ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อุโปสถสูตร ว่าด้วยอุโบสถ ๓ อย่าง


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๑๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ บุพพาราม
ปราสาทของ (นางวิสาขา) มิคารมารดา ใกล้กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ในวันอุโบสถ นางวิสาขา มิคารมารดา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมแล้วได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งทักนางวิสาขา มิคารมารดา ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว
ว่า วิสาขา มาจากไหนแต่วัน.


นางกราบทูลว่า วันนี้ ข้าพระพุทธเจ้ารักษาอุโบสถ พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า วิสาขา อุโบสถ ๓ นี้ ๓ อะไรบ้าง
คือ โคปาลกอุโบสถ นิคัณฐอุโบสถ อริยอุโบสถ.


วิสาขา โคปาลกอุโบสถเป็นอย่างไร


วิสาขา เปรียบเหมือนโคบาลมอบโคทั้งหลายให้เจ้าของในเวลาเย็น
แล้วคำนึงอย่างนี้ว่า วันนี้ โคเที่ยวหากินในที่โน้น ๆ ดื่มน้ำในที่โน้น ๆ
ทีนี้พรุ่งนี้ โคจักเที่ยวหากินในที่โน้น ๆ จักดื่มน้ำในที่โน้น ๆ ฉันใด
คนรักษาอุโบสถบางคนในศาสนานี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
คำนึงไปอย่างนี้ว่า วันนี้นะ เราเคี้ยวกินขาทนียะสิ่งนี้ ๆ บริโภคโภชนียะสิ่งนี้ ๆ
ทีนี้พรุ่งนี้ เราจักเคี้ยวกินขาทนียะสิ่งนี้ ๆ จักบริโภคโภชนียะสิ่งนี้ ๆ
คนรักษาอุโบสถผู้นั้นมีใจไปกับความอยาก ใช้วันให้หมดไปด้วยความอยากนั้น
วิสาขา โคปาลกอุโบสถเป็นอย่างนี้แล
อุโบสถที่รักษาอย่างนี้ เป็นอุโบสถที่ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก
ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่มีความแผ่ไพศาล


วิสาขา นิคัณฐอุโบสถเป็นอย่างไร


วิสาขา มีพวกชาติสมณะชื่อนิครนถ์ พวกเขาสอนสาวกให้ถืออย่างนี้ว่า
มาเถิด บุรุษผู้เจริญ ท่านจงลงทัณฑ์หมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเลย ๑๐๐ โยชน์ไป
จงลงทัณฑ์หมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศตะวันตกเลย ๑๐๐ โยชน์ไป
จงลงทัณฑ์หมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศเหนือเลย ๑๐๐ โยชน์ไป
จงลงทัณฑ์หมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศใต้เลย ๑๐๐ โยชน์ไป
เขาสอนให้เอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ไม่เอ็นดู ไม่กรุณาสัตว์บางเหล่าอย่างนี้
ในวันอุโบสถเขาสอนสาวกอย่างนี้ว่า
มาเถิด บุรุษผู้เจริญ ท่านจงเปลื้องผ้าออกให้หมดแล้วพูดอย่างนี้ว่า
ข้าไม่กังวลต่อใคร ๆ ที่ไหน ๆ และความกังวลในสิ่งอะไร ๆ ที่ไหน ๆ ก็ไม่มี
แต่มารดาบิดาของเขาก็รู้อยู่ว่า นี่บุตรของข้า ตัวเขาเองก็รู้อยู่ว่า นี่มารดาบิดาของข้า
อนึ่ง บุตรภริยาของเขาก็รู้ว่า นี่ผู้เลี้ยงดูข้า เขาก็รู้ว่า นี่บุตรภริยาของข้า
ทาสกรรมกรและคนอาศัยของเขาก็รู้ว่า นี่นายของพวกข้า
เขาก็รู้ว่า นี่ทาสกรรมกรและคนอาศัยของข้า ดังนี้
ด้วยประการนี้ เขาสอนคนอื่นให้ถือความจริงในเวลาใด
ก็ชื่อว่าเขาสอนให้ถือมุสาวาท ในเวลานั้น
เรากล่าวการสอนของเขานี้ในฐานมุสาวาท
ล่วงราตรีนั้นแล้ว เขาบริโภค (กินอยู่ใช้สอย) โภคะที่เจ้าของไม่ให้นั่นเอง
เรากล่าวการบริโภคของเขานี้ในฐานอทินนาทาน
วิสาขา นิคัณฐอฺโบสถ เป็นอย่างนี้แล
อุโบสถที่รักษาอย่างนี้ เป็นอุโบสถที่ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก
ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่มีความแผ่ไพศาล


วิสาขา อริยอุโบสถเป็นอย่างไร


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงตถาคตว่า
แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
ทรงเป็นพระสุคต ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
เมื่อเธอระลึกถึงตถาคตอยู่ จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น
อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่ อุปกิเลสเหล่านั้น เธอย่อมละเสียได้


วิสาขา เปรียบเหมือนการทำศีรษะที่สกปรกให้สะอาด ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม
การทำศีรษะที่สกปรกให้สะอาด ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
คือ ใช้ตะกอน (น้ำผลไม้) ดินเหนียว และน้ำ
กับความพยายามที่สมกับกิจอันนั้นของบุรุษ
การทำศีรษะที่สกปรกให้สะอาด ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามฉันนั้นเหมือนกัน
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงตถาคตว่า
แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
ทรงเป็นพระสุคต ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
เมื่อเธอระลึกถึงตถาคตอยู่ จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น
อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่ อุปกิเลสเหล่านั้น เธอย่อมละได้
อริยสาวกนี้ ชื่อว่ารักษาพรหมอุโบสถ (อุโบสถเนื่องด้วยพระพรหม)
อยู่ร่วมกับพระพรหม และจิตของเธอปรารภพระพรหม
ย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่
อุปกิเลสเหล่านั้นเธอย่อมละเสียได้


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงพระธรรมว่า
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
เมื่อเธอระลึกถึงพระธรรมอยู่ จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิด
อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่ อุปกิเลสเหล่านั้น เธอย่อมละเสียได้


วิสาขา เปรียบเหมือนการทำกายที่สกปรกให้สะอาด
ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม
การทำกายที่สกปรกให้สะอาด ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
คือ ใช้ประคำ จุรณ และน้ำ กับความพยายามที่สมกับกิจอันนั้นของบุรุษ
การทำกายที่สกปรกให้สะอาด ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามฉันนั้นเหมือนกัน
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงพระธรรมว่า
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
เมื่อเธอระลึกถึงพระธรรมอยู่ จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิด
อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่ อุปกิเลสเหล่านั้น เธอย่อมละได้
อริยสาวกนี้ ชื่อว่ารักษาธรรมอุโบสถ (อุโบสถเนื่องด้วยพระธรรม)
อยู่ร่วมกับพระธรรม และจิตของเธอปรารภพระธรรม
ย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่
อุปกิเลสเหล่านั้นเธอย่อมละเสียได้


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร
นี้คือ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ บุรุษบุคคลแปด นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ
เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
เมื่อเธอระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น
อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่ อุปกิเลสเหล่านั้น เธอย่อมละเสียได้


วิสาขา เปรียบเหมือนการทำผ้าที่สกปรกให้สะอาด
ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม
การทำผ้าที่สกปรกให้สะอาด ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
คือ ใช้นึ่ง ขี้เถ้า โคมัย และน้ำ กับความพยายามที่สมกับกิจอันนั้นของบุรุษ
การทำผ้าที่สกปรกให้สะอาด ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามฉันนั้นเหมือนกัน
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร
นี้คือ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ บุรุษบุคคลแปด นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ
เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
เมื่อเธอระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น
อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่ อุปกิเลสเหล่านั้น เธอย่อมละเสียได้
อริยสาวกนี้ ชื่อว่ารักษาสังฆอุโบสถ (อุโบสถเนื่องด้วยพระสงฆ์)
อยู่ร่วมกับพระสงฆ์ และจิตของเธอปรารภพระสงฆ์
ย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่
อุปกิเลสเหล่านั้นเธอย่อมละเสียได้


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงศีลของตนอันไม่ขาด ไม่ทะลุ
ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ
เป็นไปเพื่อสมาธิ เมื่อเธอระลึกถึงศีลอยู่ จิตย่อมผ่องใส
ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่
อุปกิเลสเหล่านั้นเธอย่อมละเสียได้


วิสาขา เปรียบเหมือนการทำแว่นที่มัวให้ขึ้นเงา ย่อมมีได้ความพยายาม
การทำแว่นที่มัวให้ขึ้นเงา ย่อมมีได้ความพยายามอย่างไร
คือ ใช้น้ำมัน ขี้เถ้า และแปรง กับความพยายามที่สมกับกิจอันนั้นของบุรุษ
การทำแว่นที่มัวให้ขึ้นเงา ย่อมมีได้ความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามฉันนั้นเหมือนกัน
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงศีลของตนอันไม่ขาด ไม่ทะลุ
ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ
เป็นไปเพื่อสมาธิ เมื่อเธอระลึกถึงศีล จิตย่อมผ่องใส
ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่
อุปกิเลสเหล่านั้น เธอย่อมละเสียได้
อริยสาวกนี้ ชื่อว่ารักษาศีลอุโบสถ อยู่กับศีล และจิตของเธอปรารภศีล
ย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่
อุปกิเลสเหล่านั้น เธอย่อมละเสียได้


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงถึงเทวดาว่า
เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกามีอยู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่
เทวดาชั้นยามามีอยู่ เทวดาชั้นดุสิตมีอยู่
เทวดาชั้นนิมมานรดีมีอยู่ เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีมีอยู่
เทวดาชั้นพรหมกายิกมีอยู่ เทวดาชั้นที่สูงขึ้นไปกว่านั้นมีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่พร้อม
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ ศีลเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่พร้อม
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ สุตะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่พร้อม
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ จาคะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่พร้อม
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่พร้อม
เมื่อเธอระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้นอยู่
จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น
อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่ อุปกิเลสเหล่านั้นเธอย่อมละเสียได้


วิสาขา เปรียบเหมือนการทำทองที่หมองให้ผ่อง ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม
การทำทองที่หมองให้ผ่อง ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
คือ ใช้เตา เกลือ ดินเหลือง หลอดเป่า และคีม
กับความพยายามที่สมกับกิจอันนั้นของบุรุษ
การทำทองที่หมองให้ผ่อง ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามฉันนั้นเหมือนกัน
การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงถึงเทวดาว่า
เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกามีอยู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่
เทวดาชั้นยามามีอยู่ เทวดาชั้นดุสิตมีอยู่
เทวดาชั้นนิมมานรดีมีอยู่ เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีมีอยู่
เทวดาชั้นพรหมกายิกมีอยู่ เทวดาชั้นที่สูงขึ้นไปกว่านั้นมีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ ศรัทธาเช่นนั้นของเราก็มีอยู่พร้อม
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ ศีลเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่พร้อม
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ สุตะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่พร้อม
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ จาคะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่พร้อม
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด
จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้น ๆ ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่พร้อม
เมื่อเธอระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้นอยู่
จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น
อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่ อุปกิเลสเหล่านั้นเธอย่อมละเสียได้
อริยสาวกนี้ ชื่อว่ารักษาเทวดาอุโบสถ อยู่กับเทวดา และจิตของเธอปรารภเทวดา
ย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น อุปกิเลสแห่งจิตเหล่าใดมีอยู่
อุปกิเลสเหล่านั้นเธอย่อมละเสียได้


วิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว
ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างนี้แล


วิสาขา อริยสาวกนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นด้วยตนเองอย่างนี้ว่า
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต
วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายบาป
มีความเอ็นดูเกื้อกูลอนุเคราะห์สรรพสัตว์อยู่ ตลอดชีพ
ในวันนี้แม้เราก็ละปาณาติบาต เว้นจากปาณาติบาต
วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายบาป
มีความเอ็นดูเกื้อกูลอนุเคราะห์สรรพสัตว์ ตลอดคืนและตลอดวันนี้ ด้วยองค์แม้นี้
เราได้ชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย ละอทินนาทานแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน
ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย
สะอาดอยู่ ตลอดชีพ ในวันนี้แม้เราก็ละอทินนาทาน
เว้นจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้
มีตนไม่เป็นขโมย สะอาดอยู่ ตลอดคืนและตลอดวันนี้ ด้วยองค์แม้นี้
เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย ละอพรหมจรรย์แล้ว เป็นพรหมจารี
มีความประพฤติห่างไกล (จากอพรหมจรรย์)
เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ตลอดชีพ
ในวันนี้แม้เราก็ละอพรหมจรรย์ เป็นพรหมจารี
มีความประพฤติห่างไกล (จากอพรหมจรรย์)
เว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ตลอดคืนและตลอดวันนี้ ด้วยองค์แม้นี้
เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลายละมุสาวาทแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท
พูดแต่คำจริง พูดจริงเสมอ มีถ้อยคำมั่นคง
มีวาจาน่าเชื่อถือ ไม่กล่าวลวงโลก ตลอดชีพ
ในวันนี้แม้เราก็ละมุสาวาท เว้นจากมุสาวาท
พูดแต่คำจริง พูดจริงเสมอ มีถ้อยคำมั่นคง มีวาจาน่าเชื่อถือ
ไม่กล่าวลวงโลกตลอดชีพ ตลอดคืนและตลอดวันนี้ ด้วยองค์แม้นี้
เราได้ชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาทแล้ว
เป็นผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ตลอดชีพ
ในวันนี้แม้เราก็ละการดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท
เป็นผู้เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัย
อันเป็นฐานแห่งความประมาท ตลอดคืนและตลอดวันนี้
ด้วยองค์แม้นี้ เราได้ชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย บริโภคอาหารเวลาเดียว งดอาหารในราตรี
เว้นขาดจากการบริโภคผิดเวลา ตลอดชีพ
ในวันนี้แม้เราก็บริโภคอาหารเวลาเดียว งดอาหารในราตรี
เว้นจากการบริโภคผิดเวลา ตลอดคืนและตลอดวันนี้ ด้วยองค์แม้นี้
เราได้ชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง
การประโคมดนตรีและดูการเล่น จากการประดับตกแต่งกายด้วยดอกไม้
ของหอมและเครื่องทาผิวอันเป็นฐานแต่งตัว ตลอดชีพ
ในวันนี้แม้เราก็เว้นจากการฟ้อนรำ การขับร้อง
การประโคมดนตรี และดูการเล่น จากการประดับตกแต่งกายด้วยดอกไม้
ของหอม และเครื่องทาผิว อันเป็นฐานแต่งตัว ตลอดคืนและตลอดวันนี้ ด้วยองค์แม้นี้
เราได้ชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย ละที่นอนสูงที่นอนใหญ่แล้ว
เป็นผู้เว้นขาดจากที่นอนสูงที่นอนใหญ่ ใช้ที่นอนต่ำ บนเตียงบ้าง
บนเครื่องลาดทำด้วยหญ้าบ้าง ตลอดชีพ
ในวันนี้แม้เราก็ละที่นอนสูงที่นอนใหญ่แล้ว
เป็นผู้เว้นจากที่นอนสูงที่นอนใหญ่ ใช้ที่นอนต่ำ บนเตียงบ้าง
บนเครื่องลาดทำด้วยหญ้าบ้าง ตลอดคืนและตลอดวันนี้ ด้วยองค์แม้นี้
เราได้ชื่อว่าทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว


วิสาขา อริยอุโบสถเป็นอย่างนี้แล อุโบสถที่รักษาอย่างนี้ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาล


มีผลมากเพียงไร มีอานิสงส์มากเพียงไร มีความรุ่งเรืองมากเพียงไร
มีความแผ่ไพศาลมากเพียงไร


วิสาขา เปรียบเหมือนใครคนหนึ่ง จะพึงได้ครอบครองราชัยไอศวรรยาธิปัตย์
แห่งมหาชนบททั้ง ๑๖ อันมีรัตนะ ๗ ประการเหลือหลายนี้
มหาชนบท ๑๖ คืออะไรบ้าง คือ อังคะ มคธะ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจตี
วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ
ราชสมบัติของผู้นั้นก็หามีค่าเท่าส่วนที่ ๑๖
แห่งอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ไม่ นั่นเพราะเหตุไร
เพราะราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เทียบกับทิพยสุขเข้าแล้ว เป็นของนิดหน่อย


วิสาขา ๕๐ ปีมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา
โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นปี
โดยปีนั้น ๕๐๐ ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา
วิสาขา ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม
รักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จะพึงไปเกิดอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่าจาตุมหาราซิกา นั่นเป็นฐานที่มีได้
อนึ่ง ข้อที่ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เทียบกับทิพยสุขเข้าแล้ว
เป็นของนิดหน่อย นั้น เรากล่าวหมายเอาเหตุนี้แล


วิสาขา ๑๐๐ ปีมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาเหล่าดาวดึงส์
โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นปี
โดยปีนั้น ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าดาวดึงส์
วิสาขา ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม
รักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จะพึงไปเกิดอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่าดาวดึงส์ นั่นเป็นฐานที่มีได้
อนึ่ง ข้อที่ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เทียบกับทิพยสุขเข้าแล้ว
เป็นของนิดหน่อย นั้น เรากล่าวหมายเอาเหตุนี้แล


วิสาขา ๒๐๐ ปีมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาเหล่ายามา
โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นปี
โดยปีนั้น ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่ายามา
วิสาขา ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม
รักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จะพึงไปเกิดร่วมกับเทวดาเหล่ายามา นั่นเป็นฐานที่มีได้
อนึ่ง ข้อที่ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เทียบกับทิพยสุขเข้าแล้ว
เป็นของนิดหน่อย นั้น เรากล่าวหมายเอาเหตุนี้แล


วิสาขา ๔๐๐ ปีมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาเหล่าดุสิต
โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นปี
โดยปีนั้น ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าดุสิต
วิสาขา ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม
รักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จะพึงไปเกิดร่วมกับเทวดาเหล่าดุสิต นั่นเป็นฐานที่มีได้
อนึ่ง ข้อที่ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เทียบกับทิพยสุขเข้าแล้ว
เป็นของนิดหน่อย นั้น เรากล่าวหมายเอาเหตุนี้แล


วิสาขา ๘๐๐ ปีมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาเหล่านิมมานรดี
โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นปี
โดยปีนั้น ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่านิมมานรดี
วิสาขา ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม
รักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จะพึงไปเกิดอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านิมมานรดี นั่นเป็นฐานที่มีได้
อนึ่ง ข้อที่ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เทียบกับทิพยสุขเข้าแล้ว
เป็นของนิดหน่อย นั้น เรากล่าวหมายเอาเหตุนี้แล


วิสาขา ๑,๖๐๐ ปีมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตดี
โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นปี
โดยปีนั้น ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตดี
วิสาขา ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม
รักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จะพึงไปเกิดอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตดี นั่นเป็นฐานที่มีได้
อนึ่ง ข้อที่ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เทียบกับทิพยสุขเข้าแล้ว
เป็นของนิดหน่อย นั้น เรากล่าวหมายเอาเหตุนี้แล


บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์ ๑ ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ ๑
ไม่พึงพูดมุสา ๑ ไม่พึงดื่มน้ำเมา ๑
เว้นจากเมถุนอันมิใช่ความประพฤติประเสริฐ ๑
ไม่บริโภคอาหารในราตรีและอาหารผิดเวลา ๑
ไม่ประดับดอกไม้ ไม่ใช้ของหอม ๑
นอนบนเตียง (ที่ได้ประมาณ) บนพื้น หรือบนเครื่องลาด ๑
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวอุโบสถนี้
ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดทุกข์ทรงประกาศไว้
ว่าเป็นอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘


พระจันทร์และพระอาทิตย์ที่ดูกระจ่างทั้งสอง
โคจรส่องแสงไปตลอดที่มีประมาณเท่าใด
อนึ่ง พระจันทร์และพระอาทิตย์ขจัดมืด ไปในอากาศ ส่องสว่างอยู่บนฟ้า
ทำให้รุ่งโรจน์ไปทั่วทิศ (ตลอดที่เพียงใด)
ทรัพย์อันใด มีอยู่ในระหว่าง (ที่ ๆ แสงส่องถึง) นั้น
เช่น แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์อันงาม ทองสิงคี
ทั้งทองกาญจนะ ทองที่เรียกว่าชาตรูปะ ทองหฏกะ
ทรัพย์เหล่านั้น (มีค่า) ไม่ถึงแม้ส่วนที่ ๑๖ แห่งอุโบสถ
อันประกอบด้วยองค์ ๘ ดุจหมู่ดาวทั้งหมด (สว่าง)
ไม่ถึงส่วนที่ ๑๖ แห่งแสงจันทร์ฉะนั้น.


เพราะเหตุนั้นแล หญิงและชายผู้มีศีล
พึงรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘
ทำบุญทั้งหลายอันมีสุขเป็นผลเถิด
จะเป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงฐานะคือสวรรค์


อุโปสถสูตร จบ



(อุโปสถสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP