สารส่องใจ Enlightenment

ธรรมจักร (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๖




คำว่าธรรมมีอยู่ คำว่าธรรมประเสริฐสุดในโลก ไม่มีอะไรเสมอไม่มีอะไรเทียบได้
คือ ศาสดาองค์เอก ได้แก่ พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์
ท่านทรงแสดงมาจากคำที่ว่า
“ธรรมมีอยู่” คือมีอยู่ในพระทัยท่าน
ธรรมประเสริฐ คือ ประเสริฐในพระทัยท่าน
ท่านทรงรู้ทรงเห็นทรงสัมผัสสัมพันธ์ ทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างจิตกับธรรม
ไม่ได้แยกได้แยะไปที่ไหน ๆ เลย
นี่คือท่านผู้มีพระเมตตาสงสารและรื้อขนสัตว์โลกจำนวนมากมาย
แต่ละพระองค์ๆ ทรงนำมาสั่งสอนโลก
ไม่ใช่คนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ หรือปัญญาทึบถูกกิเลสครอบงำหัวใจ
แล้วนำโอวาทของกิเลสออกมาหลอกลวงโลก
แต่เป็นศาสดาองค์เอกไม่มีกิเลสแม้นิดหนึ่งเข้าเคลือบแฝงในพระทัยนั้นเลย
พระทัยทั้งดวงเป็นธรรมทั้งแท่ง ว่าธรรมมีอยู่เท่านั้นก็กระเทือนพระทัย
ธรรมประเสริฐเลิศโลกคือเหนือกว่าโลกก็กระเทือนในพระทัย


การแสดงออกด้วยพระเมตตา พระเมตตานั้นก็เต็มอยู่ในพระทัย
ไม่มีคำว่าด้นๆ เดาๆ ไม่มีคำว่าเป็นเงาๆ ดำๆ ด่างๆ
แต่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นองค์แห่งธรรมแท้เต็มอยู่ในพระทัย
สั่งสอนโลกด้วยพระเมตตาจริงๆ และสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำตามธรรมชาติที่มีอยู่นั้น
คือตามธรรมที่มีอยู่ลึกตื้นหยาบละเอียดหนาบาง
ในขณะเดียวกันสิ่งใดที่เป็นภัยต่อความสว่างก็คือความมืด
สิ่งที่เป็นภัยต่อธรรมก็คือกิเลส
ซึ่งถือสถานที่คือจิตดวงเดียวเป็นที่อยู่เป็นที่อาศัยเช่นเดียวกันหมด
และคำว่าธรรมมีอยู่แต่ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ก็ไม่ได้ทรงแสดงว่าอย่างไรเลย เพราะไม่มีไม่รู้ไม่เห็น
กิเลสก็ไม่สามารถจะแจงออกมาได้ว่าเป็นประเภทใดๆ ต่อประเภทใดบ้าง
ทั้ง ๆ ที่เป็นข้าศึกอยู่เต็มหัวใจ เต็มพระทัยของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์



แต่เมื่อได้ทรงรื้อฟื้นหรือได้ทรงขุดค้นอรรถธรรมโดยหลักธรรมชาติ
โดยหลักสัพพัญญูที่ทรงขวนขวายเอง ทรงรู้เองเห็นเองได้ประจักษ์พระทัยแล้ว
จึงได้นำทั้งเหตุทั้งผลของธรรม นำทั้งเหตุทั้งผลของกิเลสซึ่งเป็นตัวภัย
ประกาศแก่สัตว์โลกซึ่งมีจริตนิสัยหรือพื้นเพต่างๆ กัน ให้เป็นที่เข้าใจโดยลำดับลำดา
เฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยเต็มหัวใจอยู่แล้ว
แต่ไม่สามารถที่จะเสาะแสวงหาทางออกได้
เมื่อได้ฟังกระแสเสียงแห่งธรรมจากพระพุทธเจ้าเพียงเท่านั้น
ก็เป็นเหตุให้กระเทือนจิตใจทั้งฝ่ายโทษทั้งฝ่ายคุณ
แล้วพยายามขวนขวายหรือตะเกียกตะกายสุดความสามารถตั้งแต่ขณะเริ่มแรกนั้นเลย



ในศาสดาองค์ปัจจุบันของเรานี้ก็คือพระเบญจวัคคีย์ทั้งห้า
พอทรงแสดง เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา เท่านั้น
ก็ได้ทราบว่านี้คือทางเครื่องหลอกลวงสัตว์โลก ยังไม่ใช่ทางแห่งธรรม
แม้จะปฏิญาณตนหรือเข้าใจว่าตนดำเนินว่าถูกทางก็ตาม
แต่ยังเป็นทางของกิเลสไม่ใช่ทางของธรรม
การทำตนให้ลำบากเปล่าๆ โดยเจตนาที่มุ่งอรรถมุ่งธรรมแต่ทำไม่ถูกต้อง
มันเป็นแผนการของกิเลสไปเสียนี้หนึ่ง
การประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่กับกิเลสราคะตัณหาทั้งมวล ซึ่งเป็นรังของกิเลสล้วน ๆ
นั้นก็คือดำเนินหรือถูกกิเลสฉุดลากไปโดยไม่ต้องสงสัยหนึ่ง
สิ่งที่จะทวนกระแสแห่งทางทั้งสองเงื่อนนี้
ก็คือ มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี
อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย
สํวตฺตติ เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป
ไปเลย
ในส่วนที่เป็นข้าศึกก็ทรงแสดงให้ทราบในเบื้องต้นแล้วว่า
เสยฺยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา อันนี้เป็นเรื่องของกิเลส



เรื่องการทำตนให้ลำบากเปล่าๆ ก็บอกแล้ว ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ประกอบขึ้นด้วยทุกข์ต่างหาก นี่ก็ได้แสดงไว้แล้ว
มาอันดับ ๒ เป็นเรื่องของสมุทัยอย่างชัดเจนก็บอกไว้ว่า
กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา นี่คือธรรมชาติที่จะสั่งสมกองทุกข์
หรือพอกพูนทุกข์ให้ทับถมจิตใจของสัตว์โลกไม่มีประมาณกาลสถานที่เลย
ก็ทรงแสดงให้ทราบ จากนั้นก็ทรงแสดง มชฺฌิมา
คือความเหมาะสมในการก้าวเดินออกจากสิ่งที่เป็นข้าศึก หรือเป็นเครื่องมือที่ทันสมัย
เหมาะสมกับการปราบสิ่งที่เป็นข้าศึกทุกประเภทออกได้โดยสิ้นเชิงไม่สงสัย



ได้แก่ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป
นี่ก็หมายถึงความฉลาดที่ทรงดำริด้วยความฉลาดแหลมคมโดยธรรม
ไม่ใช่เป็นความฉลาดดังที่โลก ๆ ทั้งหลายใช้กัน
สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป นี้เป็นความฉลาดทางด้านธรรมะล้วน ๆ
ที่จะสามารถแก้กิเลสให้หมดไปจากใจได้โดยสิ้นเชิง
อุบายที่ออกมาจากความฉลาดนั้นคืออะไรอีก ที่จะแสดงออกในการต่อสู้ในการดำเนิน
ก็คือ สมฺมาวาจา กล่าวชอบด้วยปัญญา แน่ะ
สมฺมากมฺมนฺโต
กระทำชอบด้วยปัญญาด้วยความฉลาด
สมฺมาอาชีโว เลี้ยงร่างกายและจิตใจด้วยความชอบธรรมด้วยปัญญา
สมฺมาวายาโม เพียรชอบด้วยอุบายแห่งปัญญา
สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ ระลึกด้วยอุบายของปัญญาพาให้ระลึก
แล้วมีความเหนียวแน่นมั่นคงทางด้านจิตใจด้วยอำนาจของปัญญาเป็นผู้นำทาง



ธรรมเหล่านี้แล คือธรรมเครื่องถอดถอนกิเลสทุกประเภท
ซึ่งเป็นข้าศึกของธรรม เป็นข้าศึกของใจซึ่งเป็นคลังแห่งกิเลส
ให้หมดสิ้นไปโดยไม่ต้องสงสัย
จะประกอบด้วยดังที่กล่าวมาเบื้องต้น
พระพุทธเจ้าท่านทรงไว้ จกฺขุกรณี ญาณจักษุก็เกิด
คือคำว่าจักษุก็หมายถึงจักษุญาณภายในใจล้วนๆ ไม่ได้นำตาเนื้อไปใช้เลยแม้แต่นิดหนึ่ง
ญาณกรณี ซึ่งเป็นความละเอียดแหลมคมของญาณ
คือว่าจักษุก็หมายถึงว่าเห็นอย่างชัดเจนด้วยพระจิตที่บริสุทธิ์
ไม่มีสิ่งใดมาปิดบังหุ้มห่อเหมือนอย่างแต่ก่อน
ญาณกรณี ทรงหยั่งทราบตามหลักความจริง ไม่ลบล้างความจริงที่มีอยู่
มีอยู่อย่างไรทรงรู้ทรงเห็นอย่างนั้น
เห็นก็คือจักขุญาณ รู้ก็คือญาณความหยั่งทราบ
จึงทั้งทรงรู้ทรงเห็นในสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลาย และวิธีการบำเพ็ญ วิธีการหลีกเลี่ยง
จะหลีกเลี่ยงอย่างไร วิธีการละการถอดการถอนถอดถอนอย่างไร
ทรงสั่งสอนไว้โดยถูกต้องแม่นยำสมบูรณ์เต็มที่



อุปสมาย นี่เป็นไปเพื่อความสงบ ท่านบอกไว้ว่าจะเป็นไปเพื่อจักษุญาณ
เป็นไปเพื่อจักษุ เป็นไปเพื่อทำญาณให้แจ้งให้รู้ชัดเห็นชัด
เป็นไปเพื่อความสงบร่มเย็น เป็นไปเพื่อความรู้ในแง่ต่างๆ
อภิญฺญาย เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งแทงทะลุ สมฺโพธาย เป็นไปเพื่อนิพพาน
ธรรมคือ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป เป็นต้น จนถึง สมฺมาสมาธิ
นี่เป็นเครื่องมือที่จะยังผู้บำเพ็ญให้เป็นไปเพื่อความเห็นแจ้ง เพื่อความหยั่งทราบ
ด้วยความรู้แจ้งเห็นจริง เพื่อความสงบราบคาบ
เพื่อความรู้ในสิ่งทั้งหลายที่เรียกว่า ทิพโสต ทิพยจักษุ เหล่านี้เป็นต้น
เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งแทงทะลุในกิเลสประเภทต่างๆ ไม่มีสิ่งใดเหลือหลอ
เป็นไปเพื่อนิพพาน มีมัชฌิมาปฏิปทานี้แลที่เป็นเครื่องมือ
นี่ทรงสอนออกมาจากพระทัยที่ทรงบรรจุทั้งเหตุทั้งผลไว้โดยสมบูรณ์อยู่แล้ว
จึงไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง
อะไรที่เป็นภัยก็ทรงแสดงให้ฟังแล้ว สิ่งที่จะเป็นคุณจนกระทั่งถึงมหาคุณก็แสดงไว้โดยถูกต้อง
รวมความลงแล้วว่านี้คือศาสดาองค์เอกเป็นผู้ทรงสั่งสอนไว้



ความรู้ทั้งหมดออกมาจากความเป็นศาสดาองค์เอก ออกมาจากความเป็นสัพพัญญู
ไม่ได้รับรู้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมาให้อุบาย
อุบายที่จะแก้กิเลสทั้งมวลด้วยธรรมนี้เป็นอุบายของธรรมล้วนๆ
เกิดจากสัพพัญญู คือรู้เองเป็นเอง ขวนขวายเอง ละได้เอง รู้แจ้งแทงทะลุเอง
ทรงนำมาสั่งสอนสัตว์โลกด้วยความรู้ความเห็นความเป็นจริงของพระองค์แต่ละพระองค์ๆ
บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสั่งสอนอย่างนี้
จนกระทั่งได้รู้แจ้งแทงทะลุไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ
การสอนจึงไม่มีแง่สงสัยแม้แต่แง่เดียวหรือแง่หนึ่งแง่ใดเลย
สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย สอนเต็มอรรถเต็มธรรม
ผู้ฟังซึ่งมุ่งต่อความจริงตามหลักธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติที่จริงล้วน ๆ แล้ว จึงได้ฟังอย่างถึงใจ



ดังเบญจวัคคีย์ทั้งห้า พอแสดง เทฺวเม ภิกฺขเว ขึ้นแล้วก็แสดงมัชฌิมาปฏิปทา
ท่านเหล่านี้ก็ได้รู้แจ้งเห็นจริง คือรู้แจ้งแทงทะลุในสติปัญญาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้
จุดที่ทำงานท่านก็รวมลงว่าอริยสัจ ๔
ทุกฺขํ อริยสจฺจํ สมุทัย อริยสจฺจํ นิโรธ อริยสจฺจํ มคฺค อริยสจฺจํ

รวมลงที่กายที่จิตนี้ทั้งนั้น แน่ะ นี่ละท่านแสดงเรื่องอริยสัจ ๔
แสดงสถานที่ทำงานลงที่กายที่จิต
ขึ้นที่กายท่านก็ว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา
ถึงเรื่องความทุกข์ เรื่องร่างกายนี้เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร



ก็บอกชาติก็เป็นทุกข์ ความเกิดขึ้นมา
ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก็เริ่มแรกตั้งกองทุกข์ขึ้นมาพร้อมๆ ในครรภ์นั้น
ตั้งเป็นรูปร่างใหญ่โตขนาดไหนกองทุกข์ก็เริ่มเท่ากันๆ มาโดยลำดับ
จนกระทั่งขณะตกคลอดก็เรียกว่ากองทุกข์ ถึงขั้นสลบไสลทนไม่ได้ ตายมีเยอะ
นี่คือความทุกข์ในการเกิด



ชราปิ ทุกฺขา เวลาเฒ่าแก่ชราแล้วเป็นยังไง
กำลังวังชาลดหย่อนลงไปหมดจนถึงกับว่าช่วยตัวเองไม่ได้
นอนอยู่เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน เป็นแต่ว่าลมหายใจครองตัวอยู่เท่านั้น
ความรู้สึกก็มีแต่ไม่มีกำลังที่จะช่วยพยุงตนเอง
ทุกข์แค่ไหนมนุษย์เราสัตว์เรา เพราะช่วยตัวเองไม่ได้
แต่ความทุกข์มันเหยียบย่ำทำลายขึ้นเป็นลำดับลำดา
ไม่ได้ลดน้อยลงเหมือนกับกำลังวังชาที่จะช่วยตัวเองนั้นเลย



มรณมฺปิ ทุกฺขํ ในขณะที่จะตาย ทุกข์บีบคั้นเสียจนกระทั่งสลบไสล
ถ้าสติไม่มีเพราะไม่ได้มีการอบรมก็คว้าโน้นคว้านี้
ไม่มีอะไรเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัวของตัว คว้าลมคว้าแล้ง
คว้าด้วยความสำคัญเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสทั้งมวล
ทุกข์ก็บีบบังคับเข้าไป จนทิ้งเนื้อทิ้งตัวตกเตียงไปก็มีมากผู้นอนอยู่บนเตียง
เพราะอะไร เพราะความทุกข์บีบบังคับให้ตกกระเด็นไปโน้นตกกระเด็นไปนี้
อยู่ด้วยความสงบไม่ได้
นี่คือกองทุกข์ ท่านบอกอย่างชัดเจนอย่างนี้
ทุกข์หรือไม่ทุกข์เราวาดภาพดูที่กล่าวมานี้



ปรารถนาอะไร ๆ ไม่สมหวังก็เป็นทุกข์
ความปรารถนาส่วนมากท่านหมายถึง
เรื่องปรารถนาของโลกทั้งหลายอันเป็นเรื่องของกิเลส
ตั้งความปรารถนามากน้อยเพียงใด
ก็ชื่อว่าสั่งสมความทุกข์ขึ้นมากน้อยเพียงนั้นโดยลำดับลำดา
ถ้าได้มาแทนที่ความสุขจะอยู่กับความได้มามันก็ไม่อยู่เสีย
ความปรารถนานั้นมันก็ไปของมันอีกเหมือนกับไฟได้เชื้อ
เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความปรารถนามาก ผู้ที่ความโลภมาก จึงหาความสุขไม่เจอเลย
นอกจากเพิ่มความทุกข์เข้าโดยลำดับลำดาเพราะความโลภของตน



ความสุขหาได้อยู่ในความไม่พอดีไม่
เพราะคำว่ากิเลสแล้ว หรือคำว่าความโลภความปรารถนาแล้ว จะไม่มีความพอดี
จะเพิ่มตัวขึ้นโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงผู้ปรารถนาตายทิ้งเปล่าๆ
ด้วยอำนาจแห่งการแบกกองทุกข์ทนไม่ไหว
ก็ไม่ปรากฏว่าใครได้รับความสุขเพราะความสมหวังนั้นเลย เพราะกิเลสไม่ให้ใครสมหวัง
นอกจากธรรมเท่านั้นจึงให้โลกมีความสมหวังได้
นี่ก็เป็นความทุกข์ ท่านว่าปรารถนาไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา
เหล่านี้มีตั้งแต่เรื่องกองทุกข์แสดงตัวเต็มธาตุเต็มขันธ์เต็มจิตใจทั้งนั้น
เป็นไฟทั้งกอง เอาความสุขมาจากไหน



นี่ท่านพูดถึงเรื่องทุกขสัจ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ ให้ทราบเรื่องของมัน
แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์
เฉพาะอย่างยิ่งเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวตัวร้อน หรือเวลานั่งภาวนานานๆ
เราเป็นนักปฏิบัติเอากันในวงปัจจุบันนี้
อันนั้นพรรณนาไปเพื่อให้ทราบสาเหตุ
เพื่อจะได้ประมวลเข้ามาสู่หลักปัจจุบันซึ่งมีอยู่กับตัวเราทุกรูปทุกนามนี้
แล้วพิจารณาในวงปัจจุบันนี้ว่าอะไรมันเป็นทุกข์



ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ท่านบอกว่าทุกข์เป็นของจริง
นี่ถึงขั้นจะเอากันจริง ๆ ขั้นอนุโลมเป็นอย่างหนึ่ง ขั้นปฏิโลมเป็นอย่างหนึ่ง
ขั้นอนุโลมหมายถึง ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา เรื่อย นี่ขั้นปฏิโลม
ย้อนเข้ามาว่าใครเป็นทุกข์ ตัวทุกข์จริงๆ เขาได้บอกว่าเขาเป็นทุกข์ไหม
เราผู้ไปทราบเขาว่าเป็นทุกข์นั้นต่างหากเป็นผู้จะได้รับความทุกข์
เพราะความงมงาย เพราะความลุ่มหลงของตัวเอง
ไปยึดไฟทั้งกองเข้ามาเผาลนตนเอง นี่คือความหลงของจิต



แยกดูทั้งกาย กายก็เป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น
แต่ละสัดละส่วนมันมีอยู่ของมันตั้งแต่วันเกิดมา
ทุกข์เกิดขึ้นมาเป็นกาลเป็นเวลา มันก็ดับไปของมันตามหลักความจริง
ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของมัน กายก็เป็นเช่นนั้น
พิจารณาแยกแยะให้เห็นตามหลักความจริงโดยทางปฏิโลม
คือหมายความว่าย้อนหาความจริง ไม่อนุโลมตาม



การพิจารณาค้นคว้าอย่างนี้คืออะไร
ถ้าไม่ใช่สติ ถ้าไม่ใช่ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ความอุตส่าห์พยายาม
จะเอาอะไรมาใช้คนเรา นี่ละสัจธรรมทำงานอยู่ในวงเดียวกัน
พอทุกข์เกิดขึ้น ค้นหาเหตุของทุกข์ว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุผลกลไกอะไร
นี่คือเรื่องของปัญญา
สมุทัยได้แก่ความปรารถนาอยากให้หาย
อยากให้ทุกข์ทั้งหลายสลายตัวไป อยากอยู่สบาย เหล่านี้เป็นเรื่องของสมุทัย
แต่เรื่องของมรรคไม่ต้องการ หายหรือไม่หายก็ตาม ต้องการทราบความจริงนี้เท่านั้น
เมื่อทราบความจริงไปมากน้อยเพียงไร
เรื่องของทุกข์จะเป็นของจริงขึ้นมาเองตามความรู้ของตนที่พิจารณารอบตัว
สมุทัยจะสงบตัวลงไปเองโดยลำดับลำดา
เพราะมรรคมีกำลังพินิจพิจารณารอบตัว ไม่ทำลายตัวเองเพราะมรรคมีกำลังมาก



สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นของจริงขึ้นมาให้เห็นประจักษ์ใจ
ทุกฺขํ อริยสจฺจํ
ก็จริงเต็มส่วน ประจักษ์กับใจโดยไม่ต้องไปถามใคร
อ๋อ คำว่าทุกข์เป็นของจริงจริงอย่างนี้เอง สมุทัยเป็นของจริงก็จริงอย่างนี้เอง
นิโรธเป็นของจริงก็เหมือนกัน ดับทุกข์ไปโดยลำดับลำดาตามหน้าที่ของตน
มรรคเป็นของจริงก็รู้รอบขอบชิดด้วยปัญญา ดูตามสภาพความจริงของตนที่มีความฉลาดรอบตัว
ต่างอันต่างจริงเป็นขั้นๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงจริงสุดยอด
เมื่อถึงจริงสุดยอดแล้วทั้งสี่นี้ก็ผ่านไป
เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ที่พ้นจากสัจธรรมทั้งสี่นี้แล้ว



นี่ละในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรท่านแสดงไว้
นี่คือศาสดาองค์เอกแสดงไว้เป็นปฐมเทศนา เป็นปฐมฤกษ์แก่บรรดาสาวกทั้งหลาย
ผู้ที่สนองพระโอษฐ์ของพระองค์ได้เต็มภูมิก็เบญจวัคคีย์ทั้งห้า
เป็นสาวกอรหันต์ขึ้นมาทั้งห้าองค์ ออกจากธรรมของจริงของพระพุทธเจ้า
นี่คำว่าธรรมมีอยู่ สาวกทั้งหลายเหล่านั้นหายสงสัยเต็มหัวใจแล้วไม่มีอะไรเหลือ
ธรรมมีอยู่อย่างไร ธรรมประเสริฐไม่ไปถามใคร
พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์เอกเพราะอะไรไม่ต้องถาม
เพราะธรรมชาตินั้นก็เอกอยู่แล้ว ต่างอันต่างเอก ต่างองค์ต่างเอก
เป็นสภาพเดียวกันหาที่ค้านกันไม่ได้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา http://bit.ly/29QEOHV


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP