ไม่ประพฤตินอกใจผัว ๔. รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาได้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง


กุลบุตรย่อมมีหน้าที่บำรุงมิตรใน ๕ ประการคือ
๑. ด้วยการให้ปัน ๒. ด้วยเจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก ๓. ด้วยประพฤติประโยชน์
๔. ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ ๕. ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง
มิตรย่อมมีหน้าที่อนุเคราะห์กุลบุตรใน ๕ ประการคือ
๑. รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว ๒. รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมิตรมีภัยเอาเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๔. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร


กุลบุตรย่อมมีหน้าที่บำรุงทาสกรรมกรใน ๕ ประการคือ
๑. ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล
๓. ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน
๕. ด้วยปล่อยในสมัย
ทาสกรรมกรย่อมมีหน้าที่อนุเคราะห์ต่อนายใน ๕ ประการคือ
๑. ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย ๒. เลิกการงานทีหลังนาย
๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๔. ทำการงานให้ดีขึ้น
๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญ


กุลบุตรย่อมมีหน้าที่บำรุงสมณพราหมณ์ใน ๕ ประการคือ
๑. ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๒. ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา
๓. ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู
๕. ด้วยให้อามิสทานเนือง ๆ
สมณพราหมณ์ย่อมมีหน้าที่อนุเคราะห์ต่อกุลบุตรใน ๖ ประการคือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๖. บอกทางสวรรค์ให้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=11&A=3923&Z=4206&pagebreak=0


นอกจากเรื่องหน้าที่ที่เราพึงกระทำแล้ว
พระธรรมคำสอนยังสอนให้จัดสรรใช้จ่ายทรัพย์อย่างเหมาะสม
ใน “อาทิยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
และ “ปัตตกรรมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต) สอนว่า
ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ได้แก่ การใช้จ่ายโภคทรัพย์เพื่อ
๑. เลี้ยงตนให้เป็นสุข เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข
เลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสกรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข
๒. เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข
๓. ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร
หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก และทำตนให้สวัสดี
๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ (ก) ญาติพลี (บำรุงญาติ) (ข) อติถิพลี (ต้อนรับแขก)
(ค) ปุพพเปตพลี (บำรุงญาติผู้ตายไปแล้วคือทำบุญอุทิศกุศลให้)
(ง) ราชพลี (บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ) และ
(จ) เทวตาพลี (บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา)
๕. เพื่อบำเพ็ญทักษิณามีผลสูงเลิศแด่สมณพราหมณ์
ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ
ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=1001&Z=1054&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=21&A=1758&Z=1845&pagebreak=0


นอกจากการจัดสรรใช้จ่ายแล้ว พระธรรมคำสอนได้สอนให้เก็บออมไว้ด้วย
โดยใน “สิงคาลกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) สอนว่า
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถพึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน ดังนี้
๑. พึงใช้สอยโภคสมบัติส่วนหนึ่ง
๒. พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน
๓. เก็บเอาไว้เผื่อไว้ในยามอันตรายด้วยส่วนหนึ่ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=3923&Z=4206&pagebreak=0


เมื่อพิจารณาถึงพระธรรมคำสอนที่ได้ยกมาข้างต้นแล้ว
ย่อมจะเห็นได้ว่าเราทุกคนย่อมมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติดูแล
เช่น ดูแลพ่อแม่ บุตร สามีภรรยา ครูอาจารย์ มิตรสหาย
เจ้านายลูกน้อง และพระภิกษุสงฆ์
และมีหน้าที่จัดสรรเก็บทรัพย์ไว้เผื่อใช้ยามอันตรายหรือฉุกเฉินด้วย
การจัดสรรทรัพย์เพื่อแบ่งใช้จ่ายทรัพย์ จึงควรต้องแบ่งอย่างเหมาะสม
ไม่ได้ทุ่มเทไปด้านใดด้านหนึ่งเกินสมควร
เช่น ทุ่มเทนำไปทำบุญเกือบทั้งหมด
โดยไม่เก็บไว้ใช้จ่ายดูแลคนในครอบครัว เพื่อประกอบการงาน
และไม่แบ่งเก็บออมไว้เลย ก็ไม่เหมาะสม
หรือทุ่มเทนำไปใช้เพื่อประกอบการงานเกือบทั้งหมด
โดยไม่แบ่งไว้ใช้จ่ายดูแลคนในครอบครัว ทำบุญ และเก็บออม ก็ไม่เหมาะสม
หรือทุ่มเทนำไปเก็บออมไว้เกือบทั้งหมด โดยไม่แบ่งไว้ประกอบกิจการงาน
ใช้จ่ายดูแลคนในครอบครัว และทำบุญ ก็ไม่เหมาะสม เป็นต้น
ดังนี้แล้ว หากเราได้ไปพบวาทะประเภทที่ว่าให้เราพึงทำทานทั้งหมด
โดยไม่ได้พิจารณาถึงหน้าที่ที่เราต้องทำนุบำรุง หรือต้องดูแลด้วยแล้ว
วาทะเช่นนั้นก็ไม่ใช่วาระที่สมควร และขัดแย้งกับพระธรรมคำสอนนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP